4 มี.ค. 2557 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า รัฐบาลเมียนมาร์สั่งให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders หรือ MSF) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์นานาชาติ หยุดปฏิบัติการทั้งหมดในประเทศ ทำให้ชะตากรรมของผู้ป่วยเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียหลายหมื่นคนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย
รัฐบาลเมียนมาร์อ้างว่าสาเหตุหนึ่งที่มีการสั่งหยุดปฏิบัติการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่ดำเนินการในเมียนมาร์มาเป็นเวลา 22 ปี เนื่องจากกลุ่มแพทย์ดังกล่าวมักให้ "สิทธิพิเศษในการรักษา"แก่ชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเชื้อชาติในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกัน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนซึ่งเป็นผู้ให้การดูแลรักษาคนไข้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในเมียนมาร์ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าพวกเขารู้สึกประหลาดใจอย่างมากหลังถูกรัฐบาลเมียนมาร์สั่งให้หยุดปฏิบัติการทั้งหมดในประเทศ อีกทั้งยังรู้สึกเป็นห่วงผู้ป่วยหลายหมื่นคนที่พวกเขาดูแลอยู่
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกล่าวอีกว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขององค์กรที่พวกเขาถูกสั่งปิด ทำให้พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติการต่อไปได้ในพื้นที่รัฐยะไข่ รัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถรับยาที่จะช่วยชีวิตพวกเขาได้ ทีมแพทย์บอกอีกว่าการตัดสินใจของรัฐบาลจะทำให้เกิดผลกระทบเลวร้ายต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์กว่า 30,000 คน และผู้ป่วยวัณโรคกว่า 3,000 คน
ผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนหลายหมื่นคนเป็นคนพลัดถิ่นที่อพยพจากภาวะวิกฤติอีกส่วนหนึ่งเป็นคนในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญในรัฐยะไข่
เย ทุท (Ye Htut) โฆษกรัฐบาลเมียนมาร์กล่าวอ้างว่าองค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้สิทธิพิเศษในการรักษาชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮิงญาซึ่งมีอยู่ราว 800,000 คน การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างองค์การแพทย์ไร้พรมแดนกับรัฐบาล รวมถึงมีเรื่องจำนวนคนทำงานจากต่างชาติที่อนุญาตให้ปฏิบัติงานในประเทศด้วย
เรดิโอฟรีเอเชียระบุว่าคนส่วนใหญ่ในเมียนมาร์คิดว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่ามีหลายคนที่อาศัยอยู่ในเมียนมาร์มานานหลายรุ่นแล้ว ซึ่งสหประชาชาติกล่าวไว้ว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกระทำหนักที่สุดในโลก
สื่อท้องถิ่นในเมียนมาร์ยังรายงานอีกว่าทางการไม่พอใจที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์สังหารชาวโรฮิงญาล่าสุดในรัฐยะไข่
ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ อ้างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือระบุว่ามีชาวโรฮิงญา 48 คนถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบและชาวพุทธในท้องถิ่นจากเหตุรุนแรงในช่วงวันที่ 13-14 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ทางการเมียนมาร์ปฏิเสธคำให้การของฝ่ายยูเอ็นและสั่งให้มีการสืบสวนเอง องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ทำการรักษาผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 22 คนซึ่งเชื่อว่ามาจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชนจากยูเอ็น โทมัส โอเจีย ควินตานา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องความเป็นกลางในการสืบสวนของทางการเมียนมาร์ โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปะทะกันในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมาก็มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 200 คน และมีอีกหลายหมื่นคนไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าฝ่ายชาวโรฮิงญาได้รับความสูญเสียมากที่สุด
นอกจากไม่สามารถจะทำการรักษาต่อได้แล้ว การสั่งปิดองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมียนมาร์ยังทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาฉุกเฉินในขั้นต่อไปให้กับหน่วยงานพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขได้ รวมถึงไม่สามารถให้คำปรึกษาวางแผนครอบครัว และดูแลหญิงที่ตั้งครรภ์และทารกแรกเกิดได้
ทางการสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขามีความกังวลอย่างมากในเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาร์สั่งให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดนหยุดปฏิบัติการ โดยเจน ซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่คนในชุมชนและให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผลประโยชน์ของประชาชนชาวพม่า
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกล่าวว่าในพม่าไม่มีองค์กรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับความสามารถเดียวกับองค์กรพวกเขา ซึ่งมีประสบการณ์และความสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิตได้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนบอกว่าพวกเขาอยู่ในพม่ามา 22 ปีและให้การช่วยเหลือทางการแพทย์โดยคำนึงถึงเรื่องความต้องการเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือสถานะของผู้ป่วยแต่อย่างใด
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกล่าวอีกว่าการปฏิบัติงานของทีมแพทย์เป็นไปตามจรรยาบรรณและหลักการความเป็นกลาง นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงตอนนี้พวกเขารักษาโรคมาลาเรียให้คนไข้ในรัฐยะไข่ไปแล้ว 1,240,000 ราย โดยโรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในพื้นที่และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาติ
เรียบเรียงจาก
Doctors Withour Borders Ordered to Close Shop in Myanmar, 01-03-2014
http://www.rfa.org/english/news/myanmar/rohingya-03012014175912.html