ยิ่งลักษณ์เสนอเจรจาเลขาธิการ กปปส. โดยให้อยู่ในกรอบ รธน. ให้ยุติชุมนุมและยอมให้มีการเลือกตั้ง ขณะที่สุเทพบอกรัฐบาลคงถึงทางตันแล้วจึงขอเจรจา โดยเห็นแก่ประเทศไทยจึงยอมเจรจาด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเจรจาต่อหน้าประชาชน มีการถ่ายทอดสด ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่พร้อมให้ทักษิณมาแทนได้
สุเทพ เทือกสุบรรณ ระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 27 ก.พ. (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)
ุสุเทพยอมเจรจากับรัฐบาลเพราะเห็นแก่ประเทศไทย แต่ขอให้ถ่ายทอดสด ยิ่งลักษณ์ไม่พร้อมทักษิณแทนได้
28 ก.พ. 2557 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.กล่าวปราศรัยที่เวทีลุมพินี ถึงเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่าอยากให้มีการเจรจาถ้านายสุทพเห็นแก่ประเทศไทย โดยมองว่า การขอเจรจาของนายกรัฐมนตรี แสดงถึงท่าทีที่รัฐบาลถึงทางตัน เพราะนายกรัฐมนตรีร้องขอเจรจา ซึ่งตนเห็นแก่ประเทศไทย จึงมาขออนุญาติจากประชาชน เพื่อเจรจากับนางสาวยิ่งลักษณ์ และพร้อมเป็นตัวแทนประชาชน
สุเทพกล่าวต่อไปว่า แต่การเจรจาต้องทำต่อหน้าประชาชน ต้องเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์และตนเองเท่านั้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่พร้อมเจรจา จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเจรจาแทนได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไหน เมื่อไหร่ ตนเองยินดีและพร้อมเจรจา แต่ต้องถ่ายทอดสื่อโทรทัศน์และวิทยุทุกช่อง เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจพร้อมกัน โดยการเจรจาครั้งนี้ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าด้วยเรื่อง การปฎิรูปประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ จากการยื่นเรื่องถึง พล.ต.อ.อลุดย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ให้เร่งรัดคดีเด็กเสียชีวิตและเชิญให้ พล.ต.อ.อลุดย์ เข้ามาตรวจสถานที่ชุมนมเวทีต่างๆ ของ กปปส. ภายใน 3 วัน หากไม่มาและคดีไม่มีความคืบหน้า จะแต่งตั้งคนของ กปปส.ทำงานกันเอง นอกจากนี้ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะถึง คาดว่าจะมีการทำบุญใหญ่ให้วิญญาณผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย
ยิ่งลักษณ์ระบุเห็นด้วยกับแนวทางเจรจา แต่ต้องยึดกรอบรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางวัน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเห็นด้วยกับแนวทางการเจรจา แต่ต้องเป็นการพูดคุย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ต้องยุติการชุมนุม เพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้ อีกทั้งต้องกำหนดกรอบประเด็นการพูดคุยที่ชัดเจน หากเป็นการคุยนอกกรอบรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้ที่มีความรู้หลายฝ่ายเข้ามาพูดคุย และร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า เพราะตนเองไม่สามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้ อีกทั้งเห็นว่า การยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ได้คำนึงว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชนะ แต่สิ่งที่ต้องการเห็น คือประคับประคองประเทศชาติต่อไปได้ ประเทศชาติและประชาชนเป็นผู้ชนะ
ส่วนที่ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส.เสนอให้องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เข้ามาช่วยแก้ปัญหา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พร้อมรับฟังคำแนะนำเพราะมีประสบการณ์แก้ปัญหาความขัดแย้งมาแล้วหลายประเทศ แต่สุดท้าย ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ต้องแก้ไขกันเอง