หลังเกิดเหตุจับกุมนักข่าวอัลจาซีราในอียิปต์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อัลจาซีราได้ประกาศเชิญชวนให้มีการรณรงค์ทั่วโลกวันที่ 27 ก.พ. เพื่อให้มีการปล่อยตัว โดยบอกว่าการปิดปากนักข่าวก็เหมือนการปิดปากผู้คนทั้งหมด
27 ก.พ. 2557 สำนักข่าวอัลจาซีราได้ประกาศให้วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา มีการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อและให้มีการปล่อยตัวนักข่าวอัลจาซีราซึ่งถูกทางการอียิปต์กวาดจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2556
ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมตัวได้แก่ ปีเตอร์ เกรสเต, โมฮัมเหม็ด ฟาห์มี และบาเฮอร์ โมฮัมเหม็ด ซึ่งถูกทางการอียิปต์กล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นเท็จ รวมถึงตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย นักข่าวอีกรายหนึ่งคืออับดุลลาห์ อัลชามี ก็ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 2556 และประท้วงอดอาหารมาเป็นเวลา 30 วันแล้ว
ในหน้าข่าวประกาศเชิญชวนรณรงค์ อัลจาซีราระบุว่านักข่าวของพวกเขาแค่ทำหน้าที่ของตน นักข่าวของพวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อทำหน้าที่เปิดโปงความอยุติธรรมและการใช้อำนาจในทางที่ผิด
"นักข่าวเป็นหูเป็นตาของพวกเรา เป็นสิ่งที่สะท้อนเสียงของพวกเราด้วย การทำร้ายนักข่าวจึงถือเป็นการทำร้ายทุกคนที่ให้คุณค่าในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรับรู้ความจริง"อัลจาซีราระบุ
อัลจาซีราระบุอีกว่านอกจากนักข่าวของพวกเขาแล้วยังมีนักข่าวต่างประเทศรายอื่นๆ อีกที่ถูกจับด้วยเหตุผลเดียวกัน พวกเขาถูกขังในสภาพที่ย่ำแย่ มีการปฏิเสธการรักษาพยาบาล
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วันพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ. ถูกกำหนดเป็นวันรณรงค์ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องเสรีภาพสื่อและให้มีการปล่อยตัวนักข่าว โดยการประท้วงอย่างสงบ การเผยแพร่รูปของบุคคลที่ถูกจับ เพื่อส่งสัญญาณให้กับทางการอียิปต์และทั่วโลกว่า "ถ้าหากคุณปิดปากสื่อ คุณก็ปิดปากพวกเราทั้งหมด"
อัลจาซีรามีแผนการให้ประชาชนใน 30 เมืองทั่วโลก เช่นในกรุงซิดนีย์, เบอร์ลิน, ลอนดอน, โดฮา, มะนิลา, อิสลามาบัด, มอนทรีออล ฯลฯ ออกมาแสดงพลังร่วมกัน รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ ในเมืองดังกล่าว
เรื่องเสรีภาพสื่อในอียิปต์กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกังวล หลังจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใช้ไม้แข็งต่อผู้สื่อข่าวจนทำให้อียิปต์ถูกจัดเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าว โดยองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ประจำปี 2556
มอสเตฟา เซาอัก รักษาการผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักข่าวอัลจาซีรา กล่าวในวันรณรงค์ว่า พวกเขารู้สึกประทับใจต่อการแสดงพลังของทุกคนทั่วโลก ที่ช่วยกดดัน สนับสนุน และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวในอียิปต์ยังคงเป็นกระแสข่าวต่อไป
ทางด้านการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ก็มีการใช้แฮชแท็ก #FreeAJstaff ซึ่งมียอดเข้าชมหลายล้านคน รวมถึงมีการตั้งกิจกรรมในเว็บไซต์ Thunderclap เพื่อให้คนสามารถโพสต์เหตุการณ์รณรงค์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกันทั่วโลก
ผู้คนจำนวนมากใช้เทปกาวสีดำปิดปากพร้อมถือป้าย #FreeAJstaff เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง ภาพบรรยากาศการประท้วงจากทั่วโลกก็มีลักษณะเดียวกัน หลายแห่งถือป้ายข้อความว่า "งานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม"
นักข่าวในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ประท้วงด้วยการถ่ายภาพตัวเองถูกปิดปากด้วยธงชาติอียิปต์ เพื่อแสดงการสนับสนุนนักข่าวอัลจาซีรา ในอังกฤษมีการประท้วงด้วยการปล่อยลูกโป่งสีดำที่จัตุรัสทราฟัลการ์ รวมถึงมีการยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนักข่าวที่ถูกจับ
เรื่องนี้ยังมีการนำเสนอภาพข่าวผ่านสำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากรวมถึงเดอะการ์เดียน, แมชเอเบิล, เอ็นบีซี, เดอะสตาร์ และเว็บไซต์อัลจาซีราเอง
เรียบเรียงจาก
Media freedom: Call for global action, Aljazeera, 26-02-2014
http://www.aljazeera.com/indepth/spotlight/2014/02/media-freedom-call-global-action-2014225143718443553.html
Al Jazeera calls for global support of staff, Aljazeera, 27-02-2014
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/02/al-jazeera-calls-global-support-staff-201422617832540220.html
Al Jazeera Calls for 'Day of Action' for Detained Journalists, Mashable, 27-02-2014
http://mashable.com/2014/02/27/al-jazeera-day-of-action/
Journalists hold global day of protest over Al-Jazeera staff held in Egypt, The Guardian, 27-01-2014
http://www.theguardian.com/media/2014/feb/27/journalists-protest-for-al-jazeera-staff-egypt-thunderclap-twitter-facebook-tumblr
In pictures: Global Day of Action, Aljazeera, 27-02-2014
http://www.aljazeera.com/indepth/inpictures/2014/02/pictures-global-day-action-2014227135730160603.html
ภาพประกอบหน้าแรกจาก https://twitter.com/MarBrazil/status/439078137360441344