Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

อวัตถุศึกษากับอธิป: อุตสาหกรรม นสพ.กับหายนะค่าโฆษณาหลังปฏิวัติดิจิทัล

$
0
0

สัปดาห์นี้ พบกับรายงานเรื่องอุตสาหกรรม นสพ.กับหายนะรายได้โฆษณาหลังปฏิวัติดิจิทัล, Digital Citizens Alliance ชี้รายได้ของบรรดาเว็บ "ไพเรต"ทั้งสารบบสูงกว่า 200 ล้าน USD, วิวาทะ Spotify กับอนาคตของรายได้ "ศิลปิน"และ bot or not: เว็บทดสอบความเป็นเครื่องจักรของบทกวี

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต"เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

เมื่อพูดถึง "ผลร้าย"ของการปฏิวัติดิจิทัล คนมักจะนึกถึงหายนะในอุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากทั้งสองเป็นอุตสาหกรรมที่ออกมาโวยวายที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว "หายนะ"นี้ก็ดูจะไม่ใช่หายนะสักเท่าไร ถ้าพิจารณาตัวเลขอย่างรอบด้านซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่ายอดขายที่ลดลงไปของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงได้รับการชดเชยจากการเติบโตของธุรกิจดนตรีดิจิทัล กล่าวคือรายได้จากยอดขาย CD ที่ลดลงของค่ายเพลงในอเมริกามันก็พอๆ กับรายได้อันเกิดจากธุรกิจดนตรีดิจิทัลสารพัดรูปแบบ นอกจากนี้รายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือเองก็ไม่ได้ลดลงเลย แถมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในครึ่งหลังทศวรรษที่ 2000 อันเป็นยุคที่ "ไพเรซี่"เรืองอำนาจ

ในกรอบแบบนี้ทั้งสองอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้ประสบหายนะที่แท้จริงแม้แต่น้อย และในอีกด้านหนึ่ง หายนะทางธุรกิจอันเนื่องจากการพลิกโฉมตลาดของเทคโนโลยีใหม่ๆ (ซึ่งศัพท์เทคนิคทางการตลาดเรียกว่า Disruption) ที่คนมักจะมองข้ามคือ หายนะของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์

อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาแล้วโดยมีรายได้ที่สูงกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดในปี 2000

นี่เป็นขนาดของรายได้ที่อุตสาหกรรมดนตรีกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันรวมกันในเวลานั้นยังเทียบไม่ได้ (หรือจะรวมอุตสาหกรรมเกมในช่วงเดียวกันเข้าไปด้วยก็ยังเทียบไม่ได้)

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตก็ก่อให้เกิดหายนะขั้นร้ายแรงขึ้น

คนมักจะมองว่าการใช้อินเทอร์เน็ตทำให้คนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาตราบเท่าที่ "เงินโฆษณา"ยังเข้ามาอยู่

สถิติจากกรมสถิติสหรัฐดูจะชี้ว่าดั้งเดิม รายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ใน 5 ของหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาจาก "เงินโฆษณา"ทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นสัดส่วนสูงกว่าโครงสร้างรายได้ของนิตยสารที่ในช่วงเดียวกันประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้มาจาก "เงินโฆษณา"

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอเมริกัน "เงินโฆษณา"ก็ค่อยๆ หายไปจากอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ จนเรียกได้ว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2000-2012 เงินโฆษณา (หลังจากปรับเงินเฟ้อแล้ว) มันได้ลดลงไปเหลือในระดับเดียวกับปี 1950 หรือกล่าวคือเงินโฆษณาที่โตมาต่อเนื่องเป็นเวลา 50 ปีหดหายไปในเวลาเพียง 12 ปี และผลคือในปี 2012 เงินโฆษณาในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ลดลงไปเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือลดจากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปเหลือราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าแบบปรับเงินเฟ้อแล้ว)

แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับหนังสือพิมพ์เพราะดังที่บอกไปว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจาก "เงินโฆษณา"แทบทั้งสิ้น

แน่นอน อาจมีผู้มองว่าจำนวนเงินที่ลดลงนี้เกิดจากการที่ "เงินโฆษณา"หลั่งไหลไปในโลกออนไลน์กันหมด แล้วหนังสือพิมพ์ก็ไปบุกโลกออนไลน์กันไม่น้อย

รายได้จากทางนั้นทดแทนไม่พอกับรายได้โฆษณาแบบออฟไลน์ที่เสียไปหรือ?

ข้อเท็จจริงคือรายได้จากการขายโฆษณาออนไลน์ของหนังสือพิมพ์นั้นไต่ขึ้นมาจากศูนย์ในปี 2000 มาเป็นเพียง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในปี 2012 (รายได้โฆษณาในอเมริกาของ กูเกิล ปี 2012 อยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

จะเห็นได้ว่ารายได้หลักพันล้านของมันไม่อาจทดแทนรายได้ที่ลดลงของ "เงินโฆษณา"ในหนังสือพิมพ์ระดับหลักหมื่นล้านได้เลย

นี่เป็นที่มาของสภาวะของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ปัจจุบันที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าจะ "อยู่รอดต่อไป"ได้ด้วยแนวทางให้อ่านฟรีแล้วขายโฆษณาเอา หรือจะเก็บค่าสมาชิกกับผู้อ่านกันแน่ซึ่งเป็นวิวาทะร้อนแรงในอุตสาหกรรมข่าวและหนังสือพิมพ์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือหนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยมีการลดจำนวนพนักงานลง ไปจนถึงการทำข่าวในแบบที่น่าจะเรียกว่า "มักง่าย"ขึ้นในมาตรฐานยุคก่อน คือการหาข่าวจากโลกออนไลน์ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ทั้งหมดน่าจะเป็นผลพวงจากการที่ผู้คนโอนย้ายความใส่ใจจากโลกวัตถุไปยังโลกออนไลน์ซึ่งก็ทำให้เงินโฆษณาโบยบินตามไปด้วย และทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์น้อยลง ส่งผลให้งานข่าวของหนังสือพิมพ์คุณภาพลดลงดังที่กล่าวมานั่นเอง

โลกดิจิทัลใหม่นี้ถึงที่สุด ก็ชวนให้เราถามด้วยซ้ำว่า "เรายังต้องการหนังสือพิมพ์อยู่หรือไม่?"ซึ่งคำถามนี้ก็ไม่ได้ต่างจาก "เรายังควรจะผลิด CD อยู่หรือไม่"ในบางแง่

อย่างไรก็ดี งานข่าวก็ยังดำรงอยู่ และเว็บข่าว "อิสระ"จำนวนมากก็เล่นบทบาทที่น่าสนใจในการนำเสนอข่าวคุณภาพแบบที่หนังสือพิมพ์ดั้งเดิมควรจะละอายด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เว็บเหล่านี้ก็ไม่ได้มีต้นทุนการดำเนินงานที่มากมายอะไรเลยโดยเฉพาะหากเทียบกับ “สื่อ” ดั้งเดิม

Source:

 

รายงานของ Digital Citizens Alliance ชี้ว่ารายได้ของบรรดาเว็บ "ไพเรต"ทั้งสารบบสูงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Digital Citizens Alliance เป็นกลุ่มที่ตั้งเพื่อผลักดันความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต และทางกลุ่มได้สนับสนุนเงินให้มีการวิจัยลักษณะรายได้ของบรรดาเว็บสำเนาเถื่อนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเว็บทอร์เรนต์ เว็ปฝากไฟล์ หรือกระทั่งเว็บรวมลิงก์ เนื่องจากทางกลุ่มมองว่าเว็บเหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัย

ผลการวิจัยพบว่ารายได้ทั้งสารบบอินเทอร์เน็ตของบรรดาเว็บ "ไพเรต" (ทางรายงานวิจัยให้นิยามว่าหมายถึงเว็บที่โดนส่ง DMCA Takedown หรือการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์จากทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไปยัง กูเกิล เกิน 25 ครั้งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2013) สูงถึง 227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวกว่า 7,400 ล้านบาท และพอประเมินต้นทุนแล้วพบอีกว่าอัตราผลกำไรของเว็บเหล่านี้อาจสูงถึง 80-94% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไม่น่าจะหาได้ง่ายๆ ในธุรกิจ "ถูกกฎหมาย"

รายได้แทบทั้งหมดของบรรดาเว็บไพเรตเหล่านี้เกิดจากการขายโฆษณาออนไลน์ซึ่งเงินหลายๆ ส่วนก็มาจากบริษัทและองค์กรที่มีชื่อเสียงต่างๆ เช่น โตโยต้า ดูเร็กซ์ แมคโดนัลด์ แอมะซอน ฟอร์ด โมโตโรลา ยูนิเซฟ หรือกระทั่งไมโครซอฟท์ และกูเกิล ซึ่งก็น่าจะอนุมานได้ว่าบริษัทบางบริษัทที่รับเงินมาดูแลโฆษณาออนไลน์ให้บริษัทเหล่านี้ได้ทำการ "ซื้อ Ads"บนเว็บเหล่านี้

แม้ตัวเลขรายได้อาจดูมากมายแต่มันก็ยังเทียบไม่ได้เลยกับรายได้ต่อปีของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ ที่ "ยอดขาย"ของอุตสาหกรรมดนตรีทั้งที่จับต้องได้และดิจิทัลรวมกันประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 330,000 ล้านบาท ซึ่งยอดรายได้นี้ก็ค่อนข้างจะคงที่มาตั้งแต่ปี 2006 (ซึ่งองค์ประกอบที่จะเห็นได้คือยอดขายงานดนตรีที่จับต้องได้อย่าง CD จะลดลง ส่วนยอดรายได้ธุรกิจดนตรีดิจิทัลจะเติบโตมาทดแทน ทำให้ยอดรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวมไม่ลดลง) และจริงๆ แล้วรายได้จากการขายตั๋วภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันก็อยู่ในอัตราเดียวกันเช่นกัน

แล้วถ้าท่าจะประเมินว่าเงินของระบบโฆษณาออนไลน์แค่ในอเมริกามันสูงในหลักหลายหมื่นล้านดอลลาร์แล้ว รายได้ระดับแค่ไม่กี่ร้อยล้านดอลลาร์ของบรรดาเว็บไพเรตทั้งหลายนี่ดูจะเห็นรายได้ที่เล็กน้อยมากจากทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี ดังเช่นแนวทางทั่วไปของผู้นิยมลิขสิทธิ์ รายงานฉบับนี้มองว่าแม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะไม่ได้มากอะไร แต่ "ผล"ของการ "ขโมย"เนื้อหามาทำกำไรนั้นก็สร้างความเสียหายต่อบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์มากมายนัก

แน่นอนนี่เป็นประเด็นที่เถียงกันได้ว่าความเสียหายมีมากน้อยเพียงไร อย่างไรก็ดีแนวทางที่ดูจะถูกต้องกว่าหากมองในแง่ของประสิทธิภาพในการเผยแพร่เนื้อหาแล้วก็น่าจะเป็นการเอาเว็บเหล่านี้ "เข้ามาในระบบ"หรือทำให้เว็บเหล่านี้ถูกกฎหมายและแบ่งรายได้จากการขายโฆษณากลับมาให้ "เจ้าของ"เนื้อหาต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้ฟรีๆ ทั้งที่ทางเว็บก็ได้ผลกำไรมากมาย (หากเป็นดังที่รายงานกล่าวอ้าง)

เพราะนั่นก็ดูจะเป็นแนวทางที่มีอนาคตกว่าการกีดขวางความสะดวกสบายของผู้บริโภคเนื้อหาพลางด่าว่าการบริโภคแบบไพเรตเป็นการกระทำที่มักง่ายแน่นอน 

ทั้งนี้ อ่านรายงานฉบับนี้ได้ที่ : https://media.gractions.com/314A5A5A9ABBBBC5E3BD824CF47C46EF4B9D3A76/4af7db7f-03e7-49cb-aeb8-ad0671a4e1c7.pdf

Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2014/02/20/pirate227

 

วิวาทะ Spotify กับอนาคตของรายได้ "ศิลปิน"

ในยุคปัจจุบันที่รายได้ของนักดนตรีหดหายจากหลายปัจจัย (ไม่ใช่แค่ "ไพเรซี่"แน่นอน) คำถามที่สำคัญไม่น้อยสำหรับนักดนตรีจำนวนมากก็คือ ใครคือมิตรแท้ทางเศรษฐกิจของนักดนตรี

บรรดาค่ายไม่น้อยถูกนักดนตรีรุ่นใหม่และเก่าเหม็นเบื่อไปเรียบร้อยแล้ว และก็ไม่อยากเซ็น "สัญญา"อันเอาเปรียบที่บางทีดูเหมือนสัญญากู้เงินมาทำอัลบั้มของนักดนตรีมากกว่า (แต่เดิมสัญญาออกอัลบั้มกับค่ายเพลงคือสัญญากู้เงินจริงๆ ค่ายเพลงจะออกเงินทำอัลบั้มให้ ค่าทำมิวสิกวิดีโอให้ ค่าโปรโมทให้ ค่าทัวร์ให้ แต่ทั้งหมดค่ายเพลงจะไปหักเอาจากยอดขายอัลบั้มทั้งสิ้น นี่ทำให้แม้แต่วงดนตรีที่มียอดขายเป็นแสนๆ แผ่นก็อาจไม่ได้เงินจาก "ยอดขาย"ถ้ายอดขายยังไม่ได้ตามเป้าที่ค่ายเพลงจะถอนทุนได้)

นี่คือ "เจ้านายเก่า"ของนักดนตรี

พอมายุคดิจิทัลก็มี "เจ้านายใหม่"ปรากฏตัวมามากมายในอุตสาหกรรมดนตรีดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งลักษณะของเจ้านายใหม่นี้เหมือนกันหมดคือจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างรายได้ผ่านงานดนตรีของนักดนตรีที่ต้องไปหาทุนบันทึกเสียงเอง (ซึ่งเอาจริงๆ ทางเลือกก็หลากหลายมากในยุคของการบันทึกเสียงดิจิทัลนี้ กล่าวคือจะอัดเสียงถูกคุณภาพพอใช้ หรือจะอัดแพงๆ ในห้องบันทึกเสียง "เทพๆ"ก็มีให้เลือกทั้งสิ้น) ซึ่งรายได้รวมๆ ของเจ้านายใหม่นี่ก็จะนำมาแบ่งกลับไปที่นักดนตรี

นี่คือมาตรฐานการประกอบธุรกิจทั่วไปของบรรดา "ตัวกลางถูกกฎหมาย"ทั้งหลายแหล่ที่ให้บริการดนตรีฟรีๆ ออนไลน์ (หรือเก็บค่าสมาชิกร่วมด้วย) กับนักฟังเพลงไม่ว่าจะเป็น Pandora, Deezer, Rhapsody หรือกระทั่ง YouTube

ในบรรดาเว็บเหล่านี้ เว็บที่โดดเด่นมากคือ Spotify อันเป็นเว็บ “สตรีมมิ่ง” ที่ประสบความสำเร็จจากถิ่นกำเนิด Pirate Bay อย่างสวีเดนก่อนจะขยายไปในยุโรปและบุกมาอเมริกา

วิวาทะ Spotify คือการโต้เถียงกันว่า Spotify นั้น "เป็นมิตร"ต่อนักดนตรีหรือ "ขูดรีด"ไม่ได้ต่างจากบรรดาตัวกลางอื่นๆ

อันที่จริง Spotify ก็ไม่ใช่เว็บที่จะมีอัตรา "จ่ายต่อสตรีม"หรือจ่ายเงินให้ "เจ้าของ"งานดนตรีต่อการเปิดเพลง 1 ครั้งบนเว็บมากมายอะไรถ้าเทียบกับเว็บอื่นๆ (ดูรูปประกอบ)

แต่ประเด็นคือ Spotify เป็นเว็บที่มีผู้ใช้บริการมากและมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

นักดนตรีมีความเห็นกับ Spotify หลากหลาย บ้างก็มองว่าเอาเปรียบนักดนตรีที่ให้ค่าตอบแทนน้อยนิดแบบที่คนฟังต้องฟังเป็นร้อยกว่าครั้ง นักดนตรีถึงจะได้เงินเท่ากับการขายงานให้โหลดอย่างถูกต้องบน iTune แต่บ้างก็ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่ช่วยค้ำจุนชีวิตทางอาชีพของนักดนตรีที่ดี และก็เป็น "อนาคต"ด้วยเพราะการขายงานออนไลน์ก็ดูไม่มีอนาคตที่ดีเท่าไร (ซึ่งมีผู้คาดการณ์ไปอีกว่าอนาคตการฟังดนตรีจะแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ที่ด้านหนึ่งเป็นการสตรีมดนตรีฟังออนไลน์ และอีกด้านหนึ่งจะเป็นการฟังแผ่นเสียง ตลาดภาชนะดนตรีแบบกลางๆ อย่าง CD จะหายไป)

แต่ "อนาคต"ที่ว่าก็ดูไม่มีอนาคตเท่าไร เพราะมีงานศึกษาออกมาชี้ว่าบรรดาอุตสาหกรรมสตรีมทั้งหลายจะไม่มีวันได้กำไรไม่ว่าเวลาผ่านไปเท่าไร (ปัจจุบันบรรดาเว็บสตรีมยังขาดทุนอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งมาใหม่) และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรดาเว็บเหล่านี้จะไม่ได้กำไรก็คือการที่บรรดาค่ายเพลงทั้งหลายเรียกร้องส่วนแบ่งจากรายได้ของทางเว็บมหาศาลถึงราว 70% ของรายได้บรรดาเว็บสตรีมเหล่านี้

แน่นอนว่าเหล่า "ศิลปิน"ไม่ได้ใส่ใจว่าเว็บอย่าง Spotify จะมีอนาคตหรือไม่ เพราะพวกเขาเองโดยทั่วไปก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนอกจากรายได้ของตัวเอง และที่พวกเขาเถียงกันเรื่อง Spotify ก็ดูจะวนเวียนอยู่ในเรื่องนี้

การที่ข้อถกเถียงวนเวียนที่ "รายได้"และ "ค่าตอบแทน"นี้ก็ดูจะชี้ว่ายุคของการลงทุนทางดนตรีโดยค่ายเพลงน่าจะหมดลงไปแล้วอย่างช้าๆ เพราะอย่างน้อยๆ "เจ้านายใหม่"ทั้งหมดของนักดนตรีก็ไม่มีใครคิดจะลงทุนในการสร้างดนตรีใหม่ๆ ขึ้นมาอีก กล่าวคือนักดนตรีต้องลงทุนผลิตงานเองแล้วเอางานไปนำเสนอ “เจ้านายใหม่” ทำหน้าที่แค่ขายของให้

นี่ก็กลับมาประเด็นที่นักดนตรีจำนวนมากรับไม่ได้ที่ดนตรีของพวกเขาเป็นเพียง "เนื้อหา" (content) ที่บรรดาเว็บตัวกลางปฏิบัติไม่ต่างจาก “เนื้อหา” อื่นๆ ที่พวกเขามองว่าต่ำต้อยด้อยค่ากว่า โดยเฉพาะพวกเว็บตัวกลางใหญ่ๆ ที่มี “เนื้อหา” หลายแบบ เช่น YouTube ที่คลิปคนเล่นเพลงคลาสสิกอย่างขึงขังก็ถูกนำเสนอในระนาบเดียวกับคนถ่ายคลิปทำอะไรบ้าๆ บอๆ

และสิ่งที่ตลกที่สุดคือยุคที่นักดนตรีไม่พอใจสถานะของตัวเองที่สุดในรอบกว่าครึ่งศตวรรษนี้ก็เป็นยุคที่นักดนตรีเหล่านี้ดูจะมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดเสียด้วย เพราะนักดนตรีที่ฝีไม้ลายมือไม่น้อยกว่ากันก็ต่อคิวพวกนักดนตรีที่พลาดไปสำคัญตัวผิดๆ ให้โอกาสตัวเองหลุดลอยไปในยุคที่โอกาสเป็นสิ่งขาดแคลนหายากนี้

Source:

 

bot or not: เว็บทดสอบความเป็นเครื่องจักรของบทกวี

เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" (Artificial Intelligence) ทุกวันนี้ดูจะก้าวหน้าไปมากจนสามารถสร้างงานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมที่ก่อนหน้านี้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้สร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนทางวิชาการ เกมคอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งบทกวี

botpoet.com เป็นเว็บที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนเข้าไปคาดเดาว่า บทกวีหนึ่งๆ ที่ทางเว็บเอามาให้อ่านนั้น ถูกเขียนขึ้นมาโดยมนุษย์หรือเครื่องจักรที่มีปัญญาประดิษฐ์

โดยหลังจากเดาเสร็จแล้วก็จะรู้ผลทันทีว่าบทกวีนั้นๆ ถูกเขียนโดยมนุษย์หรือเครื่องจักรกันแน่พร้อมตระหนักว่าตัวเองเป็นกี่ % กันแน่ของคนทำบททดสอบที่ตอบถูก/ผิด

และผลของการตอบคำถามเหล่านี้ก็น่าจะนำไปพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวหน้าต่อไป

Source: http://www.popsci.com/article/science/time-i-thought-tao-lin-was-robot?dom=PSC&loc=recent&lnk=1&con=the-time-i-thought-tao-lin-was-a-robot-

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles