เผยงานวิจัย ไทย มีอัตราคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 44 ใน 100,000 คน คิดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากนามิเบีย ชาวต่างชาติมักกล่าวถึงการขับขี่ที่เร็วและอันตรายของรถโดยสารในไทย ทั้งที่รัฐไทยพยายามรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยมานานแล้ว
25 ก.พ. 2557 งานวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านการขนส่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 เรื่องอันตรายของการโดยสารบนท้องถนน โดยมีอัตราคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 44 ใน 100,000 คน รองจากประเทศอันดับ 1 คือ นามิเบีย ซึ่งมีอัตราคนเสียชีวิต 45 ใน 100,000 คน ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนในไทยคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด
นอกจากนี้รายงานการวิจัยยังได้เทียบสาเหตุการเสียชีวิตกับสาเหตุอื่นๆ สามอย่างคือ เนื้องอกร้ายแรง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดในสมอง แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยจะต่ำกว่าสาเหตุเหล่านี้ แต่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ถือว่ามีมากในระดับชวนตื่นตระหนก
อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยานพาหนะในไทยถือว่ามากกว่าสองเท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 18 ใน 100,000 คน ทางด้านประเทศในแถบแอฟริกาติด 10 อันดับแรกเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศอิหร่าน อิรัก และสาธารณรัฐโดมินิกัน ในเอเชียประเทศที่อันตรายรองจากนั้นคือมองโกเลีย มาเลเซีย จีน และอินเดีย ขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ ทาจิกิสถาน และมอลตา ถูกจัดว่าเป็นเมืองที่ปลอดภัยในการขับขี่มากที่สุด
เว็บไซต์ Asian Correspondent ระบุว่าประเทศไทยมักจะมีข่าวหน้าหนึ่งเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2554 รัฐบาลเคยประกาศว่าจะพยายามลดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยก็มีการณรงค์เรื่องการใช้ถนนอย่างปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว ในช่วงเดือน ธ.ค. 2556 รัฐบาลก็เคยกล่าวไว้ว่าจะมีมาตรการเพิ่มความตระหนักต่อเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนและจากการทำงานมากขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต
เมื่อปี 2555 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนเคยรายงานว่าอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มีสูงมากโดยมีผู้เสียชีวิตราว 11,000 คนต่อปีในประเทศไทย องค์การอนามัยโลกรายงานว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยร้อยละ 74 จะมีรถจักรยานยนต์รวมอยู่ด้วย ซึ่งทางการไทยบอกว่าการรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยโดยเฉพาะในเด็กจะเป็นการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
นอกจากนี้อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูงยังมีสาเหตุมาจากการขับขี่อย่างประมาท รวมถึงการขับขี่ขณะมึนเมา รวมถึงไม่มีมาตรการป้องกันตัวเองเช่นการสวมหมวกนิรภัย องค์การอนามัยโลกระบุในรายงานว่าร้อยละ 26 ของการเสียชีวิตบนท้องถนนในไทยมาจากการดื่มแอลกอฮอล์
เว็บไซต์ Asian Correspondent ระบุด้วยว่า นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปกับรถโดยสารของไทยคงเคยเจอกับการขับด้วยความเร็วสูงและคึกคะนอง ทำให้ท้องถนนอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมักจะกล่าวถึงการขับขี่อย่างอันตรายของคนไทยจากที่เจอมากับการนั่งรถทัวร์และรถตู้ บางครั้งก็มีการพยายามเร่งเครื่องแซงกันตรงทางโค้งบนภูเขา บางคนก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคนขับรถอาจจะทำงานหนักเกินไปโดยไม่ได้พักผ่อนเพียงพอระหว่างการขับรถทางไกลแต่ละครั้ง ขณะที่บางคนสันนิษฐานว่ามีการใช้ยาบ้าซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมขับขี่แบบเสี่ยงอันตราย
เว็บไซต์ Asian Correspondent ยังได้ระบุถึงข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนมากกับรถโดยสาร รวมถึงตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละครั้งทำให้เห็นว่าแม้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกอาจจะเก่าไปเล็กน้อย แต่เมื่อสังเกตจากข่าวอุบัติเหตุเหล่านี้แล้ว เรื่องภัยบนท้องถนนของไทยก็ยังคงเป็นปัญหา
โดยองค์การอนามัยโลกยังได้รายงานอีกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพเวลาสร้างถนนใหม่ รวมถึงยังไม่มีการหมั่นตรวจสอบดูแลโครงสร้างพื้นฐานถนนโดยตลอดด้วย ในรายงานปี 2556 ที่ผ่านมายังระบุอีกว่า โครงการสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุของไทยซึ่งตั้งเป้าให้น้อยกว่า 10 ใน 100,000 คน ได้รับเงินงบประมาณเพียงบางส่วนเท่านั้น
เรียบเรียงจาก
Study: Thailand’s roads 2nd most dangerous in the world, Asian Correspondent, 25-02-2014
http://asiancorrespondent.com/119892/study-thailand-roads-2nd-most-dangerous-in-the-world