ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนิโกลาส มาดูโร ในเวเนซุเอลา ออกมาชุมนุมวันเดียวกัน แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลบางกลุ่มจะถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธจนเป็นเหตุรุนแรงมาแล้ว แต่การชุมนุมล่าสุดยังไม่มีเหตุรุนแรงจากฝ่ายใด
24 ก.พ. 2557 ชาวเวเนซุเอลาทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลออกมาชุมนุมใหญ่ภายในประเทศในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันเสาร์ที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลนิโกลาส มาดูโร ที่ชื่อว่า "ชาวิสตาวีเมน"ได้จัดเดินขบวน "ต่อต้านฟาสซิสม์"ในกรุงการากัส ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้เรียกร้องให้ออกมาเดินขบวนเพื่อ "สันติภาพ"
อัลจาซีราประเมินว่ามีผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลหลายพันคนในกรุงการากัส คาริแดด เบียงโก ผู้เกษียณอายุรายหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงทำให้เธอไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ของผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลชุมนุมเพื่อสันติภาพและเพื่อบ้านเมือง
เบียงโกเล่าว่าชีวิตเธอดีขึ้นมากนับตั้งแต่ปี 2542 (หลังจากฮูโก ชาเวซ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี) มีคนได้รับเงินบำนาญมากถึง 300,000 คน และในตอนนี้มีมากถึงราว 3 ล้านคน เธอบอกว่าแม่ของเธอเคยเป็นคนทำงานรีดผ้าและไม่เคยได้รับบำนาญมาก่อน
ขณะที่เดซี เปเรซ คนงานทำความสะอาดที่เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลเป็นผู้ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นจากการสร้างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
ทางด้านฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อัลจาซีราได้ประเมินจำนวนคนมาร่วมชุมนุมราวหลายพันคน และมีอีกมากกว่านั้นเดินขบวนมาสมทบ อเล็กซิส เปเรซ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไซมอน โบลิวาร์ กล่าวว่าเวเนซุเอลาในตอนนี้กำลังมีวิกฤติทางสังคม ถึงจุดหนึ่งแล้วรัฐบาลก็จะต้องนั่งลงเจรจากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างเป็นไปตามความเหมาะสม
คริส อาเซนนอลท์ นักข่าวอัลจาซีราบอกว่าการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายในวันเดียวกันครั้งนี้ดูเหมือนเป็นแค่การแสดงพลังกันทั้งสองฝ่าย โดยพวกเขาพยายามเรียกร้องเสียงสนับสนุนจากมวลชนในการต่อสู้ที่ดูเหมือนยังคงเสมอกัน และมีโอกาสน้อยที่จะเกิดความรุนแรงในกรุงการากัสจากการชุมนุมครั้งนี้เนื่องจากทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกันมาก
หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ เสียชีวิตเมื่อกลางปีที่แล้ว นิโกลาส มาดูโร ซึ่งเปรียบเสมือนผู้สืบทอดของชาเวซก็ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่มาดูโรก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง จนกระทั่งมีการชุมนุมต่อต้าน
การชุมนุมเริ่มต้นในวันที่ 2 ก.พ. ในเมืองซาน คริสโตบาล นำโดยกลุ่มนักศึกษาที่ไม่พอใจเรื่องอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยโซเชียลมีเดียมีบทบาทในการแพร่กระจายทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในกรุงการากัสและแพร่ไปยังเมืองอื่นๆ ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เฮนริค คาปริเลส แกนนำหลักของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกล่าวว่าเดิมทีเขาต้องการให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงความไม่พอใจเรื่องอัตราอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาอาหารขาดแคลน และปัญหาเรื่องอื่นๆ ในเวเนซุเอลา แต่ในตอนนี้เขาหันมาให้ผู้ชุมนุมมุ่งเรียกร้องเรื่องการถอดอาวุธกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลบางกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธโจมตีใส่ผู้ประท้วง
นับตั้งแต่การประท้วงล่าสุดในเวเนซุเอลามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 100 ราย จากเหตุการณ์รุนแรง
มาดูโร ปฏิเสธว่าฝ่ายของเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธใดๆ อีกทั้งยังกล่าวหาว่าการประท้วงล่าสุดนี้เป็นการ พยายาม "สร้างสถานการณ์เพื่อยกระดับให้เกิดการรัฐประหาร"โดยสหรัฐอเมริกา และโดยอดีตประธานาธิบดีอนุรักษนิยมของโคลัมเบีย อัลวาโร อูริบ
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลเวเนซุเอลากระทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ทางมาดูโรบอกว่าถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของตน อีกทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มาดูโรยังได้เรียกร้องให้เปิดเวทีอภิปรายระหว่างรัฐบาลเวเนซุเอลากับรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
เรียบเรียงจาก
Major rival protests staged in Venezuela, Aljazeera, 23-02-2013
http://www.aljazeera.com/news/americas/2014/02/mass-rival-protests-staged-venezuela-2014222144349914418.html