Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ทีดีอาร์ไอแนะลดมายาคติ-หนุนพัฒนาทุนมนุษย์ลดความเหลื่อมล้ำ

$
0
0
นักวิชาการเห็นพ้องสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์และลดมายาคติเรื่อง“คนจน-ผู้ด้อยโอกาส”เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคมของรากหญ้า และกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น เชื่อจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การปฏิรูปสวัสดิการสังคมได้

 
21 ก.พ. 2557 ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงเป็นปมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องเพื่อคลี่คลายปมปัญหานี้ เพราะบทบาทของภาครัฐไม่ได้มีแค่ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมในระบบสวัสดิการสังคมด้วย
 
ในการเสวนา“ทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบสวัสดิการสังคม” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภายในทีดีอาร์ไอและบุคลากรภายนอก ร่วมกันแสวงหาข้อเสนอเพื่อการปฎิรูปประเทศไทยที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อสาธารณชน และเพื่อให้พรรคการเมืองที่สนใจและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว สามารถนำไปผลักดันให้เกิดนโยบายขึ้นจริง
 
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ชวนคิด-ชวนคุย โดยระบุว่า สนับสนุนให้เดินหน้าปฏิรูปพร้อมเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนชั้นกลาง ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของทุนมนุษย์  2.ระหว่างคนชั้นกลางกับคนรวยที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของทุนทรัพย์ และ 3.ปัญหาระหว่างคนจนกับคนรวย เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของทุนทรัพย์และทุนมนุษย์ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องโอกาสและความสามารถขจัดความเสี่ยงของคนในแต่ละระดับ
 
นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้วภาคการคลังของไทยแทบจะไม่มีบทบาทในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นอานิสงค์ที่ผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งทวีคูณขึ้น จึงขอเสนอแนวทางแก้ไข 3 ด้านที่จะป็นรูปธรรมของการปฎิรูป คือ 1. ด้านกฎหมาย การคลัง ต้องมีการจัดทำ พรบ.สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าโดยให้มีผลบังคับโดยเร็ว การผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษี เช่น พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษี Capital gain tax หรือภาษีที่คนเล่นหุ้นในประเทศไทยไม่ต้องจ่าย รวมถึงการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาษีและกำลังคน เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณมาจัดสรรสร้างทุนมนุษย์มากกว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.ด้านบริหารจัดการ ควรจัดให้มีหน่วยวิเคราะห์ผล Redistribution ของนโยบายรัฐบาลที่สำคัญ โดยให้เป็นอิสระจากรัฐบาล และ 3.ด้านการเมือง ประชาสังคม ควรเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของรากหญ้า คนชั้นกลาง ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการจัดการเลือกตั้ง Primary Vote ขณะเดียวกันควรจัดให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งโดยให้สัดส่วน ส.ส.ในสภามีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ popular vote มากที่สุด  เดินหน้าปฏิรูปสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจหน้าที่และการคัดเลือกสมาชิก  พร้อมทั้งเร่งรัดสื่อให้ช่วยลดมายาคติในเรื่องคนจน
 
ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า หากจะพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกันภาคการคลังของไทยต้องปฏิรูประบบภาษี รวมถึงต้องพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการเพื่อครอบคลุมไปยังผู้ด้อยโอกาส พร้อมกับการจัดสรรงบประมาณอย่างถูกวิธีและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยคำนึงถึงค่าเสียโอกาสของความเหลื่อมล้ำ เช่น ใครคือคนจน หลังพบว่ามีการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยคนไม่จน รวมถึงการลดมายาคติในเรื่องใครคือคนจนและผู้ด้อยโอกาสด้วย
 
เช่นเดียวกับ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ ชวนคิด-ชวนคุยต่อในประเด็นระบบสวัสดิการสังคม โดยกล่าวว่า สวัสดิการสังคมของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำมาก โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศพบว่า ปี พ.ศ.2554 ชายแดนภาคใต้ มีอัตราการตายของมารดาต่อการเกิดมีชีพสูงที่สุดโดยอยู่ที่ 73.7: 100,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งสูงกว่าในกรุงเทพถึง 2 เท่า สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลของประเทศไม่เท่าเทียมกัน การรักษาพยาบาลที่มีการให้บริการของโรงพยาบาลแต่ละที่ จัดแบ่งตามรูปแบบบัตรประชาชน รวมไปถึงบัตรสวัสดิการที่ถืออยู่
 
การปฏิรูปสวัสดิการสังคมรัฐต้องเดินหน้าประกันสุขภาพพื้นฐานที่เป็นธรรม ต้องไม่เลือกปฏิบัติ แต่ต้องมีการการกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพที่เป็นธรรม รวมถึงต้องปฏิรูปประกันสังคมให้แยกออกจากการเป็นหน่วยงานรัฐ โดยมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบต่อผู้ประกันตน โดยเชื่อว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการวมตัวของแรงงานที่เข้มแข็งกว่านี้ ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดเพื่อให้มองเห็นเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม เป็นระบบสวัสดิการที่มีความถ้วนหน้าแบบมีส่วนร่วมและมีส่วนรับผิดชอบคือ ร่วมจ่ายตามกำลังความสามารถและร่วมรับประโยชน์ตามความจำเป็น
 
ด้าน ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นว่าเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากไม่มีการสกัดกั้นหรือปรับตัว มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นได้เองอยู่แล้ว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตรกับอาชีพอื่นๆ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีเกษตรกรจำนวนมาก คิดเป็น 25-40%ของแรงงานทั้งหมด แต่กลับสวนทางกับรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ดีได้จะต้องไม่มีเกษตรกรมากเกินไป ส่วนแนวทางการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยนั้น สามารถทำได้โดยคนที่ไม่ใช่เกษตรกรต้องเลิกยัดเยียดค่านิยมและความรู้ที่ไม่ถูกต้องให้เกษตรกร ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องเลิกโฆษณาชวนเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการบิดเบือนกลไกตลาด และทำให้เกิดการเสพติดนโยบายประชานิยมการเกษตร ที่สำคัญต้องเลิกใช้มาตรการหรือจูงใจให้คนกลับไปทำภาคเกษตร เนื่องจากหากมีการทำภาคเกษตรมากเกินไปจะทำให้ผลผลิตล้นตลาด ซึ่งส่งผลต่อราคา และ ในการออกมาตรการหรือนโยบายประกันความเสี่ยงนอกจากจะคำนึงในเรื่องราคาแล้วจะต้องคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบในภาพรวมด้วย
 
ขณะที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดจากการทำงานของกลไกเศรษฐกิจที่มีผลมาจากการบริหารงานในอดีต ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงอนาคต ยกตัวอย่างเช่น หากในอดีตมีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง อนาคตทรัพยากรจะไม่เหลือเป็นมรดกที่ตกทอดไปยังลูกหลาน ซึ่งตนเชื่อว่าแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนในประเทศ ไม่สามารถใช้แนวทางการช่วยเหลือโดยการกำหนดราคาสินค้าได้ แต่แนวทางที่ได้ผลที่สุดคือการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบภาษีอย่างเป็นธรรม   แนวทางในการปฏิรูปประเทศที่จำเป็นคือการสร้างความโปร่งใสในการนำเสนองบประมาณในทุกโครงการต่อรัฐสภาและอุดช่องโหว่ในการกู้ยืมเงินนอกงบประมาณมาณให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้มีโครงการที่สร้างความเสียหายต่อประเทศเหมือนโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นอีก
 
ด้าน ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์  คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า กล่าวว่า แถบละตินอเมริกาจัดให้ไทยติดอันดับต้นๆในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ตนเห็นด้วยกับการปฏิรูปสวัสดิการสังคม ใน 3 ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามได้แก่ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2.การลดความเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวกับการปฏิรูประบบงบประมาณและระบบงบประมาณ และ 3.การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ขณะเดียวกันที่ผ่านมาพบว่าประเด็นเรื่องสุขภาพของไทยมีแนวโน้มของการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่มีมิติที่ขาดไปนั่นคือ หลักประกันทางด้านสังคมโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 30 ล้านคน แม้จะมีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและผลักดันเป็นกฎหมายกรณีพ.ร.บ.การออมแห่งชาติแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการ ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณนั้น ควรเปลี่ยนระบบจากผู้อำนวยการเพียงคนเดียวที่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณปรับเป็นมีคณะกรรมการบอร์ด โดยให้มีภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่องค์กรรัฐเข้าไปบริหารจัดการ และมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณอย่างโปร่งใส
 
สอดคล้องกับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่เห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าวพร้อมเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ความคิดเห็นหรือข้อเสนอในครั้งนี้ต้องมีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมและผลักดันให้มีภาพชัดเจนว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร และหากมีผู้ไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไรกับแรงต่อต้านนั้นๆ
 
อย่างไรก็ตามวงเสวนาเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงต้องมีกลไกและกระบวนการในการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงและชัดเจนเพื่อทำให้การปฏิรูปสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างสำเร็จและยั่งยืน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles