ประมวลข่าวสารลิขสิทธิ์รอบโลก นำเสนอข่าว: รายงานของอียูพบคน 2 ใน 3 โหลดหนังเถื่อนมาดู, ศาลสูงอียูชี้การโพสต์ลิงค์สาธารณะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์, พันธมิตรเพื่อลิขสิทธิ์นานาชาติแนะไทยปรับกม. ลิขสิทธิ์เข้มขึ้น
คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วกับอนาคตของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือที่รู้จักกันในนาม PC นั้นถือว่ากำลังหดตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปใช้ "คอมพิวเตอร์"ในรูปแบบอื่นๆ กันมากขึ้นตั้งแต่สมาร์ทโฟน แทบเล็ต และโน๊ตบุ๊ค
นี่ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ดั้งเดิมเพราะบริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถขยับขยายการผลิตไปผลิต "สินค้าทดแทน"การบริโภคคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมได้ทั้งหมดยอดขายจึงลด
อย่างไรก็ดีสินค้าของบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ถือว่ามาแรงมากๆ ในปี 2013 ผ่านมาคือเหล่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดจิ๋วทั้งหลาย ที่ทาง Intel ออกมาบอกว่าเป็นสินค้าที่แทบขายไม่ได้เลยในปี 2012 แต่กลับขายได้เป็นล้านหน่วยในปี 2013
คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วเหล่านี้ ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากมาย และมาพร้อมกับหลายระบบปฏิวัติการ ความจุ และสเป็คเครื่อง แต่ที่เหมือนกันแทบจะทั้งหมดก็คือขนาดเครื่องที่เล็กลงอย่างมีนัยยะสำคัญกว่า "คอมพิวเตอร์"ในความเข้าใจทั่วไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือกระทั่งไม่กี่ปีก่อน ซึ่งขนาดที่เล็กนี้ก็มักจะมากับฮาร์ดดิสก์แบบ SSD (Solid State Drive) ที่ทั้งมีขนาดเล็กกว่าและเพิ่มความเร็วในการประมวลผลมากกว่าฮารด์ดิสก์แบบ HDD (Hard Disk Drive) ซึ่งสิ่งที่จะต้องแลกมาเพื่อให้ได้ขนาดที่เล็กลงและความเร็วที่มากขึ้น ก็คือราคาที่สูงขึ้นมากและความจุที่ได้น้อยลงในระดับที่ว่าราคา HDD ที่มีความจุเป็น 1 TB นั้นดูจะราคาต่ำกว่า SSD ที่มีความจุเพียง 100 GB เศษๆ ด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าสิ่งที่คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วเหล่านี้ทำได้แน่นอนก็คือ สามารถเสียบจอ เสียบเมาส์ เสียบคีย์บอร์ด เข้ากับมันได้ใช้งานได้เป็นคอมพิวเตอร์ปกติ
แต่นัยยะที่สำคัญของขนาดที่เล็กลงและความจุที่น้อยลงก็คือ การไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลจำนวนมากลงไปภายในคอมพิวเตอร์ได้อีก ดังนั้นการจะมีเพลงจำนวนมาก (ถ้าคนยุคนี้ยังจะฟังเพลงในเวลาว่างกันอยู่) ในคอมพิวเตอร์จึงดูจะเป็นเรื่องปกติน้อยลง
ซึ่งการเติบโตของบริการสตรีมมิ่ง (Streaming) หรือการฟังเพลงออนไลน์ทั้งหลายในโลกตะวันตกดูจะสอดคล้องกับ "กระแสความพิวเตอร์ขนาดเล็กลง"ทั้งหมด (ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะขนาดเล็กลง หรือการใช้สมาร์ทโฟน) เพราะนี่ดูจะเป็นหนทางที่นักฟังเพลงจะไม่ต้องมาสิ้นเปลืองพื้นที่คอมพิวเตอร์ในการบรรจุเพลง (ซึ่งก็ไม่ต้องไปพูดถึง CD ที่กลายเป็นวัตถุโบราณที่แทบจะมีผู้นิยมฟังเพลงกลุ่มเล็กๆ ยังนิยมอยู่)
และคำอธิบายนี้ก็ดูจะเชื่อมโยงกับภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ ด้วย เพราะบริการสตรีมมิ่งสิ่งเหล่านี้ก็โตมากเช่นกันในโลกตะวันตก
เพราะสุดท้าย เหตุผลที่คนยัง "จ่าย"ให้กับบริการเหล่านี้ทั้งๆ ที่ "เนื้อหา"มันมีกระจายไปทั่วให้โหลดฟรีๆ ทั่วอินเทอร์เน็ต ก็เพราะความสะดวกสบายภายใต้ราคาอันสมเหตุสมผลของมันนั่นเอง
พูดง่ายๆ คือการทำสำเนาเถื่อนออนไลน์ทั้งหลายก็ยังพ่ายให้กับความสบายของบริการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของซีรีส์ที่ผู้รับบริการเข้าถึงตอนล่าสุดได้ทันที ซึ่งเราก็ต้องไม่ลืมว่าเหตุผลที่คน "ไพเรต"ซีรีส์กันกระหน่ำที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือในท้องถิ่นเขาได้ดูช้ากว่าที่มันฉายครั้งแรก เพราะโดยทั่วไปผู้ติดตามดูซีรี่ส์ก็น่าจะสนใจที่จะดูซีรีส์ตอนล่าสุดให้เร็วที่สุดที่เป็นไปได้มากกว่าจะมาเคารพกฎหมายลิขสิทธิ์ (ที่ชัดเจนมากคือกรณีของซีรี่ส์ HBO ที่ในออสเตรเลียฉายช้ากว่าอเมริกา)
การเติบโตของ "คอมพิวเตอร์จิ๋ว"ในโลกตะวันตก ดูจะสอดคล้องกับพัฒนาการด้านการบริการสิ่งบันเทิงเหล่านี้ที่ไม่ต้องกินเนื้อที่คอมพิวเตอร์อีก (ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้หากอินเทอร์เน็ตไม่ "เร็ว"พอเช่นกัน)
อย่างไรก็ดีการเติบโตของตลาด "คอมพิวเตอร์จิ๋ว"นี้แม้จะขยายตัวเป็นหลักล้านในปี 2013 แต่มันก็ดูจะชดเชยการลดลงของยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยรวมๆ ที่ลดลงจากปี 2012 ถึง 41 ล้านหน่วยไม่ได้ (ในช่วงเดียวกันยอดขายของทั้งมือถือและแทบเล็ตก็ยังโตอย่างต่อเนื่องในหลักหลายสิบล้านเครื่องทั่วโลก) และบรรดาบริษัทผู้ผลิตก็คงจะต้องทำงานหนักและปรับตัวต่อไปในการอยู่รอดในธุรกิจ
สุดท้ายสำหรับในไทย ผู้เขียนไปสอบถามผู้รู้มาก็ได้ความว่ามีคอมพิวเตอร์จิ๋วขายบ้างแล้ว แต่ก็ได้คำแนะนำมาว่าให้ลองซื้อเมนบอร์ดแบบ Mini-ITX หรือกระทั่งคอมพิวเตอร์จิ๋วของจิ๋วอย่าง Raspberry Pi มาประกอบเองน่าจะดีกว่าในแง่ของราคาที่ยอมเยาและสเปคเครื่องที่สูงกว่าในราคาที่เท่ากัน (ซึ่งก็น่าจะอยู่ราวๆ 5,000-20,000 บาท)
Source:
- http://arstechnica.com/gadgets/2014/02/mini-desktops-are-a-rare-bright-spot-in-a-shrinking-pc-industry-says-intel/
- http://www.gartner.com/newsroom/id/2645115
รายงานของกรรมาธิการยุโรปชี้คนยุโรป 2 ใน 3 "โหลด"หนังมาดูฟรีๆ
"ปัญหา"เกี่ยวกับการดาวน์โหลดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาดูฟรีแบบเถื่อนนั้นแม้ว่าจะน้อยกว่าอุตสาหกรรมบันทึกเสียงอย่างเทียบกันไม่ได้ (อย่างน้อยๆ ช่วงเวลาที่ยอดขายซีดีลงลงกว่าครึ่ง ยอดผู้ชมภาพยนตร์และรายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ได้ลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งหากจะกล่าวอ้างว่ามันเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
อย่างไรก็ดีมันก็ยังเป็นปัญหา และสำหรับคนจำนวนมากมันก็ดูจะต้องการการแก้ไขบางอย่าง ซึ่งทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน แนวทางที่เหมาะสมก็ดูจะเป็นการออกกฎหมายให้มีการ "เอาผิดตัวกลาง"อย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อกดดันให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายทำตัวเป็น "ตำรวจอินเทอร์เน็ต"และนี่ก็ยังไม่รวมถึงเทคนิคการไล่ฟ้องคนโหลดหนังเป็นพันเป็นหมื่นคนที่เคยทำมาแล้วจนฉาวโฉ่
อย่างไรก็ดี สำหรับคณะกรรมาธิการยุโรป ข้อเสนอแนะจากผลสรุปของรายงานล่าสุดดูจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น
กรรมาธิการได้สำรวจคนกว่า 4,600 คนทั่วยุโรป และได้ข้อสรุปว่าคนยุโรปถึง 97% เป็นผู้ชมภาพยนตร์ แต่คนถึง 68% ก็เคยดาวน์โหลดหนังมาดูผ่านโปรแกรมตระกูลทอร์เรนต์ทั้งหลาย และคน 55% ก็เคย "สตรีม"หนังมาดูออนไลน์ฟรีๆ แบบไม่เสียเงิน
ที่น่าสนคือ "เหตุผล"ในการ "ละเมิดลิขสิทธิ์"ของผู้คนเหล่านี้ แน่นอนว่าเหตุผลดิบๆ ว่าเขาโหลดมาดูเพราะไม่รู้จะจ่ายเงินดูทำไมเนื่องจากหาดูฟรีๆ ได้ย่อมมี อย่างไรก็ดีเหตุผลนี้ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักด้วยซ้ำของการโหลดหนังมาดู
เหตุผลหลักที่สุดในการโหลดหนังมาดูฟรีคือทั้งตั๋วหนังและ DVD มีราคาแพงเกินไป พวกเขาเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสียเงิน และเหตุผลระดับรองๆ ลงมาก็ดูจะย้ำประเด็นให้เห็นว่าการที่ภาพยนตร์เข้าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไปจนถึงการไม่มีโรงภาพยนตร์แพร่หลายในท้องถิ่น (ปัจจัยนี้โดดเด่นพอสมควรในยุโรปตะวันออกที่คนราว 10-20% พักอาศัยอยู่ห่างจากโรงหนังที่ใกล้ที่สุดเกิน 30 นาที) ก็ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้คน "ไพเรต"ภาพยนตร์มาดูฟรีๆ
ทั้งหมดทำให้ทางกรรมาธิการเสนอว่าทางผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องหาพันธมิตรในยุโรปเพื่อให้บริการภาพยนตร์อย่างทั่วถึงในราคาที่สมเหตุสมผลขึ้น กล่าวคือนี่เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต้องปรับตัวด้านการแผยแพร่และราคาสินค้า ไม่ใช่ปัญหาของรัฐที่จะต้องออกกฎหมายมาเพื่อโยนภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องมีภาระการสอดส่องเหล่า "ไพเรต"
นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเข้าใจร่วมสมัยที่มักจะมองว่าบริษัทภาพยนตร์เป็นผู้มีสิทธิผูกขาดการนำเสนอและเผยแพร่ภาพยนตร์โดยปริยายอย่างไร้ข้อกังขา และการละเมิดสิทธิ์นั้นก็ไม่ได้ต่างจากการเป็นโจร
แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไป "กฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก"ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุชัดเจนว่าสาธารณชนสามารถร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐได้หากหนังสือลิขสิทธิ์มีราคาแพงเกินไป และเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถตั้งราคาใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้ โดยผู้ผลิตที่ละเมิดข้อกำหนดทางราคาที่ตั้งมาใหม่ก็มีโทษ เรื่องพวกนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
และ "สามัญสำนึก"ของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เคยมีอยู่ดั้งเดิมนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ควรจะรีบกอบกู้กลับมาโดยด่วนหากต้องการจะ "ปฏิรูป"เพื่อ "สร้างสมดุล"ให้กฎหมายลิขสิทธิ์จริงๆ
Source:
- http://torrentfreak.com/most-europeans-download-and-stream-pirated-movies-140214/
- http://rt.com/news/piracy-eu-download-films-211/
- http://europa.eu/rapid/press-release_IP-14-120_en.htm
ศาลยุติธรรมยุโรปชี้ว่าการโพสต์ลิงค์ที่เป็นสาธารณะอยู่แล้วลงบนเว็บไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์
ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารเป็นเงินเป็นทองมากขึ้น บรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหลายก็มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการกล่าวอ้างว่าการใช้ข้อมูลของตนอย่างไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แม้ว่ามันจะเป็นข้อมูลที่ออกมาสู่สาธารณะแล้ว
เรื่องนี้เริ่มจากสวีเดน ทางเว็บ Retriever Sverige AB เป็นเว็บรวมลิงค์จากที่ต่างๆ ให้ผู้ใช้ได้อ่าน
หลังจากทางเว็บได้ลงลิงค์ข่าวจากเว็บหนังสือพิมพ์สวีเดนฉบับหนึ่ง ผลปรากฎว่านักข่าวที่เป็นคนเขียนข่าวนั้นไม่พอใจถึงฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ บนฐานว่าทาง Retriever Sverige AB ได้ "สื่อสาร"ข่าวที่เขาเขียนต่อสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเอาก็ต้องการ "ส่วนแบ่ง"จากรายได้อันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์นี้
นักข่าวนายนี้แพ้คดีในสวีเดนไปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว แต่เขาก็เอาเรื่องขึ้นไปร้องเรียนกับศาลยุติธรรมยุโรปเพื่อให้ชี้ขาด
อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมยุโรปก็ดูจะยืนยันคำตัดสินของศาลสวีเดนและชี้ว่าการลงลิงค์ถูกกฎหมายที่สาธารณชนเข้าถึงได้อยู่แล้วลงบนเว็บมันไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายใดๆ
คำอธิบายของศาลคือ "สาธารณชน"ที่ผู้ลงลิงค์ "สื่อสาร"ไป ไม่ใช่สาธารณชนกลุ่มใหม่ เป็นกลุ่มเดิมที่สามารถเข้าถึงลิงค์ได้อยู่แล้ว
ดังนั้นเจ้าของลิงค์จึงไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมใดๆ ในการกล่าวอ้างว่าการที่ผู้อื่นลงลิงค์มายังเนื้อหามีลิขสิทธ์ของตนที่เป็นสาธารณะอยู่แล้วเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งก็นำไปสู่การไม่สามารถกล่าวอ้างความเสียหายใดๆ ได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะลงลิงค์อะไรก็ได้จะไม่ผิดกฎหมายไปเสียหมด เพราะการลงลิงค์แบบเข้ารหัสไว้เพื่อให้สมาชิกของทางเว็บเท่านั้นเข้าได้ก็อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นอกจากนี้การลงลิงค์ที่นำไปสู่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงๆ ก็อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน
แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงลิงค์ข่าวในเว็บข่าว ไปจนถึงลิงค์โพสต์ในบล็อกแน่นอน
ที่น่าสนใจคือนี่ดูจะเป็นการตอกย้ำความไม่ชอบธรรมของการที่บรรดาสำนักข่าวใหญ่ๆ ในยุโรปอ้างลิขสิทธิ์เหนือ"ลิงค์ข่าว"เพื่อเก็บเงินกับทางบริษัทอเมริกันอย่าง Google ที่แสดงผลลิงค์ข่าวต่างๆ
Source:
- http://torrentfreak.com/hyperlinking-is-not-copyright-infringement-eu-court-rules-140213/
- http://gigaom.com/2014/02/13/sanity-prevails-europe-says-hyperlinks-dont-infringe-copyright/
ดูพันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ (IIPA) มองสถานการณ์ลิขสิทธิ์ไทย
Special 301 Report เป็นชื่อรายงานประจำปีด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐอเมริกา (Office of the United States Trade Representative หรือ USTR) มันเป็นรายงานที่มีรายละเอียดหลักคือการเป็น "บัญชีดำ"ของบรรดาประเทศที่ "ละเมิด"ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ
รายงานนี้จะออกช่วงกลางๆ ปี และช่วงต้นๆ ปีพวกกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลายก็จะส่งข้อเสนอแนะให้กับทาง USTR
และขาประจำที่ส่งรายงานให้ก็คือพันธมิตรทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ (International Intellectual Property Alliance หรือ IIPA) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของบรรดาบรรษัทในอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ [ดูรายงานย้อนหลังได้ที่ http://www.iipa.com/special301.html]
เนื้อหาหลักๆ ของรายงานก็คือการจัดประเทศต่างๆ ที่ "ละเมิดลิขสิทธิ์"เข้าในหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งแบ่งใหญ่ๆได้เป็น 1. Priority Foreign Country 2. Priority Watch List 3. Watch List ซึ่งก็ลดหลั่นกันลงมาตามระดับความร้ายแรงของการละเมิดลิขสิทธิ์
ประเทศไทยติด 1 ใน 3 หมวดนี้มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1989 ที่เริ่มมี Special 301 Report ของทาง USTR
และปีนี้ทาง IIPA ก็เสนอว่าไทยควรจะติด Priority Watch List อีกครั้ง
เหตุผลคือ ทาง IIPA เห็นว่าทั้งกฎหมายไทยและระบบยุติธรรมไทยไม่เอื้อให้กับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์เท่าที่ควร
เนื้อหามีรายละเอียดมากมายตั้งแต่การเสนอให้แก้กฎหมายในส่วนของความผิดการละเมิดลิขสิทธิ์ให้เอาผิด "ตัวกลาง"มากขึ้น (ทั้งออฟไลน์อย่างเจ้าของห้าง และออนไลน์อย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ลดขอบเขต "การใช้อย่างชอบธรรม"ลงด้วยการระบุชัดเจนในกฎหมายว่าการถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐมีภาระในการปราบปรามด้านการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น เป็นต้น
ทาง IIPA ดูจะไม่มีความพอใจในทั้งการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษทางกฎหมายไทยเลย เพราะในเนื้อหาข้อเสนอแนะก็มีการเสนอให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ในโรงใหม่ จนถึงพิจารณาร่าง พรบ. ลิขสิทธิ์ และ พรบ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ เนื่องจากโทษที่ขยายมายังไม่เพียงพอที่จะปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในรายงานก็กล่าวอีกว่ากระบวนการยุติธรรมด้านลิขสิทธิ์ไทยนั้นไม่เป็นธรรมหลายชั้นกับเจ้าของลิขสิทธิ์ เริ่มตั้งแต่การให้ภาระการพิสูจน์การละเมิดลิขสิทธิ์และความเสียหายเป็นของทางโจทก์ ไปจนถึงการที่ผู้พิพากษามักจะตัดสินโทษการละเมิดลิขสิทธิ์อย่าง "ไม่ต่างจากการลักเล็กขโมยน้อย"กล่าวคือ ผู้พิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดต่ำกว่าที่ IIPA เห็นว่าควรจะเป็นไปเยอะ และ IIPA เห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ควรจะมีความผิดมากกว่าการขโมยของที่เป็นวัตถุด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้ดูจะสะท้อนวิธีคิดแบบ "อเมริกันเป็นศูนย์กลาง"มากๆ เพราะสำหรับ IIPA ความแตกต่างของกฎหมายลิขสิทธิ์ ดูจะไม่ใช่เรื่องของการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างภายใต้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ แต่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกา และภายใต้กรอบแบบนี้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายลิขสิทธิ์สอดคล้องกับอเมริกาก็ดูจะละเมิดลิขสิทธิ์อเมริกาหมดในระดับโครงสร้างของกฎหมาย
ซึ่งใต้กรอบแบบนี้การละเมิดลิขสิทธิ์ที่อเมริกาต้องจับตาจึงไม่ได้มีแต่ "ประเทศกำลังพัฒนา"แต่ "ประเทศเจริญแล้ว"จำนวนไม่น้อยก็ต้องจับตาเช่นกัน นี่เป็นเหตุผลที่นอกจากไทยแล้ว อาร์เจนตินา ชิลี จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ และตุรกี ก็ล้วนเป็นประเทศที่ติดอันดับต้องจับตาอันใดอันหนึ่งของ Special 301 Report มาตั้งแต่ปี 1989 ต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงทุกวันนี้ (http://www.iipa.com/pdf/2014SPEC301HISTORICALCHART.pdf)
Source: http://www.iipa.com/rbc/2014/2014SPEC301THAILAND.PDF