ศรส.ทำหนังสือถึงศาลแพ่ง ถามแนวทางปฏิบัติ 7 ข้อ พร้อมออกแถลงการณ์เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งฯ หวั่นเกิดการจัดการกันเอง เพราะ ศรส.ใช้กฎหมายไม่ได้
20 ก.พ. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บก.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. แถลงกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ ให้รัฐบาลโดย ศรส. คงการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขสั่งการ 9 ข้อ ว่า ทำให้การปฏิบัติงานของ ศรส. เกิดการชะงักงัน และขาดความเข้าใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส 155 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ขอหารือแนวทางปฏิบัติจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เพราะตนในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. และเป็นจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวง กรม ตามที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบอำนาจให้ โดยขอความรู้จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งและคณะผู้พิพากษา 5 ท่านที่เป็นผู้ตัดสินคดีความเมื่อวานนี้ รวม 7 ข้อ เพื่อขอทราบและหารือแนวทางปฏิบัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว ศรส. จะต้องพึงปฏิบัติอย่างไร ในข้อเท็จจริงและสถานการณ์ ต่อไปนี้
1. ผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดถนน สร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล และใช้เป็นที่ซ่องสุมอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล กรณีดังกล่าวเข้าข่ายต้องห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาบางคนที่อยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวตามหมายจับของศาลได้หรือไม่
2. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าบุกยึดพื้นที่กระทรวงมหาดไทย ไล่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน มีการขโมยลักทรัพย์อาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 ที่เก็บไว้ในกระทรวงมหาดไทยออกไป และนายถาวร เสนเนียม โจทก์ในคดีนี้ ได้นำกำลังผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปช่วยปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และมีการยิงปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 7 ที่เข้าไปเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากกระทรวงมหาดไทย กรณีดังกล่าวคำสั่งของศาลแพ่งห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการใดบ้าง หรือให้กระทำการใดได้บ้าง หรือรวมว่ากรณีกระทรวงมหาดไทยเป็นการชุมนุมโดยสงบตามนัยที่ศาลแพ่งสั่งการ
3. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ปิดถนนสายต่างๆ วางสิ่งกีดกั้นทำให้การจราจรติดขัด ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามนัยคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลแพ่งหรือไม่ และจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจดำเนินการอย่างไร จึงจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง และหรือผู้ชุมนุมปิดถนนหมดทุกสาย ศาลจะให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จราจรทำอย่างไร
4. กรณีมีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประมาณ 300 คน ประกาศว่าจะไปยึดพื้นที่กระทรวงพลังงานคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ในกระทรวงพลังงาน ศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไรและหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้เข้าไปในตัวอาคารและขัดขวางไม่ให้เข้ามายึดพื้นที่คืน กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับคำสั่งห้ามของศาลแพ่ง รวมถึงศาลแพ่งจะนับว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้นได้ชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ตามนัยคำสั่งศาลหรือไม่
5. กรณีพระพุทธะอิสระ ปิดศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ห้ามข้าราชการเข้าไปทำงาน และวางบังเกอร์ปิดถนนโดยรอบ ถือว่าเป็นการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่
6. กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. กับพวก นำผู้ชุมนุมไปปิดสถานที่ราชการต่างๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อล่าตัวนายกรัฐมนตรี (ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร) ข่มขู่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องมาติดต่อราชการ ทั้งยังใช้ถ้อยคำพูดหยาบคาย กรณีเช่นนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและพึงกระทำได้ตามนัยความเห็นของศาลแพ่งหรือไม่อย่างไร
7. วันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำผู้ชุมนุมไปบุกสถานที่ราชการ ศูนย์รักษาความสงบ และบริษัทเอกชน ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่เพียงใด และศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง
“หลายครั้งหลายหนที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลแพ่งคุ้มครอง ได้ไปยึดสถานที่ราชการ ได้ทำร้ายข้าราชการ ได้ไล่ข้าราชการออกจากที่ทำงาน พวกผมซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ ผอ.ศรส. ได้ไปกอบกู้ให้หน่วยงานได้เปิดทำงานได้แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวานนี้ ถ้ากลุ่ม กปปส. นำกำลังคนเข้าไปยึดคืนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แล้วไปปราศรัยหน้ากระทรวงเรียกร้องประชาธิปไตย ท่านอธิบดีฯ และคณะที่สั่งคดี จะยอมรับไหมว่านั่นเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้” ผอ.ศรส. กล่าว
นอกจากนี้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความรักและเคารพสถาบันตุลาการเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าเมื่อศาลแพ่งได้มีคำสั่ง 9 ข้อเมื่อวานนี้ ตนจะทำสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วได้หรือไม่ เพราะหากสั่งการไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะผิด โดยขอยกตัวอย่างว่า หากพรุ่งนี้นายสุเทพปิดทุกด่าน ปิดทุกแยกเพราะคำสั่งศาลเหมือนกับว่าทำได้ ตนต้องขอความรู้เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ และจะรู้คนเดียวไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นของประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคน รู้อะไรต้องรู้เท่ากัน โดยหากศาลแพ่งตอบกลับมา ตนจะได้นำคำแนะนำของศาลมาสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระหว่างนี้พระพุทธะอิสระได้นำมวลชนไปที่โรงแรมเอสซีปาร์ค จะถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ รวมทั้งกลุ่ม กปปส. ได้ไปบุกที่อาคารชินวัตร 1-3 มีการปราศรัยโดยไม่ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งศาลจะนับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผยหรือไม่
“กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และพวกผม ตัวผม ท่านนายกฯ ถึงแม้ศาลไม่สั่งห้าม เรื่องสลายการชุมนุมพวกผมไม่เคยสั่ง ศรส.ไม่เคยไปที่เวทีการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียวทั้ง 8 เวที และเหตุที่เกิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่ใช่ ศรส.สลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมาสลายตำรวจที่ถนนราชดำเนิน” ผอ.ศรส.กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว ผอ.ศรส. ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ ศรส. ไปยื่นหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส 115 เรื่องขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งแล้ว
ศรส.เล็งยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง หวั่นเกิดสุญญากาศ ประชาชนจัดการกันเอง
อนึ่ง วันเดียวกัน ศรส. ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ศรส.ระบุถึงความกังวลใจที่จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง 9 ข้อ พร้อมระบุว่า สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก หวั่นอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง
แถลงการณ์ศูนย์รักษาความสงบ มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น ปิดการจราจรในถนนสำคัญๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น |