ศาลแพ่งเห็นว่ารัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ร้ายแรง แต่ต้องใช้กับทุกคนทุกกลุ่ม ศาลเห็นว่าการออกประกาศที่ผ่านมาใช้กับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ จึงสั่งห้าม 9 ข้อ รวมเรื่องห้ามสลายการชุมนุม ห้ามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ชุมนุมด้วย
ตามที่เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2557 นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ศรส.และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในข้อหาออกข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น ซึ่งผู้ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมทั้งยื่นคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินด้วย และศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ 275/2557 และมีการไต่สวนฉุกเฉินนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (19 ก.พ.) ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาดังกล่าว โดย สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ในวันนี้นายถาวร ฝ่ายโจทก์ ไม่เดินทางมาศาล มีเพียงนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ มาฟังคำพิพากษา ส่วนฝ่ายจำเลย มีผู้รับมอบฉันทะ จากจำเลยที่ 2 และ 3 มาศาล
โดยศาลพิเคราะห์ จากคำเบิกความของโจทก์ และจำเลย แล้วเห็นว่า กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์คับขัน แต่การออก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดังกล่าวต้องมีผลบังคับใช้กับคนทุกกลุ่ม แต่ศาลเห็นว่าการออกประกาศของจำเลยนั้นเป็นการบังคับใช้กับผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ศาลจึงสั่งห้ามจำเลย 9 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ห้ามจำเลยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม สอง ห้ามจำเลยยึดอายัด สินค้า อุปโภค บริโภค ที่ใช้ในการสนับสนุนการชุมนุมของโจทก์ และผู้ชุมนุม สาม ห้ามจำเลย ตรวจค้น รื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง ของผู้ชุมนุม สี่ ห้ามจำเลยห้ามผู้ชุมนุมซื้อขายสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการชุมนุม ห้า ห้ามจำเลย ปิดการจราจรเส้นทางคมนาคม หก ห้ามจำเลย สั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เจ็ด ห้ามจำเลย สั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ตามที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศ แปด ห้ามจำเลย สั่งผู้ชุมนุมห้ามใช้อาคาร เก้า ห้ามจำเลย มีคำสั่งห้ามบุคคลเข้าและ ออกพื้นที่การชุมนุม ส่วนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลแพ่งไม่มีคำสั่งเพิกถอน
ในการพิจารณาคดีดังกล่าว องค์คณะผู้พิพากษา 2 ใน 5 มีความเห็นแย้งขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย แต่เสียงข้างมากให้คงไว้