ทนาย กปปส. ยกเหตุสลายที่ผ่านฟ้าฯ ยื่นคำร้องศาลแพ่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดขอคืนพื้นที่ แต่ศาลยกคำร้อง ไม่เรียกสอบถามเพิ่มอีก เพราะเคยสั่งคุ้มครองไปแล้ว-หากฝ่าฝืนจริงจำเลยต้องรับผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว ขณะที่มีการนัดฟังคำพิพากษา 19 ก.พ. นี้
19 ก.พ. 2557 - เมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ได้มายื่นคำร้องเพิ่มเติมคดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ รองผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.57 ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีเหตุจำเป็นร้ายแรง
โดยทนายความของนายถาวร โจทก์ ในคดีดังกล่าว ขอให้ศาลวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ รองผอ.ศรส. จำเลยทั้งสามหยุดการฝ่าฝืนคำสั่งการคุ้มครองชั่วคราวเป็นการด่วน ทั้งนี้ทนายของนายถาวรได้อ้างในคำร้องว่าเนื่องจากเช้าวันนี้ (18 ก.พ.) จำเลยทั้งสามดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากมีแก๊สน้ำตา อาวุธปืนออกมาสลายการชุมนุม แม้อ้างว่าเป็นการขอคืนพื้นที่และไม่สลายการชุมนุมก็ตาม แต่มีการใช้กำลังตำรวจที่มีแก๊สน้ำตาและอาวุธโดยเฉพาะที่สะพานผ่านฟ้า และอ้างในคำร้องว่าประชาชนผู้ชุมนุมไม่ได้ต่อสู้ใดๆ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 44 ราย มีการจับกุมผู้ชุมนุมไปอีก 144 ราย จึงเป็นกรณีที่เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการเกินกว่าเหตุและความจำเป็น ซึ่งโจทก์ได้นำพยานที่เห็นเหตุการณ์ 3 ปาก มาเพื่อให้ศาลสอบถามประกอบคำร้อง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามและเจ้าหน้าที่หยุดการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานผลพิเคราะห์คำร้องของศาล ที่ระบุว่า ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองตามที่โจทก์อ้าง จำเลยทั้งสามย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 17 กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องสอบถามข้อเท็จจริงอีก
สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้ยื่นแถลงปิดคดีเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมาด้วย โดยใน เว็บไซต์ของรัฐบาลได้เผยแพร่คำแถลงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. ที่ระบุว่า "ศรส.ได้ตรวจพบว่า เมื่อครั้งประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ได้เคยมีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้สั่งว่าการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอน ซึ่งในที่สุดแล้ว ศาลแพ่งเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีเจตนารมณ์ที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อยู่ในอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะศาลมิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาหรือทบทวนการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหารเช่นว่านั้นได้ พิพากษาให้ยกฟ้อง ซึ่ง ศรส. พิจาณาเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะเช่นเดียวกับเรื่องที่นายถาวร เสนเนียม ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้สั่งเพิกถอนการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อยู่ในขณะนี้ โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน ศรส.จึงได้มีมติยื่นคำร้องเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศาลแพ่งโดยด่วนในวันนี้ โดยจะทำเป็นคำแถลงการณ์ปิดคดี ก่อนที่ศาลแพ่งจะได้มีคำพิพากษาในวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์"
ทั้งนี้คดีดังกล่าว ศาลสืบพยานโจทก์ 4 ปาก ได้แก่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ , นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพยานฝ่ายจำเลย รวม 11 ปาก รวมทั้ง พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรอง ผบก.น พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยราชการที่ถูกปิดสถานที่ 70 แห่ง โดยศาลใช้เวลาสืบพยานโจทก์-จำเลยเป็นเวลา 2 วัน และคดีนี้จะมีการนัดฟังคำพิพากษวันที่ 19 ก.พ. เวลา 15.00 น.