พนักงานมิชลินในนิคมแหลมฉบังรวมตัวประท้วงเรียกร้องค่าแรง-สวัสดิการ
(11 ก.พ.) ที่หน้าโรงงานมิชลิน นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย และพนักงานประมาณ 100 คน นำโดย นายธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย รวมตัวกันหน้าบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าแรง และสวัสดิการของพนักงาน โดยที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับผู้บริหารบริษัทมาแล้ว 1 ครั้ง และในครั้งนี้เป็นการเป็นการชุมนุม และเจรจาเป็นครั้งนี้ 2
สำหรับข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสพิเศษประจำปี 2556 ให้แก่พนักงานทุกคนในอัตรา 4.7 เท่าของฐานเงินเดือน พร้อมทั้งเงินบวกอีกคนละ 40,000 บาท และให้ยกเลิกเงื่อนไขการตัดโบนัสพิเศษทุกกรณี
2.ขอให้ทางบริษัทจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้แก่พนักงานทุกคนเดือนละ 2,700 บาท 3.ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินค่าจ้างประจำปีให้แก่พนักงานทุกคนตามเกณฑ์การประเมินผลงานของบริษัทฯ ตามอัตรา 4-8%
4.ขอให้ทางบริษัทจัดหาข้าวฟรีให้แก่พนักงานทุกคนในวันทำงาน 5.ขอให้บริษัทจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับความร้อนทั้งระบบ 20 บาทต่อวัน 6.ขอให้จ่ายเบี้ยขยันให้แก่พนักงานทุกคน 1,000 บาทต่อเดือน
7.ขอให้บริษัทหักเงินค่าบำรุงสมาชิกสหภาพที่จ่ายให้แก่สหภาพ พร้อมจ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมสหภาพปีละ 120,000 บาท 8.ให้บริษัทสนับสนุนวันดำเนินกิจกรรมสหภาพโดยไม่ถือเป็นวันลา 7 วัน/คน/ปี และ 9.ขอให้บริษัทจัดสวัสดิการซื้อยางรถยนต์ให้แก่พนักงานปีละหนึ่งสิทธิ ในราคาส่วนลด 50%
นายธนกร กล่าวว่า การเจรจาในครั้งนี้ 2 มีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะผู้บริหารรับหลักการในข้อเรียกร้องต่างๆ แต่ยังไม่กำหนดตัวเลขอย่างชัดเจนที่จะให้แก่พนักงานเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยจะต้องนำไปเสนอนายจ้าง หรือเจ้าของโรงงานก่อน และพร้อมจะนำตัวเลขมาชี้แจงให้ทราบในการเจรจาครั้งที่ 3 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.
ซึ่งการเรียกร้องนั้น เงินโบนัส และสวัสดิการนั้นถือว่าไม่มาก หรือสูงเกินไป เพราะพนักงานตั้งใจในการทำงาน ทำให้บริษัทมีผลประกอบการ และรายได้สูงแบบก้าวกระโดดมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปีนี้คาดว่าทางบริษัทจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท เพราะในปีที่ผ่านมา กำไร 4,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อทางบริษัทมีผลประกอบการดี ทางพนักงานก็ควรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-2-2557)
ก.แรงงาน จับมือมูลนิธิจันทรวิทูร สสส.ปั้นผู้นำพัฒนาแรงงานรุ่นแรก ลุ้นคลอด 5 โครงการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
(12 ก.พ.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาแรงงาน รุ่นที่ 1 (นปปร.1) ที่กระทรวงแรงงาน ว่า โครงการนี้เป็นเรื่องที่ดีสอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้แรงงานมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีศักยภาพสูง ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน มีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตดี โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้แทนทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานและเอกชน รวม 35 คน ซึ่งตนหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะช่วยกันคิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีและเครือข่ายระหว่างกระทรวงแรงงานกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานยินดีสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
นายอาทิตย์ อิสโม ผู้จัดการโครงการ นปปร. มูลนิธิจันทรวิทูร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน มูลนิธิจันทรวิทูร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีระยะเวลา 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.-มิ.ย.นี้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการเข้าอบรมภาคทฤษฎีสัปดาห์ละ 3 วัน และมีการไปศึกษาดูงานด้านแรงงานในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์
“หลังจากนั้นจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มแยกเป็นกลุ่มละ 5 คนเพื่อร่วมกันศึกษาและคิดโครงการที่เป็นต่อผู้ใช้แรงงาน 1 โครงการต่อ 1 กลุ่มตามที่แต่ละกลุ่มสนใจ รวมทั้งหมด 5 โครงการ เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินผู้ใช้แรงงาน การส่งเสริมความปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานนำไปเสนอต่อ สสส.และกระทรวงแรงงาน โดยแต่ละโครงการจะได้รับงบสนับสนุนจาก สสส.เพื่อดำเนินการแต่ละโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และจะมีโครงการในรุ่นที่ 2 รับจำนวน 35 คน และเริ่มเปิดโครงการในเดือน ส.ค.นี้” นายอาทิตย์ กล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-2-2557)
สหภาพแรงงานการบินไทย ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบผู้บริหารเปลี่ยนหลักเกณฑ์เลื่อนตำแหน่งแอร์โฮสเตสไม่เป็นธรรม
นายดำรง ไวยศณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย พร้อมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประมาณ 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารฝ่ายบริการบนเครื่องบินที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เป็นธรรมแก่พนักงานบริษัทการบินไทย
เนื่องจากได้ละเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้รับจดทะเบียนข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 52 ที่มีผลต่อการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งของพนักงาน จากเดิมที่ให้มีการทดสอบคะแนนเต็ม 100 คะแนน ประกอบด้วยภาษาอังกฤษ 20 คะแนน ความถนัดของตำแหน่งงาน 25 คะแนน ความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงาน 25 คะแนน และวิสัยทัศน์ 30 คะแนน แต่กลับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การทดสอบมาเป็นตามประกาศของฝ่ายพนักงานต้อนรับ (DQ) ซึ่งประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงาน 20% และการสัมภาษณ์ 80% แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถตรวจสอบชี้ชัดเรื่องความรู้ความสามารถได้ ผลคะแนนขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้สัมภาษณ์เท่านั้น ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมแก่พนักงาน และเพื่อเป็นมาตรฐานแก่รัฐวิสาหกิจมหาชนที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-2-2557)
"กสทช."ควัก 80 ลบ.แจกโบนัสพนักงาน 1.5 เดือน อนุมัติงบปี 57อู้ฟู่ 5.4 พันลบ.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของสำนักงาน กสทช. โดยตั้งกรอบวงเงินไว้ 5,457.21 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายประจำ 3,418.37 ล้านบาท งบลงทุน 1788.19 ล้านบาท เงินสมทบเข้ากองทุนพัฒาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 10 ล้านบาท กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 40 ล้านบาท งบกลางสำหรับกรณีฉุกเฉิน 30 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณของคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามผลงานของ กสทช. (ซุปเปอร์บอร์ด)ที่เสนอมาขอมา 170 ล้านบาท บอร์ดกสทช. ให้กลับไปพิจารณาอีกครั้ง โดยให้ใช้งบประมาณของปี 2556 ที่ได้อนุมัติไว้ 52 ล้านบาท ไปพลางก่อน
นอกจากนี้ยังได้อนุมัติเงินค่าตอบแทนผู้ปฎิบัติงานประจำปี (โบนัส) 1.5 ของเงินเดือน แบ่งการประเมินสำนักงาน 1.2 เท่าที่พนักงานทุกคนได้เท่ากันหมด อีกส่วนใช้ตัวชี้วัดของแต่ละภารกิจอีก 0.5 เท่า และตัวชี้วัดส่วนตัวอีก 0.3 เท่าของเงินเดือน เน้นที่ผู้มีเงินเดือนน้อยไม่เกิน 50,000บาท
โดยได้กันงบประมาณกันไว้ตั้งแต่ปี 2556 รวม 80 ล้านบาท สำหรับพนักงานราว 1,500 คน ส่วนกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. จะไม่ได้รับเงินพิเศษในส่วนนี้
“งบประมาณปีนี้เป็นงบแบบสมดุล เหตุที่มีประมาณการรายได้สูงกว่าปี 2556 ที่ตั้งงบราว 3,800 ล้านบาท เพราะมีการแก้ไขการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ โดยในปี 2556 เดิมจะมีรายได้เข้าราว 4,400 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงมีการจัดเก็บเหลื่อมปีทำให้ปีนี้มีรายได้มากกว่าปกติ เมื่อถึงปี 2558 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ กสทช. จะมีรายได้เข้าราว 4,400 -4,600 ล้านบาท”
(ประชาชาติธุรกิจ, 12-2-2557)
ลูกจ้าง 1 ใน 4 อดโบนัสปี′56 72% ไม่พอใจนายจ้างตบรางวัลน้อย
จ็อบสตรีทดอทคอมเผยผลสำรวจล่าสุด ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่พอใจกับโบนัสที่ได้รับ คิดเป็น 72% โดยมี 44% ได้รับเงินโบนัสน้อยกว่า 20,000 บาท เมื่อสอบถามถึงการวางแผนกับโบนัสที่ได้รับ คำตอบ 3 อันดับแรกคือ ใช้หนี้, เก็บออม และนำไปใช้จ่ายหรือให้บุพการีตามลำดับ ขณะที่ลูกจ้างจำนวน 28% ในกลุ่มผู้ที่ตอบแบบสอบถามครั้งนี้ ไม่ได้รับโบนัสในปีที่ผ่านมา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของสำนักงาน กสทช. โดยตั้งกรอบวงเงินไว้ 5,457.21 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายประจำ 3,418.37 ล้านบาท งบลงทุน 1788.19 ล้านบาท เงินสมทบเข้ากองทุนพัฒาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 10 ล้านบาท กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 40 ล้านบาท งบกลางสำหรับกรณีฉุกเฉิน 30 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณของคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามผลงานของ กสทช. (ซุปเปอร์บอร์ด)ที่เสนอมาขอมา 170 ล้านบาท บอร์ดกสทช. ให้กลับไปพิจารณาอีกครั้ง โดยให้ใช้งบประมาณของปี 2556 ที่ได้อนุมัติไว้ 52 ล้านบาท ไปพลางก่อน
นอกจากนี้ยังได้อนุมัติเงินค่าตอบแทนผู้ปฎิบัติงานประจำปี (โบนัส) 1.5 ของเงินเดือน แบ่งการประเมินสำนักงาน 1.2 เท่าที่พนักงานทุกคนได้เท่ากันหมด อีกส่วนใช้ตัวชี้วัดของแต่ละภารกิจอีก 0.5 เท่า และตัวชี้วัดส่วนตัวอีก 0.3 เท่าของเงินเดือน เน้นที่ผู้มีเงินเดือนน้อยไม่เกิน 50,000บาท
โดยได้กันงบประมาณกันไว้ตั้งแต่ปี 2556 รวม 80 ล้านบาท สำหรับพนักงานราว 1,500 คน ส่วนกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. จะไม่ได้รับเงินพิเศษในส่วนนี้
“งบประมาณปีนี้เป็นงบแบบสมดุล เหตุที่มีประมาณการรายได้สูงกว่าปี 2556 ที่ตั้งงบราว 3,800 ล้านบาท เพราะมีการแก้ไขการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ โดยในปี 2556 เดิมจะมีรายได้เข้าราว 4,400 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงมีการจัดเก็บเหลื่อมปีทำให้ปีนี้มีรายได้มากกว่าปกติ เมื่อถึงปี 2558 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ กสทช. จะมีรายได้เข้าราว 4,400 -4,600 ล้านบาท”
(ประชาชาติธุรกิจ, 14-2-2557)
เผย ปี′58 อิสราเอลขอเพิ่ม โควต้าแรงงานเกษตร
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศอิสราเอล เรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานด้านเกษตรที่อิสราเอล โดยความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ และให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) คัดเลือก ว่า ปัจจุบันอิสราเอลให้โควตาแรงงานไทย 8,000 คน แต่ปี 2558 จะเพิ่มโควตาให้ไทยอีก 5,000 คน รวมเป็น 13,000 คน
"นอกจากนี้ ยังได้หารือในประเด็นอื่นๆ อาทิ การกำหนดอายุแรงงานต่างประเทศ ที่อิสราเอลกำหนดไว้ไม่เกิน 39 ปี แต่ไทยขอขยายอายุเป็นไม่เกิน 45 ปี และยินดีให้อิสราเอลกำหนดโรคและวิธีการตรวจโรค เนื่องจากมีแรงงานที่ลงทะเบียนไว้แล้วจำนวนมากมีอายุมากกว่า 39 ปี และขอให้เปิดโอกาสแก่แรงงานหญิงเข้าไปทำงานมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ลงทะเบียนไว้ 1,000 คน ได้เดินทางเพียง 200 คนเท่านั้น"นายประวิทย์ กล่าวและว่า จากการเยี่ยมแรงงานไทยได้รับข้อร้องเรียนว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้าง ที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ จึงได้ขอให้อิสราเอลจัดเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานไปตรวจที่พักแรงงานไทย รวมทั้งขอให้เพิ่มค่าจ้างให้แรงงานไทยที่ไปทำงานทางตอนใต้ของอิสราเอล เพราะเป็นพื้นที่ทุรกันดาร
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทางการอิสราเอลท้วงติงแรงงานไทยคือ ดื่มสุรา เกี่ยวข้องกับยาเสพติด สุขภาพไม่ดี และเปลี่ยนนายจ้างบ่อย จึงได้ชี้แจงว่าเร่งแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีเปลี่ยนนายจ้างบ่อยนั้น เกิดจากตำแหน่งงานที่ไม่ชัดเจน แรงงานไทยจึงขอเปลี่ยนนายจ้าง ดังนั้น เพื่อลดปัญหาจึงขอให้นายจ้างแจ้งตำแหน่งงานที่ชัดเจน และขอให้อิสราเอลส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดฝึกอบรมให้แรงงานไทยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเรื่องนี้อิสราเอลจะมีการพิจารณาอีกครั้งและนำเข้าหารือกับทางการไทยในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
(มติชน, 16-2-2557)
กสร.เตรียมแก้ กม.คุมเข้มความปลอดภัยแรงงาน
อธิบดีกรมสวัสดิการฯ มีแนวคิดแก้กฎกระทรวงแรงงานเรื่องคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หลังพบอุบัติเหตุในการทำงานบ่อยครั้ง ล่าสุดนั่งร้านก่อสร้างถล่มย่านวัชรพล นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีนั่งร้านที่กำลังก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า 2 ชั้น ย่านวัชรพล กรุงเทพฯ ถล่ม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า เหตุเกิดขณะที่จะมีการเทพื้นชั้น 2 และจำเป็นต้องสร้างนั่งร้านขึ้นมาแต่การสร้างนั่งร้านไม่ค่อยแข็งแรงตามวิศวกรได้ออกแบบไว้ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจากการตรวจสอบเชื่อว่าวิศวกรอออกแบบไว้ดี แต่การปฏิบัติอาจไม่ปลอดภัยมีการละเลยบางส่วนส่งผลให้ฐานไม่มั่นคง เพราะพื้นดินอุ้มน้ำ ดินจึงทรุดตัวและทำให้นั่งร้านถล่ม มีผู้ใช้แรงงานได้รับบาดเจ็บ 4 คน และวันนี้อยู่ระหว่างการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ กสร. ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น เพราะมีกฎหมายเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ทุกสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) คอยกำกับดูแล และแจ้งผู้ประกอบการหากมีสิ่งผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยและต้องอยู่พื้นที่ทำงานตลอดเวลา อาจปรับใหม่ให้หัวหน้างานมาอบรม ในเรื่องความปลอดภัย เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้วยและให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะในไซต์งานก่อสร้าง
นายพานิช กล่าวด้วยว่า จากสถิติความปลอดภัยในการทำงาน พบว่าในช่วง 2 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 – มกราคม 2557 เกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มากกว่าปกติ ปัจจุบันผู้ที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ จป. ได้ ต้องจบการศึกษาหลักสูตร อาชีวอนามัย ปัจจุบันมีเพียง 30 มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรนี้ ดังนั้น จึงเตรียมเชิญมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาพูดคุยให้ควบคุมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกรมสวัสดิการฯ จะเข้าไปดูแล เพื่อประเมินว่านักศึกษามีศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยหรือไม่ ในช่วงปีสุดท้ายของการเรียน เพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรแก้ไขคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ จป. และค่าจ้าง จป.ที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือ โดยกำลังสำรวจว่าเจ้าหน้าที่ จป. แต่ละระดับควรมีค่าจ้างอัตราเท่าใด คาดจะทราบผลภายใน 2-3 เดือน จากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ จป.มี 5 ระดับ เช่น จป.เทคนิค จป.เทคนิคชั้นสูง จป.วิชาชีพ จป.หัวหน้างาน และ จป.บริหาร นอกจากนี้ยังเตรียมแก้ไขประกาศกฎกระทรวงเพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ จป.หากการปฏิบัติงานยังพบมีอุบัติเหตุ เช่น การพักใบอนุญาตการใช้ของเจ้าหน้าที่ จป. หรือ เพิกถอนใบอนุญาต หากปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง รวมทั้งกำลังพิจารณาเรื่องอายุใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ จป ใหม่ จากตลอดชีพ เป็น 3-4 ปีด้วย
(สำนักข่าวไทย, 17-2-2557)
ลูกจ้างสยามโภชนากรปีนรั้ว ก.แรงงานร้องจ่ายเงิน
ลูกจ้าง สยามโภชนากร ปีนรั้ว ก.แรงงาน เรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินและโบนัส ด้านรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน บอก นายจ้างยอมจ่ายเงินแล้ว
บรรยากาศที่ กระทรวงแรงงาน ล่าสุด กลุ่มลูกจ้างรายวัน จากบริษัท สยามโภชนากร จำกัด จ.สมุทรปราการ ประมาณกว่า 150 คน ได้ปีนรั้วเข้ามาปักหลักชุมนุมที่ในกระทรวงแรงงาน บริเวณลานน้ำพุ เพื่อรอการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง ที่เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้นัดเจรจาหาข้อยุติในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. หลังนายจ้างปิดงานมานานกว่า 52 วัน โดยมี นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่
โดย นายสุวิทย์ เปิดเผยว่า ข้อพิพาทแรงงานของสยามโภชนากร จากเรื่องเงินโบนัสที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้อง จำนวน 6 วัน ขณะนี้สามารถหาข้อยุติได้แล้ว คือ นายจ้างยอมจ่ายเงินโบนัสให้จำนวน 3 วัน แต่ติดเรื่องรับกลับเข้าทำงานของลูกจ้างทั้งหมด 300 คน เนื่องจากนายจ้างยังไม่รับกลับเข้าทันที แต่จะทยอยรับกลับ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากนายจ้างอ้างว่าไม่มียอดคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้จะพยายามเจรจาหาข้อยุติโดยเร็ว แต่ก็เกรงว่านายจ้างจะไม่ยอมมาเจรจา เพราะมีผู้ชุมนุมมากดดัน แต่จะใช้มาตรการเจรจาให้ถี่ขึ้น เพื่อให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ยอมให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามาภายในกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเกรงความไม่ปลอดภัย
ขณะที่ บรรยากาศภายในกระทรวงแรงงาน มีตลาดนัดประจำสัปดาห์ ที่เพิ่งเปิดได้เป็นวันแรก มาจำหน่ายสินค้าอยู่โดยรอบ ส่วนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ก็ได้เข้ามาปฏิบัติงานตามปกติ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่ห่างๆ
(ไอเอ็นเอ็น, 18-2-2557)