ตามการคำนวณของพระอาจารย์บุญทัน ปุญญกาเถระ ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว แขวงหลวงพระบาง เจ้าอาวาสวัดป่าโพนเพาวนาราม ให้ทราบว่า
วันเถลิงศกปีใหม่ลาวนั้นตรงกับวันอังคาร (เต่าใจ้) ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556(ลาวยังนับเป็น พ.ศ. 2555) ตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2013 เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที ผู้ใดประสงค์ฉลองทำบุญปีใหม่ให้ถูกต้องแม่นยำต้องทำตามการคำนวณ รายละเอียดของการคำนวณปีใหม่ลาวมีดังนี้
ปีมะเส็ง ก่าไส้ เบญจศก ปกติมาส พ.ศ. 2555-56(ลาว) จ.ศ. 1374-75 ค.ศ. 2013
- วันสังขานล่วง วันอาทิตย์ (กดเส็ง) –ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2013 เวลา 1 นาฬิกา 58 นาที 48 วินาที (หลังเที่ยงคืน)
- วันสังขานเนา – วันจันทร์ (ฮ่องไค้) ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 15 เมษายน 2013
- วันสังขานขึ้น – วันอังคาร (เต่าใจ้) ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2556 ตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2013 เวลา 5 นาฬิกา 56 นาที 24 วินาที เปลี่ยนพุทธศักราช(ลาว)เป็น พ.ศ. 2556 จุลศักราชเป็น จ.ศ. 1375
นางสังขาน - ปีมะเส็ง ก่าไส้ เบญจศก ทางจันทรคติเป็นปกติมาส ปิกติวาร ปกติสุรทิน ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน ตรงกับนามเทพธิดานางมหาสงกรานต์ที่ 1 นามทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกพิลา อาภรณ์ประดับด้วยแก้วปัทมราค (แก้วพิลา) เสวยอุทุมพร(มะเดื่อ) เป็นภักษาหาร พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาบนหลังครุฑเป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ – พระศุกร์เป็นอธิบดี นาคเล่นน้ำ 1 ตัว บันดาลให้เกิดฝน 600 ห่า ตกในขอบจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า
เกณฑ์ธาราธิคุณ – ตกราศีอาโป น้ำจะมีมาก ฝนจะตกเสมอกันตลอดปี นาดอนและนาลุ่มจะดีเสมอกัน มีลมพัดมาเสมอกันจากทิศทั้ง 4 ตามฤดูกาล
เกณฑ์ธัญญาหาร – ชื่อว่า ลาภะ ข้าวกล้าไร่นาจะได้ผล 10 ส่วนเสียเพียงส่วนเดียว ประชาชนมีความสุขสบาย ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์อุดมดี เกลือจะแพง ผลามัจฉะมังสาหาร ลูกหมากรากไม้จะดกดี
รุกขชาติ – ไม้ป่าแป้ง (ไม้โพ) เป็นพญาบ้านเมือง จะเกิดความเดือดร้อนไปทุกแห่งหนสากลโลก
เกณฑ์กาลโยค – วันพฤหัสเป็นธงไชย วันอาทิตย์เป็นอธิบดี วันพุธเป็นอุบาทว์ วันอังคารเป็นโลกาวินาศ
หมายเหตุ :การคำนวณปีใหม่ลาวและวันต่างๆ รวมถึงนางสงกรานต์และพุทธศักราชนั้น ไม่ตรงกับไทย ซึ่งนางสงกรานต์ของไทยปีนี้ นามนางมโหธรเทวี ทรงไสยาสน์(นอน) เหนือหลังนกยูงมาเป็นพาหนะ และเกณฑ์ธัญญาหารของไทยตกชื่อว่า ปาปะ ได้หนึ่งส่วน เสียสิบส่วน เกณฑ์กาลโยคไทย วันจันทร์เป็นธงไชย วันเสาร์เป็นอธิบดี วันอาทิตย์เป็นอุบาทว์ วันจันทร์เป็นโลกาวินาศ
บุญปีใหม่ลาวนั้น เดิมเรียกกันว่า บุญสังขาน ບຸນສັງຂານ จนกระทั่งประมาณปี 1990 ได้รับอิทธิพลจากไทยมากขึ้น จึงเกิดควาเปลี่ยนแปลงมาเรียกว่า บุญสงกรานต์ ບຸນສົງການ
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/LaosPictures
คำว่า สังขาน นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สังขาร แต่เป็นรูปบาลีของคำว่า สงกรานต์ ซึ่ง ลาว ล้านนา เชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองจุไท เรียกว่า "สังขาน"ด้วยกันทั้งหมด ในขณะที่ไทย เขมร มอญ พม่า เรียก"สงกรานต์"ผู้รู้ชาวลาวก็แสดงความกังวลว่า เป็นการเสียเอกราชทางภาษาไปอีกอย่างหนึ่ง จึงพยายามรณรงค์ให้กลับมาเรียกบุญสังขานเหมือนสมัยเก่า
บุญสังขานนี้ปกติแล้วจะมีทั้งหมด 3 วัน แต่หากปีใดมีวันสังขานเนา 2 วัน บุญสังขานปีใหม่ลาวก็จะยาวเพิ่มเป็น 4 วัน โดยไม่กำหนดว่าเป็นวันใดแน่นอน ตามแต่จะคิดไล่คำนวณในแต่ละปี
บุญสังขานปีใหม่ลาวนี้ ประกอบด้วยวันต่างๆ เรียกชื่อและมีประเพณีปฏิบัติแตกต่างกันไป ดังนี้
1. วันสังขานล่วง หรือ วันสังขานล่อง ( ວັນສັງຂານລ່ວງ ຫຼືສັງຂານລ່ອງ) เป็นวันที่เริ่มการจรของพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งชาวลาวจะนำพระพุทธรูปลงจากหิ้งมาสรงน้ำ (ເອົາພຣະລົງສົງ) และไปสรงน้ำพระที่วัด
2. วันสังขานเนา (ວັນສັງຂານເນົາ) เป็นวันที่พระอาทิตย์อยู่ระหว่างการเปลี่ยนราศี บางปีมีหนึ่งวัน บางปีมีสองวัน แล้วแต่การคำนวณ ซึ่งวันนี้เป็นวันพักผ่อน ห้ามเอาเงินออกใช้จ่าย ห้ามทำการงานต่างๆ ห้ามนอนกลางวัน ให้ไปทำบุญที่วัด รดสรงน้ำพ่อแม่ผู้สูงอายุ และเที่ยวเล่น
3. วันสังขานขึ้น หรือ วันฉลองปีใหม่ (ວັນສັງຂານຂຶ້ນ ຫຼື ວັນສະຫຼອງປີໃໝ່) เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช และพุทธศักราชของลาว เป็นวันทำบุญฉลองปีใหม่โดยการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้าน รดน้ำมนต์หรือสวดพระสูตรปริตรมงคลแก่บ้านเรือน (ສູດມຸງຄຸນເຮືອນ) ตอนบ่ายเก็บดอกไม้ไปวัดก่อเจดีย์ทราย ชดใช้ดินคืนแก่วัดที่ได้เหยียบเอาดินทรายออกจากวัด หรือได้กระทำลบหลู่แก่วัดมาตลอดปี
เดิมทีการนับศักราชขึ้นปีใหม่ลาวจะมีสองแบบคือ เปลี่ยนพุทธศักราชในวันสังกาศสังขาน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และเปลี่ยนจุลศักราชในวันสังขานขึ้น (พระอาทิตย์เปลี่ยนราศีเข้าสู่ราศีเมษ) แต่ทางรัฐบาลลาวได้เปลี่ยนมาใช้วันเปลี่ยนศักราชเป็นวันเดียวกันภายหลังการปฏิวัติประชาชน 2 ธันวาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518 – ลาว)
ขอให้ทุกท่านฉลองปีใหม่ด้วยความเบิกบานม่วนซื่น