Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

อวัตถุศึกษากับอธิป: รู้จัก Assassination Market เว็บเถื่อนรับจ้างสังหารผู้เป็นศัตรูเสรีภาพ

$
0
0

สัปดาห์นี้นำเสนอข่าว กม.ต้านก่อการร้ายใหม่ในซาอุฯ เตรียมล่าแม่มดผู้เป็นภัย “ความมั่นคง” ในทวิตเตอร์, วงร็อคแคนาดาส่งใบเสร็จรบ.สหรัฐฐานนำไปใช้ทรมานนักโทษในคุกกวนตานาโม

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต"เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

Assassination Market ตลาดระดมทุนสังหารนักการเมืองและบุคคลสำคัญ

โลกอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักจากบราวเซอร์ทั่วๆ ไปและผลค้นหาจาก Google ไม่ว่าจะถูกกล่าวประนามว่า "นอกกฎหมาย"แค่ไหนก็น่าจะนับเป็นโลกในระดับ "บนดิน"

เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตที่ลึกไปกว่านั้นและเข้าไม่ได้ด้วยวิธีธรรมดา เราจะพบว่าเว็บอย่าง The Pirate Bay กลายเป็นพลเมืองดีของโลกไปเลย

เว็บระดับลึก (Deep Web) โดยทั่วไปเว็บที่ไม่ได้อยู่ในสารบบการค้นหาของบรรดาเสิร์จเอ็นจินและหลายๆ เว็บก็ต้องใช้บราวเซอร์เฉพาะอย่าง Tor เพื่อที่จะเข้าไปในเว็บ

ซึ่ง Tor นี่ก็จะมีลักษณะเป็น Browser นิรนามที่เวลาเข้าไปในเว็บแล้วจะไม่สามารถตามแกะรอยหมายเลข IP ได้ กล่าวคือไม่ว่าจะทางเว็บหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ตามตัวไม่ได้ว่าใครเคยเข้ามาที่เว็บ

ในด้านหนึ่งแนวทางแบบนี้ก็ถูกใช้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันถูกนำไปใช้สร้างพื้นที่ก่อ "อาชญากรรม"

ในเว็บระดับลึกมีกิจกรรมนอกกฎหมายมากมายให้เลือกสรรค์ไม่ว่าจะเป็นสื่อโป๊เด็ก ยาเสพติด ไปจนถึงการขายบริการสังหาร

มีเว็บจำนวนมากที่ให้บริการว่าจ้างสังหารเช่น Quick Kill, Contract Killer และ C’thulhu ไปจนถึงเว็บที่โดนรวบไปแล้วอย่าง Silk Road (ที่การดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บน่าจะเป็นคดีน่าจับตามองในปีนี้) อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเว็บพวกนี้จะให้บริการสังหารจริงๆ ดังที่อวดอ้างและไม่ใช่เว็บต้มตุ๋นธรรมดา

ในบรรดาเว็บเถื่อนพวกนี้เว็บ Assassination Market ก็เป็นเว็บที่โดดเด่นมาในช่วงปลายปีที่แล้วในฐานะ "ของจริง"

แอดมินเว็บที่มีนามแผงว่า Kuwabatake Sanjuro (เป็นชื่อตัวละครในภาพยนตร์ Yojimbo ของ Akira Kurosawa) ได้ส่งอีเมลเข้ารหัสไปยังนิตยสาร Forbes และหลังจากนั้นโลกก็ได้รู้ถึงการดำรงอยู่ของเว็บนี้

เว็บนี้มีจุดประสงค์เพื่อระดมทุนสังหารบรรดาบุคคลสำคัญผู้เป็นศัตรูของเสรีภาพทั้งหลาย ซึ่งกระบวนการก็เรียบง่ายมาก ใครก็ตามที่เข้าไปในเว็บจะสามารถตั้งค่าหัวบุคคลสำคัญพร้อมลงเงินอย่างต่ำๆ 1 Bitcoin (ณ เวลาที่ผู้เขียนอยู่นี้มีราคาราว 26,000 บาท ซึ่งสามารถเช็คราคาได้ที่ https://bitcoin.co.th/)

รายชื่อที่มีการเสนอให้สังหารก็จะผ่านไปที่แอดมินเพื่อที่จะกรองก่อนจะใส่เข้าไปในลิสต์เพื่อ "ระดมทุนจากฝูงชน"เพื่อเป็นค่าหัวบุคคลเหล่านั้น

ทางเว็บที่จะมีนโยบายหนักแน่นในความนิรนามทุกขั้นตอนตั้งแต่เว็บที่จะเข้าได้ผ่านบราวเซอร์นิรนามอย่าง Tor เท่านั้น ไปจนถึงกระบวนการจ่ายเงินระดมทุนที่ต้องทำอย่างนิรนามด้วย

สำหรับการจ่ายค่าหัว กระบวนการคือ มือสังหารต้องติดต่อแอดมินไปเพื่อ "ทำนาย"วันสังหารบุคคลสำคัญนั้นๆ ถ้าบุคคลถูกสังหารจริง แอดมินก็จะโอนค่าหัวให้โดยหักค่าดำเนินการเพียง 1% เท่านั้น

นี่อาจฟังดูน่าตื่นตระหนกมากๆ ที่มีการระดมทุนสังหารกันโจ๋งครึ่ม แต่เว็บนี้ก็ดูจะมีจริยธรรมในการดำเนินงานระดมทุนที่จะต้องเป็นไปเพื่อสังหารศัตรูของเสรีภาพเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ นับล็อบบี้ ไปจนถึงผู้มีอิทธิพลต่างๆ ในโลก จะมาระดมทุนเป็นค่าหัวตาสีตาสาชาวบ้านธรรมดาบนเว็บไม่ได้

ทั้งนี้ ณ จุดนี้ก็ยังไม่มีการอ้างว่ามีการสังหารใดๆ เกิดจากการระดมทุนในเว็บ อย่างไรก็ดีการดำรงอยู่ของเว็บนี้ก็ทำให้บรรดาเหล่าผู้ต่อต้านความนิรนามบนอินเทอร์เน็ตมีข้ออ้างใหม่ในการทำลายความนิรนามและความเป็นส่วนตัวแล้ว

ซึ่งบางทีคนเหล่านี้ก็ทำราวกับว่าความนิรนาม ความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตเป็นรากฐานของกิจกรรมผิดกฎหมายทั้งหลายทั้งมวล ราวกับสิ่งพวกนี้ไม่มีอยู่นอกอินเทอร์เน็ต และในกรณีนี้ก็ราวกับว่าการระดมทุนแบบออฟไลน์อย่างนิรนามเพื่อล่าสังหารคนจะเป็นไปไม่ได้

สุดท้าย ผู้เขียนก็คงจะต้องตอกย้ำสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวบ่อยๆ ว่า ไม่มีเสรีภาพใดที่ไม่มีความเสี่ยง และการเล่นกับความหวาดกลัวของผู้คนก็เป็นอาวุธสำคัญของเสรีภาพมาตลอดประวัติศาสตร์ ซึ่งผลที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกคือการที่ผู้คนเอาเสรีภาพไปสังเวยแต่ไม่ได้ความปลอดภัยกลับมาดังบรรดาพ่อค้าสันติภาพที่ใช้ความกลัวเป็นกลยุทธทางการตลาดกล่าวอ้าง

Source:

 

เด็กหญิงอายุ 16 ชาวเวอร์จิเนียโดนข้อหาเพยแพร่สื่อลามกเด็กหลังจากทวีตรูปโป๊ของตัวเอง

กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกเด็กนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการ "เซ็นเซอร์"ของรัฐสมัยใหม่ที่โดยทั่วไปก็ไม่มีใครนับว่าเป็น "ข้อจำกัด"ของเสรีภาพในการแสดงออก

กฎหมายตระกูลนี้โดยทั่วไปก็จะวางความผิดไว้กว้างมากตั้งแต่การครอบครอง การผลิต การผลิตซ้ำ การเผยแพร่ ไปจนถึงการค้าสื่อสื่อลามกเด็ก ซึ่งความผิดแบบนี้เป็นความผิดระดับอาญาแผ่นดินที่ไม่ต้องการให้เจ้าทุกข์ไปแจ้งตำรวจก่อนถึงจะเริ่มดำเนินคดีได้

ที่น่าสนใจคือกฎหมายนี้เล่นงานทุกคนอย่างเท่าเทียมจริงๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงเจตนาและที่มาที่ไปของ "สื่อโป๊เด็ก"ด้วย ใครมีครอบครอบหรือเผยแพร่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ผิดกฎหมายหมด

ไม่เว้นแม้แต่การที่เด็กถ่ายรูปโป๊ตัวเอง

ในกรณีที่เวอร์จิเนียนี้เด็กหญิงคนหนึ่งก็ได้ทวีตรูปโป๊ตัวเองอย่างไม่น่าจะรู้เท่าถึงการณ์ซึ่งเรื่องก็ไปถึงตำรวจในที่สุด และเธอก็ได้รับสารภาพว่าเธอเป็นคนเผยแพร่มันเอง และแม่ของเธอก็ยืนยันว่านี่เป็นรูปลูกของเธอ

แน่นอนว่านี่มีความผิด แต่ด้วยความที่เป็นเด็กอยู่คำตัดสินของศาลก็น่าจะเป็นเพียงแค่สั่งให้พ่อแม่ของเธอไปเข้าอบรมเรื่องการส่งสื่อลามกทางอุปกรณ์มือถือ (Sexting) เท่านั้น นี่ก็ดูจะเป็นโชคดีของเธอที่จะไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนประวัติผู้กระทำผิดทางเพศด้วย แต่พร้อมกันนั้นบทเรียนของกฎหมายนี้ก็ดูจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลานมากขึ้นในมิติการเผยแพร่ภาพโป๊ตัวเอง เพราะสุดท้ายปัญหาก็จะย้อนมาที่ตัวผู้ปกครองเอง

Source: http://rt.com/usa/teen-child-porn-selfie-185/

 

กฎหมายต้านก่อการร้ายใหม่ของซาอุดิอาระเบียถึงตำรวจศาสนาล่าแม่มดบน Twitter


เมื่อปลายปีที่แล้วซาอุดิอาระเบียได้ผ่านกฎหมายต้านการก่อการร้ายใหม่มา ซึ่งในทางปฏิบัติกฎหมายนี้ดูจะนิยามการก่อการร้ายไว้กว้างมากๆ ไม่ใช่เพียงแต่กิจกรรมที่กระทบกระเทือนความมั่นคงจะเป็นการก่อการร้าย แต่รวมไปถึงการสร้างความวุ่นวายในสังคมไปจนถึงการหมิ่นประมาทรัฐหรือกษัตริย์ด้วย

กฎหมายนี้ให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงในการกักขังผู้ต้องสงสัยถึง 6 เดือนในเบื้องต้น และต่อการคุมขังได้อีก 6 เดือน และในการสอบสวนนั้นทางหน่วยงานความมั่นคงก็มีอำนาจในการสอบสวนโดยที่ผู้ต้องสงสัยไม่มีทนายถึง 90 วันด้วย

เท่านั้นยังไม่พอตำรวจยังมีอำนาจไปบุกบ้านผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาลด้วยซ้ำ ซึ่งอำนาจในการจัดการ "ผู้ก่อการร้าย"นี้รวมไปถึงการสอดส่องโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตด้วย

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่คนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเยอะมาก คนส่วนใหญ่ไม่มี PC แต่มีสมาร์ทโฟนที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ และชาวซาอุฯ ก็นิยมใช้ Twitter อย่างยิ่ง โดยมีการประเมินว่ามีผู้ใช้ Twitter กว่า 7 ล้านบัญชีในซาอุฯ (เยอะกว่าจำนวนประชากรของ บาห์เรน คูเวต และกาตาร์รวมกันด้วยซ้ำ)

และในบัญชีเหล่านี้ก็มีบัญชีที่ทางการจัดว่าเป็น "แม่มด"ซึ่งทำการเผยแพร่สิ่งชั่วร้ายและศาสตร์มืดของแม่มดอยู่บนอินเทอร์เน็ต

และหน่วยงานที่เป็น "ตำรวจศาสนา"ของทางซาอุฯ ก็กำลังไล่ล่าเหล่าแม่มดที่ว่าอยู่ ณ ขณะนี้ ผ่านการสอดส่องสารพัดอันเป็นไปได้บนฐานของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ว่านั่นเอง

Source: http://rt.com/news/saudi-twitter-religion-police-828/

 

วง Skinny Puppy ส่ง "ใบเสร็จ"เรียกเก็บเงินรัฐบาลสหรัฐฐานเอาเพลงของวงไปทรมานนักโทษในค่ายกวนตานาโม

วงอินดัสเตรียลร็อคจากแคนาดาอายุวงกว่า 30 ปีอย่าง Skinny Puppy ดูจะหัวเสียพอควรหลังจากรู้ว่าเพลงของวงถูกนำไปทรมานนักโทษในค่ายกวนตานาโมอันเป็นค่ายทหารอเมริกันในคิวบาที่มีชื่อฉาวโฉ่ด้านละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทางวงอ้างว่าได้ข้อมูลจาก "คนใน"ที่เคยเป็นยามในค่ายกวนตานาโมว่ามีเพลงของวงในตอนไต่สวนผู้ถูกคุมขังในค่ายเพื่อสร้างแรงกดดันในขณะไต่สวน

ทางวงก็เลยส่งใบเสร็จเรียกเก็บเงินไปที่ทางกองทัพอเมริกาเป็นเงิน 666,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราวๆ 22,000,000 บาท)

อย่างไรก็ดีทางกองทัพสหรัฐก็บอกว่ายังไม่ได้ใบเสร็จเสียที

ผู้เขียนไม่คิดว่าใบเสร็จนี้จะมีรากฐานใดๆ ที่ที่จะมีผลบังคับจริงในทางกฎหมาย ในทางลิขสิทธิ์การเปิดงานดนตรีที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่ส่วนตัวนั้นไม่มีทางเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ไม่ว่าในพื้นที่ส่วนตัวนั้นจะมีกิจกรรมใดๆ ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ดนตรีจะชอบหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นเรื่องของ “สิทธิผู้บริโภค” ที่จะสามารถใช้สิ่งที่ตอนซื้อหามาอย่างชอบธรรมอย่างไรก็ได้

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งหากจะนับ "ห้องสอบสวน"ว่าเป็น "พื้นที่สาธารณะ"ที่จะทำให้การเปิดเพลงนั้นเข้าข่าย "การแสดงต่อสาธารณะ" (public performance) ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ตลกไม่น้อย

ดังนั้น หากจะกล่าวอย่างจริงจัง "ใบเสร็จ"ที่ว่าดูจะไม่มีรากฐานความชอบธรรมทางกฎหมายนัก และเป็นการอ้างสิทธิที่ไม่มีอยู่จริงในการควบคุมการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ (ซึ่งสิ่งที่ต้องเน้นคือตัว "งานบันทึกเสียง"อาจเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงตามขนบทางธุรกิจจองอุตสาหกรรมดนตรีในโลกตะวันตกที่ต้องมอบลิขสิทธิ์ให้กับค่ายเพลง แต่แม้ว่าจะมีการมอบลิขสิทธิ์ “งานบันทึกเสียง” ให้ค่ายเพลงแต่ตัวลิขสิทธิ์ "บทประพันธ์เพลง"ก็ยังจะเป็นของผู้แต่งเพลงอยู่ ซึ่งในบางครั้งผู้แต่งก็ไม่ใช่วงทั้งวงแต่เป็นแค่สมาชิกบางคนด้วยซ้ำ ถ้าการใช้เพลงทรมานนักโทษต้องขอเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน นี่คือลิขสิทธิ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับวง และนี่หมายความว่าถ้าการละเมิดมีจริง ไม่ใช่แค่วงหรือสมาชิกบางคนที่จะมีสิทธิ์ส่ง "ใบเสร็จ"แต่ค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวงานบันทึกเสียงเพลงก็มีสิทธิส่งใบเสร็จด้วย)

แต่ก็แน่นอนว่าถ้ามองว่าเป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ มันก็จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

Source:

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles