รง.หารือญี่ปุ่น เปิดช่องอาชีพสปา-ดูแลผู้ป่วย ไม่มีใบปริญญาเข้าทำงานได้
(5 ก.พ.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับ Mr.Kiminori IWAMA ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน โดยได้หารือประเด็นการให้คนไทยเข้าไปประกอบอาชีพเป็นผู้ให้บริการสปา และผู้ให้บริการดูแลผู้ป่วย โดยได้เจรจาขอให้ไทยได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นผูกพันเปิดตลาดให้ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งญี่ปุ่น ให้คนฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในญี่ปุ่น และมีคุณสมบัติสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพของญี่ปุ่นสามารถทำงานด้านการดูแลสุขภาพได้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ต้องการให้ญี่ปุ่นรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน และคุณสมบัติของสาขาอาชีพที่ไม่ต้องใช้วุฒิปริญญาของแรงงานไทย เช่น พนักงานสปา และคนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงาน และตั้งกิจการให้บริการในประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น
“ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดย กพร.มีความใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทยมาโดยตลอด เนื่องจากได้ให้บริการและมีความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งการฝึกงานของคนงานบริษัทสาขาในต่างประเทศที่เข้ามาฝึกงานกับบริษัทแม่ และการฝึกงานของแรงงานกึ่งฝีมือภายใต้การควบคุมของ JICA และ JAVADA โดยการสนับสนุนทุนให้คนไทยได้ฝึกงานกับผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น จากการหารือกัน Mr.Kiminori IWAMA ได้รับปากที่จะนำข้อหารือดังกล่าวไปประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ดำเนินการตามความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศต่อไป” นายจีรศักดิ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของกรมตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น ณ เดือนมกราคม 2556 มีคนไทยทำงานในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 19,880 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 16,180 คน และแรงงานผิดกฎหมาย 3,700 คน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติแบบเสรีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพและแรงงานมีฝีมือใน 14 สาขาอาชีพ ไม่เปิดรับแรงงานไร้ฝีมือ เนื่องจากเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม และเศรษฐกิจในภาพรวม
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-2-2557)
ขู่สหภาพแรงงานยุ่งการเมือง ระวังผิด กม.ถูกถอด หรือยุบสหภาพ
(6 ก.พ.) นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงานจากเหตุชุมนุมทางการเมืองว่า จากการที่ กสร.เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด พบว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน แต่สถานประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีตลาดอยู่ในประเทศโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เช่น บริษัทผลิตอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ประสบปัญหายอดสั่งสินค้าลดลง การจัดซื้อวัสดุผลิตสินค้าทำได้ลำบาก และสินค้าค้างสต๊อกเยอะเพราะไม่สามารถเข้ามาซื้อวัสดุผลิตสินค้า และขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจโรงแรม เช่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว ได้เลิกจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดยังไม่พบว่าได้รับผลกระทบ
“ผมเชื่อว่าเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น และนายจ้างคงจะพยายามรักษาลูกจ้างไว้ให้มากที่สุดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เลิกจ้างเป็นการชั่วคราวและรับกลับเข้าทำงานใหม่ หรือให้หยุดงานแต่ยังคงจ่ายค่าจ้างตามปกติ ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานขณะนี้ยังไม่น่าห่วงแต่ กสร.ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง” นายพานิช กล่าว
อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรื่องที่น่าเป็นห่วงด้านแรงงาน คือ การที่สหภาพแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ หรือรัฐวิสาหกิจไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง เนื่องจากตามกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีข้อห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานไปยุ่งเกี่ยวข้องเพราะผิดวัตถุประสงค์จัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง หากสมาชิก หรือกรรมการสหภาพแรงงานไปเกี่ยวข้องการเมืองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์จะต้องถูกเพิกถอนการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหภาพแรงงานไปเกี่ยวข้อง จะทำให้ถูกยุบสหภาพแรงงานได้ ขณะนี้ กสร.พบว่า มีสหภาพแรงงาน 1-2 แห่งที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งก็ได้ตักเตือนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเพิกถอนสมาชิก กรรมการสหภาพแรงงาน หรือยุบสหภาพแรงงานใดเลย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-2-2557)
การบินไทยยังให้บริการตามปกติ แม้มีกระแสข่าวชัตดาวน์หยุดให้บริการ
บรรยากาศที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เช้านี้ หลังจากมีกระแสข่าวว่ามีการชวนพนักงานแต่งชุดดำและร่วมมาตรการชัตดาวน์บริษัทฯ โดยพบว่าที่สำนังานใหญ่ถนนวิภาวดีฯ แทบไม่มีพนักงานแต่งชุดดำ รวมทั้งบรรยากาศทั่วไป พนักงานยังคงปฏิบัติงานตามปกติ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ได้ชี้แจงถึงกระแสชักชวนพนักงานให้ร่วมชัตดาวน์การบินไทยวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 จนทำให้มีผู้โดยสารวิตกกังวลเรื่องการให้บริการของการบินไทยนั้น ฝ่ายบริหารการบินไทยขอยืนยันว่าพนักงานทุกคนยังคงพร้อมให้บริการแก่ผู้โดยสารตามปกติ ส่วนการปรับลดเที่ยวบินในบางเส้นทาง เนื่องจากมีปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารลดลง รวมทั้งตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) บริษัทฯ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตารางการบินให้เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม้จะมีกระแสข่าวว่าพนักงานสหภาพการบินไทย รวมตัวแต่งชุดดำและขู่หยุดให้บริการผู้โดยสาร เพื่อคัดค้านรัฐบาลร่วมกับ กปปส.ในเช้าวันนี้ นับว่าตั้งแต่ช่วงเช้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ การบินไทยยังเปิดให้บริการทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ โดยยังมีผู้โดยสารเดินทางมาเช็คอินตามปกติ
(สำนักข่าวไทย, 10-2-2557)
กรมชลประทานขยับรื้อองค์กร ลุยลดสัดส่วนบุคลากร
นายมนัส กำเนิดมณี ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพการทำงานของข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะมีจำนวนบุคลากรลดลงก็ตาม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนภารกิจต่างๆ ที่รับผิดชอบ ซึ่งในปัจจุบันกรมชลประทาน มีข้าราชการประมาณ 6,000 คน ลูกจ้างประจำประมาณ 16,000 คน และพนักงานข้าราชการประมาณ 4,000 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 26,000 คน ซึ่งได้มีการปรับลดลงไปแล้วมากกว่าครึ่ง จากเดิมมีข้าราชการถึง 9,000 คน ลูกจ้างประจำ 50,000 คน ไม่มีพนักงานข้าราชการ รวมแล้วประมาณ 59,000 คน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมชลประทานพยายามปรับปรุงตัวเอง เปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ เพราะในระยะเวลา 10-15 ปี ลูกจ้างประจำก็จะหมดไปไม่รับเพิ่ม ส่วนข้าราชการ จะรับเพิ่ม 1 คน ทดแทนคนเก่าได้ 3 คน ซึ่งจะทำให้เหลือข้าราชการประมาณ 3,000 คน และจะมีพนักงานข้าราชการอีก 4,000 คน รวมแล้วมีบุคลากรประมาณ 7,000 คนเท่านั้น ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 24 ล้านไร่ เป็น 60 ล้านไร่ ในอนาคต จะต้องดำเนินการต่อไปโดยไม่สะดุด
นายมนัสกล่าวอีกว่า การทำงานของกรมชลประทานในอนาคตนั้น จะต้องจ้างเหมาเอกชนเข้ามาดำเนินการแทนอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งน้ำ การบำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และภารกิจอื่นๆ ที่สามารถจ้างเหมาได้ ส่วนงานที่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะต้องโอนหรือมอบอำนาจให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ไปดูแล
ดังนั้นหากพิจารณาจำนวนบุคลากรของกรมชลประทานจริงๆ แล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณ 26,000 คนนั้นไม่ถือว่าขาด เพียงแต่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการใหม่ ลดจำนวนบุคลากรที่เป็นไขมันหรือส่วนเกินลง แต่สิ่งที่กรมชลประทานขาดนั้นก็คือ ขาดคนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไข โดยพยายามเกลี่ยคนให้เหมาะสมกับงาน ปรับโครงสร้างบุคลากรใหม่ การเสนอยุบบางตำแหน่งที่เป็นส่วนเกิน แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าหน่วยงานไหนขาดบุคลากรจริงก็จะไม่ยุบ แต่จะเสนอเพิ่มจำนวนบุคลากรให้ด้วยซ้ำ
สำหรับแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรของกรมชลประทานนั้น จะต้องมีขบวนการคัดคนเข้าทำงานให้เข้มข้นขึ้น ต้องเอาคนดีคนเก่งเข้า รับผู้ที่เรียนจบเกียรตินิยมเข้าทำงาน ขอทุนเรียนต่อต่างประเทศจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 ทุน เป็น 9 ทุน และต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากทำเช่นนี้ได้ แม้ในอนาคตบุคลากรจะลดลง แต่ก็จะไม่กระทบต่อการทำงาน
(แนวหน้า, 10-2-2557)
เตรียมแก้ กม.แรงงานประมงอัปอายุจาก 16 ปี เป็น 18 ปี หวังสกัดใช้งานเด็ก
มล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานในการจัดทำรายงานการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2556 เพื่อเสนอต่อสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ระหว่างการแปล โดยได้เน้นย้ำว่าในปี 2557 จะต้องให้ความสำคัญ ดูแลปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ทั้งการปราบปรามจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Good Labor Practices (GLP) หรือแนวปฏิบัติที่ดีในสถานประกอบการ โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและส่งรายชื่อแสดงความจำนงมาแล้ว 178 แห่ง เพื่อร่วมกับกระทรวงแรงงานในปรับปรุงสถานประกอบการให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการจ้างแรงงานผิดกฎหมายและทำแนวปฏิบัติภายในสถานประกอบการ
“สำหรับการทำรายงานในปีนี้จะเน้นถึงการชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและแนวทางที่แก้ไขที่ชัดเจน เช่น กลุ่มของแรงงานประมง ที่ทางสหรัฐอเมริกาจับตามอง โดยต้องมีการปรับการตรวจให้ชัดเจน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจน้ำ กรมประมง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ เป็นต้น ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้จัดสรรงบประมาณเฉพาะในการตรวจตราปัญหาการค้ามนุษย์ในกิจการประมงโดยเฉพาะจำนวนกว่า 38,000 คน ซึ่งในปีที่ผ่านมาจากการแก้ไขการขึ้นทะเบียนให้แรงงานประมงสามารถจดทะเบียนได้ปีละ 3 ครั้ง ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนแล้ว 6,188 คน ออกใบอนุญาตแล้ว 4,250 คน” มล.ปุณฑริกกล่าว
นอกจากนี้ ทาง กสร.จะปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย เช่น อายุที่อนุญาตให้แรงงานสามารถ ทำงานในเรือประมงได้จากปัจจุบันต้องมี 16 ปีขึ้นไป ปรับแก้ให้เป็น 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งจะประกาศว่ากิจการประมงเป็นงานอันตรายสำหรับเด็ก ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานพยายามที่จะแก้ปัญหาแรงงานลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย โดยการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) กับลาว พม่า และกัมพูชา ในการนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อลดช่องทางการเรียกเก็บค่าหัวคิว ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-2556 สามารถดำเนินการได้ 312,737 คน รวมไปถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ จะเน้นการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐเพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าหัวคิวที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยสามารถจัดส่งแรงงานไปได้ 14,509 คน
รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการไปทำงานต่างประเทศในภูมิภาค 10 แห่ง และศูนย์ประสานงานแรงงานประมงจังหวัด 7 แห่งด้วย ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ก่อนที่จะนำไปหารือกับหน่วยงานภายนอก เนื่องจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน และเชื่อว่าทางสหรัฐอเมริกาจะเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาของไทย
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-2-2557)