เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สืบสวนเรื่อง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน พบว่าเขาใช้โปรแกรมอัตโนมัติที่ไม่มีความซับซ้อนในการขุดคุ้ยข้อมูลจากองค์กรความมั่นคงของสหรัฐฯ ทำให้เกิดคำถามเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูลของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้
10 ม.ค. 2557 หลังจากที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสืบสวนวิธีการที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานด้านข่าวกรองสหรัฐฯ ใช้ในการล้วงข้อมูลจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ก็พบว่าสโนว์เดนใช้โปรแกรมที่ไม่ได้มีความซับซ้อนหรือราคาแพง ทั้งยังมีวางขายทั่วไป
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน หลบหนีออกจากประเทศสหรัฐฯ และทำการเปิดโปงโครงการสอดแนมหลายโครงการนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว เขาได้ใช้โปรแกรมจำพวก "เว็บครอว์เลอร์"ซึ่งเป็นโปรแกรมอัตโนมัติที่มีความสามารถในการค้นหา จัดเรียง และเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ จากการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสของสหรัฐฯ
การค้นพบในครั้งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูลของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะถูกโจมตีหรือเจาะข้อมูลด้วยวิธีการที่ซับซ้อนกว่านี้จากชาติอื่น แต่ "การโจมตีจากภายใน"ของสโนว์เดนกลับใช้วิธีการที่ไม่มีความซับซ้อนและน่าจะตรวจจับได้ง่าย
สโนว์เดน เคยเป็นผู้รับจ้างงานทำงานด้านเทคโนโลยีให้กับ NSA ทำให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลของ NSA ได้จำนวนมาก เขาทำงานจัดการระบบคอมพิวเตอร์ให้กับสำนักงานในฮาวายซึ่งเน้นกรณีเกี่ยวกับประเทศจีนและเกาหลีเหนือ
โปรแกรมเว็บครอว์เลอร์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "สไปเดอร์"หรือ "แมงมุม"จะทำการเคลื่อนย้ายตัวเองระหว่างเว็บต่างๆ โดยผ่านลิงก์หรือการเชื่อมโยงที่ติดอยู่กับเอกสารต่างๆ และสามารถตั้งโปรแกรมให้ทำสำเนาข้อมูลทุกอย่างเก็บไว้ในที่ๆ มันเคลื่อนผ่านได้ โดยทางการสหรัฐฯ เชื่อว่าสโนว์เดนสามารถเข้าถึงเอกสารของหน่วยงานได้ถึง 1.7 ล้านฉบับ
ในข้อมูลที่สโนว์เดนได้รับมีฐานข้อมูลในองค์กรส่วนที่เรียกว่า "วิกิ"ซึ่งเป็นส่วนที่นักวิเคราะห์ด้านข่าวกรอง ผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆ แลกเปลี่ยนความรู้กันภายในองค์กร มีหลักฐานบางส่วนระบุว่าสโนว์เดนสามารถเข้าถึงเอกสารได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเอกสารหลายชิ้น สโนว์เดนอาจจะไม่ได้เป็นคนดาวน์โหลดด้วยตนเอง แต่มีการใช้โปรแกรมอัตโนมัติช่วยแทน
เจ้าหน้าที่สืบสวนปฏิเสธจะเปิดเผยว่าสโนว์เดนใช้โปรแกรมชื่ออะไรปฏิบัติการนี้ แต่ก็บอกว่าโปรแกรมนี้ทำงานคล้ายกับ "กูเกิลบอท"ซึ่งเป็นโปรแกรมเว็บครอว์เลอร์ของกูเกิล มีหน้าที่เก็บข้อมูลจากเว็บต่างๆ แล้วมาทำดัชนีของเว็บเพื่อใช้ในระบบค้นหา โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดถึงมีโปรแกรมจำพวกนี้อยู่ในระบบงานที่เกี่ยวกับความลับและไม่ถูกตรวจพบว่าเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือคำสั่งงาน
เมื่อเจ้าหน้าที่ทดลองใส่รหัสเข้าโปรแกรมของสโนว์เดนก็พบว่าโปรแกรมยังคงทำงานได้ดีเป็นพิเศษ พวกเขาสงสัยอีกว่าสโนว์เดนจะใช้รหัสของเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานคนอื่นด้วย
เรื่องนี้ยังได้สร้างความกังวลให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองและความมั่นคงว่าสโนว์เดนได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการทหารของสหรัฐฯ ไปด้วยหรือไม่ ในแง่นี้พลโท ไมเคิล ที ฟลินน์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DIA) ได้กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พวกเขายังไม่รู้ว่าสโนว์เดนนำข้อมูลด้านการทหารไปหรือไม่ แต่สำหรับตัวเขาเองมองว่าสโนว์เดนน่าจะนำข้อมูลทุกอย่างที่เขาสามารถเข้าถึงได้ไปด้วย
เรียบเรียงจาก
Snowden Used Low-Cost Tool to Best N.S.A., New York Times, 08-02-2014
http://www.nytimes.com/2014/02/09/us/snowden-used-low-cost-tool-to-best-nsa.html
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/บอต