Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ความหวังริบหรี่ของผู้เรียกร้องความเป็นธรรมคดี 'อุ้มหาย'ในเม็กซิโก

$
0
0

เม็กซิโกมีสถิติ 'คดีอุ้มหาย'เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดก็เริ่มมีความหวังในเรื่องนี้หลังจากที่กำลังจะมีผู้ต้องหาทหารถูกดำเนินดคีในศาลพลเรือน แต่กลุ่มญาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนยังสงสัยว่ารัฐบาลเม็กซิโกแค่เสแสร้งในเรื่องนี้หรือไม่

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไอพีเอสนิวส์รายงานว่าสถานการณ์ 'อุ้มหาย'ในเม็กซิโกเริ่มมีความหวัง หลังจากที่กรณีอุ้มหายชายที่ชื่อโรเซนโด ราดิลลา กำลังจะมีการเปิดไต่สวนดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีในศาลพลเรือน หลังจากที่มีการเรียกร้องในเรื่องนี้มานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว

โรเซนโด ราดิลลา ถูกทหารอุ้มหายตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค. 2517 ในรัฐเกอร์เรโร ประเทศเม็กซิโก ทำให้ทิตา ราดิลลา ลูกสาวของเขาตามหาตัวเขาอย่างไม่ลดละตั้งแต่ตอนนั้นทั้งจากสื่อ ศาลในประเทศ และศาลระหว่างประเทศ

จนกระทั่งทิตาได้ร้องเรียนไปยังศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา ซึ่งได้ตัดสินเมื่อเดือน ก.ย. 2552 ว่าทางการเม็กซิกันมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิในด้านเสรีภาพบุคคล การปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ และต่อชีวิตของโรเซนโด ราดิลลา ผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอะโตยัก ห่างจากเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก 400 กม.

ทิตาบอกว่าการต่อสู้ของพวกเขาเป็นผลเพราะสามารถนำทหารมาขึ้นศาลพลเรือนได้ ทำให้ความพยายามของพวกเขาไม่สูญเปล่า

กลุ่มกองกำลังผสมทหารตำรวจ แก๊งค์ยาเสพติด แก๊งค์ค้ามนุษย์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอุ้มหายในเม็กซิโกที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางองค์กรประเมินว่ามีเหยื่อผู้สูญหายราว 30,000 คนหรือมากกว่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อาร์เจนตินา, ชิลี, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา และอุรุกวัย มีความก้าวหน้าในด้านการดำเนินคดีการอุ้มหาย แต่ดูเหมือนว่าเม็กซิโกผู้ก่อเหตุยังไม่ได้รับการลงโทษ

ทิตา ราดิลลา ผู้เป็นรองประธานสมาคมญาติผู้สูญหายชาวเม็กซิกัน (AFADEM) กล่าวว่าในเม็กซิโกกระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า กฎหมายไม่ถูกบังคับใช้ ทำให้ไม่มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ

นักกิจกรรมคนอื่นๆ เช่น มาร์ธา กามาโช ประธานกลุ่มสมาคมมารดาของเด็กผู้สาบสูญแห่งรัฐซินาโลอา ก็มีความสงสัยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องคดีอุ้มหายในเม็กซิโกจริงหรือไม่ กามาโชบอกว่า คดีการอุ้มหายควรถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและไม่ควรเป็นคดีที่มีอายุความ

กามาโชและสามีของเธอ โฮเซ มานูเอล อลาปิซโค เคยเป็นเหยื่อคดีอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ทางการเมื่อปี 2520 โดยทั้งสองเคยเป็นสมาชิกกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเม็กซิโก ขณะที่ถูกจับกุมตัวไปนั้นกามาโชกำลังตั้งครรภ์อยู่ ทั้งคู่ถูกจับไปทรมาน สามีของเธอถูกสังหารในเวลาต่อมาและไม่มีใครพบศพ อีก 47 วันหลังจากนั้นพ่อแม่ของกามาโชจึงจ่ายเงินค่าไถ่ให้เธอและลูกในท้องถูกปล่อยตัวออกมา

ในเม็กซิโกมีกลุ่มญาติของผู้ถูกอุ้มหายอีกหลายกลุ่มที่ทำการบันทึกกรณีการอุ้มหายในช่วงเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเม็กซิโกที่ทำการสำรวจกรณีช่วงคริสตศตวรรษที่ 1960-1970 ที่มี 'สงครามสกปรก' (dirty war) ระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้าย รวมถึงนักกิจกรรมและผู้นำทางสังคม

พรรคพีอาร์ไอ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเม็กซิโกในปัจจุบันจึงต้องทำหน้าที่ไต่สวนอดีตรัฐบาลพีอาร์ไอซึ่งมีอำนาจอยู่ในสมัยปลายคริสตศตวรรษที่ 1960 และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามแม้จะมีการตัดสินจากศาลระหว่างรัฐอเมริกาในเดือน พ.ค. 2556 แต่ทางการเม็กซิโกก็ยังไม่มีการพยายามสืบสวนหาร่างของบิดาราดิลลาอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ในเกอร์เรโร มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงยุคสงครามสกปรก แต่ก็มีอุปสรรคอย่างหนึ่งคือการที่สำนักงานอัยการแห่งชาติเม็กซิโกปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าถึงหลักฐานและแฟ้มคดีในเรื่องนี้

กัวดาลูเป เปเรซ ลูกชายของผู้ถูกอุ้มหายรายหนึ่งกล่าวว่าตลอด 44 ปีที่ผ่านมา ทางการเม็กซิโกแค่เสแสร้งว่าจะทำการสืบสวนเรื่องนี้ เพราะเหตุการณ์อุ้มหายก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน คนที่อยู่ในอำนาจจึงถือว่ามีความรับผิดชอบทางการเมืองในเรื่องนี้เพราะพวกเขายังหลีกเลี่ยงการสืบสวนหรือบอกว่าผู้ที่ถูกอุ้มหายไปอยู่ที่ไหน

 


เรียบเรียงจาก

Small Ray of Hope in Mexico’s Forced Disappearances, IPS News, 08-02-2014
http://www.ipsnews.net/2014/02/setback-military-impunity-mexicos-forced-disappearances/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles