กระทรวงพาณิชย์เตรียมส่งหนังสือให้ กกต.สัปดาห์หน้า สอบถามอำนาจรัฐบาลขอใช้งบกลาง จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้โรงสีรับจำนำใบประทวน สำรองจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา พร้อมเร่งระบายข้าวทุกช่องทาง ประมูลผ่านเอเฟต 2 แสนล้านตัน ลอตใหญ่ที่สุด 13 ก.พ.นี้ ด้านกลุ่มชาวนายังคงปักหลักหน้าโรงพักปากท่อ รวบรวมเอกสารแจ้งความรัฐบาล
8 ก.พ. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่ากรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า คณะผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจเยี่ยมโรงสีเจริญธัญญกิจใหม่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าว ก่อนเปิดประมูลขายข้าวผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ ซึ่งพบว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพดี ค่าความชื้นไม่เกินร้อยละ 10
นายยรรยง พวงราช รักษาการ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งระบายข้าวในทุกช่องทาง รวมทั้งการระบายข้าวผ่านตลาดเอเฟต โดยจะเปิดประมูลในวันที่ 13 ก.พ.นี้ จำนวน 227,808 ตัน เป็นลอตใหญ่ที่สุด จากการเปิดประมูลใน 4 ครั้งที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 1.9 แสนตัน พร้อมเปิดประมูลแบบทั่วไป 4.6 แสนตัน และเปิดประมูลให้กับกลุ่มโรงสีอีก 5 แสนตัน รวมปริมาณการระบายข้าวเดือน ก.พ. ประมาณ 1.2 ล้านตัน เฉลี่ยแล้ว 100,000 ตัน ได้เม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท และมั่นใจว่าการระบายข้าวผ่านตลาดเอเฟตรอบนี้ จะได้รับความสนใจมากขึ้น และราคาขายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมส่งเรื่องขออนุญาตใช้งบประมาณกลาง 1,200 ล้านบาท มาชดเชยค่าดอกเบี้ยร้อยละ 0-9 ให้กับโรงสีที่เข้าร่วมรับจำนำใบประทวนต่อคณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันจันทร์ที่ 10 ก.พ.นี้ โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจในการหาเงินมาช่วยเหลือชาวนา ตามโครงการรับจำนำข้าว พร้อมขอให้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เข้าใจถึงกระบวนการของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งเรื่องให้ กกต.ตีความอำนาจของ รัฐบาลรักษาการ ในการขอใช้งบประมาณต่างๆ และฝากถึงนายสมชัยให้ทำตามหน้าที่ ในการเดินหน้าจัดการการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของตน ขณะที่นายยรรยงจะทำหน้าที่ของตนเอง คือการเร่งระบายข้าวในทุกช่วงทาง เพื่อหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาโดยเร็ว
ทางด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กลุ่มโรงสีมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมรับจำนำใบประทวนเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่เป็นลูกค้าของโรงสี โดยให้แต่ละโรงสีพิจารณาเข้าร่วมตามความสมัครใจ แต่ขอให้รัฐบาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเบิกเงินกับ ธ.ก.ส. พร้อมตรวจสอบพฤติกรรม หรือเครดิตของลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับโรงสีในการปล่อยกู้ โดยระหว่างนี้ ทางโรงสีจะสำหรับความสมัครใจของโรงสีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล โดยจะส่งรายชื่อโรงสีให้กับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 10 ก.พ.นี้
ขณะที่ นายกำธร ถาวรสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การจ่ายเงินให้กับชาวนาใน จ.ชัยนาท ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2556/2557 สามารถดำเนินการจ่ายเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30 จากจำนวนเกษตรกรในจังหวัด 20,000 ใบประทวน เหลือค้างจ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม การระบายข้าวผ่านเอเฟต ครั้งที่ 5 เปิดประมูลวันที่ 13 ก.พ.นี้ มีปริมาณ 227,808 ตัน 11 คลัง จาก 8 จังหวัด แบ่งเป็นข้าวขาว 5% จำนวน 167,463 ตัน จาก จ.สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และข้าวหอมมะลิ จำนวน 60,344 ตัน จาก จ.พิษณุโลก พะเยา นครราชสีมา อุบลราชธานี และเชียงใหม่
กลุ่มชาวนายังคงปักหลักหน้าโรงพักปากท่อ รวบรวมเอกสารแจ้งความรัฐบาล
มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า เกษตรกรชาวนายังคงปักหลัก อยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร สภ.ปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานใบประทวน และสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนมากกว่า 200 ชุด เพื่อรอแจ้งความ ดำเนินคดีกับรัฐบาลเป็นจำเลยที่ 1 นางสาวยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นจำเลยที่ 2 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นจำเลยที่ 3 และนายสมศักดิ์ พุทธพฤกษ์ เกษตรอำเภอปากท่อ เป็นจำเลยที่ 4 ในข้อหาฉ้อโกงเงินของเกษตรกรชานา ที่ได้นำข้าวไปเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ได้เงินตามใบประทวนตามระยะเวลาเกี่ยวข้าวชึ้งล่วงเลยมากว่า 4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับเงิน ทําให้เกตรกรเดือดร้อนต้องเป็นหนี้เป็นสิน
ทั้งนี้ ทางเกษตรกรชาวนาได้รวมตัวกันเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลายครั้งแต่เรื่องก็เงียบหายไป และ ยังได้รวมตัวกันกดดันรัฐบาลโดยการปิดถนนพระราม 2 และถนนเพชรเกษม แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ส่งตัวแทนมาเจราจา จนทำให้เกษตรกรชาวนาทนไม่ไหว จึงต้องแจ้งความเพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องเงินของชาวนาคืน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรชาวนาได้มอบให้ นายธนาคาร ควรหาธรรม ทนายความอาสาดูแลด้านกฏหมายให้กันชาวนา ช่วยเหลือให้คำปรึกษาในคดี และมอบให้ นางนฤมล คล้ายสิริ และนางสาวศศิกาจน์ พวงอินทร์ เป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรชาวนาเข้าแจ้งความดำเนินคดี และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ทางกลุ่มเกษตรกรชาวนาจะรวมตัวกันเดินทางไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อ ป.ป.ช. ในข้อหาโกงเงินรับจำนำข้าว พร้อมให้เร่งดำเนินการชี้มูลความผิดในคดีโครงการโกงเงินรับจำนำข้าวของรัฐบาลต่อนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม
ด้าน พ.ต.อ.สุพัฒน์ เชยชิด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ได้ออกมาแถลงต่อชาวนาที่มาปักหลักอยู่หน้า สภ.ปากท่อ และสื่อมวลชน ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งข้อหาดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมใดๆ เลย ทั้งนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้ ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้ดำเนินคดีกับกลุ่มชาวนาแต่อย่างใด พร้อมได้ออกใบประกาศแจ้งให้แก่ชาวนาเพื่อว่าสบายใจด้วย ส่วนที่ชาวนานําใบประทวนมาแจ้งความต่อรัฐบาลนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งความไว้ ทั้งนี้รอการให้เกตรกรรวบรวมเอกสารให้เสร็จเรียบร้อยก่อนถึงจะมีการแจ้งความได้
สุเทพเผยตัวเลขเงินที่ได้จากเดินระดม เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวนาเมื่อวานนี้ได้เงิน 5-6 ล้านบาท
ครอบครัวข่าวรายงานว่านายสุเทพ บอกว่า ตัวเลขที่แน่ชัดขณะนี้ยังบอกไม่ได้ เนื่องจากวานนี้มีคนบริจาคมากถึง 12 ถุงกับอีก 2 กระสอบใหญ่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการนับ แต่ก็คาดว่าน่าจะไม่น้อยกว่า 5-6 ล้านบาท และวันจันทร์นี้ก็จะเดินอีกครั้ง ซึ่งมั่นใจว่า 10 ล้านบาทที่จะใช้ตั้งเป็นกองทุนช่วยชาวนานั้น จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่เวที วันนี้ก็เปิดให้ชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวมาลงทะเบียน เพื่อจัดหาทนายความอาสาให้การช่วยเหลือ รวมทั้งในวันจันทร์ยังจะนำชาวนาที่มาลงทะเบียนไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย