Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สภาทนายความจี้รัฐแก้ไขปัญหาไฟไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยซ้ำซาก

$
0
0

ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จี้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาไฟไหม้ในพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่าที่เกิดซ้ำซาก โดยล่าสุดเกิดไฟไหม้ในที่พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา


    
7 ก.พ. 2557 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมาการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟไหม้พื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันได้ แต่กลับพบว่ามีไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่พักพิงต่างๆทั้ง 9 แห่ง ในชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่กว่า 120,000 คน
    
เหตุการณ์ไฟไหม้ในพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัย เพียงในรอบเดือนกว่าเดือนที่ผ่านมา ปรากฏไฟไหม้ถึง 3 แห่ง โดยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557  เกิดเหตุไฟไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีบ้านพักไหม้เสียหาย 20 หลัง ก่อนหน้านั้นวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เกิดไฟไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีบ้านพักไหม้เสียหายกว่า 1,000 หลังและผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1,000 คนและหลังจากนั้นเพียง 2 วัน คือวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เกิดไฟไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบ้านพักไหม้เสียหาย 2 หลัง ผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 3 คนและไร้ที่อยู่อาศัย 84 คน
    
นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2556 ปรากฏไฟไหม้อีกหลายครั้ง ครั้งใหญ่คือ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เกิดไฟไหม้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีบ้านพักไหม้เสียหายกว่า 1,000 หลังและผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 4,000 คน และวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556 เกิดไฟไหม้ที่พักพิงบ้านแม่สุริน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านพักไหม้เสียหาย 420 หลัง เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บ 200 คนและคนไร้ที่อยู่อาศัย 2.320 คน
    
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวเพิ่มเติมว่า จึงใคร่ขอรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายและวางมาตราการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเร่งด่วนโดยกำหนดให้การปลูกสร้างที่พักพิงและอาคารในที่พักพิงผู้ลี้ภัยทุกแห่งใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟง่าย และหลีกเลี่ยงการมุงหลังคาด้วยใบตองตึงหรือใบจาก และฝาผนังไม่ควรใช้ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุติดไฟง่าย
    
อีกทั้งควรขยายสถานที่ของที่พักพิงผู้ลี้ภัยให้มากกว่าเดิม เพื่อลดความแออัดและมีพื้นที่เว้นระยะห่างของบ้านพอสมควร ตลอดจนมีแผนและมีการซักซ้อมการหนีภัยและการดับไฟกรณีเกิดไฟไหม้ อย่างสม่ำเสมอ นายสุรพงษ์ กล่าวในที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles