กกต. ส่งหนังสือถึงรัฐบาล ให้ออก พ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ ใน 28 เขตภาคใต้ที่ไร้ผู้สมัคร ส่วน 18 จว.ที่งดลงคะแนน 2 ก.พ.ไม่ได้ มีมติให้จัดลงคะแนนใหม่โดยเร็ว เริ่ม 7 จว.ที่สถานการณ์ปกติก่อน เรียก ปธ.กกต.จว.จัดลต.ล่วงหน้าไม่ได้ ถก 12 ก.พ.นี้ กำหนดวันลงคะแนนใหม่ ระบุ ยังยึดกรอบ 180 วัน
7 ก.พ. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวภายหลังประชุม กกต.ร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อหารือทางออกการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่มีปัญหา ใช้เวลาประชุมนานถึง 6 ชั่วโมง
นายสมชัย กล่าวว่า กรณีการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่มีหน่วยเลือกตั้ง 10,284 หน่วยเลือกตั้งใน 18 จังหวัดไม่สามารถจัดการลงคะแนนได้ กกต. มีมติเอกฉันท์ให้ปฏิบัติตามมาตรา 78 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 สั่งให้จัดการลงคะแนนใหม่ในเขตที่มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้มี 7 จังหวัด รวม 671 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่
จ.ระยอง 27 หน่วยเลือกตั้ง จ.ยะลา 46 หน่วยเลือกตั้ง จ.ปัตตานี 1 หน่วยเลือกตั้ง จ.นราธิวาส 1 หน่วยเลือกตั้ง จ.เพชรบุรี 74 หน่วยเลือกตั้ง จ.สตูล 300 หน่วยเลือกตั้ง และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 222 หน่วยเลือกตั้ง โดยยอมรับว่าใน 5 จังหวัดแรกมั่นใจว่าจะสามารถจัดให้มีการลงคะแนนได้ ในขณะที่ 2 จังหวัดหลังยังต้องมีการประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ ในวันที่ 11 ก.พ. กกต.จะเชิญประธานและ ผอ.กกต.ใน 7 จังหวัดดังกล่าวมาหารืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากทุกจังหวัดมีความพร้อมเท่ากันก็จะให้จัดการลงคะแนนใหม่โดยเร็วในวันเดียวกันทั้งหมด
นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่ไม่สามารถจัดการลงคะแนนได้ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. รวม 83 เขตเลือกตั้ง กกต.มีมติให้จัดการลงคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งดังกล่าวและเชิญประธานและ ผอ.กกต.จังหวัดมาพูดคุยในวันที่ 12 ก.พ.เพื่อพิจารณาว่าพื้นที่ใดมีความพร้อม ทั้งนี้ยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้มีข้อกฎหมายที่ต้องถกกันมาก เพราะอาจมีการทักท้วงเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต้องจัดก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป
แต่ กกต. เห็นว่าประเด็นการใช้สิทธิของประชาชนกว่า 2 ล้านคนเป็นสิทธิที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งก่อนเวลา 15.00 น.ของวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นเพียงระเบียบข้อปฏิบัติเท่านั้น กกต.ต้องยึดถือเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพราะเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า และ กกต.สามารถชี้แจงได้ ทั้งนี้ กกต.ยังยึดกรอบเวลา 180 วันอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย
นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับกรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.มีมติเอกฉันท์ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง กกต.ไม่มีอำนาจออกเป็นประกาศซึ่งหลังจากนี้จะทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลโดยเร็ว และหากรัฐบาลเห็นเป็นอย่างไรต้องส่งหนังสืออย่างเป็นทางการกลับมายัง กกต.
กรณีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ม.ค. และวันที่ 2 ก.พ.แล้ว แม้หน่วยเลือกตั้งนั้นจะปิดหรืองดการลงคะแนนก่อนเวลา 15.00 น. กกต.จะนำคะแนนดังกล่าวมานับรวมเป็นคะแนนเลือกตั้ง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยลงคะแนนแล้วไม่ต้องมาใช้สิทธิลงคะแนนใหม่ในวันที่ กกต.จัดการเลือกตั้งทดแทนให้กับบุคคลที่ยังไม่ได้ลงคะแนน โดยในวันที่ 12 ก.พ.นี้ กกต.จะประชุมและมีมติว่าจะจัดการลงคะแนนทดแทนได้ในวันใด ทั้งนี้การจัดการลงคะแนนใหม่ กกต.จะต้องจัดการพิมพ์บัตรเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด โดยจะต้องเป็นคนละสีกับบัตรเลือกตั้งเดิม ซึ่งงบประมาณเดิมยังเพียงพอกับการดำเนินการ
นายสมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นั้น กกต.ยืนยันว่าไม่ได้เป็นฝ่ายประกาศคะแนนแต่ละเขตว่าผู้สมัครแต่ละคนได้คะแนนเท่าไหร่ คะแนนที่ออกมาและมีการจดกันที่หน้าหน่วยนั้นไม่ได้อยู่ในส่วนที่ กกต.รับผิดชอบ ซึ่งตามกฎหมายหากลงคะแนนแล้วก็ต้องมีติดประกาศที่หน่วยเลือกตั้ง ถ้า กกต.ไม่ทำจะผิดกฎหมาย