จ.หนองคาย เจ้าท่าเตือนจีนปิดซ่อมเขื่อน 15 วัน น้ำโขงลดต่ำกว่าปกติมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. ขณะที่หลายพื้นที่ภัยแล้งมาเร็วในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะที่ราบสูง จ.นครพนม เริ่มขาดแคลนน้ำทำนา ชลประทาเร่งผันน้ำช่วย
5 ก.พ.2557 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคายรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายว่า ระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ล่าสุดมีระดับอยู่ที่ 2.64 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน (4 ก.พ.2557) ถึง 7 ซม.ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสภาวะปกติก่อนหน้าที่จะมีการปิดเขื่อน ที่ลดลงเฉลี่ยเพียงวันละ 1 ซม.เท่านั้น
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็วนั้น น่าจะเกิดจากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนทำการซ่อมเขื่อนภายในประเทศ และได้ทำการปิดการระบายน้ำ มาตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2557 โดยจะปิดซ่อมยาวต่อเนื่องประมาณ 15 วัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหนองคาย ได้มีหนังสือที่ คค.0313.2/038 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เรื่องรายงานระดับน้ำในแม่น้ำโขง ลงนามโดยนายสุริยา กิตติมณฑล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหนองคายส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2557 ไปประมาณ 15 วัน สาธารณรัฐประชาชนจีนจะทำการซ่อมเขื่อนภายในประเทศ และจะทำการปิดการระบายน้ำ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ลดต่ำลงผิดปกติ จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชน ผู้ประกอบการเดินเรือ และผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงได้ทราบโดยทั่วกัน
หนังสือดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ระดับน้ำในลำแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้น คือ ในช่วงปลายปี 2556 ช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค.2556 ระดับน้ำโขงสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จากระดับน้ำโขง 4 เมตรกว่า เป็น 8 เมตรกว่า เนื่องจากทางจีนมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ที่คาดว่าต้องการให้น้ำเหนือเขื่อนต่ำสุดเพื่อที่จะได้ทำการซ่อมเขื่อนภายในประเทศในช่วงนี้
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายมีระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 4 ก.พ.2557 วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับน้ำอยู่ที่ 2.77 เมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ 4 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 10.53 เมตร ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับ 5 วันย้อนหลังที่ทรงตัวหรือลดลงเพียงวันละประมาณ 1 ซม.เท่านั้น
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานวันเดียวกันนี้ (5 ก.พ.2557) ว่าภัยแล้งมาเร็วในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อการเกษตรโดยเฉพาะที่ราบสูง ขณะที่ระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนปิดซ่อมเขื่อน โดยที่ จ.จันทบุรีต้องประกาศภัยแล้งแล้ว 8 อำเภอ โดยเฉพาะ อ.สอยดาว และโป่งน้ำร้อน ความต้องการน้ำมีมากจนกระทั่งรถบรรทุกน้ำให้บริการประชาชนไม่เพียงพอ และคาดว่าจากนี้ไปความแล้งแห้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ที่ จ.นครพนม ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่อง หลังจากแม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนปิดซ่อมเขื่อนมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2557 โดยหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ขณะที่ปีนี้มีเกษตรกรหันมาทำนาปรังมากขึ้นเท่าตัว จากที่กำหนด 20,000-30,000 ไร่ เพิ่มเป็น 50,000 ไร่ เกินพื้นที่ควบคุม ส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำและสถานีสูบน้ำแห้งแล้ง ชลประทานนครพนมต้องเร่งผันน้ำช่วย
ที่ จ.สกลนคร อุณหภูมิตามที่ราบสูงโดยเฉพาะบนเทือกเขาภูพานเริ่มสูงขึ้น ทำให้แหล่งน้ำแห้งเหือด ดินแตกระแหง ชาวบ้านต้องต้อนโค-กระบือไปหาแหล่งน้ำและหญ้าไกลเกือบ 6 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ผอมโซ
ส่วนชาวบ้านกุดชุม จ.ยโสธร หันมาปลูกแตงโมปลอดสารขายหน้าแล้ง แทนการทำนาปรังที่เสี่ยงสูงต่อการขาดทุน ปรากฏว่ายิ่งแล้ง ยิ่งขายดี ผลผลิตมีราคาสูงลูกละ 50-100 บาท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai