ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็น บันทึกนาทีเสี่ยงอันตรายในเหตุความรุนแรงที่แยกหลักสี่เมื่อ 1 ก.พ. เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่กลุ่มมือปืนจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีทั้งอาวุธปืนยาวและปืนสั้น เปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้ง
ที่มาของภาพ: ซีเอ็นเอ็น
3 ก.พ. 2557 - โคชา โอฬาร นักข่าวซีเอ็นเอ็นเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ปะทะแถวสำนักงานเขคหลักสี่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา
โอฬารเล่าว่าในตอนเช้าของวันเสาร์ยังค่อนข้างสงบผิดกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปะทะกันช่วงที่ประเทศไทยกำลังดำเนินกระบวนการเลือกตั้ง พวกเขาตัดสินใจไปที่เขตหลักสี่หลังได้ยินว่ามีผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งเดินขบวนกันไปที่สำนักงานเขตซึ่งมีบัตรลงคะแนนเก็บไว้ แต่ถูกกลุ่มต่อต้านการเลือกตั้งปิดกั้นไม่ให้คนเข้า
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้งก็เข้ามาในพื้นที่แต่ก็รักษาระยะห่างจากฝ่ายตรงข้ามไว้หลายร้อยเมตร แต่ทันใดนั้นเองผมก็ได้ยินเสียงประทัดถูกโยนข้ามไปมาแต่ผมยังไม่รู้ตำแหน่งชัดเจนว่าเกิดจากที่ไหน จากนั้นผมถึงได้ยินเสียงปืน
ผมเห็นผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งล่าถอยและพากันหมอบลงกับพื้น เสียงเงียบลงไปพักหนึ่งแต่จากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนการเลือกตั้งก็เริ่มรวมตัวกันและพากันไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น
มีชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่พื้น เขาถูกยิงที่หน้าอกแต่ก็ยังพูดได้ จากวันที่มีการประท้วงอย่างค่อนข้างสงบวันนั้นก็กลายเป็นเหตุรุนแรงโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และชายผู้นี้เป็นคนแรกที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ยังมีเหยื่อรายอื่นๆ อีกหลังจากนั้น
กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งเริ่มตะโกนใส่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาถึงพร้อมกับรถขนเครื่องเสียงขนาดใหญ่อีกฟากหนึ่งของแยกหลักสี่ มีผู้ประท้วงสนับสนุนการเลือกตั้งรายหนึ่งบอกผมว่าปืนถูกยิงมาจากฝั่งนั้น
ผมคิดว่าผมควรถอยออกจากเหตุการณ์และตัดสินใจว่าจะตามเพื่อนร่วมงานของผมที่เพิ่งข้ามถนนไป ขณะที่ผมกำลังเดินข้ามถนนนั้นเองเครื่องขยายเสียงบนรถก็ประกาศว่า "กรุณาหลบที่ด้านข้างซ้ายของรถเรา แล้วค่อยๆ เดินช้าๆ"
ผมเข้าไปหลบอยู่หลังแผงกั้นซีเมนต์ทรงสี่เหลี่ยม และคิดว่าผมอาจจะวางกล้องไว้บนแผงกั้นได้เพื่อเก็บภาพนิ่งของรถบรรทุกเครื่องเสียงที่ขับผ่านไป
ในตอนนั้นเองมีกลุ่มชายใส่หน้ากาก 3 คนวิ่งออกมาจากหลังรถ ผมคิดว่า "น่าแปลก แกนนำของพวกเขาเพิ่งบอกให้เดินไปข้างๆ รถนี่"
ผมก็เห็นว่าชายทั้งสามคนวิ่งมาทางผม มาที่กล้องผม พวกเขาเห็นผมแน่ๆ ชายกลุ่มนี้มาจนถึงที่ๆ ผมอยู่ มีแท่งปูนเตี้ยๆ กั้นเราไว้เท่านั้น ทันใดนั้นเองพวกเขาก็เริ่มยิงปืนสั้นไปทางที่มีผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้ง มีชายคนหนึ่งขนกระสอบใหญ่ๆ สีเขียว ซึ่งดูแล้วเหมือนกำลังซ่อนปืนยาวไว้
ผมลุกขึ้นนั่ง แต่ก็ลงไปนอนกับพื้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเดียวที่ผมคิดคือผมจะต้องใช้กล้องผมบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ กล้องของผมจะสามารถจับภาพคนใช้ปืนได้หรือไม่
เมื่อผมรู้สึกว่าคงได้ภาพวีดิโอเหตุการณ์แล้ว ความคิดต่อไปของผมคือ "ผมควรจะออกจากที่นี่ดีไหม ยังคงมีการยิงปืนอยู่"
ผมแอบโผล่หัวจากแผงกั้นขึ้นมามอง ผมถามคนที่อยู่ใกล้ๆ ว่า "ผมควรจะออกไปไหม ได้โปรด หรือผมควรจะอยู่"หลังจากที่ผมพูดออกไปแล้วถึงได้สังเกตเห็นว่ามีปืนสั้นอยู่ในมือชายคนที่ผมพูดด้วย หน้าตาเขาดูขึงขัง เขาพูดว่า "คุณเป็นนักข่าว คุณห้ามถ่ายภาพเหตุการณ์นี้ ถ้าผมต้องทำลายกล้องคุณก็อย่ามาโทษก็แล้วกัน"
นั่นทำให้ผมต้องเก็บกล้องกลับมา นอกจากผมแล้วยังมีคนอื่นอีกอย่างน้อย 5-6 คนที่เป็นช่างภาพที่ติดอยู่กับมือปืนเหล่านี้เป็นเวลา 40 นาทีหรือมากกว่านั้น
จากนั้นผมก็ลองถามคนๆ เดียวกันอีกว่า "มันเป็นเวลาที่เราควรจะออกไปได้หรือยัง"เขาตอบกลับมาว่าได้ "ให้พวกคุณอยู่ต่ำกว่าระดับแท่นปูนแล้วคลานออกไป"
พวกเราถึงออกไป ผมไปก่อนคนแรก คลานไปตามพื้นถนนตัวติดกับแผงกั้นซีเมนต์เป็นทางไปเรื่อยๆ ผมคลานผ่านมือปืน 6 คนที่ใช้อาวุธปืนสั้น พวกเขาแฝงตัวมากับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล มีมือปืนบางคนที่สวมหน้ากาก บางคนไม่ได้สวม พวกเขายิงใส่ผู้ประท้วงสนับสนุนการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา ผมรู้สึกได้เลยว่ามีกระสุนผ่านออกไปไม่ไกลจากหูของผมนัก
ขณะที่ผมคลานออกไปนั้น ผมก็เห็นมือปืนอีกสองคนที่มีปืนยาว พวกเขาไม่สวมหน้ากาก พวกเขายิงไปทางผู้ชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งเช่นกัน
ในที่สุดผมก็ไปรวมกับเพื่อนร่วมงานผมได้สำเร็จอีกฟากของถนน ใช้เวลาไปประมาณ 15 นาที แต่ผมรู้สึกว่ามันนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด และจากช่วงเวลาเล็กๆ จุดนั้นท่ามกลางการประท้วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งย้ำเตือนว่าสถานการณ์ในเมืองไทยยังไม่อาจสงบลงได้ง่ายๆ ผู้คนยังเต็มไปด้วยอารมณ์ และการนองเลือดในจุดนั้นยังเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งของความบ้าคลั่งทั้งหลาย
เรียบเรียงจาก: Trapped in a gunfight: CNN producer's harrowing account of Thai election violence, Kocha Olarn, CNN, 03-02-2014 http://edition.cnn.com/2014/02/03/world/asia/thai-protests-gunfight-kocha/index.html