เครื่องสำอางเรฟลอนปลดพนักงานกว่าพันคน
2 ม.ค. 2014 - ยักษ์เครื่องสำอางเรฟลอน อิ้งค์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท เตรียมเลิกกิจการในประเทศจีน และเลิกจ้างพนักงานในจีนราว 1,100 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 940 คนเป็นเจ้าหน้าที่ปรึกษาด้านความงาม
จีนเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเรฟลอน เพราะเรฟลอนมีรายได้ในจีนราว 2 เปอร์เซ็๋นต์ของยอดขายสุทธิ การปรับโครงสร้างโดยการลอยแพคนงานในจีนจะทำให้เรฟลอนต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษีราว 22 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การระงับธุรกิจในจีนตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัท เรฟลอน ระบุว่าจะทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ข่าวการถอนตัวจากจีน ทำให้ราคาหุ้นของเรฟลอนปิดตลาดที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 24.96 ดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นถึง 72 เปอร์เซ็นต์ตลอดปี 2556 แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำไรของเรฟลอนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
"ฮิวเลตต์-แพคการ์ด"เตรียมปรับลดพนักงานรวม 34,000 อัตรา หลังมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
2 ม.ค. 2014 - เอชพี ยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐ โดยระบุว่า บริษัทเลิกจ้างพนักงานประมาณ 24,600 อัตรา เมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ พนักงานส่วนที่เหลือราว 10,000 อัตรา จะถูกเลิกจ้าง ภายในสิ้นปีบัญชีหน้า ซึ่งหมายถึงเดือนตุลาคม 2557
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เอชพีประกาศว่า ยอดรวมพนักงานที่จะถูกตัดลดรวมทั้งสิ้นประมาณ 33,000 - 34,000 อัตรา สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ราว ๆ 29,000 อัตรา
ธุรกิจผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี ที่ใหญ่ติดอันดับโลกรายนี้ อยู่ภายใต้การปรับโครงสร้างองค์กร ที่วางแผนไว้ว่าจะใช้เวลานานหลายปี เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการตลาด ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคหันเหความสนใจจากพีซี เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่สมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟนและเเทบเล็ต กันอย่างคึกคัก โดยเอชพี ตกเป็นรองคู่เเข่งในตลาดอุปกรณ์มือถือทั้ง แอ๊ปเปิ้ล ซัมซุง และเอเซอร์
ทั้งนี้ เอชพี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การปรับลดพนักงานที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้นั้น เป็นผลมาจากสภาพการเเข่งขันที่สูงมากในตลาด และยังระบุว่า การปรับลดพนักงานจำนวนมากในครั้งนี้ ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,100 ล้านดอลลาร์ จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 3,600 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่วงการไอทีรายนี้ ประกาศผลประกอบการประจำปีบัญชีที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนตุลาคมว่า มีรายได้ 112,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกำไรประมาณ 5,100 ล้านดอลลาร์ จากที่เมื่อปีก่อนหน้า มีรายได้ 120,400 ล้านดอลลาร์ แต่มีผลขาดทุน 12,700 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ ภายใต้การบริหารงานของหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอคนปัจจุบัน "นางเม็ก วิทเเมน"ธุรกิจแห่งนี้มีการปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร เพื่อรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงในตลาดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
คนงานโรงงานสิ่งทอในกัมพูชากลับไปทำงานแล้ว
2 ม.ค. 2014 - สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า คนงานโรงงานสิ่งทอและรองเท้าส่วนใหญ่กลับไปทำงานแล้ว หลังจากโรงงานหลายแห่งเปิดดำเนินการอีกครั้งในวันนี้ หลังจากปิดทำการนาน 1 สัปดาห์ เนื่องจากการผละงานประท้วงเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ แต่สหภาพแรงงานหลายแห่งยังคงเป็นผู้นำคนงานผละงานประท้วงต่อไป
โฆษกกระทรวงแรงงานกัมพูชากล่าวว่า เช้าวันนี้โรงงานราว 500 แห่ง เปิดดำเนินการตามปกติอีกครั้ง และคนงานราวร้อยละ 80 กลับไปทำงานแล้ว แต่ยังมีโรงงานราว 400 แห่งที่ยังปิดทำการอยู่ เนื่องจากมีความกังวลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย นอกจากนี้คนงานที่ผละงานประท้วงยังเดินขบวนไปที่หน้าโรงงานอีกกว่า 30 แห่ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคนงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,269 บาท)
ด้านตัวแทนสหภาพแรงงานของโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตันในจังหวัดสวายเรียง ทางตะวันออกของกัมพูชา รายงานว่า คนงานราวร้อยละ 90 ในเขตดังกล่าวกลับไปทำงานตามปกติในวันนี้ หลังจากรัฐบาลตัดสินใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดือนละ 80 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,634 บาท) เป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,293 บาท) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงาน 6 แห่ง ซึ่งเป็นผู้นำการผละงานประท้วงตั้งแต่เมื่อวันพุธที่แล้ว ยืนยันจะผละงานเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงเป็น 2 เท่าต่อไป และยื่นคำขาดแก่รัฐบาลกัมพูชาและสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอกัมพูชาให้ฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอภายใน 3 วัน และหากเป็นไปตามที่เรียกร้อง สหภาพแรงงานทั้ง 6 แห่งก็จะเป็นผู้นำการผละงานครั้งใหญ่
แรงงานกัมพูชาปะทะตำรวจ กลางกรุงพนมเปญ ตาย 3 เจ็บ 2
2 ม.ค. 2014 - ตำรวจกัมพูชา ได้เปิดฉากยิงใส่คนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ประท้วงขอขึ้นค่าแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน ขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผู้กุมอำนาจมายาวนาน กำลังเผชิญกับความไม่พอใจของสาธารณชนที่ออกไปแสดงพลังขับไล่ตามถนนในกรุงพนมเปญมากขึ้นเรื่อย ๆ
คนงานซึ่งมีท่อนไม้ ก้อนหินและระเบิดเพลิงเป็นอาวุธ ได้ปะทะกับตำรวจที่มีปืนยาว บริเวณที่ตั้งโรงงาน เวง สะเลง ในกรุงพนมเปญ ซึ่งช่างภาพของสำนักข่าว AFP รายงานว่า ตอนแรกตำรวจ ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นการเตือนผู้ประท้วง แต่ต่อมาได้ยิงใส่ผู้ประท้วง ด้านรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ "ชวน นรินทร์"เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 2 คน
คนงานที่ร่างกายโชกเลือดคนหนึ่ง นอนอยู่บนพื้น ขณะที่อีกคนหนึ่งขี่รถจักรยานยนต์หนีไป หลังจากการปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคง อันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงของคนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กำลังเผชิญความท้าทายอำนาจที่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ทั้งจากการประท้วงของคนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้เขาลาออก และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งกันอย่างมโหฬาร
นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านได้ประนามเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะไม่ใช่แค่ความพยายามจะยับยั้งการประท้วงของคนงาน แต่ยังเป็นการพยายามขัดขวางการเคลื่อนไหวด้านแรงงานและการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม
ซาอุฯ ประกาศมาตรการใหม่ ห้ามแรงงานต่างชาติทำงานเกิน 8 ปี พร้อม “กดเงินเดือน” หากพาลูกเมียมาอยู่ด้วย
7 ม.ค. 2013 - กระทรวงแรงงานซาอุดีอาระเบียเสนอมาตรการใหม่ เพื่อกีดกันแรงงานชาวต่างชาติ และกดดันให้องค์กรธุรกิจภายในประเทศหันมาจ้างแรงงานชาวซาอุฯ มากขึ้น โดยสาระสำคัญของมาตรการใหม่คือการบังคับให้ชาวต่างชาติต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรกลางทะเลทรายแห่งนี้ทันทีหากมีถิ่นพำนักครบ 8 ปี รวมถึงอาจต้องโดน “กดเงินเดือน” หากแรงงานต่างชาติมีความประสงค์จะนำครอบครัวของตนเข้ามาในซาอุดีอาระเบียด้วย
มาตรการใหม่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ชื่อว่า “Together” ซึ่งทางกระทรวงฯ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน ก่อนประกาศบังคับใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้
โดยจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างแรงกดดันต่อแรงงานต่างชาติไม่ให้เดินทางเข้ามาปักหลักทำงานแบบระยะยาวในซาอุดีอาระเบีย และหวังให้ผู้ประกอบการในประเทศหันมาจ้างพลเมืองซาอุฯ เข้าทำงานมากขึ้น หลังตัวเลขผู้ว่างงานชาวซาอุฯพุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 12 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศด้านการลงทุนและการทำธุรกิจในซาอุดีอาระเบีย ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของแรงงานต่างชาติ”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลริยาดห์ดำเนินมาตรการเนรเทศแรงงานต่างชาติในส่วนของ “แรงงานผิดกฎหมาย” ออกนอกประเทศไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคนนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันนาน 7 เดือน แต่คาดว่ายังมีแรงงานต่างชาติอีกกว่า 8 ล้านคนในซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานที่มีการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานชาวต่างชาติส่วนใหญ่ในซาอุดีอาระเบียจะเข้ามาทำงานในประเทศนี้นานคนละประมาณ 6.9 ปีในส่วนของแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ และพวกผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ขณะที่พวกแรงงานที่ไม่มีความรู้และมีทักษะต่ำจะอยู่ในซาอุดีอาระเบียเฉลี่ยนานถึงคนละ 7.7 ปี
ฝรั่งเศส-แรงงานกักตัวผู้บริหารเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม
8 ม.ค. 2014 - สหภาพแรงงานฝรั่งเศสที่พากันประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มและขู่ปิดโรงงาน ได้จับตัวเจ้าหน้าที่บริหาร 2 คนของบริษัทกูดเยียร์เป็นตัวประกันและกักตัวไว้นานประมาณ 30 ชั่วโมง
โดยนาย Michel Dheilly ผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทกูดเยียร์ และนาย Bernard Glesser ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้ถูกคนงานกักตัวไว้ไม่ออกจากออฟฟิศที่โรงงานบริษัทกูดเยียร์ทางภาคเหนือของฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์ และยอมปล่อยตัวคนทั้งสองออกมาเมื่อตอนเย็นวันวานนี้ สาเหตุที่ต้องยอมปล่อยตัวเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดัน อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหภาพแรงงาน CGT กล่าวว่า การประท้วงจะต้องดำเนินต่อไป โดยเตรียมแผนที่จะยึดโรงงานทั้งหมดในเร็วๆ นี้
มาเลเซียจะออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้คนงานต่างชาติ
9 ม.ค. 2014 - รัฐบาลมาเลเซียแจ้งว่า จะออกบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่คนงานต่างชาติกว่า 2 ล้านคน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบผู้ลอบเข้าเมือง
นายซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย กล่าวเปิดตัวบัตร i-KAD (ไอก้าด) ว่า บัตรประจำตัวแบบใหม่นี้จะมีชิปบรรจุข้อมูลการจ้างงานและลายนิ้วมือของคนงานต่างชาติ โดยจะแบ่งเป็นสีต่าง ๆ ตามประเภทงานเพื่อให้ง่ายแก่การตรวจสอบ และยังจะมีรหัสแท่งหรือบาร์โค้ด ให้เจ้าหน้าที่ใช้สมาร์ทโฟนสแกนอ่านข้อมูลในบัตรได้ เป็นการป้องกันการปลอมแปลงบัตร และหวังว่าคนงานต่างชาติทุกคนจะมีบัตรนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้
รัฐมนตรีมหาดไทยมาเลเซีย กล่าวด้วยว่า ทางการเตรียมกวาดล้างคนงานต่างชาติทั่วประเทศหลังจากผ่านพ้นช่วงผ่อนผันที่ขยายเวลาให้คนงานผิดกฎหมายไปขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 20 มกราคมนี้ ปัจจุบันมาเลเซียมีคนงานต่างชาติที่มีเอกสารถูกต้องราว 2.25 ล้านคน
รัฐบาลมาเลเซียเตรียมปฏิบัติการปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศในเดือนนี้
10 ม.ค. 2557 - ดร.อาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดี แถลงหลังเปิดตัวโครงการทำบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวว่า รัฐบาลจะเริ่มกวาดล้างส่งตัวแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ ในวันที่ 21 มกราคมนี้ โดยค่าใช้จ่ายในการส่งกลับต้องตกเป็นภาระของตัวแรงงาน นายจ้าง หรือสถานทูตของประเทศต้นทาง แต่แรงงานต่างชาติที่มีอายุบัตรประจำตัวถึงสิ้นปีนี้ จะไม่อยู่ในกลุ่มที่ถูกส่งตัวกลับประเทศ
เกิดจลาจลที่โรงงานผลิตมือถือซัมซุงในเวียดนามเจ็บ 11 คนเผา จยย.วอด 20 คัน
10 ม.ค. 2014 - มีคนงาน กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบาดเจ็บ 11 คน ในเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นตอนเช้าวันพฤหัสบดี 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงงานของบริษัมทซังซุงใน จ.ถาย งเวียน (Thai Nguyen) ทางตอนเหนือของเวียดนามซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง
เหตุเริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อนุญตให้คนงานจำนวนคนหนึ่งเข้าไปภายในบริเวณแหล่งก่อสร้างโรงงาน เนื่องจากคนเหล่านั้นไปทำงานสาย และเมื่อขัดขืนคำสั่ง เจ้าหน้าที่ได้ใช้กระบองฟาดคนงานคนหนึ่งล้มลงสิ้นสติ ทำให้ญาติๆ โกรธแค้นกรูเข้าทำร้าย รปภ.โดยมีคนงานอื่นๆ สมทบด้วย หนังสือพิมพ์เตือยแจ๋รายงานในวันศุกร์นี้
มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นที่พักของคนงานถูกเผาเสียหายไป 3 ตู้ รถจักรยานต์ถูกไฟไหม้ไป จำนวน 20 คัน ผู้บาดเจ็บทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลทหาร จ.ถาย งเวียน ในนั้นมีเพียงคนเดียวที่หมออนุญาตให้กลับบ้านได้ ทางการไม่อนุญาตให้สื่อเข้าทำข่าวการแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดขึ้นในบ่ายวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นายซเวืองหง็อกลอมง์ (Duong Ngoc Long) ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดนี้บอกกับเตื่อยแจ๋ในเวลาต่อมายืนยันว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
การก่อสร้างโรงงานแห่งนี้โรงงานเริ่มในต้นปี 2556 ภายในนิคมอุตสาหกรรมเอียนบี่ง (Yen Binh) ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในสิ้นปี และจะเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ในเวียดนามที่ซังซุงใช้เป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล และแล็บท็อป ซัมซุงแถลงก่อนหน้านี้ว่าโรงงานใน จ.ถาย งเวียน จะผลิตสินค้าได้ 10 ล้านชิ้นต่อเดือน
ตามรายงานของนิตยสารเวียดนามอินเวสต์เมนต์รีวิวส์ ซึ่งเป็นของกระทรวงวางแผนและการลงทุน โรงงานแห่งแรกของซัมซุงมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ อยู่ใน จ.บั๊กนีง (Bac Ninh) ทางตะวันออกของกรุงฮานอย และแห่งที่ 2 อยู่ในนครโฮจิมินห์ ในภาคใต้ของประเทศ
บริษัทซัมซุง อิเล็กโทรนิคส์ เวียดนาม ตั้งเป้าที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จากโรงงานในเวียดนามให้ได้ 16,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 12,700 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายงานผลประกอบการล่าสุดในขณะนี้
เมซีย์เล็งเลิกจ้าง 2,500 คน
10 ม.ค. 2014 - ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ "เมซีย์"แถลงว่า เตรียมลดคนงาน 2,500 คน หรือราว 1.4% ของคนงานทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ
เมซีย์แถลงว่า การปลดคนงานเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มเพื่อรักษาการเติบโตของยอดขายที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต
หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของเมซีย์ "นายเทอร์รี ลันด์เกรน"เปิดเผยว่า เมซีย์กำหนดขอบเขตงานที่เฉพาะเจาะจง ที่ห้างสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องลดประสิทธิผลในการตอบสนองความต้องการที่พัฒนาขึ้นของลูกค้า
ทั้งนี้ การลดคนงานที่จะเริ่มต้นในปีนี้ คาดว่าจะช่วยให้เมซีย์ประหยัดเงินได้ปีละ 100 ล้านดอลลาร์ และได้รับผลตอบแทนจากการลดต้นทุนอีก 120 - 135 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบัน เมซีย์จ้างแรงงานราว 175,000 คน และมีแผนปิด 5 สาขา แต่จะเปิดสาขาใหม่ของเมซีย์อีก 5 สาขาด้วย รวมทั้งร้านใหม่ในเครือบลูมมิงเดลที่ใหญ่กว่าอีกสามสาขา
เมซีย์บริหารห้างสรรพสินค้าราว 840 สาขาในสหรัฐ โดยเมื่อปี 2555 ทำยอดขายได้ 27,700 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ นายลันด์เกรนระบุเพิ่มเติมว่า ยอดขายเปรียบเทียบในช่วงเทศกาลชอปปิงวันหยุดเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเพิ่มขึ้น 3.6% ซึ่งถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ เมซีย์ประเมินว่ารายได้ต่อหุ้นประจำปี 2556 และปี 2557 น่าจะอยู่ที่ 4.4 - 4.5 ดอลลาร์ต่อหุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 4.32 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ลูกค้าโรงงานผลิตเสื้อผ้าคัดค้านความรุนแรงกับแรงงานในกัมพูชา
10 ม.ค. 2014 - บริษัทเจ้าของ brand name ใหญ่ 7 แห่งที่สั่งทำเสื้อผ้าจากโรงงานในกัมพูชา ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ผู้ผลิต และผู้นำสหภาพแรงงานในกัมพูชา คัดค้านการใช้ความรุนแรงกับแรงงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างแรงงาน
บริษัทเหล่านี้รวมถึง Adidas, Gap, H&M, Levi’s และ Puma ด้วย คำสั่งซื้อเสื้อผ้าจากบริษัทเหล่านี้ รวมแล้วเท่ากับ 70% ของคำสั่งซื้อจากกัมพูชาทั้งหมด
การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลกับแรงงานในสัปดาห์ที่แล้วในกรุงพนมเปญ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนและบาดเจ็บอีก 40 คน เจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานกล่าวแสดงความหวังว่าจดหมายฉบับนี้จะเป็นน้ำหนักกดดันรัฐบาลให้หันมาเจรจาด้วย
สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาได้กล่าวไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า จะพิจารณาขึ้นค่าแรง ถ้ารัฐบาลมีคำสั่งออกมา
ตำรวจอินเดียได้รวบตัวพ่อค้าคนหนึ่งหลังถูกกล่าวหาว่า ทรมานเด็กหญิงรับใช้วัย 11 ปี ด้วยการบังคับให้เคี้ยวพริก
13 ม.ค. 2014 - ตำรวจอินเดียได้รวบตัวพ่อค้าคนหนึ่งหลังถูกกล่าวหาว่า ทรมานเด็กหญิงรับใช้วัย 11 ปี ด้วยการบังคับให้เคี้ยวพริก ทั้งยังใช้พริกทาตามร่างกายของเธอ เจ้าหน้าที่ระบุวันนี้ (13 ม.ค.) ในเหตุทำร้ายเด็กรับใช้ในบ้านครั้งล่าสุดของแดนภารตะ
ซาร์จิล อันสารี พ่อค้าขายผ้าเช็ดปากวัย 38 ปี ถูกจับกุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ฟาร์ฮัต ภรรยาของเขากำลังถูกนำตัวไปสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนเขตธาเน ของนครมุมไบเผย
เมื่อราวหนึ่งปีก่อน สองสามีภรรยาได้ซื้อเด็กหญิงคนนี้มาจากพ่อแม่ของเธอในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดียในราคา 15,000 รูปี (ราว 8,000 บาท) โดยรับปากว่าจะดูแลเธอเป็นอย่างดี และจะส่งเสียให้เรียนสูงๆ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ระบุ โดยไม่ขอเปิดเผยนาม
“พวกเขาทรมานและทุบตีเด็กหญิงคนนี้เป็นประจำ เธอเล่าว่าพวกเขาบังคับให้เธอกินพริก และใช้พริกทาตามร่างกายของเธอด้วย” เขากล่าวพร้อมทั้งเสริมว่า เธอจะถูกกระทำเช่นนี้หากกลัวจนฉี่ราด
“บ่อยครั้ง ที่ครอบครัวนี้เปิดเพลงเสียงดังๆ เพื่อกลบเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเธอ”
ทางด้านสื่ออินเดียรายงานว่า คนคู่นี้ใช้พริกทาที่อวัยวะเพศของเด็กสาว แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่าตนไม่ได้รับแจ้งเรื่องนี้
เขากล่าวว่า ตำรวจได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้านซึ่งเห็นสามีภรรยาคู่นี้ทำร้ายทารุณเด็กหญิงที่มีหน้าที่ทำความสะอาดและดูแลลูกของพวกเขา แม้ว่าเธอเองจะมีอายุยังน้อยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เด็กสาวผู้นี้อยู่ในความดูแลของเอ็นจีโอแล้วในขณะนี้ และจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายจ้างทั้งสองทันทีที่ขั้นตอนการสอบสวนเสร็จสิ้นลง เจ้าหน้าที่ระบุ
ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นเหตุทารุณคนรับใช้ในบ้านครั้งล่าสุดในอินเดีย ประเทศที่พบการขายแรงงานหลายพันคน ตามรัฐต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลและกันดารแร้นแค้น โดยแรงงานเหล่านี้ต้องตรากตรำทำงานหนักในบ้านนานหลายชั่วโมง และแทบจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเลย
สำรวจพบนายจ้างจีน ใจป้ำขึ้นค่าแรงมากสุด
14 ม.ค. 2014 - วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า คนงานในจีนได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากที่สุดยิ่งกว่าที่อื่นๆ ในเอเชีย เป็นสัญญาณหมาดๆ ว่า ตลาดแรงงานของประเทศยังคงมีความยืดหยุ่นทนทานสูง แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว
อ้างอิงจากผลสำรวจของบริษัทจัดหางาน"เฮย์ส" 2 ใน 3 ของนายจ้างในจีนระบุว่าพวกเขาเพิ่มค่าจ้างให้กับคนงานในช่วงการทบทวนรอบสุดท้าย 6 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า ที่เป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในการสำรวจ โดย 54 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาปรับเพิ่มค่าจ้างระหว่าง 6 - 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มี 12 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ปรับขึ้นค่าแรงมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีนายจ้างเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่า ไม่ได้มีการปรับเพิ่มค่าแรงเลย
ขณะที่ในทวีปเอเชียทั้งหมด มีนายจ้างเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่า ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นระหว่าง 6 - 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ระบุว่าปรับขึ้นค่าจ้างมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างในระดับที่ไม่มีนัยยะสำคัญเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ โดยผลสำรวจระบุว่า ในฮ่องกงและสิงคโปร์ นายจ้างส่วนใหญ่ปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ที่ระหว่าง 3-6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในญี่ปุ่นที่แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในปี 2556 ที่ผ่านมา แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างได้รับการปรับขึ้นค่าแรง 3 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้น
อนึ่ง ผลสำรวจชิ้นนี้ สำรวจบริษัท 2,600 แห่งในจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ในภาคสาขาอาชีพอย่างเช่น ฝ่ายขาย การตลาด วิศวกรรมศาสตร์ ทรัพยากรมนุษย์ และภาคบัญชีและการเงิน
สหภาพแรงงานกัมพูชาเตรียมหารือกระทรวงแรงงาน เพื่อหาข้อสรุปเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า
14 ม.ค. 2014 - สหภาพแรงงานกัมพูชาเตรียมหารืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหาข้อสรุปเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้ากัมพูชาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมขู่เดินขบวนประท้วงอีกหากไม่ได้รับการตอบสนอง
สหภาพแรงงาน 6 แห่งที่นำการประท้วงขอขึ้นค่าจ้าง ยืนยันว่า จะขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกสองเท่าเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์ หรือราว 4,800 บาท แม้กระทรวงแรงงานจะเสนอขึ้นจากเดือนละ 80 ดอลลาร์เป็น 100 ดอลลาร์
นายคง อาทิต รองประธานแนวร่วมสหภาพแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าประชาธิปไตยกัมพูชา เปิดเผยว่า สหภาพต้องการเจรจากับกระทรวงแรงงานกับนายจ้างมากกว่าประท้วง แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุปสหภาพจะประท้วงต่อไปในเดือนหน้า
ด้านประธานสหภาพขบวนการร่วมคนงาน "นายภาพ สีนา"กล่าวว่า สหภาพแรงงานอื่นอีกสามแห่งจะลงนามคำร้องขอให้มีการเจรจาเพิ่มเติมอีก ทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อรัฐบาลด้วย
เหล่าผู้นำสหภาพแรงงานยังจะเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานที่ร่วมชุมนุม หยุดคุกคามผู้นำสหภาพ และขอให้นายจ้างอนุญาตให้ผู้นำและตัวแทนสหภาพกลับเข้าทำงาน หลังถูกกล่าวหาว่ายุยงให้แรงงานนัดหยุดงาน นายภาพอ้างว่า โรงงานหลายโรงทั่วประเทศปฏิเสธที่จะรับตัวแทนสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานในสัปดาห์นี้ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด
ด้านอธิบดีกรมพิพาทแรงงาน "นายปรัก จันเธือน"ระบุว่า ไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่านี้ โดยทางกระทรวงวางแผนพบกับสหภาพแรงงานในเร็ววันนี้ แต่เพื่อร้องขอไม่ให้จัดการประท้วงอีกเท่านั้น ไม่มีการคุยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ
ยูเอ็นเรียกร้องกัมพูชาหาความจริงยิงคนงานทอผ้า 5 ศพ
17 ม.ค. 2014 - ทูตพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งสอบหาความจริงกรณีคนงานโรงงานทอผ้า 5 คน ถูกตำรวจปราบจลาจลสังหารจากการสลายการประท้วง
นายสุรยา สุเบดี ทูตพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะต้องเร่งคลี่คลายกรณีตำรวจปราบจลาจลสลายการชุมนุมเรียกร้องค่าแรงเพิ่มของคนงานโรงงานทอผ้าในกรุงพนมเปญ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และสูญหายหลายคน เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ และผู้ที่ลงมือควรต้องถูกนำตัวมาลงโทษ
ด้านโฆษกตำรวจกล่าวแสดงความเสียใจที่การสลายการชุมนุมประท้วงขอขึ้นค่าแรงเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 26 คน ซึ่งการประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน กู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่หาเสียงว่าหากชนะการเลือกตั้งจะเพิ่มค่าแรงให้แก่คนงานทั่วไปอีก 1 เท่าตัว แต่ถูกพรรครัฐบาลปล้นชัยชนะไปในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ นายสุเบดีได้เดินทางมายังกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 12 มกราคม และมีกำหนดเดินทางออกจากกัมพูชาในวันนี้นับเป็นการเยือนกัมพูชาครั้งแรกนับแต่การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา
ชาวอินโดนีเซียเดินขบวนประท้วงในฮ่องกง เรียกร้องความยุติธรรมให้กับแรงงานทำงานในบ้าน
19 ม.ค. 2014 - ชาวอินโดนีเซียนับพันในฮ่องกง ออกมาถือธงสีธงชาติแดงสลับขาวเดินขบวนเรียกร้องหน้าทำเนียบสภาฮ่องกง เพื่อขอความเป็นธรรม และ การคุ้มครองแรงงานอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในฮ่องกง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการกดขี่จำนวนมาก อย่างคดีล่าสุดแม่บ้านสาวอินโดนีเซียวัย 23 ปี ถูกนางจ้างทารุนอย่างหนัก เจ้าตัวระบุว่าถูกตบตีและชกต่อยทุกวันจนไม่มีแรงทำงาน และ ได้ค่าจ้างเพียง 295 บาทเท่านั้น แม้ตอนนี้แม่บ้านวัย 23 จะถูกส่งตัวกลับอินโดนีเซียเพื่อรักษาตัวแล้ว แต่ชาวอินโดในฮ่องกงคนอื่นๆ ได้รวมตัวเคลื่อนไหวต่อ ซึ่งการเดินประท้วงในวันนี้มีการนำภาพของ แม่บ้านสาวที่ถูกทำร้ายร่างกายขึ้นมาชู พร้อมตะโกนว่า "เราเป็นคนงาน เราไม่ใช่ทาส"โดยล่าสุด ตำรวจฮ่องกงได้รับการแจ้งความเพิ่มจากแม่บ้านรายที่สอง ที่ระบุว่าตนเองก็โดนนายจ้างคนเดียวกันนี้ทำร้ายร่างกายสาหัสมาแล้วเช่นกัน
สำหรับประเทศฮ่องกงมีบ้านแม่ที่เป็นชาวต่างชาติกว่า 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ซึ่งมีปัญหาแรงงานถูกกดขี่ประจำแต่ด้วยความกลัวจะถูกเนรเทศและไม่สามารถหางานใหม่ได้ ทำให้หลายคนต้องทนเป็นเหยื่อต่อความรุนแรงต่อไป
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ ฮ่องกงทบทวนกฎหมายแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ปัญหาการถูกขูดเลือดโดยบริษัทจัดหางาน และ แก้กฎ "2 อาทิตย์"ที่เป็นเส้นตายของแรงงานที่เข้ามาในฮ่องกง ว่าต้องออกจากฮ่องกงทันทีหากหางานไม่ได้ภายใน 2 สัปดาห์
ตำรวจฮ่องกงจับนายจ้างหญิงทำร้ายแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย
20 ม.ค. 2014 - ตำรวจฮ่องกงจับกุมนายจ้างหญิงรายหนึ่งซึ่งทำร้ายหญิงรับใช้ชาวอินโดนีเซียได้รับบาดเจ็บสาหัส หนึ่งวันหลังจากมีผู้คนนับพันออกมาชุมนุมประท้วงการปฏิบัติของนายจ้างหญิงดังกล่าว
โฆษกตำรวจกล่าวว่า นายจ้างหญิงวัย 44 ปี ถูกจับกุมที่สนามบินฮ่องกง ฐานทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ สื่อหลายกระแสรายงานว่า แม่บ้านชาวอินโดนีเซีย วัย 22 ปี ถูกทำร้ายร่างกายระหว่างทำงานเป็นเวลา 8 เดือน และได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถเดินได้ เมื่อเธอเดินทางกลับจากฮ่องกงไปยังบ้านในเดือนนี้ ตำรวจได้เดินทางไปยังอินโดนีเซียในวันจันทร์นี้ เพื่อสอบปากคำสาวใช้ดังกล่าว ซึ่งกำลังรักษาอาการบาดเจ็บบนเกาะชวา
กระแสข่าวการทำร้ายหญิงรับใช้รายนี้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มหญิงรับใช้ และทำให้เป็นที่วิตกกรณีการปฏิบัติต่อหญิงรับใช้ในฮ่องกง
ผลสำรวจชี้คนงานในสิงคโปร์มีความสุขน้อยที่สุดในเอเชีย
22 ม.ค. 2014 - ผลสำรวจระดับภูมิภาคของบริษัทจัดหางานแรนด์สตาดกรุ๊ปในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า คนทำงานในสิงคโปร์เป็นคนงานที่มีความสุขน้อยที่สุดในเอเชีย และเกือบ 2 ใน 3 ของคนงานทั้งหมดต้องการลาออกจากงานในปีหน้า
ผลสำรวจระบุว่า ร้อยละ 23 ของคนงานชาวสิงคโปร์รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและไม่ได้ใช้ทักษะความสามารถอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้อยละ 64 มีแผนลาออกจากงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนงานรู้สึกไม่พึงพอใจ คือวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมาะสม เจ้านายที่เข้าใจยาก และการที่ต้องทำงานมากขึ้น
ขณะเดียวกันผลสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ 14,000 คนในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์พบว่า คนงานในอินเดียเป็นคนงานที่มีความสุขที่สุดในเอเชีย โดยราวร้อยละ 70 รู้สึกท้าทาย มีแรงจูงใจและได้รับการดูแล
ปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น จะเห็นได้จากผลสำรวจที่ระบุว่า ร้อยละ 50 ของชาวสิงคโปร์จัดให้ความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่พวกเขายังคงทำงานกับบริษัทต่อไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในผลการสำรวจปี 2555
อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 55 ของคนทำงานในสิงคโปร์กล่าวว่า สมรรถภาพของพวกเขาในการสร้างทางเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นได้นั้นอยู่ในระดับปานกลางหรือต่ำ ขณะที่คนทำงานร้อยละ 71 กล่าวว่า การจัดการแรงงานที่มีอายุแตกต่างกันนั้นเป็น 1 ในสิ่งที่ท้าทายที่สุด
ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ชาวสิงคโปร์มีแรงจูงใจในการทำงานจากการที่ได้ทราบว่าผลงานของพวกเขามีความสำคัญ แต่ความคาดหมายเกี่ยวกับเงินเดือนก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยราวร้อยละ 59 ของชาวสิงคโปร์ได้รับเงินเดือนเพิ่มในช่วงปีที่ผ่านมา และร้อยละ 67 คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ 5 ในช่วงปีหน้า
แคนาดา-บริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ ปลดพนักงาน
22 ม.ค. 2014 - บรรษัทบอมบาร์ติเย อิงค์ ผู้ผลิตเครื่องบินเจ็ตยักษ์ใหญ่ของแคนาดา ประกาศเมื่อวานนี้ว่า จะปลดคนงานในแผนกผลิตเครื่องบินออก จำนวน 1,700 คน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยพบว่า ต้นทุนในการพัฒนาเครื่องบินเจ็ตรุ่นใหม่ 2 รุ่น สูงกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก และทำให้บริษัทต้องเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นนี้ ไปเป็นกลางปีหน้า จากเดิมที่จะต้องส่งมอบตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคนงานที่จะถูกปลดครั้งนี้ เป็นคนงานในแคนาดา 1,100 คน ส่วนอีก 600 คนเป็นคนงานในสหรัฐฯ และ คาดว่าการปลดคนงานออก 1,700 คน จะทำให้บอมบาร์ติเยประหยัดเงินได้ประมาณปีละ 125 ล้านดอลลาร์แคนาดา
ตร.กัมพูชาสลายม็อบแรงงานเจ็บ 10 คน
26 ม.ค. 2014 - ตำรวจกัมพูชาเข้าสลายผู้ประท้วงที่ชุมนุมในกรุงพนมเปญวันนี้ หลังแรงงานเย็บผ้าราว 200 คน ร่วมกับตัวแทนจากสหภาพแรงงาน ผู้ประท้วงเรื่องที่ดิน และพระสงฆ์หลายรูปพยายามเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังสวนสาธารณะ ท้าทายคำสั่งห้ามการชุมนุมที่รัฐบาลประกาศใช้ก่อนหน้านี้ โดยตำรวจที่มีเพียงกระบองเป็นอาวุธพยายามเข้าสกัดกั้น แต่ถูกผู้ประท้วงขว้างปาด้วยก้อนหิน ขวดน้ำ และท่อนไม้ การปะทะกันส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บรวมกันอย่างน้อย 10 คน
ผู้ประท้วงเดินขบวนครั้งล่าสุดนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 23 คนที่ถูกจับกุมช่วงวันที่ 2-3 ม.ค.ขณะชุมนุมเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้าง โดยการชุมนุมครั้งนั้น ตำรวจใช้กระสุนจริงเข้าปราบปรามทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานทุกอาชีพเป็นเดือนละ 160 ดอลลาร์ และยกเลิกคำสั่งห้ามการชุมนุม
ผู้จัดการประท้วงได้ยื่นขออนุญาตล่วงหน้าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเพื่อขอจัดการชุมนุมในวันนี้ แต่ทางการไม่อนุญาต และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตำรวจเพิ่งสลายการชุมนุมและจับกุมนักเคลื่อนไหว 11 คนขณะรณรงค์เรียกร้องให้นานาชาติร่วมกกดันให้ทางการกัมพุชาปล่อยตัวผู้ประท้วง นอกจากการประท้วงของแรงงานแล้ว นายกรัฐมนตรีฮุนเซน เผชิญการประท้วงของพรรคฝ่ายค้านสำคัญ พรรคสม รังสี มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้งเมื่อเดือนก.ค. และต้องการให้ฮุนเซนลาออกหรือจัดการเลือกตั้งใหม่
แม่บ้านต่างชาตินับพันประท้วงในฮ่องกงเรียกร้องแก้ กม.แรงงาน
27 ม.ค. 2014 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แม่บ้านแรงงานต่างชาตินับพันคนเดินขบวนประท้วงในฮ่องกง เพื่อเรียกร้องให้แก้กฎหมายแรงงาน นับเป็นการประท้วงล่าสุด ตั้งแต่เกิดคดีทำร้ายร่างกายแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย
รายงานระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย เดินขบวนไปตามท้องถนน และมุ่งหน้าสู่สถานกงสุลอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนข้อเรียกร้อง โดยพวกเขาขอให้มีการลงโทษบริษัทนายหน้า ที่เป็นตัวกลางจ้าง เออร์เวียนา สุลิสทยานิงสี ผู้ช่วยทำงานบ้านวัย 23 ปี ที่ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย หลังจากคดีนี้ได้จุดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มแม่บ้านต่างชาติ และทำให้ตำรวจฮ่องกงต้องเริ่มการสอบสวนข้อกล่าวหาทรมานลูกจ้างอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายแรงงาน ที่กำหนดให้ผู้ช่วยทำงานบ้าน ต้องอยู่บ้านนายจ้าง และให้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ในการหานายจ้างใหม่ ก่อนวีซาหมดอายุ เพราะเป็นการตั้งเงื่อนไขที่ทำให้ลูกจ้างมีสภาพไม่ต่างจากทาส ทำให้ต้องเชื่อฟังนายจ้างทุกอย่าง นอกจากนี้ก็ขอมีสิทธิหางานทำเองได้ โดยไม่ต้องผ่านบริษัทนายหน้าด้วย
ออสเตรเลีย ออกกฎเข้ม หวังเนรเทศต่างด้าวเอเชีย
31 ม.ค. 2014 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกกฎระเบียบเข้มงวด หวังเนรเทศคนต่างด้าวที่ต้องการสัญชาติออสเตรเลีย ขณะที่หลายฝ่ายได้โจมตีว่าเขาได้ใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต
รายงานข่าวระบุว่า นายโทนี่ แอ็บบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ออกกฎสุดเข้มที่จะเนรเทศคนต่างด้าวเอเชียที่ต้องการอพยพและได้สัญชาติออสเตรเลีย ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามถ่มน้ำลาย ห้ามสบถ ทำลายทรัพย์สิน หรือสร้างความรบกวนต่อสาธารณะ รวมทั้ง ห้ามปล่อยข่าวลือขณะทำงาน หรือรบกวนผู้อื่น โดยร่างดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยขึ้นหลังถูกส่งให้แก่ศูนย์คนต่างด้าวผู้ขอลี้ภัยตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย ซึ่งกลุ่มนักรณรงค์ได้กล่าวหาและโจมตีผู้นำออสเตรเลียว่าใช้อำนาจอย่างเกิน ขอบเขตต่อการออกกฎเช่นนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนคนต่างด้าวที่อพยพทางเรือมายังออสเตรเลีย ได้แก่ ชาวอิหร่าน อัฟกานิสถาน พม่า และอื่นๆ ได้เพิ่มทะยานขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และหลายครั้งออสเตรเลียต้องใช้เรือกองทัพลากเรือเหล่านี้กลับไปยังฝั่งของ อินโดนีเซีย ขณะที่โฆษกของกลุ่มรณรงค์บอกว่า มาตรการนี้เหยียดเชื้อชาติ เพราะไม่มีประเทศอุตสาหกรรมที่ไหนในโลกนี้ลงโทษพฤติกรรมรายวันของผู้คน เช่น ความคิดที่ว่าห้ามถ่มน้ำลาย หรือถูกปรับจากการจอดรถ ก็จะกลายเป็นการทำผิดขั้นรุนแรงพอที่จะถูกส่งตัวกลับไปยังค่ายควบคุมตัวนอกชายฝั่งแล้ว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างล่วงละเมิดเกินขอบเขต และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้แก่คนต่างด้าวเหล่านี้
ที่มาเรียบเรียงจาก:ครอบครัวข่าว, กรุงเทพธุรกิจ, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, ประชาไท, กรุงเทพธุรกิจ, ประชาชาติธุรกิจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai