มีเดียมอนิเตอร์เสนอ กสทช.กำหนดเกณฑ์สื่อเพื่อบริการสาธารณะให้ชัดเจน ทั้งแนะให้ช่อง 5 ลดบันเทิง และโฆษณาตรง-แฝง ช่อง 11 เน้นประโยชน์ประชาชนมากกว่าภาครัฐ ส่วนไทยพีบีเอสใช้เกณฑ์ขององค์การประกบของ กสทช.
ภาพรวมสัดส่วนกลุ่มเนื้อหารายการของแต่ละสถานี
11 เม.ย.56 – โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ (มีเดียมอนิเตอร์)มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ศึกษาผังรายการของช่อง ททบ.5 ช่อง สทท.11 และไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค.ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “การศึกษาผังรายการเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการประกอบกิจการบริการสาธารณะของฟรีทีวี” โดยวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการ เพื่อจำแนกสัดส่วนรายการประเภท ข่าวสาร สาระประโยชน์ สาระบันเทิง บันเทิง และอื่นๆ โดยอ้างอิงและเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของ กสทช.
อีกทั้ง มีหลักเกณฑ์อื่นที่กำหนดในการศึกษาครั้งนี้ เช่น คำอธิบายลักษณะรายการสาระบันเทิง บันเทิง โฆษณาบริการธุรกิจ ที่มีเดียมอนิเตอร์เคยกำหนดในการศึกษาเรื่องผังรายการโทรทัศน์ และนโยบายด้านรายการและแผนการจัดทำรายการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์เฉพาะช่องไทยพีบีเอส
ผลการศึกษา พบว่า สำหรับสถานีที่ออกอากาศวันละ 24 ชั่วโมง มีเวลาออกอากาศในช่วงเวลาที่ศึกษา หรือใน 1 สัปดาห์ เป็นจำนวน 10,080 นาที/สถานี แต่ช่องไทยพีบีเอสซึ่งมีเวลาออกอากาศวันละ 21 ชั่วโมง มีเวลาออกอากาศในช่วงเวลาที่ศึกษา หรือใน 1 สัปดาห์ เป็นจำนวน 8,820 นาที
ข้อสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอ ต่อแนวทางการประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะของ ช่องททบ. 5 สทท. 11 และ ไทยพีบีเอส โดยโครงการมีเดียมอนิเตอร์ มีดังนี้
ช่อง ททบ. 5
สรุปผลการศึกษา
1.จากการศึกษาผังรายการช่องททบ.5 ระหว่างวันที่ 15-21 มกราคม พ.ศ.2556 รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 10,080 นาที พบว่า มีรายการประเภทบันเทิงมากที่สุด คือ 3,401 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 34 ตามด้วยรายการข่าวสาร คือ 3,030 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 30 สาระบันเทิง1,459 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 14 สาระประโยชน์1,410 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 14 รายการประเภทแนะนำ/ขายสินค้า 720 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 7 รายการอื่นๆ รวม 60 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 1
2.การที่ช่อง ททบ.5 มีรายการประเภทบันเทิงมากที่สุด คือร้อยละ 34 นับว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของช่อง ที่แถลงว่าจะปรับผังรายการปี 2556 โดยเพิ่มเวลาข่าวและรายการสาระความรู้เป็นร้อยละ 71 พร้อมกับลดกลุ่มรายการประเภทบันเทิงให้เหลือร้อยละ 29 (คำให้สัมภาษณ์ของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พบใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 2555 และไทยโพสต์ออนไลน์ 2556)
3.หากพิจารณาตามเกณฑ์ของ กสทช. ที่กำหนดให้กิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แล้ว จะเห็นได้ว่า ช่องททบ.5 มีรายการประเภทข่าวสาร คิดเป็นร้อยละ 30 รายการสาระประโยชน์คิดเป็นร้อยละ14 เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็น ร้อยละ 44 ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของสื่อเพื่อบริการสาธารณะ ตามที่ กสทช. กำหนด
4.ในภาพรวม ช่อง ททบ.5 มีเนื้อหารายการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ในสัดส่วนที่น้อย ไม่ว่าจะอ้างอิงนิยามหรือคำอธิบาย “ความมั่นคงของรัฐ” “ความปลอดภัยสาธารณะ” จากแหล่งใด ทั้งพบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอรายการประเภทข่าวสาร ข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ทั่วไป โดยเน้นการนำเสนอข่าวกิจกรรมและนโยบายต่างๆ ของกองทัพบก และหน่วยงานภาครัฐ ในรายการข่าวภาคดึก ในขณะที่ในกลุ่มสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พบรายการสารคดีสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น รายการตะลุยป่า 5 นาที สำรวจธรรมชาติ ออน เดอะเวิร์ลด์ สารคดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงงาน ได้แก่ รายการสารคดีกระทรวงแรงงาน ซึ่งอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ตามความหมายของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่ไม่พบรายการประเภทสาระประโยชน์ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ที่ชัดเจน
5.จากการศึกษา พบว่า ในกลุ่มรายการสาระประโยชน์ มีหลายรายการที่เป็นการโฆษณาแฝงสินค้า/บริการ หรือเป็นรายการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและภาพลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เช่น รายการสยามยลระยอง ที่เสนอเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มบริษัท ปตท.ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องสุขภาพ และคุณภาพชีวิต รายการเกษตรอินทรีชี้ช่องรวย ที่มีการโฆษณาแฝงสินค้าปุ๋ยตราทีพีไอ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ รายการกะตังกะตังเม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ วิธีการคิดโจทย์เลขในชีวิตประจำวัน ที่มีผู้สนับสนุนรายการเป็นสถาบันกวดวิชาคิงแมท รายการในหลวงในดวงใจ Mea Dee Mission ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงข่าวหรือสกู๊ปพิเศษในรายการรูปแบบวาไรตี้อื่นๆ เช่น ปล.รักเมืองไทย สเตชั่นไฟว์ หรือ รายการผู้หญิงดอทคอมแอทไฟว์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านอาชีพ ธุรกิจ สุขภาพ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัทเอไอเอส หรือ กลุ่ม ปตท. เป็นต้น
ข้อเสนอ
1.แม้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2551 และหลักเกณฑ์ของ กสทช. จะระบุให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สอง คือเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ โดยไม่เน้นการแสวงหากําไร แต่ กสทช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของการหารายได้ดังระบุข้างต้น เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องและตรวจสอบได้ มิเช่นนั้น อาจทำให้ช่อง ททบ.5 มีรายการเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร หรือ มีการโฆษณาตรงและแฝงในจำนวนที่มากขึ้น อันอาจส่งผลให้การนำเสนอเนื้อหาไม่เป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และอาจเข้าข่ายการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ไม่เป็นธรรม
2.เพื่อให้ช่อง 5 เป็นกิจการโทรทัศน์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กสทช.ควรกำหนดความหมาย และหลักเกณฑ์เนื้อหารายการข่าวสาร รายการสาระประโยชน์ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติที่ตรวจสอบได้
3.หากต้องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ช่อง ททบ. 5 ก็ต้องปรับผังและเนื้อหารายการให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ กสทช. และความคาดหวังของสังคม
ช่อง สทท.11
สรุปผลการศึกษา
1.จากการวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการ พบว่า สัดส่วนรายการของช่องสทท.11 ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ศึกษา มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร 5,055 นาที/สัปดาห์หรือร้อยละ 50 ขณะที่สัดส่วนรายการสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4,100 นาที หรือร้อยละ 41 เมื่อรวมแล้วเป็น 9,155 นาที หรือ ร้อยละ 91
2. ช่องสทท. 11 มีสัดส่วนข่าวสารสูงกว่าสัดส่วนสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของภาครัฐเป็นหลัก เช่น นโยบาย และกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่มีการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นของภาคประชาชน รวมทั้งภาคส่วนอื่น ในสัดส่วนที่น้อยกว่า
3. ผังรายการและสัดส่วนรายการของช่องสทท.11 ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา นับว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนบริการสาธารณะประเภทที่สาม คือ “มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น” ทั้งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักของสถานีที่กำหนดว่า “เป็นสถานีหลักในด้านข่าวสารความรู้และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต” ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มรายการสาระประโยชน์จำนวนรวม 4,100 นาที/สัปดาห์นั้น มีเนื้อหาเพื่อคุณภาพชีวิต จำนวน 691 นาที/สัปดาห์ ในขณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยเพียง 130 นาที/สัปดาห์ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
4.จากการศึกษายังพบการโฆษณาสินค้าและบริการที่เป็นโฆษณาตรงในช่วงของรายการข่าวกีฬา ข่าวสิ่งแวดล้อม รายการเกษตร และรายการด้านเทคโนโลยี เช่น Thailand Mega Show, East Water, PTT Group, กะทิชาวเกาะ เป็นต้น และพบการโฆษณาแฝงของสินค้าและบริการในช่วงของรายการข่าว รายการเกษตรและรายการให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เช่น APF (อำพลฟูดส์), FBT, ซาร่า เป็นต้น ทั้งยังพบรายการที่มีผู้สนับสนุนเป็นองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น โดยเนื้อหารายการ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรที่สนับสนุน
ข้อเสนอ
1.ช่อง สทท. 11 ควรปรับเนื้อหาจากการเน้นที่ภาครัฐเป็นหลัก ให้มีการเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาจากภาคอื่นของสังคม เช่น ภาคประชาชน ภาควิชาการ เป็นต้น และหากช่องสทท.11 ต้องการเป็นสื่อสาธารณะประเภทที่สามซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังระบุข้างต้น ก็ต้องเพิ่มเนื้อหาและสัดส่วนเวลากับจำนวนรายการเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนรายการที่เป็นประโยชน์หรือตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มคนชายขอบ อีกทั้ง เนื้อหารายการโดยภาพรวม ควรให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ประชาชนผู้ชมจะได้รับ มากกว่าเพื่อตอบสนองประโยชน์ขององค์กร/หน่วยงานที่สนับสนุนรายการ ทั้งนี้เพื่อให้สทท. 11 เป็นสื่อสาธารณะเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
2.ช่อง สทท. 11 ควรปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่กำหนดว่า “การประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม หารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้โดยการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือ การเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการ โดยมิได้มีการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม”
3.กสทช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของลักษณะเนื้อหารายการที่ “ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน” “การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทั้งนี้ เพื่อผลในทางปฏิบัติด้านการผลิตรายการ และการตรวจสอบ การประกอบกิจการบริการสาธารณะ ประเภทที่สาม
ช่องไทยพีบีเอส
สรุปผลการศึกษา
1.จากการสำรวจผังรายการช่องไทยพีบีเอส ช่วงวันที่ 15-21 มกราคม 2556 รวมเวลาออกอากาศ 8,820 นาที และ หากจัดกลุ่มเนื้อหารายการตามเกณฑ์ของ กสทช. และเกณฑ์อื่นที่กำหนดแล้ว สัดส่วนรายการที่พบมากที่สุด คือ รายการข่าวสาร รวม 3,770 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 43 รองลงมาคือรายการสาระประโยชน์ รวม 3,016 นาที/สัปดาห์ หรือร้อยละ 34 ที่เหลือเป็นรายการสาระบันเทิง รวม 2,034 นาที/สัปดาห์ หรือ ร้อยละ 23
2.เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่ระบุให้กิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร หรือ สาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ผลการศึกษาพบว่า ช่องไทยพีบีเอส มีรายการข่าวสาร ร้อยละ 43 และ สาระประโยชน์ ร้อยละ 34 รวมแล้วเป็นร้อยละ 77 หากพิจารณาตามเกณฑ์ กสทช. พบว่า มีรายการที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มข่าวสารและสาระประโยชน์ เป็นจำนวนร้อยละ 23.06 แต่เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ของ ส.ส.ท. พบว่าสามารถจัดอยู่ในประเภทรายการสาระบันเทิง ซึ่งเป็นกลุ่มเนื้อหาที่ กสทช.ไม่ได้ระบุถึง
3.จากการวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการตามเกณฑ์ ส.ส.ท. พบว่า ไทยพีบีเอสมีสัดส่วนรายการข่าวสาร ร้อยละ 43 สาระประโยชน์ ร้อยละ 31 และสาระบันเทิง ร้อยละ 26
4.โดยสรุป พบว่า เกณฑ์ของ ส.ส.ท.ให้คำนิยาม หรือกำหนดลักษณะรายการในประเภทสาระประโยชน์ได้ชัดเจนในรายละเอียดมากกว่าเกณฑ์ของ กสทช. อันมีผลให้จำนวนรายการสาระประโยชน์และรายการสาระบันเทิงตามเกณฑ์ กสทช. และเกณฑ์ ส.ส.ท. มีจำนวนไม่เท่ากัน โดยรายการสาระประโยชน์ตามเกณฑ์ กสทช.นั้นมีมากกว่า (กสทช. 50 รายการ ส.ส.ท. 45 รายการ) และบางรายการที่เป็นรายการสาระประโยชน์ตามเกณฑ์ กสทช. แต่เมื่อพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ ส.ส.ท.ถูกจัดเป็นรายการสาระบันเทิง เช่น รายการสำแดงศิลป์ รายการ Food Work รายการหลงกรุง รายการจังหวะจะเดิน รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีบางรายการเช่น รายการคนกล้าฝัน ที่จัดเป็นรายการสาระประโยชน์ ทั้งตามเกณฑ์ กสทช. และ ส.ส.ท. แต่เกณฑ์ ส.ส.ท. มีการระบุเจาะจงมากขึ้นว่าเป็นรายการสาระประโยชน์ที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจ จึงทำให้ เมื่อใช้เกณฑ์ของ กสทช.ที่แบ่งประเภทเนื้อหาเป็นข่าวสาร และ สาระประโยชน์ ไทยพีบีเอสจะมีเนื้อหาของสื่อเพื่อบริการสาธารณะ ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงของสื่อเพื่อบริการสาธารณะ
5. รายการต่างๆ ในกลุ่มสาระประโยชน์ของช่องไทยพีบีเอส เป็นรายการที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ และการศึกษาในสาขาต่างๆ แม้แต่รายการสาระบันเทิงที่เป็นการ์ตูน ละคร ซิทคอม หรือภาพยนตร์ ก็มีลักษณะเป็นรายการที่มีเนื้อหาสาระ ให้ความบันเทิง สอดแทรกความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกิจการโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะ (ประเภทที่หนึ่ง) ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย
ข้อเสนอ
1.กสทช.ควรปรับหลักเกณฑ์การกำหนดประเภทเนื้อหาของแต่ละประเภทการบริการสาธารณะ อย่างชัดเจนในรายละเอียด เช่นของไทยพีบีเอส เพื่อการตรวจสอบได้ว่า ผู้ประกอบการสื่อเพื่อบริการสาธารณะ มีการจัดทำเนื้อหาและผังรายการสอดคล้องกับความเป็นสื่อสาธารณะประเภทนั้น ๆ หรือไม่
2.ส.ส.ท.ควรยืนยันที่จะกำหนดผังรายการและเนื้อหา ตามแนวนโยบายที่กำหนดตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เพราะมีรายละเอียดมากกว่าเกณฑ์ของ กสทช. และหากไทยพีบีเอสจะใช้เกณฑ์ กสทช.ในการประเมินสัดส่วนประเภทรายการ ก็ควรมีการอธิบายเพิ่มเติม เพื่อการจำแนกสัดส่วนจะได้ไม่ถูกจำกัดด้วยเกณฑ์ของ กสทช.ที่ขาดรายละเอียด อย่างที่ควรจะเป็น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai