ประธานกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงกรณีอับดุลอาซิส สาและ ถูกวิสามัญที่บ้านน้ำดำ จ.ปัตตานี สภาพศพยับเยินทั้งตัว ครอบครัวเผยถูกจับก่อนกลายเป็นศพ ไม่เชื่อผู้ตายเป็นแนวร่วม
28 ม.ค.2557 เว็บไซต์ deepsouth watch รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอับดุลอาซิ สาและ ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ที่บ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2556
โดยตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลอาซิส สาและ อายุ 26 ปี ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ โดยสื่อมวลชนรายงานว่าเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับกลุ่มแนวร่วมที่บ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2556 โดยครอบครัวของนายอับดุลอาซิส เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพิ้อร้องขอความเป็นธรรม เพราะไม่เชื่อว่านายอับดุลอาซิส เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยระบุว่าก่อนที่จะกลายเป็นศพนายอับดุลอาซิสได้ถูกจับกุมตัวแล้ว
ภาพจาก มูลนิธิกู้ภัยแม่กอเหนี่ยวยะลา
อิหม่ามผู้ทำหน้าที่อาบน้ำศพ ให้ข้อมูลกับตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทั้งนักกฎหมาย นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการว่า เขาได้อาบน้ำและทำความสะอาดศพของนายอับดุลอาซิสตามปกติ ไม่ได้มีการละเว้นแต่อย่างใด เนื่องจากครอบครัวของผู้ตายไม่ได้สั่งให้งดเว้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความเชื่อที่ว่า หากผู้ตายเป็นนักสู้จะไม่มีการอาบน้ำศพ ก็ทำให้เชื่อได้ว่านายอับดุลอาซิสไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการหรือเป็นแนวร่วมแต่อย่างใด
อิหม่ามให้ข้อมูลว่า สภาพศพของนายอับดุลอาซิสเต็มไปด้วยบาดแผล ทั้งที่ใบหน้าและที่ท้อง มีทั้งที่เป็นรูและที่ได้รับการเย็บไว้แล้วหลายขนาดเป็นจำนวนมาก ทั้งที่หน้า หัว ตัว ที่บริเวณท้ายทอยมีสภาพนิ่มคล้ายถูกตีด้วยของแข็ง โดยทั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่อาบน้ำศพยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบถี่ถ้วนมากเพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีผู้มาสอบถาม เพียงแต่สามารถจำได้ว่าสภาพศพนั้นแทบจดจำไม่ได้หากไม่ใช่เพราะผู้ตายเป็นลูกบ้านของตน โดยกล่าวว่า “มีแผลเยอะ ยับเยิน ถ้าเขาอยู่ก็ไม่รอด”
นอกจากนี้ยังระบุว่า ศพของนายอับดุลอาซิสไม่มีเลือดไหลต่างไปจากศพปกติทั่วไปที่เมื่อเจอสภาพเช่นนี้จะมีอาการเลือดออกไม่หยุด ที่ประชุมได้นำภาพถ่ายศพของนายอับดุลอาซิสไปดูประกอบด้วย
ส่วนญาติผู้เสียชีวิตให้ข้อมูลว่า ปรกตินายอับดุลอาซิซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะ ไม่ได้กลับบ้านบ่อยมากนัก มักกลับเพียงเดือนละครั้งตามกำลังทรัพย์ที่มี ก่อนเกิดเหตุเพิ่งกลับถึงบ้านก่อนวันรายอเพียงหนึ่งวัน ครอบครัวยืนยันว่าไม่เคยเห็นนายอับดุลอาซิสใช้อาวุธปืน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากที่มีรายงานข่าวระบุว่า พบเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมให้ข้อมูลว่า คาดว่าเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดีของนายอับดุลอาซิส และการสอบสวนคดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ
สัมภาษณ์ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (จากยูทูบ WARTANImedia)
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับฟังข้อเท็จจริงว่า การประชุมหนนี้ทางคณะกรรมการพยายามเชิญผู้เกี่ยวข้องสี่ฝ่ายด้วยกันไปให้ข้อมูล ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อัยการ และแพทย์ แต่ในวันนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และปลัดอำเภอเท่านั้นที่ไปให้ข้อมูล ส่วนอัยการและแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ได้ไปให้ข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการก็จะหาข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ เหล่านั้นต่อไป
“กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการที่มีความรุนแรง และชาวบ้านรู้สึกว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยนำมาส่งต่อให้กรรมการสิทธิฯ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิที่สามารถจะตรวจสอบข้อมูล เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้ สำหรับผู้ที่มีความไม่มั่นใจในสิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถจะนำเรื่องมาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ ได้” นางอมรากล่าว
การรับฟังข้อมูลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ครอบครัวของนายอับดุลอาซิได้ให้ข้อมูลไปแล้ว โดยการเปิดรับฟังข้อมูลทั้งสองครั้งมีนางอมรา ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง
สำหรับกรณีวิสามัญบ้านน้ำดำนี้ ครอบครัวของนายอัลดุลอาซิสได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งร้องเรียนต่อ ศอ.บต.อีกหน่วยงานหนึ่งด้วย และก่อนหน้านี้ศอ.บต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลจากครอบครัวและชาวบ้านในพื้นที่แล้ว
ที่มา กรรมการสิทธิเดินหน้าหาข้อมูลกรณีวิสามัญบ้านน้ำดำ