Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ผลหารือ เดินหน้า 2 ก.พ. นายกเสนอ กกต.เลือกตั้งใหม่เฉพาะเขตมีปัญหา

$
0
0


28 ม.ค. 2557  การหารือร่วมระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ใหัมีการหารือถึงการออก พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำเสนอแนะให้นายกฯและประธาน กกต.หารือร่วมกัน ที่ห้อง เทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี

เมื่อเวลา 13.57 น. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายบริหารจัดการเลือกตั้ง ได้เดินทางมาถึงสโมสรทหารบก เป็นคนแรก จากนั้นประมาณ 5 นาที นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. พร้อมคณะ ประกอบด้วยนายบุญส่ง น้อยโสภณ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ นายประวิช รัตนเพียร และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้เดินทางมาถึง โดยนายศุภชัย กล่าวเพียงสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้น่าจะได้ข้อสรุป

เวลา 14.05 น. นายศุภชัย ได้เข้าไปหารือเป็นการส่วนตัวกับนายกฯ เป็นเวลา 10 นาที ก่อนที่นายกฯ และนายศุภชัย จะเข้าประชุมที่มีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายรออยู่ก่อนแล้ว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผอ.ศรส. นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมายรัฐบาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับ กกต.       
    
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาพูดคุยหารือแก้ปัญหา หลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำเสนอแนะออกมา เพื่อที่สถานการณ์จะได้ไม่เกิดความรุนแรง และการเลือกตั้งจะสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการทำงานต่างๆ รัฐบาลก็พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของ กกต.เพื่อปฏิบัติหน้าที่ และหลังมี พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้ง ก็ได้มีพรรคการเมืองลงสมัครทั้งหมด 53 พรรค และมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยมี 66 จังหวัดสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างไม่มีปัญหา มีเพียง 10 จังหวัดและกทม.ที่ยังมีปัญหาการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนมีการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง วันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ กกต. และในส่วนของรัฐบาลจะได้มีการหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอเสนอความคิดเห็นต่อ กกต.เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้ว่า ในพื้นที่ของหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ขอเสนอให้มีการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ สำหรับหน่วยเลือกตั้งที่ไม่อาจจัดลงคะแนนเลือกตั้งได้ รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผูัสมัครรับเลือกตั้งด้วย เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินการต่อไปได้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฏหมาย และในพื้นที่ที่มีปัญหากก็อาจจะต้องมีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในรายพื้นที่ ส่วนการสนับสนุนด้านบุคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และการดูแลต่างๆ รัฐบาลยินดีรับฟัง และสนับสนุนตามที่กกต.ร้องขอ อย่างไรก็ตามรัฐบาลขอรับฟังจากประธานและกกต.เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
   
ขณะที่ประธาน กกต.กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากว่า กกต.เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป ให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จากการดำเนินการตั้งแต่เริ่มรับสมัครเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต การสรรหาเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประสบกับปัญหา
    
จากนั้นเวลา 14.40 น. กลุ่มผูัชุมนุมได้ทำการตัดโซ่ด้านหน้าสโมสรทหารบกเตรียมเข้ามายังด้านในสโมสร ทบ.  ร.ต.อ.เฉลิม ได้ออกจากห้องหารือ พร้อมกับกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้ตนออกจากพื้นที่นี้ก็เลยจะออกไป เพราะไม่เช่นนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมจะบุกเข้ามา อีกทั้งตนได้พูดในสิ่งที่อยากพูดแล้วในการหารือร่วม และจะกลับไปที่ ศรส.     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการหารือร่วมระหว่างนายกฯ กับ กกต.นายกฯ ได้เรียกพล.อ.นิพันธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิม พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หารือร่วมกับนายกฯ ขณะที่หัวหน้าทีมรักษาการรักษาความปลอดภัยนายกฯ ได้มีการประสานกับทีมเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่ดูแลสถานที่เป็นระยะๆ ถึงการเตรียมแผนรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่กรมการทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ได้มีการจัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ให้กับนายกฯ ในกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย


สมชัยลั่นนายกฯ ต้องรับผิดชอบ เชื่อทยอยแก้ปัญหาทีละจุด เริ่มที่เลื่อนเลือกตั้ง

ต่อมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการหารือกับนายกฯ ในช่วงบ่ายว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กกต. ได้นำเสนอปัญหาการจัดการเลือกตั้งต่อรัฐบาลแล้ว เชื่อว่าหากมีการแก้ไขจะทำให้เกิดความคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง แต่จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นไปได้ยากที่จะเกิดความสำเร็จ สิ่งสำคัญหาก กกต. ชี้ให้เห็นผลที่จะเกิดจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ว่าท้ายที่สุดไม่ได้เป็นทางออกของประเทศ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ส.ส. 500 คนก็ไม่สามารถประกาศรายชื่อได้ อาจจะใช้ระยะเวลามากกว่า 6 เดือน จึงจะประกาศรายชื่อ ส.ส. ได้ครบทั้งหมด กรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะสุญญากาศ ไม่สามารถเปิดสภาฯ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่หากทุกฝ่ายหันมาหาวิธีการอื่นที่ดีกว่า ด้วยการกำหนด พ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ อาจจะทอดระยะเวลาออกไปไม่นาน 3-4 เดือน เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าหรือไม่

นายสมชัย กล่าวว่า กกต. พยายามชี้ให้เห็นปัญหาและทางออกภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่หากรัฐบาลมองว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้ความพยายามจัดการเลือกตั้งน่าจะเข้าใจผิด เพราะ กกต. ชุดนี้ กกต. พยายามทำงานเกินปกติหลายเท่าตัว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่าย มีความยากลำบาก เกิดโจทย์ต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งความร่วมมือจากส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ก็ไม่สามารถช่วยดูแล กกต. ได้อย่างเต็มที่ เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนรู้ว่าหากเดินไปก็จะติดขัด ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ

ส่วนกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการระบุว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งวันไหน เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยุติการชุมนุม นายสมชัย กล่าวว่า กรณีนี้ต้องแก้ไขปัญหาไปทีละจุด การจะให้เหตุการณ์ทุกอย่างคลี่คลายในค่ำคืนเดียวคงเป็นไปได้ยาก หากโจทย์ใดแก้ไขปัญหาได้ก็ควรแก้ไขไปทีละส่วน โจทย์แรกคือการเลือกตั้ง หากการเลือกตั้งศูนย์เปล่าจะเดินหน้าไปทำไม และการทำให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับมาเห็นพ้องต้องกันว่าการเลือกตั้งที่จะกำหนดขึ้นใหม่จะเป็นทางออกให้กับประเทศ ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่และขนาดกลาง เห็นด้วยแล้วที่จะขยับการเลือกตั้งออกไป ด้วยการรับสมัครใหม่ เริ่มต้นใหม่

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หรือ นปช. เชื่อว่าท้ายที่สุดหากพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของกลุ่มมวลชนนี้ มีความเห็นคล้อยไปในแนวทางเดียวกัน ก็เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะลดกิจกรรมต่างๆ ลง ทั้งหมดนี้ต้องค่อยๆ คิดและแก้ทีละส่วน

 

ประธาน กกต.ไม่ถอดใจลาออก-สรุปเดินหน้าจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ว่า กกต.ได้รายงานปัญหาอุปสรรคในการเลือกตั้งให้กับนายกรัฐมนตรีได้รับทราบแต่ทางรัฐบาลมองว่าแม้ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ปัญหาและอุปสรรคก็จะมีมากขึ้นกว่าเดิม การชุมนุมก็ไม่ยุติลงรวมถึงรัฐบาลกลัวว่าการเลื่อนการเลือกตั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับจะมีความผิด ดังนั้นจากนี้ต่อไป กกต.จะต้องทำหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. โดยกกต.จะยึดแนวทางในการจัดการเลือกตั้งอย่างสงบ ปราศจากความรุนแรง ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้น

นายศุภชัย กล่าวว่า รัฐบาลบอกว่า ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้งไปจะเกิดความเสียหาย คนอีก 66 จังหวัดที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจะไปตอบประชาชนได้อย่างไร และที่มีปัญหาในขณะนี้ก็เป็นคนส่วนน้อย มีเพียงไม่กี่จังหวัดก็คือกทม.และจังหวัดภาคใต้เท่านั้น วันนี้มาคุยกันเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุให้นายกรัฐมนตรีและประธานกกต.มาหารือกัน ถ้าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ในเมื่อข้อตกลงเห็นไม่ตรงกัน กกต.ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป

"ยืนยันว่ากกต.ไม่ท้อและไม่ถอดใจลาออกแน่นอน เพราะได้อาสาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นกกต.แล้ว เจอปัญหาเพียงแค่นี้แล้วลาออกจะไปแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลให้เดินหน้าจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่"นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ ส่วนการรักษาความปลอดภัยนั้นก็ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยต่างๆตามปกติ ที่ผ่านมากกต.ไม่ได้นิ่งเฉย มีการคิดหาทางออกทุกวินาทีส่วนกรณีที่ ศรส.มีการพาดพิงมาถึงกกต.มองว่าไม่เป็นไร เป็นสิทธิ และไม่อึดอัดใจเพราะที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

เมื่อถามว่า จะมีการร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นายศุภชัย กล่าวว่า เป็นสิทธิ ถ้ามีคนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ กกต.จะกำชับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้ใช้ดุลพินิจในการงดการลงคะแนนเลือกตั้งหากมีความวุ่นวานเกิดขึ้น โดยจะใช้วิธีการเจรจาก่อน แต่หากไม่เป็นผลก็จะไม่ให้ปิดหน่วยเลือกตั้งเร็วเกินไป เพราะถูกร้องเรียนเข้ามา สำหรับกรณีที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตในฐานะผอ.เขตและกกต.เขต ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง นั้น ขณะนี้ได้รับรายงานแล้ว โดยหลังจากนี้ก็ต้องหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่แทนต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้กกต.จัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ในขณะที่ 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ยังไม่มีผู้สมัคร นายศุภชัย กล่าวว่า ต้องจัดให้มีการรับสมัครใหม่ โดยกกต.ต้องประชุมหารือเพื่อดูข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้แค่ไหนเพียงไร

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประธานกกต. กล่าวว่า ประกาศไปแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไร ผู้ชุมนุมก็ยังชุมนุมเหมือนเดิมประกาศไปก็ยังทำอะไรไม่ได้ เชื่อว่าอีก180 วันปัญหาก็ยังไม่จบ

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรหากไม่สามารถประกาศผลการนับคะแนนในวันที่ 2ก.พ.ได้ นายศุภชัย กล่าวว่า ให้นับในหน่วยเลือกตั้งในแต่ละหน่วยก่อน แต่จะไม่มีการนับคะแนนรวม และจะไม่มีการประกาศผลคะแนน

เมื่อถามว่า กกต.ผิดหวังกับผลการหารือร่วมกับรัฐบาลในครั้งนี้หรือไม่ที่รัฐบาลไม่ยอมเลื่อนการเลือกตั้งตามข้อเสนอของกกต. นายศุภชัย กล่าวว่า ไม่ผิดหวัง เพราะเรารู้ท่าทีอยู่แล้ว

 

เผย ผอ.เขต 50 เขต จ่อลาออกประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต
เมื่อเวลา 12.20 น. วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการเขต 50 เขต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ได้เดินทางเข้าหารือว่าจะขอลาออกจากการเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ได้หรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ในการเลือกตั้งสส.ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา  ถูกกดดันจากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งและฝ่ายที่คัดค้านไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนทำให้หลายพื้นที่เกิดการปะทะ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งการปฏิบัติงานตามภารกิจของกทม.ยังถูกครหาและดูหมิ่นศักดิ์ศรีว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งถูกฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกทม.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ขณะเดียวกันผู้อำนวยการเขต มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.นี้ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเพียงผู้อำนวยการเขตบางกะปิเพียงเขตเดียวที่ยื่นหนังสือลาออกต่อ กกต.กทม.แล้ว  ส่วนที่เหลือมีความประสงค์ขอลาออก แต่ยังคงเป็นกังวลว่าหากลาออกแล้วจะไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งนี้ หากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งลาออก ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.กทม.ในการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยจะต้องใช้เวลาในการสรรหาก่อนการเลือกตั้ง 20 วัน

"กังวลว่า กทม. อาจถูกมองว่ามีส่วนให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่ขอยืนยันว่าข้าราชการกทม.ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหน แต่ที่ผู้อำนวยการเขตจะขอลาออกก็เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและสถานที่ราชการ อีกทั้งยังถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีข้าราชการจึงไม่สบายใจในการทำหน้าที่ดังกล่าวทั้งนี้จะนำเรื่องนี้หารือกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะทำอย่างไรต่อไป หากผู้อำนวยการเขตต้องการลาออกก็ต้องทำหนังสือลาออกถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เพื่อให้ กกต.กทม.จัดหาและแต่งตั้งผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทน รวมทั้งกปน. ภายใน 20 วัน ก่อนมีการเลือกตั้ง ส่วนกทม.ในฐานะผู้สนับสนุนการเลือกตั้งพร้อมให้กกต.ยืมอุปกรณ์ต่างๆ” ปลัดกทม. กล่าว

อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ทำหนังสือถึงศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ให้พิจารณาแนวทางในการดูแลความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนที่เดินทางมาเลือกตั้ง และสถานที่ราชการหรือสถานที่เอกชนที่ใช้เป็นหน่วยเลือกตั้งจำนวน 6,671 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ด้านนายสิน นิติธาดากุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางกะปิ กล่าวว่า สาเหตุที่ลาออก เนื่องจากถูกมองว่าไม่เป็นกลาง อีกทั้งเป็นข้าราชการ กทม. ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งผู้ว่าฯกทม. ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่แทน ขณะที่ กปน. ก็ลาออกเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าไม่ปลอดภัย อีกทั้งถูกมองว่าไม่เป็นกลางอย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ในการจัดการเลือกตั้ง


 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, มติชนออนไลน์เนชั่นชาแนลและ ข่าวสด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles