"พงศ์เทพ"เผยนายกตอบรับนัดประธาน กกต. แล้ว ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ แต่ยังไม่ระบุ เวลา และสถานที่ยืนยันจะเป็นการพบอย่างเป็นทางการโดยไม่มีการหารือนอกรอบก่อนวันดังกล่าว ด้าน "องอาจ"ระบุประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่นั้นขอดูผลการหารือก่อน
25 ม.ค. 2557 - เนชั่นทันข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่า วันนี้ (25 ม.ค.) นายกฯไม่มีภารกิจใดๆ แต่ได้เก็บตัวอยู่ในเซฟเฮ้าท์แห่งหนึ่งในกรุงเทพ และได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ซึ่งนายกฯได้รับทราบถึงกรณีที่จะนัดพบและหารือกับประธานกกต.แล้ว รอเพียงความชัดเจนเรื่องเวลา สถานที่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในวันอังคารที่ 28 ม.ค.นี้ นายกฯมีวาระงานเป็นประธานประชุมครม.ตามปกติ
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ตอบรับนัดประธาน กกต.ที่ติดต่อเข้าพบแล้ว ในวันที่ 28 มค.นี้ แต่ยังไม่ระบุ เวลา และสถานที่ และ ยังไม่ได้แจ้งประเด็นที่จะหารือร่วมกัน ยืนยันจะเป็นการพบอย่างเป็นทางการ โดยไม่มีการหารือนอกรอบก่อนวันดังกล่าว
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ กกต. รอความเห็นจากรัฐบาลเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่ ที่มีปัญหาออกไปก่อนว่า การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นอำนาจของ กกต. ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล การตัดสินใจจะเลื่อนหรือไม่ จึงไม่ต้องรอความเห็นจากรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีความเห็นในเรื่องนี้ไว้
นายวราเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นความเห็นที่มีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้ง เพียงแต่บอกว่าสามารถเลื่อนได้ ดังนั้นหากจะมีการหารือร่วมกันกับ กกต.ในประเด็นนี้ รัฐบาลก็ต้องนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาด้วย
ปชป.เรียกร้อง “ยิ่งลักษณ์” หารือประธาน กกต.โดยเร็ว
สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีไปหารือกับประธาน กกต. ว่าคำวินิจฉัยเป็นคำตอบที่ชัดเจน และเป็นทางลงของประเทศในขณะนี้ วันนี้ รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธว่า ไม่มีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมให้หาทางออกให้กับประเทศ
“ขอให้นายกรัฐมนตรีหารือกับประธาน กกต.โดยเร็ว เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ขอให้รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลิกตั้งเงื่อนไขในการเจรจา ขอให้เดินหน้าการปฏิรูปอย่างจริงจัง และรัฐบาลต้องไม่ใช่เจ้าภาพในการจัดเวทีปฏิรูป หรือเวทีกำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง” นายชวนนท์ กล่าว
นายชวนนท์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเดินหน้าร่วมกับทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อว่าจะมีทางออกให้กับประเทศ วันนี้ รัฐบาลต้องเป็นผู้ลดความขัดแย้ง ต้องเสียสละ ไม่ดำรงซึ่งความขัดแย้งกับประชาชน แต่ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังดื้อดึง พยายามให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ขอเตือนไว้ก่อนว่า จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ระบุว่า กกต.มีหน้าที่ทำการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม
นายชวนนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.ก็ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้แจงว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ถ้ารัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเดินหน้า ก็จะเป็นผู้จงใจกระทำผิด ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 235
“วันนี้ นายกรัฐมนตรีอยู่บนทางที่เลือกได้ว่า จะอยู่บนความขัดแย้งหรือไม่ เพราะสุดท้ายคนที่รับผิดชอบก็คือนายกรัฐมนตรี” นายชวนนท์ กล่าว
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายครั้งแล้ว และครั้งนี้ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า รัฐบาลจะปฏิบัติตาม นอกจากนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.อย่างจริงจัง โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากฝ่ายใด นอกจากนี้ แกนนำของรัฐบาลก็ไม่มีแสดงท่าทีชัดเจนว่า ถ้าจะมีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลกับ กกต.จะประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามที่ศาลวินิจฉัย
“โดยเฉพาะการแสดงออกของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็ไม่ควรเกิน 60 วัน คือต้องไม่เกินวันที่ 6 ก.พ. แสดงให้เห็นว่า นายจารุพงศ์ มองคำวินิจฉัยของศาลเป็นของเล่น เพราะ กกต.ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยว่า สามารถดำเนินการเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ ไม่ใช่ถามว่าเลื่อน” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวว่า รัฐบาลต้องไม่สร้างเงื่อนไข ตั้งแต่ยังไม่พบปะกับ กกต.โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของประเทศ ต้องละลายพฤติกรรมคนในรัฐบาล ให้ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความจริงใจ น้อมรับและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลวินิจฉัยเพื่อให้มีทางออก ไม่ใช่ทางตัน
“การที่นายกรัฐมนตรีจะไปเจรจา ต้องไม่มีเงื่อนไข เพราะการตั้งเงื่อนไข เป็นการสร้างกำแพง จะทำให้การพูดคุยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะจะขวางกั้นเจตนารมณ์ที่ดีร่วมกัน อีกทั้งนายกรัฐมนตรีควรมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฟังเสียงของคนในครอบครัว เพราะอาจทำให้การตัดสินใจบกพร่องไปด้วย” นายองอาจ กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และเริ่มนับหนึ่งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะกลับเข้าสู่สนามเลือกตั้งหรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่า การเลือกตั้งนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมหรือไม่ อีกทั้งการตัดสินใจของพรรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค และอดีต ส.ส. สมาชิกพรรคทุกคน อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูสถานการณ์ และการตัดสินร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับ กกต.ก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ระบุว่า จะต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง นางองอาจ กล่าวว่า พรรคไม่ได้คำนึงเพียงเรื่องการปฏิรูปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก
ด้านนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลนำฟืนออกจากกองไฟ โดยรัฐบาลต้องเริ่มนับหนึ่งก่อน เพราะถ้าไม่ช่วยนำฟืนอันแรกออกมา ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลต้องหยุดนำฟืนใส่เข้าไป โดยเฉพาะคำพูดของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่าควรเลื่อนการเลือกตั้งจาก 2 ก.พ. เป็น 6 ก.พ. เท่ากับเลื่อน 4 วัน คำพูดเช่นนี้ไม่ควรจะออกจากปากคนระดับหัวหน้าพรรค
“รัฐบาลควรเริ่มนับหนึ่งเลย ไม่ใช่มาถามพรรคประชาธิปัตย์ ตรงนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา และถ้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้ง ไม่สามารถเจรจากับ กกต. และไม่รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพราะวิกฤติของประเทศ รอไม่ได้ คงไม่สามารถรอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอารมณ์ในการรักษาประชาธิปไตยเพียงคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้ลาออกไป” นายจุฤทธิ์ กล่าว
'สมชัย'เผย กกต.อาจใช้อำนาจ ม.78 เลื่อนเลือกตั้งล่วงหน้าเป็น 31 ม.ค.
มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 25 มกราคม เวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กกต.ว่า การหารือกับรัฐบาลเรื่องการเลือกตั้งในวันที่ 28 มกราคมนั้น ไม่ใช่เรื่องระหว่าง กกต.และรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะต้องคุยกับพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หากทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อย ดังนั้น หากไปคุยกันในวันที่ 28 มกราคม เกรงว่าจะช้าไป จึงอยากขอให้เป็นวันที่ 27 มกราคม เพื่อที่จะได้มีเวลาเชิญพรรคการเมืองมาหารือในวันที่ 28 มกราคม และหากเป็นไปได้ในวันที่ 29 มกราคม ก็อาจจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา และจะทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไม่ฉุกละหุกจนเกินไป แต่หากรัฐบาลไม่สะดวก ก็ไม่เป็นไร
นายสมชัย กล่าวถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มกราคมว่า ทางกกต.ต้องคุยกันว่าเราจะมีท่าทีอย่างไร โดยจะต้องหารือกับ กกต.ทั้ง 5 ท่านว่า มีความเห็นโดยรวมเป็นอย่างไร เนื่องจากการเลือกตั้งใช้งบประมาณในการจัดบุคคลากร 100 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการหารือในวันนี้ กกต.จะใช้อำนาจตามมาตรา 78 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ในการเลื่อนการเลือกตั้งล่วงหน้าออกไปเป็นวันศุกร์ที่ 31 มกราคม