ผอ. ยูเอ็นวีเมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทยชี้การแสดงความเห็นและภาพอันมีเนื้อหาดูถูกเหยียดหยามทางเพศและหลู่เกียรติลดค่าของผู้หญิง ด้วยเหตุแห่งเพศและบทบาทของความเป็นผู้หญิง ไม่ควรจะเป็นที่อดทน และไม่ควรได้รับการส่งเสริม
25 ม.ค. 2557 นางโรเบอร์ต้า คล้าค ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงกังวลกรณีที่มีการใช้ความเห็นและภาพที่มีเนื้อหาดูถูกเหยียดหยามเพศหญิงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรอดทน และไม่ควรได้รับการส่งเสริม
เนื้อความแถลงการณ์โดยละเอียดดังนี้
000
ในช่วงเวลาใดที่มีการโต้แย้งทางการเมือง ผู้หญิงที่อยู่บนเส้นทางการเมืองสามารถตกเป็นเป้าหมายของภาพเหมารวมและการละเมิดเหยียดหยามด้วยเหตุแห่งความเป็นผู้หญิง และหากยังมีเสียงเพียงจำนวนน้อย ที่ออกมาพูดถึงความเสมอภาคและการเคารพให้เกียรติ สถานะความเท่าเทียมของผู้หญิงในสังคม ก็ย่อมจะถูกสั่นคลอน
ประเทศไทยก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นผู้นำทางการเมืองอยู่น้อย ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ลดค่าของผู้หญิง ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างผลงาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยลังเลที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพราะเกรงว่าจะถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง และเหยียดหยามเพราะเหตุแห่งทางเพศและความเป็นผู้หญิง
ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งว่ามีความเสมอภาคระหว่างเพศหรือไม่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เรียกร้องให้มีการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในบทบาทสาธารณะและบทบาททางการเมือง การเลือกปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีการกล่าวถึงหรือปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีเจตนาหรือส่งผลที่จะจำกัดหรือทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชน และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเพราะเหตุแห่งเพศ
ความเสียเปรียบข้างต้นจะขจัดให้หมดไปได้ ก็ต่อเมื่อรัฐ ชุมชน และปัจเจกบุคคล จะต้องเปลี่ยนแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง
ในบริบทสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน นับเป็นความน่ากังวลอย่างยิ่งยวด ที่ได้พบว่ามีการใช้ภาษาที่เหยียดหยามก้าวร้าวต่อผู้หญิงด้วยเหตุแห่งเพศและความเป็นผู้หญิงเพื่อแต้มต่อในวาระทางการเมือง ข้อความแสดงความเห็นและภาพอันมีเนื้อหาดูถูกเหยียดหยามทางเพศและหลู่เกียรติลดค่าของผู้หญิง ด้วยเหตุแห่งเพศและบทบาทของความเป็นผู้หญิงนี้ ไม่ควรจะเป็นที่อดทน และไม่ควรได้รับการส่งเสริม
ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอยู่มาก ทั้งในด้านกฎหมายและนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันส่งเสริมให้ผู้หญิงมีพลังและสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ความก้าวหน้าดังกล่าวจะเพิ่มขยายต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสร้างสรรค์กระบวนการทางการเมืองและการบริหารจัดการ ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เพื่อให้สิ่งเหล่าเกิดขึ้นได้ เราต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกๆ คน