สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ‘คัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง’ วอนยกเลิก แนะ รบ.ใช้มาตรการตามกฎหมายปกติในการควบคุมสถานการณ์
22 ม.ค.2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมด้วยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และศูนย์ข้อมูลชุมชน (ศมช.) ออกแถลงการณ์ ‘คัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง’ โดยระบุว่าตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะอำเภอบางพลี และจังหวัดปทุมธานี เฉพาะอำเภอลาดหลุมแก้ว เพื่อใช้ดูแล ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2557 นั้น สนส. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่รัฐตกอยู่ในสถานการณ์อันเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามความอยู่รอดของชาติ หรือเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ รัฐบาลยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติในการจัดการกับสถานการณ์เพื่อคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยของประชาชนได้ รัฐบาลจึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงประกอบกับการประกาศดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ แต่ในกรณีนี้มีแนวโน้มค่อนข้างจัดเจนว่า การประกาศฯ จะไม่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายสู่ภาวะปกติ จึงไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ประการที่สอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามกฎหมายนี้ เป็นการให้อำนาจเด็ดขาดแก่ฝ่ายบริหารในการแก้ไขสถานการณ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้องค์กรอื่นๆได้ตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขัดกับหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตย แม้จะเป็นสถานการณ์การชุมนุมเช่นนี้ แต่รัฐบาลควรใช้กฎหมายที่ยอมรับได้ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนมีอยู่ ก่อนที่จะใช้กฎหมายพิเศษ ที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงและไม่สร้างบรรยากาศแห่งการเจรจา
ประการที่สาม การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการจับ ค้นและควบคุมตัวบุคคลใดๆที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม การประกาศใช้กฎหมายเช่นนี้จึงเป็นการละเลยถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ยังได้รับความคุ้มกันทั้งทางแพ่ง อาญาและทางวินัย ทำให้ประชาชนไม่อาจเรียกร้องใดๆต่อเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งขัดกับหลักการทั่วไปที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
ประการที่สี่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงให้อำนาจรัฐในการควบคุมและปิดกั้นสื่อ ส่งผลให้ประชาชนได้รับสื่อเพียงด้านเดียว เป็นการจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวมทั้งเป็นการจำกัดโอกาสในการสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชน ด้วยการสื่อสารและเจรจา จนเกินสมควร
เราเห็นว่าสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายปกติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ หากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยเต็มประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ในการควบคุมการชุมนุม จึงขอเรียกร้องให้
1. ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามกฎหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
2. ให้รัฐบาลใช้มาตรการตามกฎหมายปกติในการควบคุมสถานการณ์ โดยให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์