ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ สัปดาห์นี้นำเสนอเรื่องอเมริกาเตรียมเปิดห้องสมุดดิจิตัล, ซีรีส์ Games of Thrones ทะลุ 160,000 ยอดดาวน์โหลด ฯลฯ
Week 12
02-04-2013
ศาลชั้นต้นนิวยอร์คตัดสินแล้วว่าการขาย mp3 มือสองนั้นถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์
บริการที่เป็นคดีความนี้คือ ReDigi
ReDigi คือโปรแกรมให้บริการขาย mp3 ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องทาง iTunes โดยเมื่อผู้ใช้ติดตั้งโปรแกรม ReDigi แล้วจะขาย mp3 ผ่านโปรแกรม ทางโปรแกรมจะตรวจสอบไฟล์ว่าซื้อมาอย่างถูกต้องจริงหรือไม่ก่อน แล้วค่อยดึงไฟล์ขึ้นไปบนคลาวด์ไดรฟ์ก่อนการซื้อขาย หลังการซื้อขายเสร็จไฟล์ก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อ และหายไปจากคอมพิวเตอร์ของผู้ขาย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดก็ทำมาเพื่อที่จะจำลองการซื้อของในทางกายภาพ
อย่างไรก็ดีทางศาลก็เห็นว่ารูปแบบการซื้อขายนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ การอ้าง "หลักการขายครั้งแรก"ของจำเลยดูจะฟังไม่ขึ้นเพราะกระบวนการทั้งหมดจำเป็นต้องมีการทำสำเนาไฟล์หรือการ "ผลิตซ้ำ"ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักการขายครั้งแรก
ศาลยังเสริมอีกว่าการตัดสินครั้งนี้ไม่ได้ทำลาย "หลักการขายครั้งแรก"ของทรัพย์สินดิจิตัล เพราะผู้ซื้อทรัพย์สินดิจิตัลยังสามารถขายฮาร์ดดิสก์ที่โหลดไฟล์เพลงมาอย่างถูกต้องได้โดยไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ (เพราะขายแบบนั้นไม่ต้องทำสำเนา)
แน่นอนว่า ReDigi ก็จะสู้คดีในระดับศาลอุทธรณ์ต่อไป แต่ในขณะนี้ตลาด "ไฟล์มือสอง"ในอเมริกาทั้งหมดก็ดูจะชะงักลงก่อน ซึ่งนี่ต่างจากทางยุโรปที่การศาลตัดสินแล้วว่าการซื้อขาย "ไฟล์มือสอง"ในลักษณะเดียวกับ ReDigi เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการขายครั้งแรก
News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130401/11341622538/redigi-loses-selling-used-mp3s-online-infringes-first-sale-doesnt-apply-to-digital-transfers.shtml, https://www.eff.org/deeplinks/2013/04/testing-limits-first-sale-court-holds-redigi-music-re-sale-service-illegal, http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130401usedmp3s , http://paidcontent.org/2013/04/01/court-slams-shut-music-locker-redigi-says-first-sale-doesnt-apply/
Game of Thrones ตอนแรกของ Season ล่าสุดทำลายสถิติไฟล์บิตทอร์เรนต์ที่คนดาวน์โหลดเยอะที่สุดไปแล้วเมื่อมีคนดาวน์โหลดพร้อมกันกว่า 160,000 คน
News Source: http://torrentfreak.com/game-of-thrones-pirates-break-bittorrent-swarm-record-130401/
03-04-2013
ศาลอุทธรณ์เท็กซัสตัดสินว่าก่อนตำรวจจะค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาได้ต้องมีหมายศาลก่อน
มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งถูกจับเข้าคุกในคดีลหุโทษ และระหว่างคุมขังเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปค้นของกลางซึ่งก็คือมือถือของเขา เพื่อหาหลักฐานว่าเขาเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์คดีอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ทำให้เขาโดนคุมขังเลย ศาลชั้นต้นปฏิเสธการใช้หลักฐานจากมือถือทั้งหมดด้วยเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่มีเวลาเหลือเฟือที่จะขอหมายศาลมาค้น และก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องค้น
ทางรัฐจึงยื่นอุทธรณ์เพื่อใช้หลักฐานจากมือถือ และศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันเหมือนกับศาลชั้นต้นว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ไปค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา
คำตัดสินนี้สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาคที่ 9 ก่อนหน้านี้ที่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลก่อนค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยศาลให้เหตุผลว่าการค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นต่างจากการค้นกระเป๋า เพราะถ้าเทียบกันแล้วมันไม่ใช่การค้นสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าเท่านั้น แต่เป็นการค้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยอยู่ในกระเป๋ามาก่อน
News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/04/eff-texas-high-court-cell-phone-isnt-pair-pants
04-04-2013
Timo Vuorensola ผู้กำกับ Iron Sky ประกาศว่าเขาจะดาวน์โหลด Game of Thrones ทาง The Pirate Bay เนื่องจากบริการ HBO ในฟินแลนด์คุณภาพแย่มาก
Vuorensola บอกว่า HBO ที่เคลมว่าเป็น HD ก็ไม่ใช่ HD จริงๆ คุณภาพของภาพแย่มากๆ
เขาเลยบอกว่าเขาจะไปโหลดซีรี่ส์ดังเรื่องนี้มาดูจาก The Pirate Bay ดีกว่าเพราะภาพจะชัดกว่า อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าเขาจะจ่ายเงินค่าเคเบิลต่อไปเพราะเขาสนับสนุนงานที่มีรสนิยมดี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางผู้สร้าง Game of Thrones ก็บอกว่าการที่ซีรีส์ของเขาถูกดาวน์โหลดเถื่อนเยอะก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะมันสร้างชื่อเสียงให้ซีรีส์ และยอดการจ่ายเงินเพื่อดูทางเคเบิลก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดด้วย และล่าสุดตอนแรกของซีซั่นที่ 3 ของ Game of Thrones ก็ทำลายสถิติเก่าๆ และได้กลายเป็นไฟล์บิตทอร์เรนต์ที่คนดาวน์โหลดพร้อมกันมากที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว
News Source: http://torrentfreak.com/ill-download-game-of-thrones-from-the-pirate-bay-iron-sky-director-tells-hbo-130403/
National Digital Public Library (NDPL) หรือหอสมุดแห่งชาติดิจิตัลของอเมริกาจะเปิดให้บริการ 18 เมษายนนี้แล้ว โดยคาดว่าจะมีหนังสือ รูปภาพและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ให้บริการกว่า 2 ล้านชิ้น
Robert Darnton นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง (ซึ่งยุคนี้คงไม่ได้รับความนิยมเท่าไรเพราะดันไปมีชื่อเสียงจากเรื่องที่เขียนถึงการสังหารหมู่แมว) ซึ่งนั่งเป็นกรรมการของห้องสมุดออนไลน์นี้ เล่าว่ามีการเตรียมการห้องสมุดนี้กว่า 3 ปี
เขากล่าวว่าตอนนี้มีแหล่งทุนและห้องสมุดจำนวนมากสนใจ แต่ความสมบูรณ์แบบยังห่างไกล เพราะคงต้องมีห้องสมุดอีกจำนวนมากอุทิศคอลเล็คชั่นดิจิตัลให้กับ NDPL ห้องสมุดนี้ถึงจะสมบูรณ์ใกล้เคียงกับห้องสมุดแห่งสภาคองเกรสได้ ซึ่งนั่นก็อาจใช้เวลาเป็นสิบปี
ทั้งนี้ Darnton ยังบอกอีกว่าปัญหาใหญ่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเงินทุน เท่ากับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ไม่เอื้อให้กับการแพร่กระจายเอกสารจำนวนมากที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเอกสารส่วนใหญ่ในศตวรรษที่ 20 แต่เขาก็ยังเห็นว่ามีช่องของ "หลักการใช้ที่เป็นธรรม"ที่ศาลเริ่มตีความกว้างขึ้นว่าอาจทำให้ห้องสมุดเผยแพร่เอกสารร่วมสมัยได้มากขึ้น เขายังเสริมอีกว่าผู้ถือครองลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือสำนักพิมพ์นั้นก็สามารถมอบสิทธิ์ในการเผยแพร่ให้ห้องสมุดได้ และเสริมอีกว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมานั้นจริงๆ ก็มีอายุในทางการค้าอยู่ไม่กี่ปีเท่านั้น (ซึ่งไม่สอดคล้องกับลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองยาวนานไปอีกอย่างต่ำๆ ก็ 70 ปี - กฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกามีระยะการคุ้มครองงานเขียนยาวนานถึง 70 ปีหลังผู้เขียนตาย)
News Source: http://www.nybooks.com/articles/archives/2013/apr/25/national-digital-public-library-launched/
อเมริกายังเป็นตลาดงานบันทึกเสียงดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ 2 รองลงมาคือญี่ปุ่น ส่วนอันดับ 3 ที่ทิ้งมาห่างมากๆ คืออังกฤษ
ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของงานดนตรีบันทึกเสียงของสมาพันธ์อุตสาหกรรมบันทึกเสียงนานาชาติหรือ IFPI ชี้ว่ายอดขายงานบันทึกเสียงของอเมริกาและญี่ปุ่นนี่รวมกันน่าจะมีมูลค่าเกินครึ่งของยอดขายดนตรีทั้งโลกด้วยซ้ำ ด้วยมูลค่ากว่า 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าตลาดงานบันทึกเสียงทั้งโลกกว่า 16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถ้านับจากขนาดประเทศและกำลังซื้อของคนในประเทศแล้วแล้วไม่น่าแปลกใจเลยที่อเมริกาจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือญี่ปุ่นที่เป็นตลาดอันดับสองทั้งๆ ที่ขนาดประเทศและจำนวนประชากรน้อยกว่ามาก ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มข้นของการบริโภคงานดนตรีของคนญี่ปุ่น
ที่น่าตื่นเต้นอีกเรื่องก็คืออัตราส่วนของรายได้ ถ้าดูในอเมริกา ภาพจะชัดเจนมากว่ายอดขาย Digital นั้นเป็นอัตราส่วนกว่าครึ่งของยอดขายทั้งหมดไปแล้ว
แต่ที่ญี่ปุ่นยอดขายแบบ Physical (ส่วนใหญ่น่าจะเป็น CD และแผ่นเสียง) ยังถือว่าเป็นร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมดอยู่ และยอดขายทั้งหมดของญี่ปุ่นก็ยังอยู่ขาขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มูลค่าตลาดเกิน 1000 ล้านดอลลาร์ที่ยอดขายงานดนตรียังอยู่ในขาขึ้นอยู่
ที่น่าสนใจคือเกาหลีที่ขนาดโตมามากแล้วหลังๆ ยังขนาดไม่ถึง 1 ใน 20 เท่าของญี่ปุ่น แถมว่ายอดขายที่สูงสุดแล้วยังถือว่าอยู่ขาลงด้วยซ้ำ (เกาหลีอยู่แค่อันดับ 11 ของโลกด้วยซ้ำถ้าว่าด้วยยอดขายงานดนตรี)
และที่น่าสนใจที่สุดคือ ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้ได้ โดยไม่มีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น (เกาหลีรัฐลงมาปราบการ "โหลดเพลง"เป็นประเทศแรกในโลกในปี 2009 ส่วนญี่ปุ่นเพิ่งออกกฎหมายมาปี 2012 แต่เริ่มบังคับใช้ในปี 2013 ดังนั้นผลของกฎหมายจึงน่าจะอยู่นอกสถิตินี้)
http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130408world