19 ม.ค. 2556 เมื่อเวลา 13.30 น. ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “2 กุมภา เดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมเป็นเจ้าของปฏิรูป” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายอาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, ประจักษ์ ก้องกีรติ ส่วนเกษียร เตชะพีระ ที่เดิมมีกำหนดร่วมอภิปรายด้วยนั้น ไม่สามารถมาได้เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว
จากซ้ายไปขวา: ประจักษ์ ก้องกีรติ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ดำเนินรายการ
ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ม. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ปัตตานี
พูดถึงการเลือกตั้งวันที่สองนี้กับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางที่ควรจะทำเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประเด็นแรก ในเรื่องของความรุนแรงจะเห็นว่ามีเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและจัดการได้ จะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพื้นที่ที่ตนเองอยู่ในจ.ปัตตานี มีความรุนแรงสูงอาจถึงในระดับสงคราม มีคนตายครึ่งหมื่นในรอบสิบปี แต่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้งใหญ่ๆ ประมาณสองครั้ง รวมถึงเลือกตั้งย่อย แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้นั้น ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งไม่ถูกโจมตีโดยตรง อาจเกิดมีบ้างในช่วงลำเลียงบัตรต่อจนท.รัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่แล้ว นี่สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มกระบวนการต่อสู้ในภาคใต้เขาเคารพสิทธิของประชาชนในการเลือกทางการเมือง ฉะนั้นเขาจะไม่ก่อเหตุต่อประชาชนที่ไปเลือกตั้งหรือห้ามไปเลือกตั้ง แต่จะให้การเลือกตั้งนั้นเป็นตัวการแสดงออกของประชาชนต่อนโยบายต่างๆ รวมถึงนโยบายการจัดการทางภาคใต้
อย่างการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มีปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในภาคใต้สมัยทักษิณ กลุ่มวาดะห์ก็ถูกลงโทษโดยการไม่ได้รับเลือกตั้งอีก การเลือกตั้งเป็นการแสดงเจตจำนงอย่างแท้จริง และไม่ได้ถูกขัดขวางจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ เชื่อว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จะไม่มีความรุนแรงของ เช่น การทำลายหน่วยเลือกตั้งและไม่น่าจะมีกระบวนการหยุดยั้งในชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีจุดเทียนทุกวันที่มอ.ปัตตานี เพื่อสะท้อนเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เชื่อว่าการเลือกตั้งยังเป็นแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความสงบสันติ
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีการแสดงความคิดเห็นว่าคนในสามจังหวัดไปเลือกตั้งเพราะเกี่ยวกับเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน แต่นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะว่าคนในสามจังหวัด มีเปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิเลือกตั้งคิดเป็นราว 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ที่มีการใช้สิทธิสูงระดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งในพื้นที่ไม่ว่าจะมุสลิมหรือพุทธ ไม่เได้เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนแต่เกี่ยวข้องกับการใข้สิทธิ หรือการเลือกระบบที่ต้องการ เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกับประชาชนไทยทั่วไป
ต่อเรื่องนโยบาย ประชาชนในภาคใต้ต้องการใช้สิทธิในการกระจายอำนาจ และการปกครองแบบพิเศษ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทางการเมืองโดยให้ประชาชนมีสิทธิเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าและในระดับท้องถิ่น เป็นการหาทางออกจากความรุนแรง และสะท้อนให้เห็นว่าถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดการการกระจายอำนาจ ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน กลไกเหล่านี้จะช่วยได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งเป็นกลไก และเป็นเครื่องมีอที่จะลดความรุนแรงที่ในพื้นที่ที่มีความุรนแรงอยู่แล้ว ไม่ใช่สร้างความรุนแรงอย่างที่พูดถึงกัน
อีกประเด็นหนึ่ง หากว่ากลัวความรุนแรงในการเลือกตั้ง และเลื่อนไปจากเดิม จะมีความรุนแรงหรือไม่ คำตอบคือ ตอนนี้เองก็มีความรุนแรงอยู่แล้ว หากจะวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งมีความรุนแรงในพื้นที่ไหนบ้าง สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เคยมีหากดูจากในอดีต อาจจะมีคือแปดจังหวัดในภาคใต้ แต่พื้นที่ 8 จังหวัดดังกล่าว นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีการปะทะ แต่อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือมีการปิดหน่วยเลือกตั้งเกิดขึ้น
ส่วนในภาคเหนือและอีสานนั้นต้องการเลือกตั้งอยู่ จึงไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน เช่นเดียวกับในภาคกลาง ที่น่าจะมีปัญหาคือในกรุงเทพ หากว่ายังมีการชุมนุมคัดค้าน อาจะปะทะกับคนที่ต้องการการเลือกตั้ง ฉะนั้นก็น่าจะเป็นในกรุงเทพฯ ที่น่าจะเกิดความุรนแรง หากใช้ความอดทนอดกลั้น ความระมัดระวังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เกิดความรุนแรง รวมถึงป้องกันมือที่สาม ก็ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น บางสถานการณ์นั้นอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ควรต้องมีกลไกเพื่อป้องกันความุรนแรง
กปปส. ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นเช่นเดียวกัน และต้องใช้การต่อสู้โดยสันติวิธี และตนเองอยากจะเห็นเสียงของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการออกมาใช้สิทธิเพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการใช้วิธีนี้เป้นการลดความุรนแรงและเป็นทางออก เสียงสะท้อนของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการการเลือกตั้งจะดังขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นการถ่วงดุลต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในวันที่สองนี้
บทเรียนจากภาคใต้อีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างพื้นที่กลางร่วมกันของประชาชนฝ่ายต่างๆ มาลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จะเห็นว่าความรุนแรงค่อนข้างคงที่ ไม่ขยายขึ้น เพราะมีการสร้างพื้นที่กลางจากภาคประชาชนสังคม ภาคชุมชนต่างๆ ที่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาอย่างสันติ แม้แต่จากเจ้าหน้าที่ทหารก็ยังยอมรับกระบวนการสันติภาพ เช่นเดียวกับ BRN ก็ยังยอมรับ ทุกฝ่ายจึงเริ่มยอมรับว่าต้องมีพื้นที่กลางในการแก้ปัญหาไม่ให้มันขยายตัวออกไป
ส่วนกรุงเทพฯ พื้นที่กลางนี้กำลังเติบโตขึ้นในวิกฤติ มีการแสดงออกจากกลุ่มวิชาการเช่นกลุ่มสองเอาสองไม่เอา มีการจุดเทียนเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง ต่อต้านรัฐประหาร แน่น่อนว่ามีความแตกต่างในกลุ่มที่มาร่วม แต่สื่งที่ร่วมก็คือการปฏิเสธไม่เอาความรุนแรง ต้องมีการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ทั้งการปฏิรูปและการเลือกตั้ง
แม้ว่าจะป้องกันความรุนแรงไม่ได้หากเกิดเหตุการณ์ แต่พื้นที่กลางที่ส้รางขึ้นมาจะเป็นการสื่อสารและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนทุกฝ่าย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการสื่อสารแบบประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันจากพื้นที่กลาง มันจะทำให้เราเข้าใจปัญหาอย่างเหมาะสมและไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
เรายังต้องมีการเลือกตั้งวันที่สองธันวาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นพื้นที่ความรุนแรงจะขยายออกไปทั่วประเทศ มากกว่าพื้นที่ที่จะมีถ้ามีเลือกตั้ง ต้องถามว่าจะเอาแบบไหน ความรุนแรงที่ขยายไปเหนืออีสาน ใต้ กรุงเทพ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นบางส่วนในกรุงเทพฯ ฉะนั้น ต้องเลือกแบบที่เราควบคุมได้ และใข้พื้นที่กลางดังกล่าวนี้สื่อสารออกไป
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
มีการพูดเรื่องปฏิรูปเยอะมาก ตนเชื่อว่าคนพูดไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ แต่คนฟังทุกฝ่ายเชื่อว่าต้องปฏิรูป จึงมาชวนคุยเรื่องปฏิรูปมากกว่าการเลือกตั้ง
มันมีความเข้าใจผิด โดยเฉพาะคนที่พูดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นี่สร้างความเข้าใจผิดว่า การปฏิรูปเหมือนมีโจทย์ตายตัวแล้วว่าต้องปฏิรูปอะไรบ้าง และมีคำตอบตายตัวด้วย จะมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมาตอบ วิธีคิดแบบนี้เราเคยถูกหลอกมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ คือ คำว่า “พัฒนา” เป็นโจทย์อันเดียวไม่ว่าเชิญดร.ไหนมาตอบก็เหมือนกันหมด เสน่ห์ จามริก ชี้หลายสิบปีมาแล้วว่า พัฒนาไม่ใช่คำกลางๆ มันคือการเมืองที่ส่วนต่างๆ ต้องเข้ามาต่อรองกัน ปฏิรูปก็เหมือนกัน เมื่อไรที่เปลี่ยนแปลงแล้วจะมีคนได้คนเสียเสมอ ไม่มีได้หมด เสียหมด ต้องเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ ทัดทาน โต้เถียง ประนีประนอมได้ โดยสรุป การปฏิรูปใดๆก็แล้วแต่ ต้องทำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และด้วยกระบวนการประชาธิปไตยด้วย อย่าได้ไปเชื่อนักวิชาการที่เสด็จมาจากไหนก็แล้วแต่ที่รู้ว่าควรปฏิรูปอะไรและปฏิรูปอย่างไร
ย้อนไปถึง ร.5 เราชอบพูดว่าท่านปฏิรูปบ้านเมือง ที่จริง การเปลี่ยนแปลงตอนนั้นมีเป้าหมายจำกัดมาก คือ ขจัดอำนาจทั้งหลายที่ขวางกั้นพระราชอำนาจออกไปให้หมด เพราะก่อนหน้าที่ อำนาจอยู่ที่พ่อค้า ขุนนาง สมัย ร.4 นั้นมีพระราชอำนาจน้อยมาก วิธีของท่านมีสองอย่าง หนึ่ง สร้างเครื่องมือใหม่ ระบบราชการ กองทัพ การคลังแบบใหม่ ให้กษัตริย์ได้ใช้พระราชอำนาจโดยตรง สอง ทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องหาเงิน บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนสู่ระบบทุนนิยมมากขึ้น ท่านก็พยายามจับจองวิธีหาเงินจากระบบทุนนิยม ทำสัมปทาน ฯลฯ ประชาชนก็เสียหลายอย่าง ความเป็นชุมชน หลวงพ่อก็ถูกผนวกไปในคณะสงฆ์ ได้ก็มีเสียก็มี โดยไม่ได้มีการต่อรองใดๆ เลย ดังนั้น ถึงยุคนี้ควรต้องได้มีโอกาสเข้ามาต่อรองกัน
เมื่อใครคิดว่าสูตรในการแก้ปัญหามีอยู่และเขารู้ เมื่อนั้นระวังให้ดี
การเริ่มต้นการปฏิรูป ต้องเริ่มที่การวางเป้าหมายการปฏิรูปเสียก่อน อะไรคือปัญหาที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย กระบวนการวางเป้าหมายเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่สามารถเป็นเพียงชุมนุมกลุ่มเทวฤทธิ์ผู้มีปริญญาหลายใบทั้งหลายคุยกัน อาจจะสรุปได้ แต่ต้องโยนลงมาสู่การถกเถียงของสังคม และมันอาจเปลี่ยนได้ ต้องเป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยงทุกประเด็นได้ ไม่ใช่ประเด็นคอรัปชั่น มันเป็นปัญหาแน่ แต่มันแก้ปัญหาให้คนที่ตกค้างจาการพัฒนา 6 ล้านคนไหม คนที่ปรับตัวเข้ากับการพัฒนาของทุนนิยมได้ มันไม่ใช่ปัญหาที่ผูกโยงปัญหาอื่นให้เป็นระบบเดียวกัน ยิ่งคิดโดยนักธุรกิจที่รวมตัวกัน 7 องค์กร คนสุดท้ายในโลกนี้ที่จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นคือนักธุรกิจไทย เพราะธุรกิจกันในนโยบายและอุดเงินโดยตรง คอรัปมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
“แล้วมาบอกว่าจะมาปราบคอรัปชั่นให้ หัวเราะไม่ออก และเหม็นขี้ฟัน” เขากล่าว “นักธุรกิจไม่พูดสักคำเรื่องปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปภาษี แต่ไปพูดเรื่องคอรัปชั่น”
ยกตัวอย่าง ผมเคยร่วมเป็น กก.ปฏิรูปชุดอานันท์ อยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงนั้นเริ่มต้นวันแรก เราตั้งตุ๊กตาแล้วโยนเข้าไปในสังคมให้ตอบต่อตุ๊กตาเหล่านั้นแล้วก็ประสบความล้มเหลว มีโอกาสโยนแค่สองเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องปฏิรูปที่ดิน เงียบกริบเลยไม่มีใครสนใจ เสนอการจำกัดการถือครองที่ดิน เราไม่ใช่ผู้ปฏิรูป สังคมเป็นผู้ปฏิรูป
ตอนนั้นคิดว่าหัวใจหลักของไทยคือ ความเหลื่อมล้ำ นี่ยกให้ดูเป็นตัวอย่างในการจับประเด็นที่ไปผูกกับปัญหาต่างๆ การศึกษา คอรัปชั่น ฯลฯ ขณะเดียวกันเป้าหมายเรื่องความเหลื่อมล้ำต้องชัดเจน เช่น ถ้าปฏิรูปเรื่องการศึกษาต้องแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านได้ อาจไม่แก้เรื่องความเหลื่อมล้ำเลย อาจมากขึ้นก็ได้ ต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักว่า สังคมที่จะปฏิรูปได้ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย ต้องมีเวทีกลางในการพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อ และสื่อในประเทศเรานี่ไม่มีกึ๋น ไม่มีสมรรถภาพ ในทัศนะส่วนตัวผมเรื่องการปฏิรูป สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำกับสื่อนี่แหละ คนส่วนใหญ่ในไทยคือคนไร้เสียง ที่ไร้เสียงเพราะรัฐและสื่อทำให้เขาไร้เสียง ต้องให้เขามีเสียงด้วย เพื่อต่อรอง
ถ้าถามว่าใครทำ ทุกฝ่ายต้องทำและรัฐต้องทำด้วย และข้อเสนอนั้นปรับแก้ และยกเลิกยังได้ ถ้าสังคมเห็นแบบนั้น และเป็นสังคมที่มีสมรรถภาพ
สรุปแล้วการปฏิรูปเป็นการสนทนากันในสังคม ต้องโต้ตอบ สนทนากันตลอดเวลา ถ้าอยากปฏิรูปจริง ต้องเริ่มต้นด้วยการเลือกตั้ง ต้องทำให้ประเด็นการปฏิรูปเป็นประเด็นของการหาเสียง ไม่ใช่อยากปฏิรูปแต่คุณไม่ลงเลือกตั้ง ต้องยึดอยู่กับระบอบประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อพวกเราจะได้ตัดสินใจได้ว่าเราจะเลือกพรรคไหน เวลานี้มันกลายป็น ปฏิรูปกลายเป็นกลวิธีของการไม่เลือกตั้ง มันตายตั้งแต่ต้น
หลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปทำข้อเสนอเสร็จ เราส่งให้ทุกพรรค แต่เงียบฉี่ทุกพรรค ไม่มีใครสนใจเลย ทำอย่างไรจะผลักให้เป็นประเด็นทางการเมือง ให้หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นประเด็นจะมาขจัดประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์
มันน่าเศร้าและน่าตลกพร้อมๆกันที่ทุกวันนี้เราต้องพูดเรื่องทำไมเลือกตั้งถึงสำคัญ ทำไมคนเราถึงเท่าเทียมกัน จริงๆ เมื่อปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ผ่านไป 80 ปีมีกระบวนการที่อ้างว่าต่อสู้ทางประชาธปไตยแล้วบอกว่า คนไทยไม่เท่าเทียมกัน การเลือกตั้งไม่สำคัญรอไปก่อน นี่คือเรากำลังย้อนกลับไปสู่สภาพก่อน 2475 อีก
สิ่งที่อยากสื่อสารกับคนทั่วไปในวันนี้ มี 4 ประเด็น คือ
มีการถามว่า ทำไมไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไป สังคมตั้งคำถามผิด แทนที่จะถามว่าทำไมต้องเลื่อนเลือกตั้ง นี่กลายเป็นว่าคนอยากไปเลือกตั้งกลายเป็นพวกกระหายเลือด ไม่รักสันติ โลกกลับตาลปัตร แค่จะไปเลือกตั้งก็กระหายเลือดแล้ว ต้องตั้งคำถามใหม่ว่า การเลื่อนการเลือกตั้งมันแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชัดเจนว่าไม่สนใจว่าจะเลื่อนหรือไม่ เพราะเป้าหมายเขาไม่ต้องการเลื่อนเลือกตั้ง แต่ต้องการหยุดประชาธิปไตย ยึดอำนาจ เป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อยเพื่อไปทำการปฏิรูป การเลื่อนเลือกตั้งจึงไม่ช่วยให้การประท้วงยุติลงได้ เ
สอง การเลื่อนเลือกตั้ง ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูป สังคมไทยมีปัญหาหมักหมมมากกมาย แต่ต้องวางบนฐานการมีส่วนร่วมของประเทศ ให้ประชาชนแสดงประชามติผ่านการเลือกตั้งแล้วร่วมถกเถียงกันต่อไป ไม่ใช่เลื่อนไปสามเดือนแล้วเลือกตั้ง ถ้ามันง่ายขนาดนั้นคงสงบสุขไปนานแล้ว
สาม ไม่แก้ปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ดังที่กกต.หรือบางกลุ่มเสนอเรื่องเลื่อนเลือกตั้ง เพราะมองว่าจะได้จัดการเลือกตั้งได้สงบเรียบร้อย ต้องตั้งสติให้ดีว่าอุปสรรคอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่สงคมไทยไม่พร้อม คนไทยส่วนใหญ่พร้อมไปเลือกตั้งแต่มีการขัดขวางโดยคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำทุกทางโดยเฉพาะความรุนแรง ลิดรอนสิทธิของผุ้สมัครพรรคต่างๆ และกำลังริดรอนสิทธิปชช.ทั้งประเทศด้วย ต้นตอของปัญหามันอยู่ที่ไหน ไม่ใช่สังคมวุ่นวาย แต่มีคนกลุ่มหนึ่งจงใจให้วุ่นวาย
นอกจากนี้ ยังมาจากกกต.เอง ที่มีทัศนคติแบบนี้ ต่อให้เลื่อนไปอีกปีหนึ่งก็ไม่แก้ปัญหา เพราะไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ตนเอง ในต่างประเทศมีความขัดแย้งกันมากกว่านี้ ในซิมบับเว เขาก็จัดได้ เพราะภาคประชาสังคมทั้งหมดแสดงประชามติว่าต้องการการเลือกตั้ง จึงโดดเดี่ยวพวกไม่เอาการเลือกตั้ง ถ้าอิรัก อัฟกัน จัดการเลือกตั้งได้ ทำไมไทยจะเลือกตั้งไม่ได้ และเปอร์เซ็นต์คนมาใช้สิทธิสูงขึ้นตลอด ปีที่แล้วคิดเป็น 75% ถือว่าสูงมาก
ประเด็นถัดมา การใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงโดยตัวมันเอง เวลามันรุนแรงเพราะมีกลุ่มคนจงใจทำให้มันรุนแรง ในอดีต ความรุนแรงในสังคมไทยในการเลือกตั้ง คือระหว่างนักการเมือง มือปืนรับจ้าง ฆ่าศัตรูทางการเมือง คู่แข่งขัน แต่ตอนนี้เผชิญกับความรุนแรงรูปแบบใหม่ เปลี่ยนมาอยู่ในรูปของม็อบ จุดประสงค์ไม่ใช่เอาชนะการเลือกตั้ง แต่ต้องการล้มกระบวนการเลือกตั้ง โดยกลุ่มคนที่อ้างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เริ่มต้นด้วยการล้มกระบวนการเลือกตั้ง ที่ศึกษามา พบว่าระดับความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยนั้นต่ำมาก เช่น เคนยา ปี 2550 มีคนตาย 1,500 คน ในซิมบับเว ศรีลังกา ฟิลิปินส์ คนตายอยู่หลักร้อย ของไทยที่รุนแรงที่สุด มีคนตายประมาณ 30 คน สงบที่สุดมี 5-6 คน
ประการต่อมา ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยเจาะจงเป้าหมาย ประชาชนปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ กกต. สื่อก็ปลอดภัย ในแง่นี้ไม่ได้น่ากลัว ประการต่อมา ความรุนแรงพบมากในสมัยที่แข่งกันเป็นตัวบุคคล ไม่ได้แข่งที่นโยบาย ช่วงหลังเป็นการเมืองเชิงนโยบาย เป็นการแข่งขันเชิงอุดมการณ์มากขึ้น ความรุนแรงลด ใครใช้ความรุนแรงจะเสียคะแนนด้วย ฆ่าคู่แข่งก็ไม่ชนะอยู่ดี แนวโน้มความรุนแรงลดลงแล้ว แต่น่าเสียใจเพราะความรุนแรงบนท้องถนนกลับเพิ่มสูงขึ้น เพราะกระบวนการปชต.ถูกทำลายลงไปจากการรัฐประหารปี 2549 ความขัดแย้งไม่ถูกแก้ในระบบ คนเสียชีวิตบนท้องถนนมากกว่าความขัดแย้งในการเลือกตั้งเสียอีก ถ้ามีเลือกตั้งสังคมไทยจะไม่ค่อยมีความรุนแรง น้อยมาก แต่ถ้าไม่มีสังคมไทยกลับรุนแรงขึ้น ฉะนั้น อย่าไปตื่นตระหนักกับความรุนแรงจากการเลือกตั้งเกินกว่าเหตุ
การหยุดการเลือกตั้งเป็นการทำลายสิทธิประชาชนทั้งประเทศ ทำลายอำนาจเจ้าของอธิปไตยทั้งประเทศ ผู้ที่เสนอให้เลื่อนหรือหยุดการเลือกตั้ง ทำราวกับว่าเสียงคนอยากเลือกตั้งไม่มีความหมาย เราต้องไม่ยอมให้ใครใช้ความรุนแรง ข่มขู่ผู้คนไม่ให้เดินไปสู่การเลือกตั้ง
คนไทยทั้งประเทศกำลังถูกขู่กรรโชกด้วยความรุนแรง แล้วกรรมการก็ไปให้ท้ายพวกเขาเหล่านั้นด้วย ไม่มีใครกดดดันหว่านล้อม กปปส.เลยว่าทำไมไม่คืนความสงบให้สังคมไทยเสียที ตอนนี้ทุกคนมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หาข้อกฎหมายพิศดารซึ่งไม่มีข้อกำหนดเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง นักวิชาการอย่ากระหายเลือด มองไม่เห็นเลยว่าที่ผ่านมาความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการรับสมัคร มันเกิดจากใคร เราต้องกลับไปดูที่ต้นเหตุ ส่งเสียงแสดงฉันทามติว่าสังคมไทยไม่ยอมรับการขู่กรรโชกและการกระทำนี้ควรหยุดได้แล้ว เพื่อเราจะได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ชอบพรรคไหนไม่ใช่ประเด็น โหวตโนก็ได้ แต่มันเป็นสิทธิพื้นฐาน
จะขอเล่าถึงบทเรียนจากต่างประเทศ ปีสองปีที่ผ่านมามีการจัดการเลือกตั้งในหลายประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยง มีประวัติศาสตร์การก่อความรุนแรง เช่น เคนยา มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อีหร่าน ปรากฏว่าทุกประเทศสามารถจัดการเลือกตั้งได้ มีเหตุวุ่นวายบ้าง แต่เจ้าหน้าที่รัฐเข้มแข็ง สามารถรักษากฎหมายไว้ได้ รวมทั้งสื่อและประชาชนก็ช่วยกัน คนออกไปใช้สิทธิอย่างถล่มทลาย ในปากีสถาน กลุ่มทาลีบันข่มขู่ไม่ให้คนออกใช้สิทธิ แต่คนออกไปใช้สิทธิกันอย่างกล้าหาญ กลายเป็นตอนนี้โลกกำลังส่งสัญญาณในทางบวกว่า คนในประเทศเหล่านี้ต้องการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าอย่างสันติ การเลือกตั้งไม่ได้เป็นเครื่องมือนำสู่ความรุนแรง เมื่อสังคมแสดงความต้องการมันก็ระงับเหตุความรุนแรงได้ หรือต่อให้มีสงครามกลางเมืองก็ต้องกลับสู่การเลือกตั้ง ไม่สามารถฆ่ากันได้ตลอดไป
ข้อเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมกปปส. ไม่เรียกร้องแกนนำเพราะเชื่อว่าต่อสู้ครั้งนี้ด้วยการมีอำนาจและผลประโยชน์เป็นเดิมพัน ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งอึดอัดกับระบบการเมือง เราขอเรียกร้องให้มาต่อสู้ในระบบที่เมืองไทยมีร่วมกัน ถ้าไม่ชอบเพื่อไทย ให้ร่วมกันโหวตโน เลือกพรรคอื่นถล่มทลาย หรือไม่ไปเลือกก็ได้ ถ้าได้เสียงโหวตโนเยอะ ได้เสียงน้อย รัฐบาลก็จะได้อำนาจน้อยมาก ต้องมาผลักดันการปฏิรูป มีแต่ทางนี้เท่านั้นที่จะสงบสุข และไม่มีใครต้องตายอีก แล้วเราค่อยมาทะเลาะกันต่อหลังจากนั้น
ท่านมีหนึ่งเสียงเท่ากับคนที่เหลือในประเทศ ทำไมไม่กลับมาใช้สิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ผู้ชุมนุมกปปส. คงไม่ได้อยากถูกวิจารณ์ว่าเป็นเหมือน คอมมิวนิสต์เขมรแดง กล่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อจราจลในประเทศต่างๆ ที่ก่อความวุ่นวายขัดขวางการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาท่านกำลังเดินไปทางนั้น ถ้าอยากถูกบันทึกไว้ในหน้าปวศ.อย่างที่ธีรยุทธว่าเป็นแบบเนลสัน แมนเดลา แล้วไม่อยากไปอยู่ในประเภทเดียวกับ ทาลีบัน ขอให้กลับมาสู่การต่อสู้ในระบบบ ไม่มีการต่อสู้ประชาธิปไตยที่ไหนสำเร็จถ้าเริ่มจากการปิดกั้นคนอื่น กีดกันกระบวนการพื้นฐาน สังคมไทยต้องหันกลับมาเชื่อมั่นในพลังตัวเอง ว่าเราตรวจสอบนักการเมืองได้ใต้ครรลองปชต. อย่าหวังพึ่งทหาร หรือสภาห้าร้อยที่มาจากการแต่งตั้ง
ความรุนแรงจากการเลือกตั้งครั้งนี้ น่ากลัวน้อยกว่าความรุนแรงจากการล้มการเลือกตั้ง แน่นอนว่า การเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีประชาธิปไตยเช่นกัน ทุกประเทศใช้การเลือกตั้งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยสันติ เปิดประตูบานนี้แล้วก็ต้องร่วมลงแรงหลายอย่างให้บ้านเมืองน่าอยู่ขึ้น แต่อย่างน้อยอย่าปิดประตูบานนี้ ถ้าใครมีส่วนร่วมการปิดประตูบานนี้ ท่านกำลังมีส่วนผลักสังคมไทยไปสู่ทางตันและความรุนแรง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai