บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วิจารณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ตำหนิออกสื่อกรณีการชุมนุมที่ "ต่อต้านประชาธิปไตย"ในไทย ด้านนักวิเคราะห์ชาวเยอรมันประเมินกลุ่มต่อต้านรัฐบาลจะใช้วิธีรัฐประหารแบบนิ่มๆ ด้วยองค์กรอิสระ มากกว่าการใช้กองทัพ
16 ม.ค. 2557 สำนักข่าววอชิงตันโพสต์นำเสนอบทบรรณาธิการที่ระบุถึงเหตุการณ์ชุมนุม "ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย"ในประเทศไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวประณามการชุมนุมในครั้งนี้
"การประท้วงของมวลชนที่ต่อต้านประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสที่ดูเป็นลางร้ายในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการเลือกตั้งได้ท้าทายชนชั้นนำที่มีอยู่มานาน"วอชิงตันโพสต์กล่าวในช่วงต้นของบทบรรณาธิการ
วอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่าผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. มียุทธวิธีในการพยายามก่อกวนความสงบในกรุงเทพฯ จนถึงจุดที่รัฐบาลจะถูกบีบบังคับให้ลาออกหรือถูกโค่นล้มโดยกองทัพ ซึ่งวิธีการแบบนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และผู้สนับสนุนเขาในปี 2549 และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่มาจากอำนาจศาลซึ่งชวนให้ตั้งคำถาม
ในสถานการณ์ปัจจุบัน วอชิงตันโพสต์เสนอว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ควรจะยืนยันเป็นรัฐบาลรักษาการเช่นที่เธอกำลังทำอยู่ และเธอควรหาการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการต่อต้านไม่ให้วิกฤติในครั้งนี้ออกมาในรูปแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
บทบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่าความพยายามทำรัฐประหารหลายครั้งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก ขณะที่แม้ว่าทักษิณจะถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางที่ผิดและละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเช่นเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์
วอชิงตันโพสต์กล่าวถึงฝ่ายค้านของไทยว่า พวกเขาเริ่มมีลักษณะสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่อ้างว่าแค่ต้องการแก้ไขการใช้อำนาจในทางที่ผิดของทักษิณ ในตอนนี้กลายมาเป็นการพยายามแต่งตั้งให้คนที่ขึ้นมาปกครองเสริมอำนาจให้กับเสียงข้างน้อยและกำจัดทักษิณและครอบครัวออกจากวงการการเมือง
บทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์ระบุว่าประเทศสหรัฐฯ มีความใกล้ชิดไทยทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่รัฐบาลโอบามาของสหรัฐฯ ก็ยังโต้ตอบในเรื่องนี้อ่อนเกินไป เช่นเดียวกับกรณีที่ชาวอียิปต์เคยเรียกร้องให้มีการรัฐประหารเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยที่โฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯได้เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาให้ประเทศไทยแก้ไขวิกฤติโดยอาศัยกระบวนการประชาธิปไตย และชื่นชมที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม
"แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ได้กล่าวต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าการรัฐประหารไม่ว่าจะจากทหารหรือจากม็อบบนท้องถนน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้สำหรับสหรัฐฯ หรืออาจส่งผลให้สหรัฐฯ ระงับการช่วยเหลือและความร่วมมือด้านความมั่นคง"บท บก. วอชิงตันโพสต์ระบุ
วอชิงตันโพสต์ กล่าวอีกว่า กลุ่มทหารที่ต่อต้านประชาธิปไตยอาจรู้สึกเชื่อไปเองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ต่อต้านพวกเขาเช่นเดียวกับกรณีในอียิปต์ แต่พวกเขาไม่ควรรู้สึกเช่นนั้น เพราะเหตุการณ์ในอียิปต์ได้แสดงให้เห็นว่าชัยชนะของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยนำมาซึ่งการขาดเสถียรภาพและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญเยอรมนีชี้ ฝ่ายต้านรัฐบาลไทยรัฐประหารแบบนิ่มๆ ด้วยองค์กรอิสระ
ทางด้านสำนักข่าว Deutsche Welle ของเยอรมนีได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันในประเทศไทย โดยไมเคิล วินเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ซึ่งมีสำนักงานในกรุงเทพฯ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่าโดยปกติแล้วถ้าหากประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทางการเมือง ทหารมักจะเข้าแทรกแซง แต่กับวิกฤติในตอนนี้ทหารดูเหมือนกำลังลังเลอยู่ วินเซอร์กล่าวอีกว่าทหารไทยมีทรัพยากรบุคคลของตัวเองและค่อนข้างเป็นอิสระจากสถาบันอื่นๆ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกคนคือ มาร์ค แซกเซอร์ จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า กองทัพมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์และกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ความสัมพันธ์กับกลุ่มเสื้อเหลืองลดน้อยถอยลงซึ่งอาจเป็นเพราะยิ่งลักษณ์พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับกองทัพมากขึ้น หรืออีกแง่หนึ่งในกองทัพก็มีกลุ่มที่เรียกว่า "ทหารแตงโม"ซึ่งอาจให้ความช่วยเหลือรัฐบาลหากมีการรัฐประหาร
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่าการทำรัฐประหารเป็นเรื่องเสี่ยงมากสำหรับกองทัพ ในขณะที่กองทัพมีการแบ่งขั้วกัน ฝ่ายเสื้อแดงมีการจัดตั้งที่ดีขึ้น การรัฐประหารอาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง แต่การวางหมากถึงการแสดงความเป็นไปได้ในการรัฐประหารเอาไว้ทำให้กองทัพสามารถมีบทบาทอย่างมากในการต่อรองอำนาจ ในขณะเดียวกันการรัฐประหารก็ไม่ทำให้เกิดผลดีต่อพวกเขาได้ยาวนานนัก ประเทศไทยก็จะถูกผลักดันให้กลับไปสู่การเมืองที่มีการเลือกตั้งอยู่ดี
สำหรับแซกเซอร์แล้ว เขามองว่าการรัฐประหารในไทยตอนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการนำรถถังออกมาเคลื่อนบนถนน แต่เป็นการรัฐประหารโดยผ่านทางศาลและคณะกรรมการอิสระ สิ่งที่พวกเขาพบเจอในไทยถือเป็นต้นแบบของ "การรัฐประหารแบบศตวรรษที่ 21"ซึ่งเป็นวิธีการที่ฝ่าย 'เสื้อเหลือง'ใช้หลีกเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติและหลอกลวงประชาชนคนไทยด้วยการสร้างความชอบธรรมแบบปลอมๆ จากการที่พวกเขามีอิทธิพลกับองค์กรต่างๆ อย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งช่าติ และศาลไทย
แซกเซอร์กล่าวว่าองค์กรเหล่านี้พยายามทำให้รัฐบาลของฝ่ายเสื้อแดงเป็นฝ่ายผิดทางกฎหมาย ส่วนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการทางประชาธิปไตยจนกระทั่งถึงระดับที่เกิดภาวะตีบตันที่ต้องอาศัยการแต่งตั้ง 'สภาประชาชน'ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลต้องการ
"...แล้วพวกเขาจะแสร้งทำเหมือนว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมทางกฏหมาย"แซกเซอร์กล่าว
เรียบเรียงจาก
Thailand’s anti-democracy protests should provoke a harsh rebuke from the U.S., Washington Post, 16-01-2013
http://www.washingtonpost.com/opinions/thailands-anti-democracy-protests-merit-a-rebuke-from-the-us/2014/01/15/ca2205a8-7e1b-11e3-95c6-0a7aa80874bc_story.html
Military undecided in Thailand conflict, DW, 14-01-2013
http://www.dw.de/military-undecided-in-thailand-conflict/a-17361237