รองบรรณาธิการนิตยสาร The Diplomat เทียบเหตุการณ์ประท้วงในอียิปต์ปี 2556 กับการประท้วง 'ปิดกรุงเทพฯ'ของไทยว่ามีความต่างกัน ชี้จุดที่ต่างชัดเจนคือกลุ่มสุเทพมีแต่ผู้ปกป้องชนชั้นนำเก่าและไม่ยอมรับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการเรียกร้องให้บั่นทอนประชาธิปไตยถือเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดหลังยุคศตวรรษที่ 20
16 ม.ค. 2557 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา แซดคารี เคก รองบรรณาธิการนิตยสาร The Diplomat นิตยสารข่าวออนไลน์สัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งนำเสนอสถานการณ์การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในเอเชียแปซิฟิก เขียนบทความเกี่ยวกับการประท้วงปัจจุบันในประเทศไทย โดยระบุว่า การประท้วงของมวลชนส่วนใหญ่เป็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย มีอยู่น้อยมากที่จะเห็นคนออกมาบนท้องถนนเพื่อต่อต้านประชาธิปไตย
เคก กล่าวถึงเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาหรับเมื่อช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องการบริหารประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคยกันดีโดยเฉพาะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่จะได้เห็นผู้คนทั่วโลกออกมาเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชียตะวันออก
บทความของเคกระบุว่า แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีบางประเทศที่แม้จะล้มล้างอำนาจเก่าลงได้แต่ก็มีอำนาจใหม่ที่กดขี่ไม่แพ้กันขึ้นสู่อำนาจ เช่นที่ซามูเอล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวถึง "กระแสคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม" (Third Wave Democracy) ว่าการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมักจะมาเป็นกระแสคลื่นแต่ก็มักจะตามด้วยช่วงยุคสมัยที่ระบอบอำนาจนิยมพยายามปรับตัว
เคกกล่าวว่าประชาธิปไตยอาจจะถดถอยจากการรัฐประหาร จากสงครามกลางเมืองหรือจากกลุ่มที่ยึดอำนาจอย่างปราศจากความชอบธรรม และบางครั้งก็มีการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของรัฐบาลที่มาจากการสนับสนุนของคนจำนวนมาก แต่มีน้อยมากที่จะได้เห็นกลุ่มคนเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ประชาธิปไตยถูกแทนที่ด้วยระบอบทหารหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย
เคกยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอียิปต์ปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนออกมาประท้วงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ที่มาจากการเลือกตั้งลงจากอำนาจและผู้ประท้วงเหล่านี้ก็ตะโกนให้กำลังใจเมื่อกองทัพออกมาทำการรัฐประหารเพื่อต่อต้านมอร์ซีและกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ให้การสนับสนุนพรรคของเขา
แต่เคกก็ยังเปรียบเทียบกรณีของอียิปต์กับการประท้วงของไทยในตอนนี้ว่ามีความแตกต่างกัน โดยกล่าวว่าในอียิปต์ผู้ประท้วงดูจะสนับสนุนกองทัพในแง่ถ้าหากว่ารัฐบาลรักษาการที่แต่งตั้งโดยกองทัพยอมคืนอำนาจประชาธิปไตย แต่อาจจะมีการจำกัดสิทธิของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
"พูดอีกอย่างหนึ่งคือพวกเขาต้องการให้มอร์ซีและกลุ่มภราดรภาพมุสลิมบางส่วนออกไป โดยพร้อมสนับสนุนวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ถึงขั้นให้กำจัดประชาธิปไตยให้สิ้นซาก"เคกกล่าว เขายังได้พูดถึงกรณีในอียิปต์อีกว่าแม้พรรคของมอร์ซีจะชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก แต่ในเวลาที่มีผู้คนขับไล่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากอีกแล้วและนักวิเคราะห์ก็มองว่าพรรคของเขาอาจแพ้การเลือกตั้งครั้งถัดไป
เคกกล่าวในบทความว่า กรณีความขัดแย้งของไทยตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ต่างจากกรณีของอียิปต์มาก กลุ่มที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแค่กลุ่มที่พยายามปกป้องชนชั้นนำในระบบเก่าที่ประท้วงต่อต้านประชาธิปไตย
บทความของเคกระบุว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงความต่างดังกล่าวนี้คือนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเสื้อแดงยอมยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที ซึ่งมีการคำนวนไว้แล้วว่าการสนับสนุนแบบประชานิยมจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจนชนะการเลือกตั้งได้โดยง่าย สุเทพและผู้สนับสนุนสุเทพรู้เรื่องนี้ดีเพราะพรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2535 ทำให้สุเทพพยายามขยายเวลาการชุมนุมออกไปเรื่อยๆ เพื่อบีบให้ทหารออกมารัฐประหารก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงมีการใช้วิธีการทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งด้วยการไม่ส่งตัวแทนลงสมัครและพยายามให้ผู้สนับสนุนพวกเขาต่อต้านการเลือกตั้ง
เคกกล่าวโดยสรุปว่านี่เป็นสถานการณ์ประหลาดในไทยที่กลุ่มผู้ปกป้องชนชั้นนำเก่าของการเมืองไทยออกมาประท้วงเพื่อล้มล้างประชาธิปไตยและหวังให้มีการปกครองแบบเก่าที่มีการกดขี่คนส่วนมากของประเทศซึ่งเป็นคนจนและอยู่ในชนบท
เรียบเรียงจาก
In Thailand, Mass Protests Against Democracy, The Diplomat, 14-01-2014
http://thediplomat.com/2014/01/in-thailand-mass-protests-against-democracy/