บีบีซี และนิวยอร์กไทม์เผยบรรยากาศการ 'ปิดกรุงเทพฯ'วันแรกส่วนใหญ่เป็นไปโดยสงบ มีลักษณะไม่ต่างจากการประท้วงช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แค่เกลียดชังนายกฯ และพูดโวหารตามแกนนำ แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าบ้านเมืองจะไปในทิศทางใดต่อ
13 ม.ค. 2557 สื่อต่างประเทศ เช่น บีบีซี และนิวยอร์กไทม์ รายงานสถานการณ์ 'ปิดกรุงเทพฯ'ในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดย โธมัส ฟูลเลอร์ นักข่าวของนิวยอร์กไทม์รายงานว่า การประท้วงปิดกรุงเทพฯ ในวันจันทร์ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบ มีการปิดทางจราจรส่วนใหญ่และย่านธุรกิจสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ฟูลเลอร์ระบุว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในครั้งนี้เป็นข้อเรียกร้องที่มีความ "สุดโต่ง"ที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของประเทศในเอเชีย ซึ่งก็คือการเรียกร้องตั้ง "สภาประชาชน"ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
"จนถึงช่วงบ่ายของวันจันทร์ยังไม่มีรายงานความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุม และผู้สังเกตการณ์บางคนก็บอกว่ามันดูเหมือนเทศกาลคาร์ฟรีเดย์ (วันปลอดรถยนต์) ในเมืองหลวงมากกว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล"ฟูลเลอร์ระบุในรายงานข่าว อย่างไรก็ตามมีกลุ่มหัวรุนแรงบางส่วนที่ขู่ยึดตลาดหุ้นและระบบควบคุมการบินหากนายกฯ ยังไม่ลาออกภายในวันพุธนี้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ขอร้องให้ผู้ชุมนุมเห็นแก่ประเทศชาติด้วยการอย่าปิดระบบควบคุมการบิน
นอกจากการชุมนุมในกรุงเทพฯ แล้ว ฟูลเลอร์ยังรายงานเรื่องการที่หลายจังหวัดในประเทศไทยมีกลุ่มคนชุมนุมสนับสนุนการเลือกตั้งพร้อมชูป้าย "Respect My Vote" (เคารพเสียงของฉันด้วย)
นอกจากนี้ฝ่ายรัฐบาลยังได้เสนอให้เชิญชวนตัวแทนจากหลายกลุ่มรวมถึงกลุ่มแกนนำผู้ประท้วงเข้าร่วมหารือในกรณีที่ กกต.ขอเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นเดือน พ.ค. ซึ่งสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการของรักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่าเป็น "การเชิญชวนด้วยความจริงใจ"
ผู้ชุมนุมยังตอบไม่ได้ว่าไล่นายกฯ จะเป็นอย่างไรต่อ
อย่างไรก็ตาม โจนาธาน เฮด นักข่าวของบีบีซีแสดงความคิดเห็นว่าข้อเสนอของ กกต. ก็ยังไม่น่าจะทำให้ผู้ประท้วงพอใจได้เนื่องจากผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องให้ขับไล่ตระกูลชินวัตรออกจากการเมืองและให้คณะกรรมการจากการแต่งตั้ง 'ปฏิรูป'ระบบการเมืองเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่มีการเลือกตั้ง
บีบีซียังได้รายงานเหตุการณ์มือปืนลึกลับที่โจมตีใส่ผู้ชุมนุมในวันเสาร์จนมีผู้บาดเจ็บ 7 ราย และคืนวันอาทิตย์ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 1 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวอีกว่ามีเหตุยิงโจมตีที่ทำการพรรคฝ่ายค้านแต่ไม่มีรายงานความเสียหาย
โจนาธาน เฮด กล่าวถึงการชุมนุมว่าเป็นการชุมนุมที่มีบรรยากาศแบบเดิม มีเสียงนกหวีดและร่มสีสันต่างๆ มีการแสดงดนตรี มีคำปราศรัยปลุกเร้าอารมณ์ แต่ดูเหมือนว่าผู้ชุมนุมจะแสดงความเหนื่อยหน่ายออกมาหลังจากที่ชุมนุมมาเป็นเดือนที่ 3 แล้ว
เฮด กล่าวอีกว่าผู้ชุมนุมก็ยังดูไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเนื่องจากการเคลื่อนไหวนี้ส่วนใหญ่แล้วมาจากความเกลียดชังต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครอบครัวเธอ แม้ว่าพวกเขาจะรู้เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการและพูดถึง "การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"แต่เมื่อถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากนายกฯ ลาออกแล้วและกลุ่มผู้สนับสนุนนายกฯ นอกกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับการลาออก พวกเขาก็ไม่มีใครตอบได้
ในเรื่องความเป็นไปได้ในการรัฐประหารซึ่งเป็นข่าวลือหนาหูตอนนี้ เฮดกล่าวว่ายังมีโอกาสต่ำที่จะเกิดการรัฐประหารแต่ก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นไปไม่ได้ มวลชนบนท้องถนนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกมอำนาจในการเสี่ยงและต่อรองของผู้นำฝ่ายต่างๆ เท่านั้น
เฮด ยังได้สัมภาษณ์ อัญชะลี ไพรีรัก หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งเธอบอกว่าผู้ชุมนุมจะได้รับชัยชนะภายใน 3 วัน
บีบีซีรายงานอีกว่ามีการปิดถนนแยกสำคัญ 7 แห่ง มีโรงเรียน 150 แห่งหยุดทำการ แต่รัฐบาลไทยก็บอกว่าพวกเขาต้องการให้มีการดำเนินชีวิตตามปกติได้แม้จะมีการ 'ปิดกรุงเทพฯ'แล้ว โดยสั่งให้มีการเพิ่มเที่ยวขนส่งมวลชนรอบพิเศษ และให้มีแหล่งจอดรถนอกเมืองจำนวนมาก
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 8,000 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10,000 นาย เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยยิ่งลักษณ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทุกนายใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุดและอย่าใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม
เรียบเรียงจาก
Thailand crisis: Protesters launch Bangkok 'shutdown', BBC, 13-01-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-25708092
Protesters Occupy Bangkok’s Central Business District, New York Times, 13-01-2013
http://www.nytimes.com/2014/01/14/world/asia/thailand-protests.html