Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ชัชชาติไม่ 'ชัทดาวน์'ผุดเว็บรับมือการขนส่ง-เดินทางช่วงชุมนุมใหญ่

$
0
0

รมว.คมนาคม เผยมาตรการรับมือการเดินทางช่วงชุมนุม "ปิดกรุงเทพ" 13 ม.ค. เตรียมจุดจอดรถ 41 จุด เพิ่มเที่ยวขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟชานเมือง เรือด่วน และแจ้งทางเลี่ยง โดยขอให้ประชาชนเผื่อเวลาเดินทาง ใจเย็นๆ มีน้ำใจให้กัน และขอให้ "ยิ้มสู้"

12 ม.ค. 2557 - ก่อนการชุมนุม 'ปิดกรุงเทพ'วันที่ 13 ม.ค. ตามที่สุเทพ เทือกสุบรรณแกนนำ กปปส. ประกาศนั้น ก่อนหน้านี้วันที่ 10 ม.ค. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้โพสต์แผนรองรับการเดินทางในช่วงดังกล่าวในเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ดังนี้

"สำหรับการจราจรในอาทิตย์หน้า ช่วงปิดกรุงเทพ พวกเราที่ยังต้องเดินทางอยู่ ก็ขอให้วางแผนและเผื่อเวลาให้ดีครับ ทางคมนาคมมีการเตรียมที่จอดรถไว้ 41 จุดประมาณ 18,000 คัน กระจายอยู่ แต่ก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรถที่เข้า-ออก กรุงเทพด้านในวันละหลายแสนคัน จากการทำแบบจำลองเบื้องต้น ความเร็วเฉลี่ยของรถใน กทม. อาจจะลดลงประมาณ 50% ดังนั้น เราคงต้องเผื่อเวลาในการเดินทางพอสมควร

สำหรับระบบขนส่งสาธารณะก็จัดเต็มที่ครับ รถใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟชานเมือง รถด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ รายละเอียดต่างๆ จุดเชื่อมต่อ ทางเลี่ยงต่างๆ สถานการณ์ ดูได้ที่ www.mot.go.th

เมื่อเช้า ผมก็ทดลองนั่งรถไฟชานเมือง(ฟรี) จากหัวหมากมาลงที่อโศก และต่อรถใต้ดินมาจตุจักรก็สะดวกดีครับ ช่วงบ่ายไปดูที่จอดรถที่ดอนเมืองและนั่งรถเวียน(ฟรี) ไปที่สถานีรถไฟดอนเมืองที่จะมีรถไฟชานเมืองวิ่งเข้าหัวลำโพงทุกๆ 15 นาที และสามารถไปเชื่อมรถใต้ดินที่สถานีบางซื่อ หรือ หัวลำโพงครับ

ในช่วงปิดกรุงเทพ ที่ผมห่วงที่สุดคือการกระทบกระทั่งกัน จนเกิดความรุนแรง ขอให้พวกเราใจเย็นๆ นะครับ อะลุ่มอล่วยกัน มีน้ำใจให้กัน ไปถึงช้าหน่อยดีกว่าไปไม่ถึง วางแผนการเดินทางและติดตามข้อมูลด้วยครับ"

 

และในวันที่ 11 ม.ค. ชัชชาติได้โพสต์บทความ "เตรียมพร้อมรับมือ หากปิดกรุงเทพ"พร้อมภาพไปใส่บาตรที่ จ.สุรินทร์เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ที่มีคนนำไปทำเป็นล้อ โดยภาพที่ปรากฏในเพจของชัชชาติมีการเติมรูปดาวลงไปที่เสื้อด้วย เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า "Shutdown"โดยบทความของชัชชาติมีเนื้อหาดังนี้

"เตรียมพร้อมรับมือ

จากการวิเคราะห์แบบจำลองทางการจราจรล่าสุดจากแผนการปิดถนน 7 จุด โดยสมมติว่า ปริมาณการจราจรเข้าออกพื้นที่ลดลง 50% และมีช่องรถเมล์ผ่าน 1 เลนและควบคุมไม่ให้เกิด Grid lock ในพื้นที่ได้พบว่า

เส้นทางที่เข้าถึงยาก
- พระราม 1 ช่วงปทุมวัน-ราชประสงค์
- ถนนราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนพญาไท

เส้นทางติดขัดรุนแรง (ความเร็วต่ำกว่า 5 ก.ม./ช.ม.)
- ถนนพหลโยธิน
- ถนนราชวิถีช่วงเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 
- ถนนสุขุมวิทซอย 1-19
- ถนนพระราม 4 ช่วงสาธร-คลองเตย
- ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงเข้าสาธร
- สะพานตากสิน
- สะพานกรุงธนบุรี

เส้นทางติดขัดมาก (5-8 ก.ม./ช.ม.) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่/ ถนนพระราม 4/ ถนนลาดพร้าวช่วงต้น/ ถนนจตุรทิศ/ ถนนดินแดง/ ถนนราชวิถี/ ถนนพระราม 6/ ถนนรัชดา/ ถนนสุทธิสาร/ ถนนเจริญกรุง/ ถนนสามเสน/ ถนนเยาวราช/ ถนนมหาไชย/ ถนนราชดำเนินกลาง/ สะพานพระปกเกล้า/ สะพานพระปิ่นเกล้า และ สะพานพระราม 8 (เกือบทุกถนนแล้ว)

ทางตำรวจก็ได้เตรียมจุดกลับรถไว้ก่อนที่ชุมนุม เพื่อให้รถยนต์ไม่ติดค้าง(คา)และสะสมต่อเนื่ิองดูข้อมูลวิเคราะห์การจราจรได้จากลิงก์นี้ครับ http://www.mot.go.th/bkk_traffic_modelling.pdf

การรับมือ "ชัชดาว" (รูปผมตอนใส่บาตรที่สุรินทร์ มีพวกเราเอาไปตัดต่อกันเยอะ รูปชัชดาวนี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ไอเดียสุดยอดจริงๆ ขอคารวะ) นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว คงต้องใช้วิธี "ยิ้มสู้"ครับ มองโลกในแง่ดีว่าทำให้ได้หยุดเรียน มีข้ออ้างในการมาทำงานสาย และกลับบ้านดึก มีเวลาอยู่กับครอบครัวในรถมากขึ้น จะได้ไม่เครียดมาก

นึกถึงตอนนึงของบทเพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้ ครับ

".. ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ
โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง
ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้ ..."

 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เปิดเว็บไซต์ "ศูนย์อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน"  (http://vdevhostnetdemo.com/mot) เพื่อรองรับผลกระทบจากการชุมนุมในวันที่ 13 ม.ค. โดยมีการแสดงจุดบริการประชาชน เส้นทางหลีกเลี่ยงการชุมนุม จุดจอดรถยนต์รอบกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางด้วยรถสาธารณะ เส้นทางเดินเรือเสริมพิเศษในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งเส้นทางขบวนรถไฟชานเมือง เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles