กกต.นัดถกปมปัญหาเลือกตั้งนาน 3 ชม. เผยไร้ข้อยุติ นัดประชุมอีกครั้ง 13 ม.ค.นี้ “ธีรวัฒน์” ระบุที่ประชุมมอบ ประธาน กกต.แถลง ด้าน “สมชัย ” กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ขอรัฐบาลพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ปรึกษาหารือกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม คาดรัฐบาลใช้เวลาพิจารณา 1 สัปดาห์
10 ม.ค. 2557 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 28 เขตเลือกตั้ง ใน 8 จังหวัด โดยมี กกต.เข้าประชุมเพียง 4 คน ยกเว้นนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ที่ติดภารกิจเดินทางไปยังจ.ยะลา แต่ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามายังในที่ประชุม กกต.ด้วย จากนั้นภายหลังการประชุม กกต.เสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น. ไม่ได้มีการแถลงข่าวผลการประชุมให้สื่อมวลชนได้รับทราบแต่อย่างใด โดย กกต.แต่ละคนเมื่อประชุมเสร็จต่างก็แยกย้ายเดินทางกลับ
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.ได้หารือเรื่องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป และยังได้หารือถึงข้อห่วงใยของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึง กกต.ให้ทบทวนการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงว่าจะสูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งเปล่าประโยชน์ รวมทั้งกรณีที่ศาลฎีกาไม่รับคำฟ้องของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 28 เขตเลือกตั้ง ทั้ง 3 ประเด็นยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะออกมาในแนวทางใด โดยที่ประชุม กกต.จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค.นี้ โดยจะกำหนดสถานที่ในการประชุมอีกครั้ง
นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่า วันนี้ กกต.ได้หารือร่วมกัน ส่วนประเด็นในการหารือ ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.เป็นผู้แถลงในเรื่องดังกล่าว
เลขาธิการ กกต.ถกกลาโหมขอความช่วยเหลือเลือกตั้ง ยังไม่ได้ข้อสรุป
มติชนออนไลน์รายงานว่านายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ได้ไปหารือร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมและตัวแทนเหล่าทัพ ว่า ทางกองทัพจะดำเนินการช่วยเหลือในการเลือกตั้งอย่างไร ถือเป็นเรื่องปกติที่ กกต.จะขอความร่วมมือจากกองทัพให้เข้ามาช่วยดูแลการเลือกตั้ง เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในการพูดคุยเป็นการหารือเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องกลับมาถามความเห็นของ กกต.อีกครั้งว่าต้องการให้กองทัพช่วยเหลือในด้านใดบ้าง
ส่วนกรณีที่ กกต.เตรียมย้ายสถานที่ในการทำงานเนื่องจากจะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส.ในวันที่ 13 มกราคม ได้เตรียมพื้นที่สำรองในเบื้องต้นแล้ว คือ สถานที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรีและชลบุรี
“สมชัย ” กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ขอรัฐบาลพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดการเลือกตั้งใหม่
ก่อนหน้านี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยอมรับว่า กกต.ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้กำหนดการเลือกตั้งใหม่แล้ว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าจากหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร และ 22 เขตเลือกตั้ง ที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียว ดังนั้น หากเดินหน้าเลือกตั้งก็จะได้ ส.ส.ไม่ครบร้อยละ 95 จะทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่ดี
นอกจากนี้นายสมชัยระบุว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเองก็แนะนำให้ กกต.ทบทวนวันเลือกตั้ง เพราะเกรงจะเกิดความสิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า รวมถึงหากจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ไปแล้ว และต้องจัดการเลือกตั้งเพิ่มในอีก 28 เขตเลือกตั้ง อาจผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์พิจารณาและมีมติในเรื่องนี้
ข่าวสดรายงานว่ารายงานว่านายสมชัยเปิดเผยภายหลังการประชุม กกต.ว่าที่ประชุม กกต.มีมติทำหนังสือเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้พิจารณาออกพระราชกฤษกีกากำหนดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้มีการปรึกษาหารือกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม โดยมีเหตุผลสำคัญ 6 ประการ คือ
1.กรณีที่ 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งส.สงแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลย หากเลือกตั้งไปและประกาศผลการเลือกตั้ง ก็มีส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95 ที่กฎหมายกำหนดว่าจะทำให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
2.ขณะนี้มี 22 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.เพียงคนเดียว การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ผู้สมัครในเขตดังกล่าวอาจได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จึงอาจต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกหลายครั้งซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
3.สถานการณ์ขัดขวางการเลือกตั้งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น
4.การหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง โดยกกต.ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่างๆ ในการสนับสนุนกำลังคนและสถานที่ ซึ่งคาดว่าจะขาดกรรมการประจำหน่วยอีกเป็นแสนคนซึ่งจะกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง
5.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือมาขอให้กกต.พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. โดยเกรงว่า หากเดินหน้าจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ 3,885 ล้าน
6.การเลือกตั้งในสภาพการที่ 28 เขตเลือกตั้งของภาคใต้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นอาจทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ถูกตีความว่าไม่ได้เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่กำหนดให้วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ซึ่งหลังการเลือกตั้งอาจมีผู้ฟ้องร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและทำให้งบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งสูญเปล่า
“เราเห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการคนที่ 1 ตามพ.ร.ฎ.ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. และประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการคนที่ 2 ดังนั้นกกต.ก็ขอใช้สิทธิแสดงจุดยืนนี้ไปยังรัฐบาล ซึ่งก็ถือว่าเป็นจุดยืนอีกครั้งหนึ่งที่คิดว่ารัฐบาลน่าจะรับฟัง เพราะไม่ใช่การคาดการณ์ แต่อยู่บนพื้นฐานที่ว่ามันมีพัฒนาการของสถานการณ์ที่ทำให้เห็นชัดว่าจะมีปัญหาอะไรบ้างเกิดขึ้นหากยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ต่อไป เช่นตอนนี้แน่นอนแล้วว่าใน 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร เลือกตั้งไปก็เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่หากรัฐบาลยังคงยืนในจุดยืนเดิมจะให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. กกต.ก็เดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป” นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามว่า หนังสือที่ สตง.มีถึง กกต. ถือว่ามีน้ำหนักที่ทำให้ กกต.มีมติในวันนี้ใช่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ให้น้ำหนักกับทั้ง 6 ประเด็น ไม่ได้เฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น
เมื่อถามต่อว่าแสดงว่าการที่ กกต.มีหนังสือไปยังรัฐบาลครั้งนี้ก็เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวกกต.ไม่ให้ถูกฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช่หรือไม่ หากกรณีหลังการเลือกตั้งมีการฟ้องร้องให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ นายสมชัย กล่าวว่า เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราเพียงวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ แล้วเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกตั้ง 2 ก.พ. เพราะเลือกตั้งไปมันก็จะมีการร้องเรียนและฟ้องร้องต่างๆ ตามมามากมาย
(อัปเดทข้อมูลเมื่อเวลา 21.05 น.)