นิสิต มศว-เกษตร นำจุดเทียนขอสันติภาพและเลือกตั้ง พบนิสิตเคยเป่านกหวีดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษ - เดินทางไกลค้านเขื่อนแม่วงก์เข้าร่วม ชี้พหุสังคมการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการตัดสินถูกผิด
9 ม.ค.2557 เมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริเวณหน้าสวูนิเพลซ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) นิสิต อาจารย์ บุคลากรและบุคคลทั่วไป ประมาณ 300 คน รวมตัวใส่เสื้อขาว ในกิจกรรม “จุดเทียน เขียนสันติภาพ เพื่อต่อต้านความรุนแรง” โดยกิจกรรมมีการปราศรัยของนิสิต การเขียนข้อความและโปสการ์ดถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ และในเวลา 18.30 น. ได้ร่วมกันจุดเทียน พร้อมตะโกนคำว่า “1 สิทธิ 1 เสียง” “เลือกตั้ง” ก่อนจะสลายการชุมนุม
กลุ่มผู้จัดกิจกรรมนี้ให้เหตุผลของารจัดกิจกรรมว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อปลุกสำนึกให้ทุกฝ่ายในสังคมตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงหรือการสร้างเงือนไขให้เกิดความเกลียดชังกันนั้นมีแต่จะนำสังคมไปสู่ความมืดมิด เพราะความรุนแรงจะเป็นตัวปิดกั้นการใคร่ครวญโดยใช้ปัญญาของผู้คน และผู้จัดกิจกรรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสว่างไสวของแสงเทียนครั้งนี้จะส่องให้ทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยและหันกลับมาแสวงหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติ
วันเดียวกันมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ บางเขน และที่ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่
ภาพจาก ม.เกษตร ดูคลิปวิดีโอได้ที่เฟซบุ๊ก Bundit Thianrat
ชลธิชา แจ้งเร็ว
เคยร่วมเดินทางไกลค้านเขื่อนแม่วงก์ แต่เอาเลือกตั้ง
ชลธิชา แจ้งเร็ว นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ มศว ในฐานะผู้ร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้เปิดเผยถึงที่มาในการจัดกิจกรรมว่าเริ่มจากตนและเพื่อนๆ ใช้พื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กเพื่อใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับสังคม โดยมีผู้เสนอว่ามาทำกิจกรรมจุดเทียนเพื่อรณรงค์ไม่ให้เกิดความรุนแรงทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเหตุเพราะสถานการณ์ขณะนี้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรง อีกทั้งเราต้องการรักษาสิทธิการเลือกตั้ง จึงทำให้เธอและเพื่อนรวม 4 คนคุยกันเพื่อจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์เชิญชวนเพื่อในเฟซบุ๊กต่อว่าจะมีกิจกรรมในวันนี้
ชลธิชา ยืนยันว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้จัดในนามมหาวิทยาลัยและไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใด และยังโดนบีบด้วย เพราะเธออยู่ในสังคมที่เมื่อคิดต่างก็ถูกยัดเยียดสีให้ ตอนที่เธอออกไปค้านเขื่อนแม่วงก์ กับคุณศศิน เฉลิมลาภ ซึ่งเดินที่ชัยนาท อ่างทอง แต่พอมีเรียนก็กลับมาเรียน ตอนนั้นก็ถูกยัดเยียดสีเสื้อให้เช่นกัน แต่ที่ทำนั้นก็เพื่อค้านสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม รวมทั้งความไม่คุ้มค่าในการลงทุน อีกทั้งขณะนั้นได้มีโอกาสลงพื้นที่ก็พบด้วยว่าชาวบ้านก็ยังไม่ทราบข้อมูลด้วยซ้ำว่าต้องโดนเวนคืนที่ดิน จึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมและไปร่วมค้านจนถูกกล่าวหาว่าเป็นเสื้อสีหนึ่งไปด้วย
พหุสังคมการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการตัดสินถูกผิด
ชลธิชากล่าวว่า เมื่อยึดหลักประชาธิปไตย จริงอยู่ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย แต่เมื่อมันเป็นกฏเกณฑ์ที่สังคมร่วมกันวางไว้ มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องออกไปจากกฏเกณฑ์นี้ หากอยากให้มีการปฎิรูปก็ทำได้ แต่ใครจะเป็นคนที่จะปฏิรูป จากคนกลุ่มนั้นกลุ่มเดียวหรือ พวกเขาไม่ใช่คนทั้งหมดของประเทศที่ ดังนั้น การเลือกตั้งมันเป็นการแสดงออกของคนทุกคน และเป็นสิ่งยืนยันพื้นฐานว่า 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียง เท่ากัน เรามีความเป็นคนเท่ากัน เราต้องรับฟังตรงนี้ด้วย
“คนในสังคมคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เมื่อคิดไม่เหมือนกันแล้วคุณจะเอาอะไรมาวัดว่าอันไหนคือสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่ถูกต้อง มันวัดไม่ได้ เพราะทุกวันนี้หนูก็ถามอยู่ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง ความดีของพี่กับความดีของหนูก็ไม่เท่ากันแล้ว จึงอยากได้ที่มันเป็นหลักการ เป็นกฏเกณฑ์ร่วมกันในสังคม เป็นตัวควบคุมตรงนี้ จึงคิดว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้” ชลธิชากล่าว
“ถ้าคุณอยากให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ ก็มาเสนอ แล้วให้เกิดจากเสียงของประชาชนทั้งหมดในการตัดสินใจตรงนี้ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น เราให้ค่าความดีความถูกต้องไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่ามันว่าสังคมเป็นพหุสังคม มันมีความแตกต่างกัน” ชลธิชากล่าวทิ้งท้าย
สุทธิพงษ์ ศรีไพรวรรณ์
จากเคยเป่านกหวีกค้าน พรบ.นิรโทษฯ วันนี้มาจุดเทียหนุนเลือกตั้ง
สุทธิพงษ์ ศรีไพรวรรณ์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มศว ซึ่งเคยร่วมเป่านกหวีดต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ให้เหตุผลการร่วมค้านกฎหมายดังกล่าวว่า วันนั้นรัฐบาลมีอำนาจและใช้อำนาจโดยไม่ได้ถามไถ่ประชาชน ตนในฐานประชาชนคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยจึงออกไปร่วมแสดงพลัง และส่งผลให้รัฐบาลต้องถอย
อดีตผู้ร่วมเป่านกหวีดตั้งคำถามยังแกนนำ กปปส. ด้วยว่า วันนี้แกนนำในการประท้วงไม่มีจุดยืนที่เด่นชัดแน่นอน สิ่งหนึ่งคือไม่มีเส้นชัย ไม่มีจุดจบ จึงมาแสดงพลังว่าวันนี้คุณต้องหยุดได้แล้ว เพราะถ้าคุณไม่หยุดชาติบ้านเมืองเสียหาย พี่น้องประชาชนเสียหาย แล้วจะเหลืออะไร แต่ละฝ่ายต่างก็พูดเรื่องปรองดอง บ้านเมืองต้องพัฒนา ต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่คุณไม่เคยถอยให้กันเลย
เรากำลังเข้าป่าเข้าดงที่มองไม่เห็นว่าจะไปทางไหน
สุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า “วันนี้เราเดินกันมาเลยทางที่ปลอดภัยแล้ว เรากำลังเข้าป่าเข้าดงพงไพรที่มันมีแต่สัตว์ อสรพิษ มีแต่ทางที่มองไม่เห็นว่าจะไปทางไหน อาจจะตกเหวก็ได้ แล้วใครรับผล ชาติบ้านเมืองประชาชนตาดำๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมอยากให้ทุกคนถอย แกนนำถอยได้แล้ว ให้มีการเลือกตั้ง ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกันแล้วก็ใช้ระบบรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุล องค์กรอิสระก็ไปปฏิรูปตรงนั้น”
ไม่เอารัฐประหาร จะดีจะชั่วก็ต้องแก้ปัญหาด้วกระบวนการที่ถูก
“ทำไมบางประเทศเขาต่อสู้กันแทบตายเพื่อให้ได้มีการเลือกตั้ง แต่ประเทศไทยกลับมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาไม่รับการเลือกตั้ง แล้วผมก็คิดว่าเขาจะดีใจด้วยถ้าทหารเอาปืนออกมารัฐประหาร ซึ่งผมรับไม่ได้ เพราะอย่างไรจะดีจะชั่วคุณต้องใช้กระบวนการที่ถูกต้องที่คนยอมรับกันในการแก้ไขปัญหา” สุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
เบล ไอรดา
การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานที่สุดในการแสดงมติของประชาชน
เบล ไอรดา (สงวนนามสกุล) นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ มศว กล่าวถึงเหตุผลที่เห็นว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้เป็นทางออกเนื่องจากระบบประชาธิปไตยทุกประเทศ การเลือกตั้งและการทำประชามติถือเป็นพื้นฐานที่สุดในการแสดงมติของประชาชนจริงๆ เพราะเป็นการตอบโจทย์ตัณหาความอยากทางการเมืองว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร
อำนาจที่ไม่ได้มาโดยระบบ การทุจริตจะยิ่งร้ายกว่า
เบล กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปนั้นทุกคนอย่างเห็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่การเลือกตั้งต้องมาก่อนเพราะว่าการปฏิรูปควรอยู่ในรูปของกฏหมาย เพราะไม่เช่นนั้นมันจะทำลายระบบนิติรัฐและระบบนิติธรรม รวมไปถึงการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นนั้นจะทำงานไม่ได้ หากอำนาจของการปฏิรูปไม่ได้มาด้วยกลไกการเลือกตั้งและไม่มีกฏหมายรองรับ การคอรัปชั่นมันจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าระบอบการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ
ประมวลภาพกิจกรรมที่ มศว :