6 เม.ย.54 หรือเมื่อวันจักรีที่ผ่านมา เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน นำโดยนายบวร ยสินทร ได้จัดงานเสวนา และรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง
นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมกอบกู้ชาติได้ขึ้นเสวนาพร้อมนายบวร บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตลอดการเสวนา นายบวรกล่าวชี้แจงจุดประสงค์ของกิจกรรมว่ามีอยู่ 3 ประการนั่นคือ 1) คัดค้าน พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน 2) คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68, 190 รวมถึงเรื่องที่มาของ ส.ว. 3) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยในวันอังคารที่ 9 เม.ย.นี้ ทางกลุ่มจะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้ประชาชนไปร่วมแสดงพลังอีกครั้งในวันนั้น
น.พ.ตุลย์ กล่าวว่าที่รัฐธรรมนูญยังแก้ไม่ได้ก็เพราะได้คุณบวรไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนี่เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง อย่าไปเชื่อพวก ส.ส. ที่บอกว่าตุลาการเข้าแทรกแซงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าคิดแบบนี้ไม่ได้เรียกประชาธิปไตยแต่เรียกอนาธิปไตย (anarchy) อ้างเสียงข้างมากจนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป แบบนี้ไม่ใช่นิติรัฐ ไหนจะเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง ปกติเราจะกู้เงินก็ต้องบอกก่อนว่าจะเอาไปทำอะไร แต่รัฐบาลนี้กลับไม่บอกรายละเอียดประชาชนเลย บอกว่าจะพัฒนาแต่เล่นพัฒนาด้านเดียวคือแค่รถไฟความเร็วสูงแบบนี้ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร “ประชาชนไม่ใช่ควายนะเว้ย” ระวังจะพาประเทศเป็นแบบประเทศ Greece แล้วงานนี้ประชาชนจะได้กรี๊ดสลบ ประเทศชาติตอนนี้เหมือนเรือ Titanic ที่เห็นภูเขาน้ำแข็งอยู่ตรงหน้า แต่ก็ยังดื้อด้านเร่งเครื่องวิ่งเข้าไปชน เราภาคประชาชนจึงต้องออกมาเรียกร้อง
นายบวรกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ในประเด็นแรกคือเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ จริงๆประเด็นเรื่อง ส.ว. เป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ประเด็นใหญ่ที่เราคัดค้านจริงจังคือเรื่องการแก้มาตรา 68 เรื่องการตัดสิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และมาตร 190 ที่หนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคมจะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยตนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงขอยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของตนเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตนไปยื่นที่สำนักงานอัยการสูงสุดก่อนถึง 3 เดือนแต่เมื่อเห็นว่าไม่มีความคืบหน้าจึงไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้น เรียกได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้วว่าชอบธรรม อีกทั้งอัยการสูงสุดมีเพียงแค่ 1 คนในขณะที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีถึง 5 คน ย่อมมีความรอบคอบกว่าอยู่แล้ว ที่สำคัญ การกระทำของตนยังสอดคล้องกับมาตรา 69 ที่ระบุว่าบุคคลสามารต่อต้านผู้ล้มล้างการปกครองได้โดยสันติ
บวรกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 190 การยกเลิกมาตรานี้เป็นการตัดสิทธิ์ของประชาชนในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การที่ต้องนำการตัดสินใจทำสนธิสัญญาใหญ่ๆ ของรัฐบาลเข้าสภาคือการกำหนดกรอบในการเจรจา เหมือนกับการไปประมูลก็ต้องมีกรอบว่าห้ามเกินเท่าไร ถ้าเกินกรอบก็ทำบันทึกช่วยจำ(MOU) แล้วเอากลับมาถกกันใหม่ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ใช้วิธีนี้กัน เราจะรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านความพยายามในการแก้มาตรานี้ด้วย เรายังไม่ลงรายละเอียดในวันนี้ แต่ขอให้พี่น้องศรัทธาว่าเสานำบัตรประชาชนของพวกท่านได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ดีแน่นอน เพียงแต่เราเห็นว่าไหนๆ ก็ขอแล้วก็ขอเผื่อไว้เลย พี่น้องจะได้ไม่ต้องมาหลายๆ ครั้ง
บวรกล่าวต่อว่า ประเด็นต่อไปคือเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้าน พูดง่ายๆ คือเราไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะใจซื่อมือสะอาด กลัวว่าจะเป็นเหมือนกับเงินกู้แก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีทางทำเสร็จภายในเวลา 5 ปีตามที่กำหนดไว้ เมื่อมาดูในรายละเอียดตาม พ.ร.บ. ที่เข้าสภาไป มันน่าเป็นห่วงตรงที่เป็นการใช้เงินก่อนแล้วค่อยออกระเบียบตามมา เหมือนไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งเงินจำนวนขนาดนี้จะทำอย่างนั้นไม่ได้ เมื่อมาดูตัวโครงการก็ขัดต่อหลักการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ปกติแล้วต้องวิ่งยาว แต่นี่มันเป็นการต่อรถ กว่าจะขนผักขนเนื้อลงก็เน่าหมดพอดี ที่สำคัญราคาตั๋วก็ไม่ใช่ถูกๆ พวกที่หวังจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงฟรีลืมไปได้เลย เพราะฉะนั้นเราคัดค้านเรื่องนี้แน่ๆ แต่วิธีการเราขอสงวนไว้ก่อน
เขากล่าวด้วยว่า เรื่องสุดท้ายคือเรื่องต้นตอของปัญหา ระบบการเมืองของเราล้มเหลวทำให้เลือกตั้งได้นักการเมือง “ง่อนๆ แง่นๆ” มาบริหารประเทศ หากเราดูอย่างประเทศอังกฤษที่เขาเป็นราชอาณาจักรเหมือนกับเรา เขามีสภาสูง หรือ house of lord ที่สมาชิกสภามาจากการคัดสรร 100 เปอร์เซ็นต์ ในกรุงเอเธนส์ที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยทางตรง เขามีสภาพลเมือง หรือ demos แต่ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทุกคนเข้าไปต้องมีคุณสมบัติบางอย่างถึงจะเป็น demos ได้ เช่น ไม่มีหนี้ ไม่เป็นทาส เป็นเพศชาย เสียภาษีครบถ้วน มันทำให้ประชาธิปไตยของเขามีคุณภาพ demos จึงเป็นรากศัพท์ของคำว่า democracy หรือประชาธิปไตย อีกทั้งความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาพร้อมสิทธิเท่าเทียมกันก็เป็นแนวคิดของพวกยิว พุทธศาสนาเราเชื่อว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับหน้าที่ เช่นแม่ต้องเกิดมาพร้อมหน้าที่ในการอุ้มท้อง เลี้ยงลูก ไม่มีสิทธิเลือก แต่สิทธิเกิดขึ้นเมื่อเรามารวมกันเป็นสังคม นี่เป็นปัญหาของนักการเมืองไทย ที่อ้างสิทธิจนลืมหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องเป็นคนดีช่วยเหลือผู้อื่น อับบราฮัม ลินคอล์นเคยพูดว่า “ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน” แต่ผมว่าไม่ใช่ ต้องเป็น “ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนคุณภาพ เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ และโดยประชาชนคุณภาพ” ไม่อย่างนั้นก็ซื้อสิทธิ์ขายเสียงกับแบบทุกวันนี้ เพื่อการปฏิรูประบบการเมืองผมจึงต้องขอสำเนาบัตรประชาชนจากพี่น้องไว้อีกหนึ่งฉบับ และเราจะมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อหาแนวร่วม
บวรย้ำว่า แนวทางของกลุ่มเราว่าเรายังคงเน้นเรื่อง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พวกเราอย่าไปหลงกลเล่นตามเกมของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขาชอบสร้างตรรกะวิบัติ พูดเหมือนกับบ้านเมืองเรายังไม่มีระบอบการปกครอง ต้องมานั่งตกลงกันใหม่ว่าเราจะเอาสถาบันกษัตริย์หรือไม่? ต้องมีมาตรา 112 ไหม? ทั้งๆ ที่เราเลือกมาเป็นพันปีแล้วว่านี่คือระบอบที่ดีที่สุด อีกทั้งยังชอบถามคำถามแปลกๆ เช่น รู้ได้อย่างไรว่าในหลวงทำงานหนักจริง ถามแบบนี้เหมือนถามว่ารู้ได้ไงว่าปลาวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เขารู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง “มีมึงคนเดียวแหละที่ไม่รู้” และที่อยากเตือนทุกคนคืออย่าลืมว่าเราต้องไม่เทิดทูนเพียงอย่างเดียว เราต้องเล็งเห็นบทบาทของพระองค์ว่าทรงปกครองประเทศ มิได้ทรงบริหารประเทศ พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง เราอาจมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องของนโยบายรัฐบาลได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องในระดับการเมือง แต่เราจะเห็นต่างในระบบกษัตริย์ไม่ได้ การปกป้องสถาบันไม่ใช่แค่การเทิดทูน แต่ต้องเข้าใจบทบาทของพระองค์ว่ายังคงไว้ซึ่งพระราชบารมีทุกประการ