กลุ่มเครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ Ikatan Rumaja Independent Se-PATANI หรือ IRIS ได้ก่อตัวกันขึ้นในปี 2554 โดยนายอาร์ฟาน วัฒนะ พร้อมกับกลุ่มเพื่อนประมาณ 4-5 คน เนื่องด้วยความเชื่อพื้นฐานที่ว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของสังคม และควรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
การรวมตัวของเครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพ
อาร์ฟาน วัฒนะ ประธานกลุ่มเครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IRIS) กล่าวว่า ช่วงแรกในปี 2554 มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน และในปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 25 คน สมาชิกของ IRIS นั้นจะเป็นนักศึกษาในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล
การรวมกลุ่ม IRIS นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ในการรวมตัวและสร้างเครือข่ายของเยาวชนปาตานี มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีนโนบายในการทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมเยาวชนและศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เผยแพร่ต่อประชาชนเนื่องจากเห็นว่าท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งกรณีกรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ เกือบทุกเหตุการณ์ เยาวชนเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ของ IRIS จะพยายามจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบสันติภาพ
“เห็นได้ว่า มุมหนึ่งเยาวชนเป็นแนวปะทะสำคัญของความขัดแย้ง ผมว่า อีกมุมหนึ่งเยาวชนก็เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสันติภาพเช่นกัน”
กิจกรรมของ IRIS เสริมสร้างศักยภาพนักศึกษา
ปี 2554 ซึ่งเป็นปีแรกของการรวมตัวนั้น กิจกรรมของกลุ่ม IRIS จะเป็นไปในลักษณะการพบปะพูดคุยกัน เพื่อสร้างความสนิทสนมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน และจัดกิจกรรมทัศนะศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี ที่เมืองโบราณยะรัง มัสยิดกรือเซะ มัสยิดตะโละมาเนาะ วังโบราณ และสุสานของบุคคลสำคัญ เพื่อเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนใต้แก่สมาชิกกลุ่ม
ต่อมาปี 2555 เริ่มดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านที่บ้านตันหยงบุดี ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และกิจกรรมค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อนที่บ้านควนด่านใต้ อ.นาทวี จ.สงขลา
ในปี 2556 ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาสู่ภาวการณ์เป็นผู้นำ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Leader capacity building for PATANI youth student project หรือ LPP ลักษณะเป็นกิจกรรมประจำสัปดาห์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี เวลา 20:00 – 22:00 น. ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา เนื้อหากิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วนั้นได้แก่ ความสำคัญของบทบาทของหนุ่มสาวอิสลาม กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางออกประเทศไทยกับสันติภาพปาตานี เป็นต้น
กิจกรรมล่าสุด คือ “JOM GAEGAE” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อ 14 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมเดินทางกลับไปเยี่ยมชายหาดแฆแฆ มีผู้เข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 16 คน
อาร์ฟานเล่าว่า ขณะกำลังเล่นน้ำทะเลอย่างสนุกสนานบนชายหาด ก็มีทหารกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาตรวจสอบและถามว่า “มาทำอะไรกันบนหาดร้างที่นี่ พวกเราว่า ก็เพราะมันร้างไงเราถึงกลับมาเพื่อเติมชีวิตชีวา เราเข้าใจนะ ทหารก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง”
สันติภาพในมุมมองของ IRIS
อาร์ฟาน กล่าวว่า IRIS เป็นพื้นที่ของคนหลายคน ดังนั้นสันติภาพในมุมมองของ IRIS อาจจะมีรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามความคิดเห็นของบุคคล อย่างเช่นรูปแบบการปกครอง บางคนต้องการเอกราช บางคนต้องการออโตโนมี บางคนต้องการอยู่กับรัฐไทย แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ สันติภาพ
“ผมเชื่อว่า สันติภาพปาตานีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสันติภาพนั้นมาจากเสียงประชาชน”
IRIS เป็นพื้นที่กลางในการส่งเสียงถกเถียงกัน ไม่ว่าใครจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ตาม ก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตนเอง โดยยืนบนหลักการของเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง
“คาดหวังว่า IRIS จะเป็นเครื่องมือออกไปแสวงหาสันติภาพร่วมกัน”
กลุ่มกิจกรรมอิสระ ขับเคลื่อนด้วยใจ
ถึงแม้สมาชิกแกนหลักของกลุ่ม IRIS จะเป็นนักศึกษา มอ.ปัตตานีทั้งหมด แต่กลุ่มกิจกรรม IRIS ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพราะต้องการให้กิจกรรมนั้นสามารถดำเนินได้อย่างเป็นอิสระ ส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็เปิดพื้นที่สำหรับเยาวชนโดยทั่วไป
กิจกรรมของกลุ่ม IRIS นั้นเดินด้วยเงินสมทบทุนของสมาชิกกลุ่ม การเดินเปิดหมวกในตลาดนัด และการขายเข็มกลัด อย่างเช่น กิจกรรมในโครงการ “JOM GAEGAE” ผู้เข้าร่วมก็ขับมอเตอร์ไซด์ของตนเองในการเดินทาง ส่วนเรื่องอาหารผู้เข้าร่วมก็จัดการตนเองตามปกติ เพราะถ้าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมก็ต้องจัดการตนเองอยู่แล้ว
กิจกรรมค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อนที่บ้านควนด่านใต้ อ.นาทวี จ.สงขลา ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็เดินได้ด้วยเงินสมทบทุนของสมาชิกกลุ่ม เดินเปิดหมวก และขายเข็มกลัด
“คนเราอาจมองว่า ถ้าไม่มีเงิน กิจกรรมก็ไม่เดิน แต่ที่ทำงานมา เรารู้ว่า แค่จิตอาสาทุกอย่างก็เดินได้”
เชื่อมเครือข่ายกับ PerMAS
หลังจากรวมกลุ่มในปี 2554 IRIS ก็ได้เชื่อมเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมกับกลุ่ม PerMAS ทำให้กิจกรรมของ IRIS ได้ขยายวงมากขึ้น คือ กิจกรรมการลงพื้นที่ไปเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ร่วมในกิจกรรมการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง และกิจกรรมอื่นๆ
“กลุ่มที่เชื่อมเครือข่ายกับ PerMAS จะต้องส่งสมาชิกกลุ่มเพื่อไปเป็นคณะกรรมการด้วย ส่วนผมนี่ก็เป็นรองประธานฝ่าย advocacy ของ PreMAS”
การเชื่อมกับ PerMAS นี้เองทำให้ IRIS ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกับ PerMAS อีกด้วย เช่น Restu, Kawan-Kawan, BB, selatan เป็นต้น
เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา นายอาร์ฟาน วัฒนะ ในฐานะตัวแทนคนหนึ่งของ PerMAS ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเรียนรู้กระบวนการสันติภาพมินดาเนา ที่จัดขึ้นที่ปินัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับคำเชิญจากมูลนิธิศักยภาพชุมชน ในฐานะที่ PerMAS เป็นกลุ่มเยาวชนที่สามารถเข้าถึงประชาชนระดับรากหญ้า
การเดินทางเรียนรู้กระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นบทเรียนจากมินดาเนาเพื่อนำมาโยงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
“การเติบโตของกระบวนการสันติภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการที่ต้องประสานกัน เช่น ความเข้มแข็งของผู้นำศาสนา ระบบตรวจสอบการละเมิดสิทธิ สื่อกระแสหลักเข้ามามีส่วนร่วม การนำภาษีจากทรัพยากรในชุมชนเข้าสู่ชุมชนโดยตรงเพื่อเป็นทุนส่วนหนึ่งของการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และพื้นที่ปลอดภัยของประชาชนสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย” นายอาร์ฟาน กล่าว
อาร์ฟาน กล่าวว่า การทำกิจกรรมตลอดสามปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งมากขึ้น ได้รู้จักรากเหง้าและตัวตนของตนเอง
“นอกจากนั้นการทำกิจกรรมร่วมกันทำให้พวกเราได้รับความรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน ได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นในสาธารณะ กล้าเป็นตัวของตัวเอง และรู้จักการทำงานเป็นทีม”