8 เม.ย. 56 - อดีตนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของของอังกฤษ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ฉายา "หญิงเหล็ก"ถึงแก่อนิจกรรมแล้วในวัย 87 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก โดยลอร์ด เบลล์ โฆษกของนางกล่าวว่า มาร์คและแครอล เเธตเชอร์ บุตรและธิดา ต้องการประกาศให้ทราบว่ามารดาของพวกเขา บารอนเนสแธตเชอร์ถึงแก่อนิจกรรมแล้วในช่วงเช้าวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ
แธตเชอร์มาจากพรรคอนุรักษ์นิยมและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 11 ปี ระหว่างปี 1979-1990 โดยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1979, 1983 และ 1987 ก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี ค.ศ. 1976 เธอได้รับสมญานามจากสื่อหนังสือพิมพ์ของประเทศรัสเซียว่าเป็น "หญิงเหล็ก" (The Iron Lady) จากการแสดงออกที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน และสมเด็จพระราชินีอังกฤษ กล่าวแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลระบุว่า จะมีการจัดพิธีงานศพในฐานะเดียวกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี และเจ้าหญิงไดอานา แต่มิให้จัดวางศพเพื่อให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเคาระ ซึ่งเป็นประสงค์ของแธตเชอร์ก่อนเสียชีวิต
ในสมัยที่แธตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แปรรูปอุตสาหกรรมของรัฐบางส่วนให้เป็นของเอกชน และทำสงครามกับอาร์เจนตินาจากสาเหตุพิพาทเรื่องเกาะฟอล์คแลนด์ในปี 1982
ทั้งนี้ แทตเชอร์ เป็นผู้มีอิทธิพลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแนว "ลัทธิเสรีนิยมใหม่"ภายหลังจากที่เธอได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เมื่อ พ.ค. 1979 ที่พร้อมกับแนวทางการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากนโยบายแบบเคนส์เซียน (Keynesianism) หันมาใช้วิธีการบริหารตามแนวคิดการเงินนิยม (Monetarist) และแบบเน้นจัดการอุปทาน (supply-side) ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อังกฤษประสบอยู่ในช่วงนั้น โดยแนวทางหลักๆของ รัฐในแบบเสรีนิยมใหม่ ประกอบด้วย การแปรรูปบริการของรัฐให้เป็นของเอกชน (Privatization) การเปิดเสรีทางด้านการค้าและการเงิน และการผ่อนคลาย ลดกฎระเบียบต่างๆ เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดแรงงาน ที่จะทำให้ความคล่องตัวและยืดหยุ่น ในการจ้างงานและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมไปถึงกลไกรัฐสวัสดิการต่างๆ ถูกโอนไปให้เอกชนในการดูแลแทน
มีวาทะของแทตเชอร์หนึ่งที่สะท้อนอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ที่สำคัญ ตอกย้ำแนวคิดแบบปัจเจกนิยม (individualism) คือ "There is no such thing as society: there are individual men and women, and there are families."ซึ่งเป็นการโต้แย้งความคิดในแบบสังคมนิยม ที่ถูกพรรคแรงงานเสนอผ่านนโยบายแบบเคนส์เซียนมาโดยตลอด ชัยชนะของแทตเชอร์และอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ นำไปสู่การลดอำนาจของแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ที่ก่อตัวและเติบโตขึ้นภายหลังปี 1945 โดยพลังของสหภาพแรงงาน
เนื้อหาบางส่วนจาก: เว็บไซต์ BBC, หนังสือ "ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai