Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ศาลรธน.วินิจฉัยแก้ ม.190 ขัด ม.68 ทำลายดุลยภาพการตรวจสอบถ่วงดุล

$
0
0

ศาลรธน.วินิจฉัยแก้ไขรธน. ม. 190 ลดทอนอำนาจรัฐสภา เพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ทำลายดุลยภาพการตรวจสอบถ่วงดุล จึงขัดรธน. ม. 68 ขณะที่ไต่สวนกรณีกู้เงิน 2 ล้านๆ ห่วงเปิดโอกาสทุจริต

8 ม.ค.2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่มีผู้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ พ.ศ. ...) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยนายทวีเกียรติ กล่าวว่า คดีนี้ผู้ร้องได้ใช้สิทธิพิทักษ์คำร้องตามรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องได้ โดยในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการพิจารณาพบว่าการประชุมอภิปรายยังเหลือเวลาอภิปรายกว่า 8 ชั่วโมง ตามที่วิป 3 ฝ่ายตกลงกันไว้ แม้จะมีผู้ทักท้วง แต่ประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการอภิปรายและให้ลงมติรับหลักการ ส่วนการกำหนดกรอบเวลาแปรญัตติประธานในที่ประชุมได้กำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติเพียง 15 วัน

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อการบริหาราชการแผ่นดิน การพิจารณาต้องทำด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส มิใช่แก้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารนำไปใช้โดยปราศจากการให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย หากการพิจารณาไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่เคารพต่อเสียงข้างน้อยย่อมเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ไม่ใช่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย การอภิปรายขั้นรับหลักการในวาระแรกซึ่งมีความสำคัญต่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ การพิจารณาจึงต้องให้ความสำคัญการให้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายของสมาชิก  แม้เสียงข้างมากจะมีสิทธิลงมติปิดการอภิปราย แต่ต้องไม่ไปตัดสิทธิการทำหน้าที่ของสมาชิก การรวบรัดปิดการอภิปรายและปิดประชุมจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ศาลจึงเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรคแรก” นายทวีเกียรติ กล่าว

นายทวีเกียรติ กล่าวว่า ส่วนการกำหนดกรอบเวลาการแปรญัตติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีเวลาให้สมาชิกที่ประสงค์จะแปรญัตติได้ใช้เอกสิทธิ์ในการแปรญัตติ การนับเวลาแปรญัตติไม่อาจนับย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่มีมติรับหลักการในวาระแรก การที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนับเวลาย้อนหลังไปจึงขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เปิดโอกาสใหสมาชิกแสดงความคิดเห็น ถือเป็นการตัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรคแรก และวรรคสอง สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 เป็นรายมาตรา ศาลเห็นว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรคแรก และวรรคสอง

ด้านนายจรัล กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขโดยเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่มีในร่างที่ผ่านการพิจารณาในวาระแรก ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอำนาจในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจนี้แทนพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การกำหนดให้คณะรัฐมนตรีฟังความคิดเห็นของประชาชนและชี้แจงการทำหนังสือสัญญา และกรอบเจรจาต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีจึงต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดในหนังสือสัญญาเหล่านั้นด้วย การแก้ไขเนื้อหาที่ไม่มีในร่างที่ผ่านการพิจารณาในวาระแรก อาจนำหนังสือสัญญาฯ ไปตีความอย่างแคบหรือจำกัดความ ถือเป็นการลิดรอนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภาให้ลดน้อยลง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีให้มากขึ้น

“การกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อหลักเกณฑ์แบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ถือเป็นการให้อำนาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ตรวจสอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศก่อนลงนามกับต่างประเทศ การที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขถ้อยคำโดยตัดข้อความว่าหนังสือสัญญาออกไปโดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่กำหนดให้รัฐสภาเห็นชอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ทำให้การเจรจาล่าช้า หลักการและเหตุผลของผู้ถูกร้องดังกล่าวปราศจากน้ำหนักและไม่อาจนำมาอ้างได้ เพราะเคยแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาไว้แล้ว การที่ผู้ถูกร้องแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในประเด็นนี้จึงเป็นการลดทอนอำนาจของรัฐสภา และเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ เป็นการทำลายดุลยภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตร 3 วรรค 1และวรรค 2

“การที่ผู้ถูกร้องตัดเนื้อหาในบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกต่อกลุ่มบุคคลโดยไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิในการเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ศาลลงมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่า การพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกระบวนการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 125 วรรค 1 ส่วนการแก้ไขโดยตัดเนื้อหาสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจในการปกครองประเทศมาโดยไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรญนูญ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 มาตรา 87 มาตรา 122 มาตราและยังเป็นการผ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1” นายจรัล กล่าว

 

ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนกรณีกู้เงิน 2 ล้านๆ ห่วงเปิดโอกาสทุจริต

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่าวันเดียวกัน เวลา 13.40 น.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ต่อจากช่วงเช้า เพื่อไต่สวนพยานในคำร้องที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัตแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ตุลาการได้มอบให้นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายเฉลิมพล เอกอุรุ เป็นผู้ดำเนินการไต่สวน ในประเด็นเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาออกกฎหมายรัฐบาลได้ศึกษาแนวทางการออกกฎหมายกู้เงินในอดีต และขอความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีจึงพิจารณาแล้วว่า การออกเป็นร่างพ.ร.บ.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนจนต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่จำเป็นต้องดำเนินการ เพราะในอนาคตอันใกล้จะต้องรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ
 
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ก่อนดำเนินการ ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่ต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานสำคัญ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณก่อน เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เหมาะสม และการใช้จ่ายดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน พร้อมกับคำนวณการใช้จ่ายล่วงหน้า เพื่อควบคุมเพดานหนี้และรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ
 
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเคยออก พ.ร.บ.ทำโครงการขนาดใหญ่ หรือไม่
 
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ยังไม่เคย มีเพียงออกพระราชกำหนด แต่แนวทางที่รัฐบาลศึกษาเห็นว่าออกเป็น พ.ร.บ.ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยออกเป็น พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ เพื่อให้นานาชาติเห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ซึ่ง พ.ร.ก.มุ่งเน้นแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 7 ปี และเมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณในแต่ละปีแล้ว ถือว่าไม่สูงมากนัก
 
นางจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การกู้เงินของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฉบับปัจจุบัน ทั้งนี้ศาลได้ซักถามถึงกรอบระยะเวลาการใช้คืนเงิน นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีกรอบเวลาการใช้เงินคืน แต่ได้ประมาณการณ์ตามตัวเลขทางวิชาการ ว่า หากกู้เงินเต็มกรอบวงเงิน 2 ล้านล้าน บาท จะต้องใช้หนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปี
 
นายจรัญ ถามว่า โครงการก่อสร้างพื้นฐาน ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หากไม่ออกเป็น พ.ร.บ. จะดำเนินการได้หรือไม่ นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า ทำได้แต่มีข้อจำกัด ในเรื่องวิธีการงบประมาณ รวมทั้งไม่สร้างความมั่นใจในการลงทุนที่ต่อเนื่อง และโครงการที่อยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีหลายโครงการที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา
 
นายจรัญ ถามว่า ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ประเทศล่มสลาย นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีขั้นตอนการขออนุมัติจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณา นายจรัญ ถามย้ำว่า มั่นใจหรือว่าแนวทางพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถป้องกันทุจริตคอรัปชั่นได้เพราะอย่างที่ทราบว่าการโกงกินบ้านเมืองไม่ได้เกิดจากระดับล่าง แต่เกิดจากการทุจริตเชิงนโยบาย นางจุฬารัตน์ ได้นิ่งไประยะหนึ่ง ก่อนตอบว่า เป็นการเลือกใช้วิธีการ เพราะมีข้อจำกัดหากใช้ พ.ร.บ.ปกติ และเป็นการป้องกันการขาดดุลงบประมาณ
 
จากนั้นนายชนรรค์ พุทธมิลินประทีป รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ชี้แจงถึงความเหมาะสมในการพิจารณาโครงการตามร่างพ.ร.บ. ไม่ให้มีการรั่วไหล ว่า กระบวนการพิจารณาของสำนักงบประมาณใช้ตามวิธีการตาม พ.ร.บ.งบประมาณปกติ ทั้งนี้ตุลาการ ถามว่า การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณรายจ่ายปกติ มีสิทธิรั่วไหลได้หรือไม่ เพราะมาตรา 6 ได้กำหนดไว้ว่าเงินที่กู้มาได้ไม่ต้องนำส่งคลัง นายชนรรค์ กล่าวว่า แม้จะยกเว้นวิธีอนุมัติตามงบประมาณตามปกติ แต่ต้องดำเนินการขออนุมัติตามกรอบของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหลักเกณฑ์การควบคุมการใช้จ่ายเงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
 
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาพรวมร่างพ.ร.บ.เป็นการเตรียมกรอบวงเงิน ไม่ใช้การอนุมัติโครงการ ชัดเจนว่าทุกโครงการต้องผ่านความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นรายโครงการ ทั้ง 53 โครงการที่นำเสนอขึ้นมา ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่กังวลว่าเกิดการทุจริต ยืนยันว่าดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ ไม่มีระเบียบอะไรเป็นพิเศษ และสามารถติดตามความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แนวทางบริหารโครงการที่กำหนดไว้ ได้ตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ รวมถึงภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องมาดูแลกำกับตรวจสอบอย่างใกล้ชิด การดำเนินการโครงการต่างๆ ต้องไม่มีข้อครหา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายปกติ ขอชี้แจงว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะมีแผนกำหนดระยะเวลาชัดเจน เห็นได้ชัดว่ามีนักเรียนหันมาเรียนเรื่องเกี่ยวกับรถไฟมากขึ้น และได้เซ็นสัญญากับบริษัทต่างประเทศเพิ่มขึ้น โครงการต่างๆ เป็นโครงการเกิดขึ้นเพื่ออนาคต และยืนยันว่าตนจะอยู่จนใช้เงินกู้หมดอีก 50 ปี ข้างหน้า
 
จากนั้นศาลได้อ่านกระบวนการพิจารณา พร้อมนัดให้พยานผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม น.ส.สุภา ปิยะจิตติ นายทนง พิทยะ นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายภัทรชัย ชูช่วย ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาชี้แจงในวันที่ 15 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles