อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย ระบุที่ไม่ลงเลือกตั้ง เพราะภารกิจคือการขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ปราบทุจริต กระจายอำนาจ ขจัดความเหลื่อมล้ำ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการแถลงข่าว "เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย: ขจัดคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นปฏิรูป"เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ที่มาของภาพ: เพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
7 ม.ค. 2557 - วันนี้ (7 ม.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวเปิดตัว "เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย: ขจัดคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นปฏิรูป"
อนึ่ง ในระหว่างการแถลงของนายอภิสิทธิ์ ได้มีชายคนหนึ่งเป่านกหวีด และชูป้าย "RESPECT MY VOTE"พร้อมตะโกนว่า “ถ้าคุณยังปฏิรูปตัวเองไม่ได้แล้วจะมาปฏิรูปประเทศได้อย่างไร” โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า "ขอบคุณครับๆ"และกล่าวตอบโต้ว่า “นี่คือตัวอย่างที่ต้องปฏิรูป นี่คือรูปแบบของคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์” ทำให้ชายคนดังกล่าวตอบกลับมาว่า "ผมไม่ใช่คู่แข่ง ผมคือประชาชน” (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
โดยในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่รายละเอียดของการแถลงไว้ดังนี้
000
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย : ขจัดคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นปฏิรูป
"หลังจากที่เราตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เราก็บอกว่าภารกิจของเราก็คือ เราจะขับเคลื่อนพรรคให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะว่า แม้ว่าขณะนี้กระแสการปฏิรูปได้รับความสนใจได้รับการตอบรับสูงมากในทางสังคม แต่เนื้อหาสาระของการปฏิรูปนั้น ยังมีการพูดกันค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อมีการพูดกันค่อนข้างจะน้อยก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจว่าในที่สุดแล้วความสำเร็จของการปฏิรูปนี้ต้องอาศัยเครื่องมือกลไก และองค์กรใดบ้างในการขับเคลื่อน"
000
ก่อนอื่นก็ต้องขอสวัสดีทุกท่านแล้วก็ขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน แล้วก็ท่านผู้มีเกียรติที่ได้สละเวลาให้ความสนใจมาฟังการแถลงข่าวในวันนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้แถลงในเรื่องของการมุ่งมั่น และกำลังทำในเรื่องของการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อสักครู่ทั้ง 2 ท่านได้เกริ่นนำไปแล้วว่าเนื่องจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ภายใต้เงื่อนไขสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันไม่สามารถเป็นคำตอบให้กับประเทศได้ และสิ่งที่บ้านเมืองของเรากำลังต้องการก็คือการปฏิรูป เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ที่เราใช้คำว่าปฏิรูปประเทศไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็จึงตัดสินใจว่าเราจะได้ดำเนินการในการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
นี่คือรูปแบบของคู่แข่งขันของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์นั้นเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้นะครับ เราจะเห็นว่ากิจกรรมของเรานั้นถูกรบกวนมาตลอด โดยการมาสร้างปัญหาให้กับเวทีของเราซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงบอกว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นธรรมไม่ได้เพราะมีกระบวนการแบบนี้
ทีนี้หลังจากที่เราตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เราก็บอกว่าภารกิจของเราก็คือ เราจะขับเคลื่อนพรรคให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะว่า แม้ว่าขณะนี้กระแสการปฏิรูปได้รับความสนใจได้รับการตอบรับสูงมากในทางสังคม แต่เนื้อหาสาระของการปฏิรูปนั้น ยังมีการพูดกันค่อนข้างน้อย ซึ่งเมื่อมีการพูดกันค่อนข้างจะน้อยก็จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจว่าในที่สุดแล้วความสำเร็จของการปฏิรูปนี้ต้องอาศัยเครื่องมือกลไก และองค์กรใดบ้างในการขับเคลื่อน
มีความเห็นต่างแน่นอนนะครับ ในมุมของ กปปส. ในมุมของรัฐบาล ในมุมของนักวิชาการ ในมุมขององค์กรธุรกิจว่า กลไกการปฏิรูปจะเป็นอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์เราเชื่อว่า ไม่มีการปฏิรูปใดที่จะปรสบความสำเร็จ หรือจะยั่งยืนได้ หากฝ่ายการเมืองไม่เข้าใจประเด็นการปฏิรูป และหากฝ่ายการเมืองไม่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะปฏิรูป เพราะสุดท้ายวันนี้ที่เราจะพูดถึงหลายมาตรการกัน หนีไม่พ้นการใช้อำนาจการบริหาร การใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ ซึ่งก็คือกระบวนการทางการเมืองนั่นเอง
วันนี้ผมจะขออนุญาตว่า จะต้องใช้เวลาช่วงต้นสักนิดหนึ่ง เกริ่นนำให้เห็นว่า ในระบบทั้งหมดที่เราพูดถึงการปฏิรูปนั้น ปัญหาหลักๆ คืออะไร และผมได้นำเสนอไปแล้วตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแนวทางที่จะต้องดำเนินการในการปฏิรูป 7 ด้านด้วยกัน และวันนี้ที่จะเริ่มต้นก็คือด้านแรก เพราะว่าได้ใช้เวลาในช่วงสัปดาห์แรกของปีนี้ในการไปสืบค้นข้อมูล ในการไปพบปะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผมเริ่มต้นก่อนว่า ที่เราจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปประเทศนั้น ผมสรุปสั้นๆ ว่า การเมืองทุจริต เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ และสังคมไม่เป็นธรรม นั่นหมายความว่า กระบวนการการปฏิรูปนั้นจะต้องครอบคลุมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถ้าเราจะดูลงไปให้ลึกมายิ่งขึ้น ผมก็เรียนว่า ถ้าเราดูว่าการเลือกตั้งนั้นก็นำไปสู่การได้ผู้ที่มีอำนาจที่จะมาจัดการบริหารประเทศ แล้วก็สภาพปัจจุบันก็คือต้องยอมรับว่า เกิดสภาพการกระจุกตัวของอำนาจและผลประโยชน์ เป็นที่มาของการทุจริต เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ เป็นที่มาของความไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันสภาพสังคมเป็นอย่างไรนั้น สื่อ และการศึกษานั้นมีอิทธิพลสูงมากต่อพฤติกรรมของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดๆ ก็ตามในสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แนวทางที่ผมได้นำเสนอนั้นก็คือ จะมีการปฏิรูปทั้งหมด 7 ด้าน
1. ซึ่งเราจะพูดกันในวันนี้เป็นการเฉพาะ คือการขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่น
2. จะปฏิรูปกระบวนการในเรื่องของการเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่า เราได้คนดี คนสุจริต คนมีความสามารถ เข้าไปบริหารประเทศผ่านกระบวนการที่สุจริต เที่ยงธรรม
3. เราก็ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ และการกระจายอำนาจ
4. การปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องไปลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคม
5. จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเรื่องปัญหาของตำรวจ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในแง่ของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ
6. การปฏิรูปการศึกษา
7. การปฏิรูปสื่อ
ย้อนกลับไปดูที่เมื่อสักครู่ ผมเขียนแผนผังในเรื่องของโครงสร้างของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะเห็นว่า 7 ด้านก็มาตอบโจทย์ 7 ข้อ ข้อ 1 ขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่น ข้อ 2 การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม ข้อ 3 กระจายอำนาจ ไม่ให้เกิดการกระจุกตัว ข้อ 4 ปฏิรูปเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ข้อ 5 แก้ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ข้อ 6 การศึกษา ข้อ 7 สื่อ
นี่คือภาพรวม แล้วก็จากนี้เป็นต้นไปพรรคประชาธิปัตย์ก็จะทำงานในเรื่องของการรวบรวมประเด็นมาตการ วิเคราะห์ปัญหา เชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการที่จะเดินหน้าในการปฏิรูปทั้ง 7 ด้าน สำหรับวันนี้ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เราคิดว่าค่อนข้างที่จะครบถ้วน ก็คือการวิเคราะห์ และการไปดูในเรื่องของปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นความห่วงใยอันดับ 1 ของพี่น้องประชาชนคนไทย แล้วก็มองว่าเป็นปัญหาที่เป็นรากเหง้าของหลายต่อหลายสิ่ง
ภาพนี้ต้องขอขอบคุณทางสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เคยใช้ไปแล้ว ที่พูดถึงว่าการทุจริต คอร์รัปชั่นนั้นเปรียบเสมือนหลุมดำ ประธานสถาบันฯ คืออดีตเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ เคยได้มีการเปิดแถลงข่าวเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ผมไม่ต้องไปไล่เรียงทุกเรื่อง แต่จะเห็นว่าปัญหาต่างๆ ที่บ่นๆ กันอยู่นี้ แล้วก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เศรษฐกิจของเรา สังคมของเรา หรือการเมืองของเรามีปัญหานี้ ไม่ทางใดทางหนึ่ง ก็มาเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชั่น จึงกลายเป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจอันดับ 1 ในปัจจุบัน
ขนาดของปัญหา ใหญ่สักแค่ไหน อันนี้เป็นการใช้ค่ากลางของการประเมินของหลายองค์กร ที่สรุปออกมาว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทุจริต คอร์รัปชั่นในปัจจุบัน น่าจะอยู่ทีประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี
3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ประชาชาติประมาณเกือบร้อยละ 2 สามแสนล้านบาทนี้ถามว่าถ้าเรามีเงินเหล่านี้ จำนวนนี้กลับมา เราจะทำอะไรได้บ้าง ผมก็ลองให้ฝ่ายต่างๆ ลองไปคิดดูว่า มีเงินสัก 3 แสนล้าน จะทำอะไรให้บ้านเมืองดีขึ้นได้บ้าง เอาเรื่องการศึกษาก่อนครับ ถ้าเราจ้างครูประมาณ 15,000 บาท ต่อเดือน เราจะจ้างครูเพิ่มได้อีกถึง 1 ล้าน 5 แสนคน นี่คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทุจริต คอร์รัปชั่น
เราสามารถสร้างโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดได้อีกประมาณ 5 พันแห่ง ถ้าเป็นด้านสาธารณสุข เงินก้อนนี้สามารถสร้างโรงพยาบาล ประมาณ 200 เตียง ได้ 177 แห่ง ถ้าเอาไปทำถนน ทางหลวงชนบท 60,000 กม. คนกรุงเทพฯ โครงการรถไฟฟ้า 4 สายปัจจุบัน ที่กำลังทำกันอยู่ สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีชมพู เงินเพียงพอเลยครับที่จะไปทำ แม้แต่โครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ 3 แสนล้านบาทนี้สามารถที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูป เพราะว่าถ้าเราได้สิ่งเหล่านี้กลับมา ก็จะเห็นว่า การพัฒนาประเทศ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าไปกว่านี้มาก
ทีนี้ถ้ามองจากอีกมุมหนึ่ง ในแง่ของความสูญเสีย นอกจากสิ่งที่เราใม่สามารถสร้างขึ้นได้ ก็คือว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยไม่เป็นที่เชื่อถือ และกลายเป็นประเทศที่สูญเสียความสามารถการแข่งขันในด้านการรับการลงทุน เปรียบเทียบในอาเซียน 10 ประเทศ ปี 50 กับ ปี 55 เราจะพบความเป็นจริงว่า ในขณะที่การลงทุนทั่วโลกที่ไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียน เพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ประเทศไทยนั้นรับการลงทุนลดลง 24%
เค้กนั้นก้อนโตขึ้น ทางซ้าย ทางขวา จะเห็นนะครับ แต่ส่วนแบ่งตลาดของเรานั้น ลดจาก 13% เหลือ 8% เราเคยอยู่อันดับ 2 ในอาเซียน ในการรับการลงทุนจากต่างประเทศ เราตกมาเป็นอันดับ 4 ถ้าเราเพียงแค่รักษาสัดส่วนตลาดของเรา จากเมื่อ 5 ปี ก่อนหน้านี้ เราจะมีเงินลงทุนเข้ามาอีกประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นี่คือข้อเท็จจริงของความสูญเสียที่บางทีเราไม่รู้ตัวว่า เป็นปัญหาที่กัดกร่อนขีดความสามารถประเทศของเรา ไม่ได้คิดเองนะครับ ในการประเมินของ World Economic Forum ว่า ปัจจัยไหนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และการทำธุรกิจในประเทศไทย จะพบว่า อันดับ 1 คือคอร์รัปชั่น เราอาจจะมีประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 ประเทศ ที่อยู่ในข่ายเดียวกับเราแต่ที่อื่นเขามีปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์บ้าง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนบ้าง ระบบราชการบ้าง โครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่ของเรานั้นอันดับ 1 คือทุจริต คอร์รัปชั่น
เปรียบเทียบสถานการณ์ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นกับที่อื่นในโลก อันดับความน่าเชื่อถือในการต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทย อันนี้อันดับของ Transparency International องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล จะเห็นว่า อันดับของเรานั้นลดลงมาโดยลำดับ โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา จากอันดับที่ 80 ซึ่งก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว ประเทศในโลกนี้มีไม่ถึง 200 ประเทศ บัดนี้เราตกมาอยู่ที่อันดับ 102 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันในรายงานฉบับเดียวกัน มาดูในด้านต่างๆ ว่าความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือเรื่องราวต่างๆ ในประเทศของเรานั้น นักการเมืองครับ ความเชื่อถือในตัวนักการเมืองประเทศเรานั้นอันดับ 127 ตำรวจ 109 ข้าราชการ 93 ความสามารถในการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า 107 นี่ไม่ควรจะเป็นสถานะของประเทศไทยเลย ผมคิดว่าเพียงเมื่อสักประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครคิดหรอกครับว่า เราจะลงมาถึงตัวเลข 3 หลัก ในอันดับ 100 กว่า ในเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้
ฉะนั้นสิ่งที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ แน่นอนที่สุดด้านหนึ่งก็คือการมาจัดการกับปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ผมเรียนว่า จากนี้ไป ผมก็จะวิเคราะห์ให้เห็นว่า ปัญหา รูปแบบ วิธีการของการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่พบอยู่ในปัจจุบันหลักๆ นั้นมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำไปสู่ประเด็นของการเสนอมาตรการที่จะเข้ามาแก้ไข
ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า ข้อมูลทั้งหลาย ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่จะได้นำเสนอต่อไป ผมถือโอกาสนี้ขอบคุณหลายหน่วยงาน หลายองค์กร หลายบุคลลที่มาให้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ใครไปอ้างว่า อยู่ดีๆ พรรคประชาธิปัตย์มาบอกสิ่งเหล่านี้เป็นของตัวเอง ไม่ใช่นะครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นงานของหลายๆ องค์กรที่เขาทำมา แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศในวันนี้ก็คือว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะสนับสนุนแนววิเคราะห์ แนวทางการแก้ไขปัญหา และมาตการเหล่านี้ หากเราได้มีโอกาสเข้าไปผลักดัน ในกระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
สิ่งแรกมาดูกระบวนการคอร์รัปชั่นที่เราเห็นอยู่ในสังคมของเราในปัจจุบัน ผมหยิบออกมา 6 แนวทางของการทุจริต ที่เกิดขึ้นหลักๆ ในประเทศ อันนี้ก็จะคล้ายคลึงกับบทความที่คุณบรรยง พงษ์พานิช เคยเขียน แต่ว่าผมก็มีการปรับ เพิ่มเติมเล็กน้อย
อันแรกเลยก็เห็นอยู่แล้ว รู้จักกันดีอยู่แล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือการทุจริตเชิงนโยบาย หมายความว่ากระบวนการที่ตั้งแต่ออกนโยบาย ตั้งใจให้นโยบายของการบริหารราชการแผ่นดินนั้นเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งถ้าจะนับรวมไปว่า เอื้อประโยชน์ในทางการเมือง ลักษณะแบบนโยบายประชานิยมหลายอย่างก็คือการทุจริต เชิงนโยบาย
รูปแบบที่ 2 ก็เอากันง่ายๆ เบียดบัง หรือปล้นทรัพยากรของแผ่นดินไป ในยุคก่อนๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดิน ยุคนี้ก็ไปถึงเรื่องคลื่นความถี่ ไปถึงเรื่องทรัพยากรสาธารณะทั้งหลาย ซึ่งถูกเบียดบังไป เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
รูปแบบที่ 3 ที่จริง 3, 4, 5 คือถ้า 2 รูปแบบแรก ก็คงจะพุ่งไปที่นักการเมือง กับผู้มีอำนาจรัฐ 3, 4, 5 คือการซื้อความได้เปรียบการฮั้ว การซื้อความสะดวก เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของการจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งการทุจริตในรูปแบบนี้ก็มักจะเกี่ยวข้องกัน 3 ฝ่าย ก็คือ ทางนักการเมืองฝ่ายหนึ่ง หน่วยงานราชการอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็ภาคธุรกิจอีกฝ่ายหนึ่ง ซื้อความได้เปรียบก็หมายความว่า เอาเงินให้แก่ผู้มีอำนาจ เพื่อให้ตัวเองนั้นสามารถที่จะได้มีโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ซื้อแล้วอาจจะเกิดการล็อคสเปค ซื้อแล้วทำให้ไม่มีใครสามารถเข้ามาแข่งขันได้ หรือว่า ซื้อแล้วทำให้ผู้ตัดสินนั้นให้คะแนนหรือทำอะไรก็ได้ ให้ตัวเองมีความได้เปรียบคู่แข่ง นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง
รูปแบบที่ 2 ก็คือการฮั้ว อันนี้หมายความว่า แบ่งงานกันทำ ในภาคธุรกิจด้วยกัน ไม่แข่งขันกันแล้ว ไม่แข่งขันกันเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ไม่เสนอแข่งขันกันให้ราคาถูกที่สุดสำหรับราชการ หรือส่วนรวม แต่ตกลงกัน งานนี้คนนี้รับไป อีกงานอีกคนหนึ่งก็รับไป ในราคาซึ่งพูดง่ายๆ ว่ามีเงินทอน ซึ่งจะแบ่งปันกันไปในหมู่นักธุรกิจ ข้าราชการ หรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง
ส่วนสุดท้ายใน 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ คือการซื้อความสะดวก อันนี้พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาที่จะต้องไปติดต่อกับภาครัฐ ภาคราชการ หน่วยงานต่างๆ จะต้องขอใบอนุญาตต้องขอที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ไม่ได้รับความสะดวก อาจจะโดยเจตนา ไม่เจตนาก็แล้วแต่ ล่าช้า หรือถูกกลั่นแกล้ง หรืออะไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะเดินหน้าประกอบธุรกิจการงานตามปกติได้ จะสามารถเดินได้ เดินได้อย่างสะดวก ก็ต้องจ่ายเงิน ก็เกิดการซื้อความสะดวกขึ้น
สุดท้ายครับ ซื้อผิดเป็นถูก อันนี้คือกรณีที่ทำผิดไปแล้ว ก็ทุจริต คือใช้เงินในการที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหลายนี้ จากที่ผิดก็กลายเป็นถูก อันนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ขับรถฝ่าไฟแดง แทนที่จะเสียค่าปรับให้ราชการก็ซื้อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงปัญหาการซื้อกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่างๆ อันนี้ก็คือ 6 รูปแบบของการคอร์รัปชั่นที่ผมถือว่า น่าจะครอบคลุมรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เป็นปัญหาหลัก ซึ่งมาตรการต่างๆ ก็ต้องมาแก้ตรงนี้
จะแก้กันอย่างไร สิ่งที่เราเสนอในวันนี้ก็คือ จะแบ่งมาตรการซึ่งมีทั้งหมด 20 มาตรการ ออกเป็น 4 ด้าน 4 ป. ป้องกัน ปราบปราม โปร่งใส และปลูกจิดสำนึก ซึ่งมาตรการทั้ง 4 ด้านนี้ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ผมก็จะไล่ไปทีละด้าน ทีละมาตรการ บางเรื่องก็อาจจะเท้าความเล็กน้อยว่า เคยมีความพยายามทำกันมาหรือยัง หรือว่าที่ผ่านมาทำไมยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่คิดว่า เมื่อรวมทั้ง 20 มาตรการ ครอบคลุมทั้ง 4 ด้านนี้แล้ว น่าจะพอเป็นคำตอบได้ในแง่ของพิมพ์เขียว ในเรื่องของการที่จะปฏิรูปประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่น
เริ่มจากปราบปรามก่อน เพราะคนจะสนใจเรื่องนี้มากที่สุด เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเราเอาจริง เอาจัง ถ้าเราสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้เต็มที่ ก็จะช่วยทำให้ความรู้สึกว่า สังคมนี้เป็นสังคมที่เอาจริง สามารถปรามคนทิ่คิดจะทุจริต คอร์รัปชั่น จะได้ผลมากที่สุด อันแรกเลยที่พูดกันมากแล้วนะครับ เรื่องกฎหมาย ที่จะมีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือการปราบปรามการทุจริตนั้นมองว่า อย่างน้อยต้องมี 5 ด้าน ที่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ด้านแรก ก็คือ ใครเป็นผู้เสียหายจากการทุจริต วันนี้มันมีหลายคดีที่ในที่สุดแล้ว ทั้งที่ความทุจริตสร้างความเสียหายให้กับประชาชนทุกคน เบียดบังภาษี เบียดบังทรัพยากรไป ทำให้ประชาชนได้งานที่ไม่มีคุณภาพ แต่ปรากฎว่า ประชาชนไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วม แม้แต่ในการที่จะเป็นผู้เสียหายฟ้องร้องได้ เมื่อไม่นานมานี้เกิดกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยการทุจริตของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย เห็นมั้ยครับ ศาลท่านไม่ได้บอกนะครับว่าไม่ได้ทำผิด ชั้นต้นอุทธรณ์ว่าผิด แต่ปรากฎว่าพอถึงศาลฎีกา มีการหยิบยกข้อกฎหมายขึ้นมาว่า ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกรณีอย่างนี้ใครล่ะครับจะเป็นคนที่มาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
ไม่นานมานี้เช่นเดียวกันครับ อัยการตัดสินใจไม่อุทธรณ์กรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการโกงภาษีของครอบครัวการเมืองครอบครัวหนึ่ง พออัยการบอกไม่อุทธรณ์ คดีก็ถึงที่สุด ภาษีไม่ใช่น้อยๆ ด้วยนะครับ แต่พวกเราซึ่งความจริงก็เป็นผู้เสียหายทุกคนไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับคือสิ่งที่เป็นประเด็นแรกที่ต้องแก้ไข
ประเด็นที่ 2 พูดกันมากแล้ว อันนี้ผมคงไม่ต้องขยายความมาก ก็คือทำให้คดีนั้นไม่มีอายุความ และโดยเฉพาะหลังๆ จะเห็นว่ากรณีของการทุจริตที่แม้มีการตัดสินรวดเร็วพอสมควรก็คือทางศาลฎีกา แผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ความที่เป็นศาลเดียวมังครับ ดูเหมือนว่าใครก็ตามถูกตัดสินว่าผิดนั้น หนีออกไปก่อนทุกที แล้วก็ถ้าหนีไปจนหมดอายุความก็จบกันไป เพราะฉะนั้นก็มีข้อเสนอกันมากว่า ต่อไปนี้คดีทุจริต ไม่ควรจะมีอายุความ กระบวนการต้องรวดเร็ว นี่ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เราพบเห็นกันอยู่ว่า เรื่องที่บางทีอยู่ในความสนใจของประชาชน เรื่องใหญ่โตมาก กว่าจะเริ่มต้นตั้งเรื่อง กว่าจะนำขึ้นสู่ศาล กว่าคดีจะถึงที่สุดใช้เวลาเป็น 10 ปี จนบางทีผู้ที่กระทำความผิดนั้นเสียชีวิตไปแล้วก็มี แล้วก็จำหน่ายคดีกันออกไป กระบวนการตรงนี้ทุกขั้นตอนนะครับที่เรากำลังพูดถึง
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ขั้นตอนหนึ่ง แม้อย่างกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเร็ว แต่กว่าจะไปถึง ผมก็ได้พูดแล้วกับผู้เกี่ยวข้องนะครับว่า ขั้นตอนทาง ปปช. ก็ค่อนข้างช้า เรื่องที่มีการร้องไปที่ ปปช. ซึ่งเป็นการร้องถอดถอน แล้วก็คดีการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ ปัจจุบันใช้เวลานานมาก คนที่ไปร้องผมว่าทำผิดตั้งแต่ปี 52 คดีก็ยังไม่จบครับ อันนี้ก็เป็นปัญหาทั้งสำหรับคนร้อง และคนถูกร้องนะครับคดีที่ยืดเยื้อ ใช้เวลายาวนาน 5 ปี 6 ปี 7 ปี 8 ปี ไม่จบไม่สิ้น ต้องมีวิธีการในการที่จะกำหนดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น โทษหนักครับ แล้วต้องไม่รอลงอาญา แล้วก็สำคัญที่สุดมาตรการหนึ่งก็คือมาตรการคุ้มครองพยาน
ผมเรียนว่าในอดีตนั้น ขยับกันมาบ้างแล้วนะครับ ในเรื่องเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์นั้นเคยเสนอกฎหมายเรื่องทุจริต ไม่มีอายุความ แล้วก็เรื่องผู้เสียหายนี้ เข้าสู่สภาแล้ว แต่ว่าพอยุบสภาปี 54 หลังจากนั้นรัฐบาลที่เข้ามาต่อ เขาไม่ยืนยันกฎหมาย กฎหมายก็ตกไป
มาตรการคุ้มครองพยานนี้ เราเคยออกมาในระดับของมติคณะรัฐมนตรี ก็จะบังคับได้กับกรณีของข้าราชการอะไรต่างๆ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้คนซึ่งมีข้อมูล หรือทราบข้อมูลนั้นพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อคดีได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข
มาตรการที่ 2 ก็จะเสริมตัวนี้ คือการไปอิงกับมาตรฐานสากล มาตรฐานสากลที่คิดอยู่ในขณะนี้ อันแรก UNCAC ก็คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่นของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้นำประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีเมื่อปี 54 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีการออกกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว เราก็จะต้องมาเร่งทำตรงนี้ครับ ก็จะครอบคลุมไปถึงเรื่องประเด็นอย่างเช่น การตามไปติดตามเอาทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดในต่างประเทศ ได้รับความร่วมมืออะไรต่างๆ
มาตรฐานของ UNODC ซึ่งเป็นสำนักงานทางด้านของยาเสพติดและอาชญากรรม เขาก็จะมีชุดเครื่องมือที่เขาบอกไว้เลยว่าในแต่ละประเทศนั้นจะต้องมีมาตรการเรื่องเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใส มาตรการในการที่จะมีองค์กรที่จะบังคับใช้กฎหมายอะไรอย่างไรบ้าง
ส่วนที่ 3 อันนี้คือ OECD ซึ่งตรงนี้ ก็จะเป็นแนวทางซึ่งจะไปคาบเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาการติดสินบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีโครงการแล้วไปเกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อันนี้ก็จะเป็นมาตการที่ 2 ซึ่งก็จะไปเสริมด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านที่ 1 ที่พูดถึงกฎหมาย
มาตรการที่ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมว่าถูกมองข้ามไปเยอะ คือเรามีกลไก ปปช. ที่ทำงานอยู่ เป็นหน่วยงานที่ถือว่าเป็นหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วด้านการต่อสู้กับการทุจริต เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แต่ข้อเท็จจริงในการทำงานของ ปปช. ในขณะนี้ก็คือว่า ทำงานด้านการสืบสวนค่อนข้างน้อยมาก
ผมมีประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้ร้องในหลายคดี พบว่า ข้อเท็จจริงพื้นฐานมากๆ เลย ก็ต้องมาไล่เอาจากผู้ที่ไปร้อง ต้องคอยส่งเอกสาร ต้องไปเอาสิ่งนั้นต้องไปเอาสิ่งนี้มา เข้าสู่ระบบอนุกรรมการ กว่าจะเข้าสู่ระบบกรรมการ กว่าจะชี้มูล ใช้เวลานานมากครับ ทั้งที่บางเรื่องข้อเท็จจริงมันปรากฎตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ปรากฎต่อสื่อ ปรากฎโดยมีเบาะแส มีพยานหลักฐานมากมาย ถ้าเราเสริมแล้วก็เพิ่มอำนาจ แล้วก็ศักยภาพในการทำงานด้านการสืบสวนของ ปปช. ปปช. ก็จะสามารถทำงานในเชิงรุกได้มากขึ้น
ทุกวันนี้ต้องยอมรับนะครับ พอใครถูกร้อง ปปช. นั้นบางทีก็ไปตั้งตัวได้ทัน แต่ถ้า ปปช. นั้นสามารถที่จะมีงานสืบสวนที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อย่างนี้โอกาสในการที่เราจะสามารถดำเนินการกับคนทุจริต ลงโทษคนทุจริตได้ เหมือนกับในต่างประเทศ ท่านจะเห็นนะครับในต่างประเทศ บังเอิญที่มาเกี่ยวกับประเทศไทยนั้นเคยมี 2 กรณี อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยกรณีหนึ่ง CTX อีกกรณีหนึ่ง ข้อมูลที่เขาใช้ในการดำเนินคดีนั้นมันมาจากการสืบสวนในทางลึกขององค์กรปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นนี่เองครับ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องมีคนไปร้อง แล้วก็ไปอ้างพยานหลักฐาน แล้วก็ไปสอบสวนกันตอนนั้นในลักษณะนั้น นี่ก็เป็นมาตรการที่ 3
มาตรการที่ 4 นอกจาก ปปช. แล้ว ความจริงหน่วยงานที่สามารถจะช่วย ถ้าสามารถประสานงานร่วมกันแล้วเพิ่มบทบาทกันได้ ก็คือ สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. นั้นก็ทราบอยู่แล้วว่าท่านก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็สามารถจะมาช่วยในการติดตามตรวจสอบ แล้วก็ปราบปรามการทุจริตได้
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นอาจจะสงสัยว่าเกี่ยวข้องอย่างไร คำตอบก็คือ ปัจจุบันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการการถอดถอน ในกรณีที่มีการใช้อำนาจในลักษณะที่ขัดกับประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งก็คือรูปแบบการทุจริตในรูปแบบของการใช้อำนาจในทางที่ผิด คดีที่ค้างอยู่คดีหนึ่งตอนนี้ชัดๆ ก็คือกรณีการออกหนังสือเดินทางที่ขัดต่อระเบียบ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกของคนที่มีอำนาจอย่างนี้เป็นต้น
มาตรการที่ 5 สุดท้ายของด้านการปราบปรามที่จะขอพูดวันนี้ก็คือ การตรวจสอบภาษีย้อนหลังนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐ ถามว่าตรงนี้จะช่วยอย่างไร ปัจจุบันนักการเมืองและผู้บริหารจำนวนมากต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ให้ ปปช. ทราบ หลายกรณีเปิดเผยต่อสาธารณะ ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินนี้ ก็จะต้องให้ยื่นด้วยว่าเสียภาษีเท่าไหร่ แต่ปรากฎว่าขณะนี้การตรวจสอบนั้นตรวจสอบเพียงแค่ว่า ที่ยื่นมานี้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่เสียภาษีหรือไม่ แต่ยังไม่ได้เอาข้อมูลการเสียภาษี โดยเฉพาะย้อนหลังไปหลายๆ ปีมาดูว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่นี้สมเหตุ สมผลหรือไม่
วันนี้พวกเราบางทีตกใจนะครับ คนที่เคยเป็นข้าราชการ อยู่กระทรวงการคลังบ้าง อยู่เป็นตำรวจบ้าง บางทีทั้งครอบครัวเป็นข้าราชการหมดเลย มาเป็นนักการเมืองแสดงบัญชีทรัพย์สินครั้งแรก โครม โอ้โห มีทรัพย์สินหลายร้อยล้านบาท มาจากไหนล่ะครับ ถ้ามีรายได้เฉพาะจากราชการอย่างเดียว แต่ถ้าเราเอาข้อมูลการเสียภาษีมา แล้วให้เขาอธิบายให้ได้ว่า ที่มันมี 300 ล้านนี้ แล้วคุณเสียภาษีเท่านี้ แปลว่ารายได้คุณมีเท่านี้มาทุกปีๆๆ ของเดิมคุณเอามาจากไหน ตอบไม่ได้ก็ร่ำรวยผิดปกติ ถ้ายอมรับก็ใช้มาตรการเรื่องภาษี และการแสดงทรัพย์สิน ก็คงไม่เช็คแล้วแต่ก็สามารถใช้มาตรการภาษีเล่นงานได้ ข้อเสนอนี้ความจริงเป็นข้อเสนอที่สมัชชาปฏิรูปของคุณหมอประเวศ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ตั้งท่านไว้ทำงาน ท่านได้นำเสนอรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่ก็เงียบหายไป
ด้านที่ 2 ด้านป้องกัน ป้องกันนี้เราจะเริ่มจากเรื่องของกฎหมายที่ชื่อว่า พรบ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... อันนี้จะแก้ปัญหาการทุจริต ที่ใช้คำว่าซื้อความสะดวกโดยเฉพาะ ประเด็นตรงนี้ก็ง่ายนิดเดียวครับ จะต้องมีกฎหมายที่ทำให้การบริการ และการอนุญาตของราชการ มีขั้นตอน มีกำหนดเวลา มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ไม่ใช่มีกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แล้วก็ใช้เป็นช่องทางในการหากิน
วันนี้ภาคธุรกิจที่บอกต้องจ่ายเงินให้กับข้าราชการ จ่ายเงินให้กับหลวง จ่ายเงินให้กับรัฐที่ผิดกฎหมายทั้งหลายนี้ อยู่ในเกณฑ์แบบนี้เยอะมาก มีตั้งแต่ใบอนุญาตธรรมดาๆ ไปจนถึงเดี๋ยวนี้ที่บ่นกันมากก็คือขั้นตอนที่เสียเวลาอย่างเช่นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการต่างๆ EIA ถึงเวลาแล้วครับที่จะต้องมีกฎหมายกลาง สังคายนาเลยว่า ภาครัฐนั้นมีหน้าที่ให้บริการในกรอบเวลาเท่าไหร่ หลักเกณฑ์ต้องโปร่งใส หากทำไม่ได้ ต้องมีโทษทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ตรงนี้ก็เป็นการพัฒนามาจากมาตรการเดิม ซึ่งเคยมีอยู่ในการปฏิรูปราชการ ผลักดันกันมาหลายครั้ง แต่มันเคยมีสถานะอยู่แค่เป็นระเบียบภายใน ยังไม่เป็นกฎหมายที่มาบังคับที่จะทำให้ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนอุ่นใจได้ว่า เวลาที่จะต้องไปขออนุญาต หรือดำเนินการกับภาครัฐแล้วจะได้รับความเป็นธรรม และความสะดวกด้วยไม่ต้องติดสินบน
มาตรการที่ 2 ต้องยกระดับเรื่องของระเบียบการจัดซื้อ จัดจ้าง ขึ้นมาเป็นกฎหมาย แล้วก็แก้ปัญหาหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับจัดซื้อ จัดจ้างในปัจจุบัน ประเด็นแรกก็คือ เรื่องราคากลาง เรื่องราคากลางนี้หลายคนคงทราบว่า ปปช. นั้นเพิ่งเสนอเรื่องนี้ประมาณปีกว่าๆ แล้วให้กับทางราชการ อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากกฎหมายที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ผลักดันไว้เมื่อปี 54 ที่บอกว่าต่อไปนี้ ราคากลาง และวิธีการคำนวนราคากลางต้องเปิดเผย ถามว่าทำไมราคากลางสำคัญ ปัจจุบันนี้การฮั้วทั้งหลายที่เป็นการทุจริต ท่านก็จะเห็นว่าประมูลมา ต่ำกว่าราคากลาง 0.1% 0.5% 1% โครงการเป็นแสนล้านลดกันให้แค่ล้านเดียว อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าราคากลางสะท้อนต้นทุนที่เป็นธรรม มันก็ไม่มีใครได้ประโยชน์ครับ ต่อให้ฮั้วกัน เพราะก็จะอยู่ระดับราคากลาง
แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ก็เพราะราคากลางมันไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง จึงทำให้การฮั้วแล้วมันมีเงินทอน มันมีเงินที่ไปทุจริต คอร์รัปชั่นกันได้ เพราะฉะนั้นกระบวนการในการคำนวนเปิดเผย และตรวจสอบราคากลาง ถ้าสามารถไปเขียนเป็นกฎหมายได้ ก็จะมาแก้ปัญหาตรงนี้
ประเด็นที่ 2 ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกมาตการหนี่งซึ่งผมเคยตอนที่เป็นนายกฯ นั้น ปรารภกับทาง ปปช. ไว้เช่นเดียวกับเรื่องราคากลาง แต่ยังทำไม่เสร็จ ก็คือการทุจริตระยะหลัง หลายคนไปคิดถึงเรื่องงานก่อสร้าง หลายคนไปคิดถึงเรื่องการซื้อสิ่งต่างๆ ที่มันจับต้องได้ แต่จริงๆ การทุจริตที่สูงมากตอนนี้คือการไปจัดซื้อบริการที่จับต้องไม่ได้ บริการแรกเลยที่ทุจริตกันมากคือการจ้างที่ปรึกษา มูลค่าทุจริตมหาศาล เพราะฉะนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ในเรื่องของการจ้างที่ปรึกษาตรงนี้โดยด่วน เพราะว่าเป็นรูปแบบการทุจริต
การจัดซื้อบริการที่ 2 ที่ตอนนี้ก็เฟื่องฟูมากก็คือ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมด IT เพราะเวลาที่จะซื้อบริการเหล่านี้ก็มักจะอ้างว่า ต้องการคุณลักษณะที่เป็นการเฉพาะ ก็ไม่สามารถไปเปรียบเทียบราคาอะไรต่างๆ ได้ หลักเกณฑ์ไม่มีครับ เพราะฉะนั้นเขามาซุบซิบกันอยู่ตลอดว่า ของแค่ 50 ล้านก็อาจจะเดี๋ยวนี้ซื้อขายกัน 200 ล้านก็มี นี่คือข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากนั้นก็มีงานประเภท การจัดงาน อีเวนท์ ออกาไนเซอร์ อะไรทั้งหลายขณะนี้คืองานที่มีการทุจริต คอร์รัปชั่นค่อนข้างที่จะสูงมาก ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างในอดีตไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องพวกนี้ ไปคิดถึงเรื่องการก่อสร้าง ไปคิดถึงเรื่องซื้อของที่จับต้องได้
นอกจากนั้นก็ต้องเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของการเพิ่มการแข่งขัน และลดการกีดกัน ปัจจุบันนี้มีผู้ที่เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีศักยภาพที่จะทำงานให้กับทางราชการได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่จะไประมูล ในการที่จะแข่งขันได้ เพราะเจอวิธีการกีดกันในรูปแบบต่างๆ
ผมก็เรียนว่า จริงๆ อันนี้ก็ต้องก้าวไปอีกขั้นนึง จากเดิมซึ่งรัฐบาลของท่านนายกฯ ชวนนั้นออกกฎหมายเรื่องการฮั้วเอาไว้ ตอนนั้นท่านมอบหมายคุณสุเทพ กับผมไปทำกฎหมายเอาผิดว่าด้วยการสมยอมกันในการเสนอราคาต่อรัฐ ตรงนี้ต้องขยายมาให้ครอบคลุมถึงเรื่องของปัญหาการกีดกัน การแข่งขันในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการเสนอราคา และการกำหนดคุณลักษณะเท่านั้น
มาตการที่ 3 ด้านการป้องกัน ก็คือการลดขั้นตอนการใช้ดุลพินิจของทางราชการ แล้วก็ต้องเพิ่มการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ยังไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์ แล้วก็ยังเป็นดุลยพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนที่เห็นชัดๆ ตอนนี้ครับ งบกลาง งบเงินอุดหนุนทั่วไปทั้งหลาย แล้วก็เงินกองสลาก ซึ่งแต่ละปีสูญเสียไปมหาศาล
ในภาพที่ใหญ่กว่านั้น มาตรการที่ 4 ก็คือ ลดขนาดรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ความหมายก็คือว่า การทุจริต ที่เกิดขึ้นนี้ก็เกิดจากการใช้อำนาจ หลายเรื่องในปัจจุบัน เราให้อำนาจกับภาครัฐ ภาคราชการไว้โดยไม่จำเป็น ในประเทศต่างๆ ที่เขามีการปฏิรูประบบราชการ มีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ลดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นได้ก็คือ เขาลดบทบาทของรัฐโดยรวม เรื่องไหนที่ไม่ต้องทำ เรื่องไหนที่ไม่ต้องมาเกี่ยว เรื่องไหนที่ไม่ต้องมาอนุญาต ก็ตัดออกไปให้หมด มันก็จะเป็นการลดช่องทางในการทุจริต คอร์รัปชั่นลงไป
มาตรการที่ 5 จัดระเบียบการโฆษณาของรัฐ อันนี้มีอย่างน้อย 2 ประเด็นที่อยากจะเรียนให้ทราบ ประเด็นแรกก็คือขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ทรัพยากรของประเทศนั้น ถูกใช้ไปในการโฆษณาซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดกับส่วนรวม ถ้าคิดไม่ออกก็วิ่งไปตามท้องถนนนะครับ ดูป้ายต่างๆ แล้วจะพบว่าเราสูญเสียทรัพยากรไปโดยที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน
แต่ประเด็นที่ 2 อันนี้จะไปเกี่ยวพันกับการปฏิรูปสื่อ ซึ่งจะไปพูดในอีกวาระหนึ่ง ก็คือปัจจุบันการใช้งบประชาสัมพันธ์และการโฆษณาของหน่วยงานของรัฐ เป็นวิธีทำให้สื่อมวลชนบางกลุ่มไม่กล้าตรวจสอบ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติว่า ห้ามรัฐอุดหนุนสื่อด้วยเหตุผลนี้ เพราะต้องการให้สื่อเป็นอิสระทำงานได้ แต่ตอนที่รัฐธรรมนูญเขียนอย่างนี้นั้น คนอ่านแล้วก็ตีความเพียงแค่ว่า รัฐอย่าเอาเงินงบประมาณไปให้สื่อ แต่โลกวันนี้รัฐบาลไม่ต้องจัดงบประมาณไปให้สื่อครับ รัฐบาลทำโครงการประชาสัมพันธ์ แล้วก็เอาเงินให้สื่อครับ ไปดูสิครับ ที่เพิ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจกัน นึกออกมั้ยครับ จัดอีเวนท์ 2 ล้านล้าน กรณีเงินกู้ 2 ล้านล้าน โครงการ 200 ล้านให้ใครครับ ให้สื่อเครือหนึ่ง ผมไม่ต้องเอ่ยชื่อ ท่านไปตรวจสอบเอาเอง 200 ล้าน แล้วสื่อพอเจองบโฆษณาเข้าไป จากสุนัขเฝ้าบ้าน ก็เป็นสุนัขรับใช้ นี่คือปํญหาว่าทำไมการตรวจสอบการทุจริต มันไม่เข้มแข็งโดยสื่อ ถ้าเราไม่มีการมาจัดระเบียบเรื่องของการโฆษณาของรัฐ
มาตรการที่ 6 อันนี้ ปปช. เสนอรัฐบาลไปแล้วเหมือนกัน แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับการตอบสนองคือเขาไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทั้งอัยการ ไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ เพราะจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้น เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาต่างๆ มากมาย
แล้วก็ มาตรการสุดท้ายทางด้านการป้องกัน อันนี้ผมก็เคยเสนอ ปปช. ไปแล้วเขาก็เริ่มทำแล้วก็คือ ให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นเวลาที่จะมีการจัดทำนโยบายและโครงการใหญ่ๆ ที่ผมบอกว่าเริ่มทำแล้วก็คือว่า หลังจากที่ผมพ้นตำแหน่งมา เขาก็เริ่มทำงาน และงานชิ้นแรกของเขาก็คือ เขาเคยเสนอรัฐบาลไปว่า นโยบายจำนำข้าว จะทำให้เกิดการทุจริตสูงมาก เพราะฉะนั้นอันนี้เริ่มทำแล้วนะครับ แต่ที่เราจะนำเสนอว่าจะเพิ่มเข้าไปว่า ต่อไปนี้เพื่อให้มันมีเขี้ยวเล็บมากขึ้นต่อไปนี้ ถ้า ปปช. ประเมินว่านโยบายไหนมีความเสี่ยง แล้วคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ยังยืนยันทำนโยบาย และโครงการเหล่านั้นหากภายหลังมีการทุจริตไม่ว่าจะในระดับใด ต้องถือว่า ครม. รับผิดชอบด้วย อย่างนี้ก็จะทำให้มาตรการนี้มีเขี้ยวเล็บมากยิ่งขึ้นในการที่จะป้องกันการทุจริต
ด้านที่ 3 เรื่องโปร่งใส อันนี้ก็เป็นมาตรการซึ่งทางภาคเอกชนขณะนี้พยายามผลักดันมาก เจรจากับรัฐบาลที่ผ่านมาอยู่เป็นปีเหมืนอกัน แล้วไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะบริหารเงินกู้โดยเฉพาะ คือสิ่งที่เขาเรียกว่า ข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อตกลงคุณธรรมนี้ จะเป็นข้อตกลงที่ว่า เมื่อมีโครงการ อาจจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง เวลาที่มีผู้สนใจจะมาเสนอการทำงานหรือการทำโครงการ ข้อมูลทั้งหลาย ตั้งแต่ว่า ต้นทุนควรจะเป็นเท่าไหร่อย่างไร มีใครบ้างที่มีความจะสามารถในการที่จะทำงานนี้ได้จะต้องมีการเปิดเผย และในทุกขั้นตอนจะต้องมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระ สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้มาถ่ายทอดต่อสาธารณะได้ ก็จะเป็นการช่วยทำให้การตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ผมทราบว่าภาคเอกชนนั้นเสนอเรื่องนี้ไป แล้วก็ในที่สุด พอรัฐบาลไปให้หน่วยงานของรัฐไปจัดทำในรูปแบบของ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นระเบียบสำนักนายกฯ หรือพระราชกฤษฎีกา ปรากฎว่าไม่ตรงตามที่ภาคเอกชนเขาต้องการ จนในที่สุดขณะนี้ก็ยังเดินไม่ได้ ต้องกลับมาทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ
ข้อ 2 เรื่องรัฐวิสาหกิจ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าขณะนี้งบของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีและงบลงทุน มากกว่างบประมาณแผ่นดิน ประมาณ 1.5 เท่า แต่รัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล แบบเดียวกับทางราชการหรือแบบเดียวกับเอกชน ผมก็เลยเคยพูดเหมือนกันว่า อยู่ในสภาวะที่เป็นนกมีหู หนูมีปีกอยู่ แล้วก็มีปัญหามากในการตรวจสอบ เช่น บางครั้งอยากให้รัฐวิสาหกิจทำอะไรตามนโยบายรัฐวิสาหกิจก็บอกว่า ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เป็นบริษัทแบบเอกชนแล้ว จะมาให้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลแบบเดิมๆ ไม่ได้ พอจะใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าไปเล่นงานว่าเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือเปล่า เอารัดเอาเปรียบคู่แข่งหรือเปล่าบอก ไม่ใช่ ไม่ใช่บริษัทเอกชนนะ เป็นรัฐวิสาหกิจ สภาพอย่างนี้ไม่ได้ครับ
มาตรฐานของรัฐวิสาหกิจต่อไปนี้ต้องเอากันให้ชัด เมื่อเป็นบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูล เทียบเท่ากับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้นทุนเป็นอย่างไร คุณมีคู่สัญญาเป็นใครที่ไหนบ้าง เอากันให้ชัดเลย แล้วก็ควรจะขยายกฎหมาย อย่างเช่นกฎหมายทางการค้าอะไรต่างๆ ให้ไปครอบคลุมบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจเหล่านี้
3. แก้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ข้อมูลข่าวสารของราชการเรามีกฎหมายอยู่ในขณะนี้ มีปัญหาหลายด้าน ความจริงผมเองเป็นคนเสนอกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เป็นผู้แทนสมัยแรกๆ เลย เมื่อประกาศใช้ออกมา ได้ผลแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ประเด็นคือ ข้อมูลบางอย่างที่ต้องเปิดเผยในปัจจุบัน ไม่ได้เปิดเผยในรูปแบบที่ผู้ที่สนใจ หรือผู้ที่จะตรวจสอบสามารถเข้าถึงได้จริง ต้องมารื้อหลักเกณฑ์ตรงนี้กันใหม่ ต่อไปนี้เราจะต้องมาบังคับอะไร เช่น สัญญา สัมปทาน สัญญามูลค่ามากๆ ต้องเปิดเผยในรูปแบบไหนที่คนตรวจสอบได้ ต้องว่ากันไปในกฎหมายเลย
ประการที่ 2 การขอข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ปัจจุบันยุ่งยากมาก ไปขอหน่วยงานรัฐบอกเข้าข้อยกเว้น เข้าข้อยกเว้นนี้ กฎหมายอาจจะเขียนไว้ 1. เพราะกระทบต่อความมั่นคง 2. เพราะไปกระทบกับความลับทางการค้า หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าเขียนไว้กว้างๆ อย่างนี้ ทุกหน่วยงานอ้างได้หมด ไปดูในหลายประเทศ ปรากฎว่า กฎหมายของเขานั้น ถ้าจะอ้างความมั่นคงนั้น ให้เฉพาะหน่วยงานอย่างเช่น สภาความมั่นคง ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ก็อ้างความมั่นคงได้ อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นก็จะมีการมาสังคายนาในเรื่องของข้อยกเว้นว่า ข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยนั้นมีอะไรอย่างไรบ้าง แล้วก็ต้องไปปรับปรุงว่า เมื่อต้องการข้อมูล ให้ ไม่ให้ มีการอุทธรณ์แล้ว ต้องเปิดเผยข้อมูลในระยะเวลาอันสั้น พูดกันตรงๆ ที่ผ่านมา แม้แต่พวกผมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบ ไม่ค่อยคิดจะใช้กฎหมายฉบับนี้หรอกครับ เพราะไปขอเข้าจริงๆ รู้เลยว่า ขั้นแรกถูกปฏิเสธว่า ไม่ใช่ข้อมูลที่เปิดเผยได้ ไปอุทธรณ์ลุ้นเอาอีก ไม่แน่ใจจะชนะอุทธรณ์หรือเปล่า ต่อให้ชนะอุทธรณ์ กว่าจะเปิดเผยวิธีการที่เปิดเผย สายเกินไปครับ ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้กฎหมายนี้ก็จะมีการแก้ไข และพร้อมกันนั้นก็จะคุ้มครองกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารซึ่งอาจจะผิดกฎหมายนี้ แต่เปิดเผยแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก็จะต้องไปปรับแก้ไขตรงนี้ด้วย
สุดท้ายของทางด้านโปร่งใส มาตรการที่ 4 คือการเพิ่มความเข้มข้นในการเปิดเผยข้อมูล ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ ปัจจุบันนักการเมือง สส. แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว แต่มีผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ ทั้งในราชการ และรัฐวิสาหกิจอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้เปิดเผย ควรจะเปิดเผย
ส่วนคำว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจก็คือว่า ผมว่าถึงเวลาแล้วนะครับวันนี้ที่เราต้องรู้เหมือนกัน บรรดาอธิบดี หรือแม้แต่ สส. รัฐมนตรี คุณมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอะไรบ้าง ไม่ผิดนะครับที่คุณจะมี แต่สังคมมีสิทธิ์จะรู้ เพราะสังคมจะต้องรู้ว่า ธุรกิจที่คุณทำนั้นมันเกี่ยวกับงานที่คุณทำหรือเปล่าในตำแหน่งหน้าที่ ก็จะได้ไปติดตาม ไปตรวจสอบกันอย่างเข้มข้นได้อันนี้ก็เป็น 4 มาตรการทางด้านความโปร่งใส
ด้านสุดท้าย ด้านการปลูกฝัง อันแรกก็คือการขยายผลสิ่งที่ทาง กทม. เริ่มต้นไว้ หลักสูตรโตไปไม่โกง ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เขาช่วยสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรนี้ เขาสนับสนุนโครงการนี้มาก กทม. เขาเอาไปทำ เขาก็บอกเลยว่า เวลา กทม. ไปทำนั้นห้ามมีลิขสิทธิ์ เขาอยากให้ทุกคนไปใช้ เอาเข้าจริงๆ ปรากฎว่า พยายามไปให้ที่อื่นใช้ มีแต่พวกโรงเรียนคริสต์ โรงเรียนนานาชาติขอไป ปรากฎว่าโรงเรียนของกระทรวงฯ ไม่เอาครับ ก็ต้องขยายผลให้ได้นะครับ
2. การสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่น ตอนนี้เราต้องมีการวิจัยในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้เราแก้ปัญหาได้ถูกจุด พอแล้วครับแค่โพลมาถามว่า รับได้มั้ย ทุจริต ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วย วันนี้ต้องสนับสนุนงานวิจัยแบบที่หอการค้าทำอยู่ แต่ทำให้ลึกมากขึ้นว่า ตกลงในประสบการณ์ของคุณนั้น ทำธุรกิจนั้นต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ กี่เปอร์เซนต์ แล้วก็ทำให้ละเอียดมากขึ้นก็จะพบว่า หน่วยงานไหนบ้างที่รับเงินไปเยอะ อย่างนี้ก็จะทำให้เราสามารถที่จะไปแก้ปัญหาได้ถูกจุด ถูกต้อง
3. จัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังการคอร์รัปชั่น ที่คิดกันคร่าวๆ ตอนนี้ก็จะเป็น น่าจะเป็นในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นลักษณะของหน่วยที่ภาษาอังกฤษอาจจะใช้คำว่า Policy Watch – Corruption Watch ซึ่งจะเป็นผู้ติดตามที่อิสระ ใจผมไม่อยากให้อันนี้อยู่ในระบบราชการ หรือแม้แต่อยู่ใน ปปช. ด้วยซ้ำ แต่เป็นหน่วยงานอย่างเช่น สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือแม้กระทั่ง NGO ที่มีหน่วยงานลักษณะนี้
และสุดท้ายครับ ก็คือ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคประชาชน รูปแบบก็ถ้าคิดไม่ออกก็คล้ายๆ สสส. แต่แทนที่จะมาทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ก็มาช่วยสนับสนุนบรรดาองค์กรทั้งหลายที่เขาทำงาน ที่เป็นองค์กรภาคประชาชน ในเรื่องของการติดตามตรวจสอบ แล้วก็จะส่งเสริม สนับสนุน งานทางด้านการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น
20 มาตรการ 4 ด้าน อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่เราได้มาจากการไปพบปะกับเครือข่ายองค์กร กลุ่มบุคคลต่างๆ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่า 20 มาตรการนี้ เราพร้อมที่จะผลักดันดำเนินการ เมื่อเรามีโอกาส และเราก็จะติดตามว่า การแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทยนั้นจะต้องมีสิ่งเหล่านี้
สัปดาห์ต่อๆ ไป เราก็จะมาคุยในด้านอื่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเดินหน้าในการที่จะรวบรวมประเด็นของการปฏิรูป เพื่อนำเสนออย่างนี้ เพื่ออะไรครับ ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เห็นว่า งานปฏิรูปจริงๆ มันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เพราะวันนี้สังคมพูดน้อยไปครับว่า ที่จะต้องทำ ทำอะไรบ้าง คิดแต่ว่า มันไม่ดี อยากปฏิรูปให้มันดี แล้วก็คิดเอาว่า คนนั้นมาทำ คนนี้มาทำ มันจะเสร็จ แต่ถ้าเราเห็นเนื้อหาสาระอย่างนี้เราจะรู้แล้วครับว่า มันเกี่ยวข้องกับใครบ้าง กระบวนการจะต้องเป็นอย่างไร และใครบ้างจะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แสดงความจริงใจ แสดงความจริงจังในการผลักดันอย่างไร