Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

อวัตถุศึกษากับอธิป: Game of Thrones ยังครองแชมป์ซีรีส์ที่คน ‘ไพเรต’ มาดูมากสุด

$
0
0

‘อธิป จิตตฤกษ์’ ประมวลข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลก นำเสนอข่าวผู้ผลิต Games of Thrones เห็นการโหลดสำเนาเถื่อนมีผลดีมากกว่าผลเสีย, ศาลนิวยอร์กตัดสินการสอดส่องของ NSA ไม่ผิดกฎหมาย

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต"เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 
 

Game of Thrones ครองแชมป์ซีรี่ส์ที่คน "ไพเรต"มาดูมากที่สุดเป็นปีที่ 2

หลังจากปี 2012 Game of Thrones สามารถโค่นแชมป์เก่าอย่าง Dexter ไปได้ Game of Thrones ก็ยังครองแชมป์ซีรีส์ที่ "นักโหลด"ทั้งหลายทำการสำเนาเถื่อนผ่านระบบบิตทอร์เรนต์มาดูมากที่สุด

โดย Game of Thrones  มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกเฉลี่ยในแต่ละตอนถึง 5,900,000 ดาวน์โหลด เยอะเสียยิ่งกว่ายอดผู้ชมโดยเฉลี่ยของซีรีส์นี้ในอเมริกาเองเสียอีก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่ซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นที่โด่งดังและกล่าวขวัญกันในโลกอินเทอร์เน็ตกันมากๆ

สำหรับทางผู้กำกับซีรีส์นี้อย่าง David Petrarca ก็กลับมองว่าชื่อเสียงอันล้นหลามของซีรีส์นี้แยกไม่ออกจากการที่ผู้คน "ไพเรต"ซีรี่ส์นี้กันอย่างมากหมายขนาดนี้ และทาง Jeff Bewkes ผู้เป็น CEO ของต้นสังกัดของซีรี่ส์อย่าง Time Warner (ที่เป็นเจ้าของ HBO อีกที) ก็บอกว่าการเป็นแชมป์ของการถูกไพเรตเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจกว่าการได้รางวัล Emmy ซะอีก และมันก็ยังทำให้ยอดสมัครสมาชิกช่อง HBO เพิ่มขึ้นอีก

ส่วน Vince Gilligan ผู้สร้าง Breaking Bad ที่เป็นซีรี่ส์ที่ยอดผู้ชมในอเมริกาสูงกว่า Game of Thrones ราวเท่าตัว แต่ยอดไพเรตน้อยกว่าและตามมาเป็นอันดับ 2 ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่าไพเรตมีผลดีมากกว่าผลเสีย

แต่ทาง Gale Anne Hurd ผู้อำนวยการสร้าง The Walking Dead อันมียอดไพเรตเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ (แต่ยอดผู้ชมในอเมริกาสูงกว่า Game of Thrones ราว 3 เท่า) กลับไม่เห็นผลดีของการถูกไพเรตนัก และมองว่ามันเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้ผู้ชมเสียมากกว่า

ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ผลิตจะเห็นว่าการถูกไพเรตนั้นมีทั้งดีและไม่ดี งานวิชาการหลายชิ้นก็ดูจะชี้ตรงกันว่าภูมิภาคที่มีการสำเนาเถื่อนซีรี่ส์กันกระหน่ำที่สุดก็คือภูมิภาคที่ซีรี่ส์เหล่านี้ไม่มีฉายอย่างถูกต้อง หรือฉายล่าช้ากว่าอเมริกาไปเยอะ

ซึ่งนี่ก็นำมาสู่ทางออกที่ดีกว่า "ไล่ปราบการละเมิดลิขสิทธิ์"ดังที่นักวิชาการชี้อย่างปากเปียกปากแฉะว่าโดยพื้นฐานแล้วก็ควรจะให้ผู้คนนอกอเมริกาสามารถดูซีรีส์ได้พร้อมๆ อเมริกาในช่องทางที่ถูกกฎหมายภายใต้ราคาอันสมเหตุสมผล

เพราะอย่างน้อยๆ เหล่า “ไพเรต” ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จงใจเป็นไพเรต แต่พวกเขาก็เป็นเพราะนี่เป็นคนทางที่เขาจะได้ดูซีรี่ส์เรื่องโปรดได้อย่างรวดเร็วที่สุดในต้นทุนที่สมเหตุสมผลเท่านั้นเอง

Source: http://torrentfreak.com/game-of-thrones-most-pirated-tv-show-of-2013-131225/, http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/12/17/walkingdead

 

Iron Maiden วงเฮฟวี่เมทัลค่าตัวระดับท็อปของโลกวางแผนทัวร์ไปตามภูมิภาคที่คน "โหลด"งานของวงมากที่สุด

สำหรับค่ายเพลงและนักดนตรีจำนวนมาก การ "โหลด"เพลงทั้งหลายทั้งมวลคือหายนะทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านกันจนหมดแรงกันไปแล้ว

อย่างไรก็ดีแนวโน้มใหม่ๆ ของโมเดลทางเศรษฐกิจของธุรกิจดนตรีก็ดูจะเป็นไปในทางที่จะปรับตัวเข้าหาการโหลดเพลงฟรีกันอย่างหูดับตับไหม้ของคนในยุคนี้

การตระเวนแสดงสดเป็นทางออกหนึ่งของวงดนตรีจำนวนมากในการที่จะได้รายได้เท่าเดิมในโลกที่คนโดยรวมๆ แทบจะไม่จับจ่ายซื้องานบันทึกเสียงกันอีกแล้ว

Iron Maiden อันเป็นวงเฮฟวี่เมทัลที่อยู่ยงคงกระพันมากว่า 30 ปีตั้งแต่เป็นตัวหอกของกระแส New Wave of British Heavy Metal ก็เป็นวงหนึ่งที่น่าจะมีรายได้หลักมาจากการแสดงสดมาช้านานแล้ว

โชว์ของวง Iron Maiden ขึ้นชื่อลือชาในความตระการตามาตั้งแต่ยุค 1980's แล้วในแบบที่เรียกได้ว่าแทบจะหาวงรุ่นเดียวกันที่มีชื่อเสียงด้านการแสดงสดในระดับเดียวกันยาก

ล่าสุด วงได้วางแผนการทัวร์ไปตามประเทศที่มียอดการสำเนาเถื่อนหรือยอดดาวน์โหลดทอร์เรนต์สูง ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้

ผลคือคอนเสิร์ตของวงนั้น "SOLD OUT"ทุกประเทศที่ไปเล่น

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวงอย่าง Iron Maiden นั้นคำถามเวลาไปเล่นในหลายๆประเทศคงไม่ใช่ว่าตั๋วจะ "SOLD OUT"หรือไม่ แต่คงต้องถามว่า "SOLD OUT"ไปกี่รอบมากกว่า ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่วงรุ่นเดียวกัน รุ่นก่อนหน้า หรือรุ่นหลังจะทำได้ง่ายๆ แต่อย่างใด

Iron Maiden ดูจะใช้ข้อมูลการดาวน์โหลดเพลงแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อหาตัวว่าแฟนๆ ของวงไปหลบอยู่ที่ไหนในโลกเพื่อเพิ่มรายได้จากการแสดงสดได้ แต่ทางออกแบบนี้ก็คงจะใช้ไม่ได้เสมอไปกับวงดนตรีทุกรุ่น ทุกแนว ทุกวงแต่ประการใด เพราะแนวดนตรีอื่นๆ ก็ยากจะมีแฟนๆ อยู่ทั่วโลกมากมายอย่างเฮฟวี่เมทัล และในบรรดาวงเมทัลเอง ก็มีไม่กี่วงที่คนแทบทุกรุ่นจะนิยามชมชอบร่วมกันอย่าง Iron Maiden

แต่ทั้งหมดนี้ ทางออกของ Iron Maiden ก็ดูจะย้ำบทเรียนพื้นๆ ที่งานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ตรงกันในช่วงหลังๆ ว่านักโหลดเพลงรายใหญ่ทั้งหลายนั้นก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับคนที่จะยอมจับจ่ายเงินกับสินค้าและกิจกรรมทางดนตรีนั่นแหละ

[Update: หลังจากสื่อออนไลน์จำนวนมากผลิตซ้ำข่าวนี้ มีการเปิดเผยมาแล้วว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริงในความหมายที่ว่า Iron Maiden ไม่ได้ “วางแผน” ทัวร์ตามที่วงโดนสำเนาเถื่อน แต่ทางบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลได้เห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กันระหว่างภูมิภาคที่ Iron Maiden ไปทัวร์แล้วขายตั๋วหมดว่าเป็นภูมิภาคที่คนโหลดงานของวงมาฟังอย่างหูดับตับไหม้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการยืนยันใดๆ ว่าทางวงรู้ข้อมูลดังกล่าวก่อนวางแผนทัวร์แต่อย่างใด]

Source: http://torrentfreak.com/iron-maiden-tracks-down-pirates-and-gives-them-concerts-131224/

 

ศาลนิวยอร์คตัดสินว่าโครงการสอดส่องประชาชนของ NSA ไม่ผิดกฎหมาย

ทางศาลให้เหตุผลว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะทาง NSA เอาข้อมูลการติดต่อสื่อสารประชาชนมาจากบริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมอีกที ซึ่งภายใต้ "หลักการของบุคคลที่สาม" (Third Party Doctrine) ศาลเห็นว่าประชาชนไม่สามารถจะคาดหวังความเป็นส่วนตัวได้อีกเมื่อข้อมูลอยู่ในมือบรรดาผู้ให้บริการด้านการสื่อสารทั้งหลาย

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สองสัปดาห์ทางศาลวอชิงตันดีซีก็ได้ตัดสินไปก่อนอย่างแตกต่างออกไปแล้วว่าโครงการสอดส่องของ NSA ผิดกฏหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ

ก็คาดได้เลยว่าคงจะมีการต่อสู้กันในประเด็นด้านการความชอบด้วยกฎหมายของการสอดส่องของ NSA ขึ้นไปจนถึงศาลสูงสหรัฐแน่นอน

Source: http://gigaom.com/2013/12/27/courts-split-over-nsa-phone-records-new-ruling-says-spy-program-is-legal/

 

ศาลอเมริกันชี้ตัวละครเชอร์ล็อคโฮล์มเข้าไปในคลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะเรียบร้อยแล้ว

ปี 1923 เป็นตัวแบ่งสำคัญในสารบบลิขสิทธิ์ในอเมริกาเพราะนี่เป็นปีแรกที่การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ในปี 1976 ขยายย้อนกลับไปถึง กล่าวคือการแก้กฏหมายลิขสิทธิ์ในปี 1976 ได้ยืดอายุการคุ้มครองงานมีลิขสิทธิ์ทุกชิ้นที่ยังไม่หมดอายุเมือวันที่ 1 มกราคม 1978 อันเป็นเวลาที่กฎหมายเริ่มบังคับใช้ และการคุ้มครองนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องนำงานอันมีลิขสิทธิ์ไปขึ้นทะเบียน

ก่อนหน้านี้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอเมริกามีระยะเวลาคุ้มครองเต็มที่ 56 ปีหลังการเผยแพร่งานครั้งแรก และงานจะได้รับการคุ้มครองหลังจากนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานลิขสิทธิ์เท่านั้น นี่หมายความว่างานที่สร้างมาในปี 1922 ก็จะไปหมดอายุเต็มที่ตอนขึ้นปี 1978 พอดี ซึ่งหมายความว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานที่สร้างมาในปี 1922 ยังไงก็ถือว่าหมดอายุการคุ้มครองแล้ว ก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปี 1976 จะบังคับใช้

ในกรณีของเชอร์ล็อค โฮล์ม ปัญหามีอยู่ว่างานในชุดเชอร์ล็อค โฮล์มของเซอร์ Arthur Conan Doyle ส่วนใหญ่จะออกมาในปี 1922 แต่ก็มีงานบางส่วนหลังจากนั้น

ปัญหาบนฐานของระบบกฎหมายอเมริกันคือถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวเชอร์ล็อค โฮล์ม และบรรดาตัวละครที่รู้จักกันดีอย่างหมอวัตสัน หรือด็อกเตอร์มอริอาร์ตี้ นั้นจะถือว่าหมดลิขสิทธิ์ไปแล้วหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่สำคัญว่าบรรดาเรื่องแต่งต่อยอดจากเรื่องเก่า (ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า "แฟนฟิค" (Fanfic)) อันมีตัวละครเหล่านี้จะเขียนได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ดังกล่าวก็คือกองมรดกของเซอร์ Arthur Conan Doyle นั่นเอง

(อย่างไรก็ดีในอังกฤษไม่มีปัญหานี้เพราะงานทั้งหมดของ Arthur Conan Doyle หมดลิขสิทธิ์ไปแล้วก่อนอังกฤษจะยืดอายุลิขสิทธิ์เมื่อไม่นานมานี้ และกรณีไทยก็น่าจะเช่นเดียวกับอังกฤษ)

ศาลอเมริกันตัดสินว่าตัวละครเชอร์ล็อค โฮล์ม ไปจนถึงรายละเอียดของเชอร์ล็อค โฮล์มก่อนปี 1923 ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์แล้วในอเมริกา ข้อโต้แย้งของทางกองมรดกฯ ที่ว่าต้องนับเริ่มนับถอยหลังการหมดลิขสิทธิ์ของตัวเชอร์ล็อค โฮล์มเมื่อตอนซีรีส์จบแล้วเพราะถือว่าตัวละครยังพัฒนาไม่เต็มที่นั้น ศาลเห็นว่าเป็นการอ้างที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและเจตนารมย์ของกฎหมายลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

ดังนั้นการเขียน "แฟนฟิค"ของเชอร์ล็อค โฮล์มจึงไม่ต้องมีใบอนุญาตอีกต่อไปอย่างเป็นทางการแล้วในอเมริกา (เพียงแต่ต้องระวังไม่ใช้รายละเอียดตัวละครตั้งแต่ปี 1923 เช่น หมอวัตสันเล่นรักบี้ เป็นต้น)

อนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นราวมาเนื่องจากมีผู้รวม "แฟนฟิค"ของเชอร์ล็อค โฮล์มมาขาย เตรียมจะพิมพ์แล้ว แต่สำนักพิมพ์ไม่ยอมพิมพ์ เพราะโดนจดหมายขู่จากกองมรดกว่าห้ามไปขายออนไลน์ตามพวกเว็บอย่าง Amazon ก่อนจะจ่ายค่าใบอนุญาตอีกก้อน

แน่นอนว่าผู้รวม "แฟนฟิค"ดังกล่าวก็ต้องฉุนแน่ๆ เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้จ่ายเงินกับกับกองมรดกไป 5,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้วเพื่อจะผลิตงานรวม"แฟนฟิค"ดังกล่าว พวกเขาจึงยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาว่าตัวละครต่างๆ ในซีรีส์เชอร์ล็อค โฮล์มนั้นถือว่าหมดลิขสิทธิ์ไปหรือยัง แล้วศาลก็ตัดสินออกมาดังที่เล่ามา

ทั้งนี้ทางกองมรดกฯ ก็ยังไม่ยอมแพ้ กล่าวจะยื่นอุทธรณ์และจะตามราวีด้วยกฎหมายเครื่องหมายการค้าต่อไป

 

งานวิจัยชี้ว่า "การโหลดเพลง"ในภาพรวมไม่ได้ทำให้มีเพลงฮิตน้อยลง แต่ทำให้มี "ศิลปิน"หน้าใหม่น้อยลงที่แต่ละ "ศิลปิน"จะมีเพลงฮิตมากขึ้น

งานวิจัยนี้เป็นของนักกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัย Tulane นาม Glynn S. Lunney, Jr. ที่มีดีกรีปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย โดยเขาทำการศึกษาจำนวนเพลงและศิลปินใหม่ๆ ใน Billboard Hot 100 ตั้งแต่ปี 1985-2013

ผลการวิจัยชี้ว่าเอาจริงๆ แล้ว หลังยุคที่จะมี "การโหลดเพลง" (ซึ่งในทางเทคนิคน่าจะเรียกว่าการแชร์ไฟล์มากกว่า) ในปี 1999 (เริ่มจาก Napster) เพลงฮิตโดยรวมใน Billboard Hot 100 เพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดีเขาก็ชี้อีกว่าทั้งๆ ที่เพลงฮิตมีปรากฎมามากขึ้น แต่จำนวน "ศิลปินหน้าใหม่"กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม แต่พวกศิลปินหน้าเก่าที่เคยมีเพลงฮิตกันอยู่แล้วกลับมีเพลงฮิตซ้ำมากขึ้นกว่าช่วงก่อน

ดังนั้นเขาจึงสรุปแบบพูดให้ง่ายขึ้นว่า การโหลดเพลงทำให้คนทำเพลงกันน้อยลง แต่ทำให้คนที่ทำเพลงอยู่แล้วทำเพลงมากขึ้น

นี่นำไปสู่ข้อสรุปของเขาในฐานะของนักกฎหมายที่มีพื้นเพทางเศรษฐศาสตร์ว่า การแชร์ไฟล์ไม่ได้ทำให้งานดนตรีในระบบลดลงดังที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงกล่าวอ้าง แต่มันทำให้การผลิตงานดนตรีเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ และรัฐธรรมนูญอเมริกาก็กำหนดว่ากฎหมายลิขสิทธ์มีไว้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตงานศิลปะที่มากขึ้นในระบบ ดังนั้นเขาจึงเห็นว่าการแชร์ไฟล์จึงควรจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่ผิดกฎหมายดังที่เป็นอยู่

เว็บไซต์สองเว็บไซต์รายงานข่าวนี้ด้วยจุดยืนที่ต่างกัน ทางด้าน TorrentFreak รายงานโดยเน้นไปที่ข้อสรุปของนักกฎหมายท่านนี้และเน้นการ "เพิ่มเพลงฮิต"ในระบบของการแชร์ไฟล์ ส่วนเว็บไซต์ Digital Music News ก็ไปเน้นการ "ลดศิลปินหน้าใหม่"อันเกิดจากการแชร์ไฟล์ ซึ่งนี่ก็ดูจะเป็นการสะท้อนจุดยืนด้านการเมืองลิขสิทธิ์ที่ต่างกันของทั้งสองเว็บเป็นอย่างดี

ผู้เขียน ในฐานะนักวิจัย มองว่างานชิ้นนี้ของ Lunney มีความผิดพลาดด้านข้อมูลและข้อสรุปจำนวนมาก

โดยพื้นฐานที่สุด งานชิ้นนี้สรุปเพลงใหม่ในระบบจาก "เพลงฮิต"ที่โผล่มาใน Billboard Hot 100 ซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับเพลงใหม่ที่มีในระบบทั้งหมดจริงๆ กล่าวคือ “จำนวนเพลงใหม่” เป็นคนละเรื่องกับ “จำนวนเพลงฮิต”

หากใครตามสถิติการทำลำดับเพลง Billboard Hot 100 ก็จะพบว่าอันดับเพลงนี้วัดเพลงฮิตจาก "ยอดขาย"และ "ยอดเปิดวิทยุ"เป็นหลัก

จากจัดอันดับการเพิ่มยอดขายออนไลน์เข้าไปในสารบบการนับด้วยในปี 2005 และเพิ่มการ "สตรีม"หรือฟังออนไลน์ตามเว็บไซต์ดนตรีต่างๆ เข้ามาในปี 2007 และเพิ่ม "ยอดวิว"ใน Youtube มาในปี 2013 (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Billboard_Hot_100)

แน่นอนว่านี่ดูจะเป็นการพัฒนาการจัดอันดับให้น่าเชื่อถือขึ้น แต่มันก็เกิดหลังจากที่สื่อเหล่านี้แทบจะพัฒนาเต็มที่จนไม่อาจละเลยได้แล้วเท่านั้น เพราะอย่างน้อยๆ โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตจำนวนมากก็ได้โฆษณาศิลปินว่ามียอดวิวบน YouTube เท่านั้นเท่านี้ ก่อนที่ Billboard Hot 100 จะรวมยอดวิวบน YouTube เข้ามาในสารบบ

คำถามที่จะส่งผลต่อการสรุปในงานวิจัยคือ ถ้า Billboard Hot 100 ปรับตัวกับสื่อดนตรีใหม่ๆ เร็วกว่านี้ จำนวน "ศิลปินหน้าใหม่"จะเพิ่มขึ้นหรือไม่? เพราะอย่างน้อยๆ ที่ทางของ "ศิลปินหน้าใหม่"จำนวนมากก็วางอยู่บนการสร้างชื่อเสียงในสื่อใหม่ๆ มากกว่าเสื่อเก่าๆ อย่างซีดีซิงเกิล วิทยุภาคพื้นดิน หรือกระทั่ง iTunes อย่างน้อยๆ พวกที่เปิดให้โหลดเพลงฟรีโดยตรงตามเว็บไซต์ตัวเองหรือ BandCamp และให้ฟังฟรีบน YouTube ก็น่าจะไม่ได้อยู่ในสารบบการนับนี้ก่อนปี 2013

พูดง่ายๆ คือการนับเพลงฮิตแบบเก่าๆ ทำให้ "ศิลปินหน้าใหม่"ที่มีทางในการจัดอันดับน้อยลงอยู่แล้ว การจัดอันดับจึงดูจะน่ากังขาในตัวเองในฐานะของมาตรวัดศิลปินหน้าใหม่

ประการต่อมา หากจะว่ากันตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญอเมริกันในส่วนที่เป็นฐานให้กฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เพลงที่ฮิตหรือไม่ฮิต ก็ดูจะไม่ใช่ประเด็น เพราะรัฐธรรมนูญพูดถึงการผลิตงานสร้างสรรค์ทั้งหมดในระบบไม่ใช่แค่งานสร้างสรรค์ที่ได้รับความนิยม ดังนั้นจึงดูไม่มีเหตุสมควรใดๆ ที่จะไม่นับการทำเพลงที่ไม่ฮิตออกมาด้วย

ในแง่นี้การออกแบบการวิจัยจึงดูผิดแต่แรกแล้ว เพราะโจทย์มันน่าจะเป็นการหา "จำนวนเพลงที่ผลิตมาทั้งหมดในอเมริกาช่วงปี 1985-2013"มากกว่า "เพลงฮิตในอเมริกาช่วงปี 1985-2013"

ซึ่งหากโจทย์เป็นแบบแรก การนั่งนับการเกิดวงดนตรีสัญชาติอเมริกันที่ผลิตงานออกมาผ่านเว็บอย่าง Myspace หรือ Sound Cloud และ BandCamp ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า (และยากกว่า เพราะข้อมูลกระจัดกระจายมาก)

ทั้งหมดนี้จากการวิจัยภาคสนามของผู้เขียนเกี่ยวกับดนตรีเฮฟวี่เมทัลและดนตรีพังค์ใต้ดินในโลก ผู้เขียนคิดว่าข้อสรุปว่า "ศิลปินหน้าใหม่น้อยลง"ของงานวิจัยของ Lunney เป็นสิ่งที่เกินหน้าขันด้วยซ้ำ

เพราะปัญหาที่แวดวงดนตรีย่อยๆ แทบจะทั่วโลกประสบทุกวันนี้คือ มีวงดนตรีเกิดขึ้นมากเกินไปจนผู้สนับสนุนดนตรีเหล่านี้เกินจะสนับสนุนกันหวาดไหว

การบันทึกเสียงคุณภาพดีมีต้นทุนที่ถูกลงพร้อมๆ กับราคาของปัจจัยการผลิตและเผยแพร่ดนตรีอีกสารพัด วงดนตรีจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลกก็ดาหน้ากันเข้ามาในโลกออนไลน์ และนำเพลงมาเสนอให้ฟังฟรีๆ แบบฟังกันไม่หวาดไม่ไหว

ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วไปในเมืองใหญ่ทั่วโลก และวงดนตรีเหล่านี้แทบทั้งสารบบก็จะอยู่นอกโลกของ Billboard เพราะไม่มี "เพลงฮิต" (ยังไม่ต้องนับปัญหาการนับรวมที่ได้กล่าวไปแล้ว)

แน่นอนว่าอเมริกาก็เป็นศูนย์กลางสำคัญของปรากฎการณ์นี้ ดังนั้นการละเลยการผลิตดนตรีเหล่านี้ในงานวิจัยที่ว่าด้วยความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของลิขสิทธิ์จึงเป็นการละเลยที่ใหญ่หลวงมาก

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ติดตามข่าวสารมา ในยุคนี้เป็นยุคที่ "การกระจายรายได้"ของนักดนตรีอาชีพในอเมริกาดูจะแย่ที่สุดด้วย ภาคการผลิตดนตรีประกอบไปด้วยดาราดนตรีบนยอดที่มีรายได้มหาศาลยามเล่นสดที กับนักดนตรีทั่วๆ ไปที่แทบจะไปขอเจ้าของงานเจ้าของสถานที่เล่นฟรีๆ กล่าวคือ "ชนชั้นกลางทางดนตรี"ดูจะแทบหายไปหมด คนที่จะหากินกับดนตรีได้ เป็นอัตราส่วนน้อยลงของคนเล่นดนตรีทั้งหมดในระบบ

อย่างไรก็ดี กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ไม่ได้มีพันธกิจใดๆ ที่จะยืนยันว่าผู้ผลิตศิลปวัฒนธรรมจะต้องมีรายได้จากการผลิต และในของอเมริกาเอง กฎหมายลิขสิทธิ์ก็ดูจะมีเจตจำนงตามรัฐธรรมนูญว่ามันต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีงานในระบบผลิตออกมามากที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันกันกับความอิ่มท้องของผู้ผลิตแต่อย่างใด

ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ควรจะไปเอาผิด "คนโหลดเพลง"เพราะระบบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้ทำให้การผลิตดนตรีในระบบลดลงแต่อย่างใด

และหนทางที่จะทำให้การบันทึกเสียงงานดนตรีมีต่อไป ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปไล่จับคนโหลดเพลงทั้งหลาย และฟื้นฟูระบอบเก่าของ CD ขึ้นมา เพราะอย่างน้อยๆ นักดนตรีและวงดนตรีจำนวนไม่น้อยก็สามารถระดมทุนบนเว็บอย่าง Kickstarter และ Indiegogo มาทำอัลบั้มที่มีต้นทุนหลักแสนหลักล้านบาทได้สำเร็จ (อันเป็นงบบันทึกเสียงในสตูดิโอระดับ “มืออาชีพ” ได้สบายๆ) โดยมีผู้สนับสนุนไม่เกิน 200 คนด้วยซ้ำ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่การที่จะทำให้ยอดขายสูงๆ ดังเช่นในอดีต แต่เป็นการเฟ้นหาทางตอบสนองกลุ่มแฟนเพลงเล็กๆ ที่มีกำลังสนับสนุนสูงเพื่อให้เขาสนับสนุนวงดนตรีมากขึ้นได้อย่างไม่ลังเลใจมากกว่า

ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าการเติบโตของบรรดาเว็บ "สตรีม"ทั้งหลายจะไม่ใช่ “ปัญหา” ที่ต้องพิจารณา เพราะ "ตัวกลาง"หน้าใหม่เหล่านี้ก็มีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ และรายได้เหล่านี้ก็ไม่ได้กลับมาสร้างงานดนตรีใหม่ๆ ผลิตศิลปินใหม่ๆ ดังเช่น ตัวกลางหน้าเก่าอย่างพวกพวกค่ายเพลงใหญ่ๆ

ทว่าเอาจริงๆ การปั้นศิลปินใหม่ๆ ของค่ายเพลงก็ดูจะน้อยลงตั้งแต่ทศวรรษ 1980's เป็นต้น มาอย่างนมนานแล้ว เพราะตั้งแต่ยุคนั้นพวกค่ายเพลงใหญ่ก็นิยมจะ "เด็ดยอด"นักดนตรีจากค่ายเพลงอิสระมาออกงาน มากกว่าจะมาปั้นนักดนตรีหรือวงดนตรีใหม่จากศูนย์ดังเช่นยุคก่อนหน้านั้น

Source: http://torrentfreak.com/file-sharing-boosts-creation-of-hit-music-research-finds-140102/ , http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2014/01/02/filesharingstudy

 

Facebook โดนผู้ใช้ฟ้องฐานแอบดู "ข้อความหลังไมค์"

คำว่า "ข้อความหลังไมค์"ที่ใช้กันในภาษาไทยนั้นในภาษาอังกฤษคือคำว่า Private Message ดังนั้น ก็จึงไม่แปลกที่ผู้ใช้จะคาดหวัง "ความเป็นส่วนตัว" (Privacy) ในการส่งข้อความเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ชาวอเมริกันสองคนคาดว่าทาง Facebook ได้แอบดูข้อความหลังไมค์ของเขาและร่วมกันฟ้อง Facebook ฐานละเมิดรัฐบัญญัติความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารอิเล็กทรอนิก (Electronic Communications Privacy Act) ซึ่งในทางปฏิบัติคือการแอบดูข้อความหลังไมค์ของพวกเขา

สำนวนฟ้องกล่าวหา Facebook ว่าทางบริษัทได้แอบอ่านข้อความหลังไมค์ของผู้ใช้ และขายข้อมูลดังกล่าวให้กับพวกบริษัทข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อเพียงเพราะเขาเคยเข้าเว็บบางเว็บ

แน่นอนว่า Facebook ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการแอบอ่านข้อความหลังไมค์ อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยด้านความปลอดภัยที่ชี้ว่า Facebook น่าจะมีการสแกนข้อความหลังไมค์เพื่อตรวจหาชื่อเว็บไซต์ที่มีการส่งกันหลังไมค์ เพื่อวางแผนพัฒนาการขายโฆษณา

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทาง Google และ Yahoo ก็โดนคดีทำนองเดียวกันแล้วในการแสกนอีเมลล์ และคดีก็ยังไม่สิ้นสุด

Source: http://gigaom.com/2014/01/02/facebook-reads-private-messages-to-boost-likes-lawsuit-claims/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles