ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ออกคำสั่งอภัยโทษนักโทษการเมืองทุกคดี และยุติการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ยังกล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุสนับสนุนการแก้ไข รธน. ที่ร่างสมัยรัฐบาลทหาร ซึ่งมีผลกีดกันทำให้ ออง ซาน ซูจี ลงสมัครประธานาธิบดีพม่าไม่ได้
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งพม่า แถลงทางวิทยุเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 (ที่มา: The Republic of The Union of Myanmar President Office)
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวทางวิทยุว่าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3 ม.ค. 2557 - สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ ออกอากาศทางวิทยุประจำเดือนมกราคมของ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า เมื่อวานนี้ (2 ม.ค. 2557) ประธานาธิบดีเต็ง เส่งกล่าวว่า "รัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสมนั้นจะต้องมีการแก้ไขเป็นระยะ เพื่อที่จะได้ตอบสนองความต้องการของชาติ เศรษฐกิจ และความจำเป็นทางสังคมของพวกเรา
"ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้มีข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิของพลเมืองไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ"เขากล่าว "ในขณะเดียวกัน พวกเราต้องการมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและอธิปไตย"
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2008 ของพม่าร่างขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารและผ่านมีผลบังคับใช้หลังการลงประชามติ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่มีผลทำให้ออง ซาน ซูจี ซึ่งมีสามีถือสัญชาติอังกฤษ และบุตรสองคนถือเป็นพลเมืองต่างชาติ ไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้
เต็ง เส่ง กล่าวว่า เขาเชื่อว่ามีความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความปรองดองแห่งชาติ นอกจากนี้เขายังต้องการทำสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศกับกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากผ่านสงครามมาหลายทศวรรษ
"การเจรจาทางการเมือง มีความจำเป็นสำหรับกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และเป็นรากฐานของกระบวนการสันติภาพแห่งชาติ ซึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือทบทวนรัฐธรรมนูญ"เขากล่าว
ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเรียกร้องให้มีการแก้ไข หรือยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อให้รูปแบบของรัฐเป็นแบบสหพันธรัฐด้วย ซึ่งจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ามีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น
เตือนหากเรียกร้องจนเกินรองรับ-อาจเผชิญทางตัน จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันประคับประคอง
อย่างไรก็ตามเต็ง เส่งได้เตือนเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการเมืองด้วยว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน "นับตั้งแต่บริหารราชการมา ข้าพเจ้ายังไม่ได้ทำในสิ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ ข้าพเจ้าได้ส่งเสริมความกลมเกลียว พยายามทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของประชาชน"
"อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าอยากกล่าวว่า หากข้อเรียกร้องทางการเมืองของสาธารณะชนใหญ่เกินกว่าที่ระบบการเมืองปัจจุบันจะรองรับได้ พวกเราก็จะเผชิญกับทางตันทางการเมือง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น เราก็จะเสียเสรีภาพทางการเมืองที่เราได้บรรลุมาไปทั้งหมด ข้าพเจ้าอยากจะเตือนพวกเราทุกคนให้ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์นี้ด้วยความห่วงใยและใช้ภูมิปัญญา"
ทั้งนี้ภายหลังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี ญานวิน โฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีว่า "ขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะนำคำพูดของเขาไปปฏิบัติอย่างไร"ขณะที่สมาชิกพรรค NLD คนอื่นๆ อย่าง ยัน เมียว กล่าวว่าประธานาธิบดีไม่ได้พูดมาตรงๆ เขาค่อนข้างระมัดระวังถ้อยคำ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ธ.ค.) พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและกาพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นรัฐบาลได้ประกาศว่าจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 รวมทั้งแก้ไขมาตราที่มีผลทำให้ออง ซาน ซูจี สามารถลงสมัครประธานาธิบดีพม่าได้ ในเงื่อนไขว่าถ้าลูกชายของเธอทั้งสองคนถือสัญชาติพม่าด้วย
ด้านออง ซาน ซูจีนั้นให้สัมภาษณ์วิทยุเอเชียเสรี RFA ว่า ลูกชายทั้งสองนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว และเธอไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินใจแทนพกเขา และเรื่องนี้ไม่ควรมาเป็นมาตรฐานของประชาธิปไตย ถ้ามีกฎหมายที่มาตัดสินใจแทนพวกเขา
ทั้งนี้พรรครัฐบาล USDP เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 52 มาตรา และเสนอให้ยกเลิก 21 มาตราในรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคฝ่ายค้าน NLD เสนอให้แก้ไข 168 มาตรา
ขณะที่คณะกรรมการรับฟังการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่า ได้รวบรวมข้อเสนอและความคิดเห็นจากวงการต่างๆ โดยมีจดหมายกว่า 3 แสนฉบับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเต็ง เส่งกล่าวด้วยว่าทางกองทัพพม่าเองก็มีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมายังคณะกรรมการชุดนี้ แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดว่กองทัพพม่าต้องการแก้ไขเรื่องใดบ้าง
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปัจจุบันของพม่า กำหนดให้ที่นั่งในรัฐสภาร้อยละ 25 ให้กับตัวแทนจากกองทัพ ขณะเดียวกันพม่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2558 นี้ ซึ่งออง ซาน ซูจี แสดงความประสงค์ที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดี โดยเธอเคยกล่าวว่าพรรคอาจจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามล่าสุดนี้พรรค NLD ได้แถลงว่าจะลงชิงชัยการเลือกตั้งไม่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ทั้งนี้ในการเลือกตั้งซ่อมล่าสุดเมื่อปี 2555 ซึ่งทำให้ออง ซาน ซูจีชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. นั้น พรรค NLD ชนะเลือกตั้ง 41 เขต จากทั้งหมดที่มีการเลือกตั้งซ่อม 43 เขต
คำสั่งส่งท้ายปี - ประธานาธิบดีพม่าอภัยโทษนักโทษการเมือง และผู้ถูกฟ้องร้องทุกคดี
ขณะเดียวกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามในคำสั่ง 51/2013 ซึ่งเป็นคำสั่งอภัยโทษให้กับนักโทษการเมืองในพม่า และยกเลิกการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องกล่าวหา ตามความผิดของกฎหมายต่างๆ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการรวมตัวสมาคมอย่างผิดกฎหมาย, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.122 ฐานทรยศ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.124 ฐานปลุกระดม, กฎหมายว่าด้วยการป้องกันรัฐจากการบ่อนทำลาย, กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและการเดินขบวนอย่างสันติ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.505 ว่าด้วยการกระทำที่ขัดกับผลประโยชน์สาธารณะ, และ กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน ค.ศ. 1950
โดยให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาแล้ว ให้ได้รับการอภัยโทษ, ให้ทุกคดีที่กำลังดำเนินคดีในชั้นศาล ให้มีการยุติการพิจารณาคดีทันที และให้ทุกคดีที่กำลังอยู่ในชั้นสอบสวน สิ้นสุดการสอบสวนทันทีโดยไม่มีมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ออกมา
แปลและเรียบเรียงจาก
Thein Sein Says ‘a Healthy Constitution Must Be Amended’ By LAWI WENG / THE IRRAWADDY, Thursday, January 2, 2014
Committee for Scrutinizing the Remaining Political Prisoners Healthy Constitution must be amended from time to time to address national, economic, social needs of society, Thu, 01/02/2014 - 10:23, The Republic of the Union of Myanmar President Office
Republic of the Union of Myanmar, President Office (Order No. 51/2013)m, 13th Waning of Nadaw, 1375 ME, (30 December, 2013), Pardon, The Republic of the Union of Myanmar President Office