25 ส.ค.2556 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ในฐานะองค์กรประสานงานกลางขององค์กรสาธารณประโยชน์ซึ่งทำงานพัฒนาสังคมในด้านต่างๆมากกว่า 200 องค์กร ออกแถลงการณ์ “เสนอทางออกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองและสังคมไทย” เสนอปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยทันที โดยคณะที่ได้รับความเห็นชอบร่วมจากทุกฝ่าย โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในสัดส่วนเท่าๆกัน มีตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในสัดส่วน 1 ใน 3 ตัวแทนของฝ่ายค้านและกปปส.จำนวน 1 ใน 3 และตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง นักเรียน/นักศึกษา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ องค์กรประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ จำนวน 1 ใน 3 การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปให้เป็นไปโดยการตราพระราชกำหนด หรือมีกฎหมายรองรับ ดำเนินการหลังมีรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
โดย กป.อพช. ยังเรียกร้องให้รัฐบาล กปปส. รวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และประเด็นอื่นๆที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว พร้อมเรียกร้องใหม่มีการปฏิรูป 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ กระบวนการเสนอกฎหมายและตัดสินใจนโยบายและโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การกระจายอำนาจ การตัดสินใจ และการกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่น และชุมชน สร้างกลไกให้สังคมสามารถตรวจสอบและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือการใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายจนทำให้เกิดผลกระทบและความไม่เป็นธรรมต่อวิสาหกิจขนาดเล็ก ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เสนอทางออกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองและสังคมไทย ตามที่ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมใหญ่ของประชาชนจนนำไปสู่การยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังมิได้คลี่คลายลงแต่ประการใด อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานกลางขององค์กรสาธารณประโยชน์ซึ่งทำงานพัฒนาสังคมในด้านต่างๆมากกว่า 200 องค์กร เห็นว่าการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและการปฏิรูปทางการเมืองที่หลายฝ่ายได้นำเสนอนั้นต้องยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม การขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งนี้โดยต้องเคารพสิทธิของประชาชนทุกคนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมกัน กป.อพช. ขอเสนอแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งทางเมืองและการปฏิรูปการเมืองดังนี้ 1. กป.อพช.สนับสนุนข้อเสนอที่ให้มีการเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยโดยทันที เราเห็นว่าจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯที่ดำเนินการโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้รับการยอมรับและไม่ประสบความสำเร็จ คณะกรรมการปฏิรูปฯที่จะถูกจัดตั้งนั้นจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้โดยคณะกรรมการปฏิรูปฯที่จะจัดตั้งขึ้นให้มีสัดส่วนของกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในสัดส่วนเท่าๆกัน โดยให้มีตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในสัดส่วน 1 ใน 3 ตัวแทนของฝ่ายค้านและกปปส.จำนวน 1 ใน 3 และตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อย ผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง นักเรียน/นักศึกษา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ องค์กรประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ จำนวน 1 ใน 3 การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปให้เป็นไปโดยการตราพระราชกำหนด หรือมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยให้ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สัตยาบันร่วมกันเป็นสัญญาประชาคมเพื่อให้มีการนำข้อเสนอการปฏิรูปไปดำเนินการ ภายหลังการมีรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)และรวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และประเด็นอื่นๆที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งนี้โดยรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นควรมีภารกิจหลักในการสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปการเมืองตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่และนโยบายที่มีผลกระทบระยะยาวทางเศรษฐกิจและสังคมควรระงับเอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่หลังการปฏิรูป 3. ในฐานะองค์กรประสานงานขององค์สาธารณประโยชน์ที่ทำงานกับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพัฒนาของรัฐ และการนำเสนอทางเลือกการพัฒนาที่สร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ กป.อพช.ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งนอกจากเคารพสิทธิในการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียงแล้ว ยังต้องดำเนินการปฏิรูปการเมืองในอีก 3 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 3.1 ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอกฎหมาย การตัดสินใจทางนโยบายหรือโครงการที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น 3.2 กป.อพช เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจ การตัดสินใจ และการกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่น และชุมชน เช่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น 3.3 กป.อพช. เห็นว่านอกเหนือจากการปฏิรูปการเมืองซึ่งให้ความสำคัญกับการเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบนักการเมืองและการปฎิรูประบบราชการแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างกลไกให้สังคมสามารถตรวจสอบและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือการใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายจนทำให้เกิดผลกระทบและความไม่เป็นธรรมต่อวิสาหกิจขนาดเล็ก ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กป.อพช. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับกติกาการปฏิรูปทางการเมืองภายใต้ระบบประชาธิปไตย อีกทั้งเคารพเจตนารมย์ทางการเมืองของประชาชนทุกกลุ่มที่ต้องการปกป้องสิทธิในการเลือกตั้ง และการป้องกันกำจัดปัญหาการคอรัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของนักการเมือง ทั้งนี้โดยยินดีที่จะเข้าร่วมในกระบวนการสร้างความปรองดอง และการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อสร้างประเทศไทยให้มีประชาธิปไตย และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืนสืบไป
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556 |