'ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์'ระบุคำพูดอภิสิทธิ์ 'ลงเลือกตั้งคือต่ออายุระบอบทักษิณ'ถือเป็นการยกตนข่มท่าน แบ่งแยกประชาชน ยกตัวเองเป็นเทพ ชี้เลือกตั้งไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดแต่เราคิดแทนประชาชนไม่ได้ จึงตัดสินใจลงเลือกตั้ง รู้ดีว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่จำเป็นต้องรักษากติกาบ้านเมืองเอาไว้
(ที่มาของภาพ: เพจชูวิทย์ I'm No.5)
22 ธ.ค. 2556 - วันนี้ (22 ธ.ค.) ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์บทความ "ผมได้ไตร่ตรองถึงการลงเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถี่ถ้วน ว่าจะลงหรือไม่ลง?"ผ่านเฟซบุ๊กชูวิทย์ I'm No.5มีรายละเอียดดังนี้
000
"ผมได้ไตร่ตรองถึงการลงเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถี่ถ้วน ว่าจะลงหรือไม่ลง?
หากผมไม่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมอยู่ฝั่งคุณอภิสิทธิ์ หรือ กปปส. หรือไปสนับสนุนให้คุณอภิสิทธิ์กระทำการนอกกติกา เพราะผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้
การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้ง และคุณอภิสิทธิ์บอกว่า "พรรคที่ลงเลือกตั้งกลายเป็นผู้ต่ออายุให้ระบอบทักษิณ"ถือเป็นคำพูดที่เห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน แบ่งแยกประชาชน ยกตัวเองเป็นเทพ และให้พรรคอื่นเป็นมาร พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรมีวิสัยมองผู้ที่คิดต่างจากตัวเองเป็นศัตรูเสียหมด เพราะในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่นำเอาความคิดเห็นของตัวเองมาตัดสินว่าถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว สามารถทำงานร่วมกับผู้คนหลากความคิด หลายอุดมการณ์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่นำเอาความคิดเห็น หรืออุดมการณ์ของตัวเองเป็นใหญ่ บดบังเหยียดหยามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองไปเสียหมด
แต่หากผมลงเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมไปต่ออายุให้ระบอบทักษิณแต่อย่างใด แม้ว่าผมเห็นว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการโดยใช้เสียงส่วนมากหาประโยชน์ให้กับตัวเอง มองข้ามศรัทธาของประชาชน ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่มีมากเกินไป สร้างความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่โต้แย้ง กลับเข้าข้างเห็นดีเห็นงาม คาดหวังผลประโยชน์ต่างตอบแทน ช่วยหนุนรัฐบาลให้กระทำการหยามต่อความเชื่อมั่นของประชาชนให้ลดน้อยถอยลง
แต่ผมเห็นว่าบ้านเมืองต้องมีกฎกติกาใช้ยึดถือ เพื่อให้ทุกคนในสังคมปฏิบัติตาม ไม่อย่างนั้นจะถือว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ได้อย่างไร? แม้ว่าการเลือกตั้งไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยยังได้ฟังเสียงของประชาชนซึ่งเป็นเสียงส่วนมากที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เราไปคิดแทนประชาชนทั้งหมดไม่ได้ เพราะท้ายสุดนักการเมืองเป็นเพียงตัวแทน ไม่ใช่เจ้านายที่จะไปสั่งการ เราจึงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง และนำไปปฏิบัติ
ผมจึงตัดสินใจว่าควรลงเลือกตั้ง แม้จะรู้ดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ อาจเกิดความวุ่นวายตั้งแต่วันรับสมัครไปจนถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ผมจำเป็นต้องรักษากฎกติกาของบ้านเมืองเอาไว้ จะทำตามอำเภอใจฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้
หากท้ายสุด ผลการเลือกตั้งออกมาว่าประชาชนโหวตโนมากกว่า คุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์สามารถนำเอาความชอบธรรมจากคะแนนนี้ ไปอ้างอิงว่าเป็นเสียงส่วนมากอย่างแท้จริง ที่ต้องการให้คุณอภิสิทธิ์กับคุณสุเทพนำการปฏิรูปตามที่เสนอ
แต่หากคนมาลงคะแนนเสียงมากกว่า โดยเลือกพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ คุณอภิสิทธิ์จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้ง และคุณสุเทพสมควรเลิกม็อบกลับบ้าน
มันเป็นวิถีทางเดียว ที่จะหาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้"