ฐานนักข่าวเว็บไซต์ phuketwan.com รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่จนท.ทหารเรือมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยอ้างรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ นักข่าวเตรียมให้ปากคำ 24 ธ.ค. นี้
20 ธ.ค. 2556 กองทัพเรือ ได้ฟ้องร้องนักข่าวเว็บไซต์ท้องถิ่นของภูเก็ต Phuketwan สองคน ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้รายงานเกี่ยวกับธุรกิจการค้ามนุษย์ในจังหวัดพังงา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเรือมีส่วนได้ประโยชน์
รายงานดังกล่าวของเว็บ Phuketwan.com ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 56 เขียนโดย อลัน มอร์ริสัน และชุติมา สีดาเสถียร ซึ่งได้อ้างอิงรายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันเดียวกัน โดยย่อหน้าที่กองทัพเรือระบุว่ามีปัญหา มีข้อความว่า ''The Thai naval forces usually earn about 2000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga [north of Phuket] and deals directly with the navy and police.
ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทย จะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อโรฮิงญาหนึ่งคน หากว่าพบเห็นเรือ [ผู้อพยพ] หรือทำเป็นไม่รู้เรื่อง [ต่อการค้ามนุษย์] ผู้ลักลอบค้ามนุษย์คนหนึ่งกล่าว เขาทำงานในจังหวัดพังงาทางภาคใต้ และตกลงธุรกิจโดยตรงกับกองทัพเรือและตำรวจ”
ทั้งนี้ Phuketwan.com เป็นเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต และได้รับรางวัลด้านการรายงานสืบสวนสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติแล้วหลายรางวัล
น.อ. พัลลภ โกมโลทก ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ ได้กล่าวหารายงานดังกล่าวว่า มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และเป็นการให้ร้ายต่อกองทัพเรือ ส่งผลให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดความเสียหาย จึงได้ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 วรรค 1 ซึ่งระบุความผิดจากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
หากผู้สื่อข่าวทั้งสองคนถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และ/หรือปรับเป็นเงินหนึ่งแสนบาท
ในเบื้องต้น ผู้สื่อข่าว Phuketwan ทั้งสองคนได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้วที่สภ.วิชิต จ.ภูเก็ต เมื่อวันพุธที่ผ่านมาและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะเดินทางไปให้ปากคำในวันที่ 24 ธ.ค. นี้
ชุติมากล่าวว่า ตนเองรู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่งที่ทางกองทัพเรือได้แจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท เพราะไม่คิดว่ากองทัพเรือจะใช้วิธีการฟ้องร้องทางกฎหมายในการจัดการกับภาพลักษณ์ของกองทัพ แทนที่จะใช้วิธีแถลงข่าวชี้แจง หรือโทรมาสอบถามทางเว็บไซต์ Phuketwan ในรายละเอียด เพราะก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ phuketwan ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางกองทัพเรือโดยร่วมมือในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ มาตลอด
เธอยังกล่าวว่า การรายงานข่าวของเว็บไซต์ phuketwan ได้อ้างรายงานข่าวจากสำนักข่าวซึ่งมีความน่าเชื่อถืออย่างรอยเตอร์ และไม่มีเจตนาให้ร้าย หรือดูหมิ่นกองทัพเรือ เพราะในรายงานไม่ได้ระบุถึงกองทัพเรือในฐานะหน่วยงาน เพียงแต่ใช้คำว่าเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา มีการแปลคำดังกล่าวคลาดเคลื่อน
“มันเป็นการคุกคามสื่อที่แรงมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมบ้านเราถอยหลังลงคลองได้ขนาดนี้” ชุติมากล่าว "อยากเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ หรืองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ยุติการคุกคามสื่อในการปฏิบัติหน้าที่และการทำงาน"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพเรือถอนข้อกล่าวหาทันที และให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่าเป็นข้อจำกัดต่อเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ
เช่นเดียวกับองค์กรพันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance - SEAPA) ก็ได้ประณามการกระทำของกองทัพเรือ และแสดงความกังวลต่อการใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่มีการเอาผิดตัวกลาง รวมถึงเรียกร้องให้กองทัพเรือถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อนักข่าวทันที
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai