Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยแนะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57

$
0
0

20 ธ.ค. 2557 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ออกแถลงการณ์ "ปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57"โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


แถลงการณ์
ปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
โดย โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


จากสถานการณ์การเมืองที่กำลังขัดแย้งกันระหว่างสองฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นเลขาธิการ จนนำไปสู่การยุบสภานั้น โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองนี้กำลังทำลายวิถีการเลือกตั้งที่ดำรงคู่กับระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร เนื่องด้วยจุดยืนของ กปปส.ไม่ยอมรับการเลือกตั้งแต่ใช้วิธีการเรียกหาการสนับสนุนจากทหารและอำนาจพิเศษที่ไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชนเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง และข้อเสนอสภาประชาชนมุ่งเอาชนะเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร มากกว่าการปฏิรูปสังคม เพราะสภาดังกล่าวไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง จำกัดวงเฉพาะสาขาอาชีพ มีท่าทีดูถูกเหยียดหยามประชาชนคนเสื้อแดงที่เลือกพรรคเพื่อไทยและคัดค้านการทำรัฐประหารปี  49   ตัดตอนกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เบียดขับคนจำนวนมากออกไปจากการแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง โดยเรียกร้องเอานายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง

อีกทั้งข้อเสนอของกปปส.ยังทำลายเจตนารมย์ของวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ที่ต้องการให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคระหว่างคนธรรมดากับอภิสิทธิชน ให้เท่ากัน 1 เสียง ที่ในอดีตคนจนไม่เคยมีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง และไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายๆเรื่อง  แต่ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีสิทธิมีเสียงผ่านการตัดสินใจลงคะแนนเสียง ต่อรองอำนาจกับนักการเมือง ให้ความสำคัญกับนโยบายที่กลไกรัฐและรัฐบาลต้องมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น  ซึ่งนั่นคือ การที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย ใช้สิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่  และประชาชนส่วนใหญ่นั้นคือผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ผู้ผลิตรายเล็ก คนจนผู้ด้อยโอกาส

การปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของผู้ใช้แรงงานจึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย องค์กรสาธารณะประโยชน์ เนื่องจากเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานคือสิ่งที่จะประกันให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และความชอบธรรมต่างๆ  พึงระลึกว่า ผู้ใช้แรงงานมีจำนวนถึง 39 ล้านคน แบ่งเป็นคนทำงานในสถานประกอบการ 14 ล้านคน นอกสถานประกอบการ 25 ล้านคน ทำงานวันละ 10 กว่าชั่วโมง สัปดาห์ละ 60 ช.ม.เหมือนกัน แต่รับสวัสดิการไม่เท่ากัน ทั้งเมื่อเทียบกับคนรวย นายจ้างของตัวเอง ก็ยังเหลื่อมล้ำอยู่มาก รายได้และสวัสดิการยังต่ำ การจ้างงานไม่มั่นคง เข้าไม่ถึงทรัพยากรต่างๆ ของรัฐ และยังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ อำนาจการต่อรองในสถานที่ทำงาน การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน  
ด้วยเหตุนี้ วิธีการหนึ่งที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ของแรงงาน คือ การที่สมาชิกส่งตัวแทนไปเจรจากับนายจ้าง กับเจ้าหน้าที่รัฐ กับนักการเมืองทุกระดับผ่านระบบเลือกตั้ง หรือสร้างพรรคการเมืองของแรงงานขึ้นมาแข่งขันทางนโยบายกับพรรคที่มีอยู่ ดังนั้นการเลือกตั้งที่เปิดให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมอย่างเสมอหน้า จึงเป็นประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงาน โดยผู้ใช้แรงงานและเพื่อผู้ใช้แรงงาน

อีกประการหนึ่ง  หากไม่มีบรรยากาศของประชาธิปไตย การเคารพความเป็นมนุษย์ เคารพเสียงของประชาชน ปัญหาความไม่ยุติธรรมต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ไขได้เช่นกัน  เพราะนอกจากจะมีปัญหาปากท้อง ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การกักขังนักโทษในคดีการเมืองตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร 2549 การปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมปี 2553 ด้วยอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ  การทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ก.ม.อาญา มาตรา 112)  ที่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและเครือข่ายแรงงานทั้งในและต่างประเทศร่วมกันรณรงค์มาก่อนหน้านี้ แต่อดีตรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและศาลเพิกเฉยสิทธิมนุษยชน แม้แต่สิทธิการประกันตัวตามกฎหมายร.ธ.น. และเลือกปฏิบัติให้ต่างจากอีกฝ่ายที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร 49

หากองค์กรด้านแรงงาน สหภาพแรงงานจะต่อรองทางการเมืองกับนักการเมือง ต้องไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย 1 คน 1 เสียง ไม่ใช่ใช้ยุทธวิธี (tactics) ทางการเมือง เอาชนะเครือข่ายทักษิณ ชินวัตรที่คอรัปชั่น แล้วลิดรอนสิทธิของประชาชนที่สนับสนุนเครือข่ายทักษิณ  ที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากคณะผู้ก่อการรัฐประหารก็ไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาคอรัปชั่นทุกวงการไปได้จริง แต่กลับมุ่งทำลายคนที่คิดต่าง ด้วยระบบเซ็นเซอร์ สอดส่อง จับกุมคุมขัง ใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น  ดูถูกคนจนที่ต้องการประโยชน์จากนโยบายประชานิยม  ซึ่งเป็นการทำลายพลังการต่อรองของประชาชนเอง แล้วประชาชนจะเข้มแข็งทางความคิด ตรวจสอบพรรคการเมือง ระบบราชการ สถาบันการปกครองทุกสถาบันให้โปร่งใส่ได้อย่างไร

สิ่งที่น่าสงสัยคือ การที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เข้าไปทำแนวร่วมกับกปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ หนึ่งในคณะบุคคลที่สั่งสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงครามปี 53 นั้นลิดรอนสิทธิของประชาชนผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ หรือไม่    เมื่อพิจารณาข้อเรียกร้องขององค์กรแรงงานสององค์กรนี้คือ  รัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้แรงงานมีอำนาจในการเจรจาต่อรองร่วมกับนายจ้างและมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมากขึ้น  แต่ทว่าปฏิเสธการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  เช่นนี้แล้วผู้ใช้แรงงานจะมีอำนาจในการต่อรองเชิงนโยบายกับนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างไรหากเสียงลดลง   การแยกเสรีภาพในการเจรจา/รวมกลุ่มในที่ทำงานออกจากการเมืองระดับชาติเพื่อที่จะตัดสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนนั้นทำได้ด้วยหรือ   การต่อสู้ แก้ไขกฎหมายประกันสังคมขยายประโยชน์สมาชิก โดยไม่คำนึงวิถีประชาธิปไตย ทำได้หรือไม่

จึงเป็นเรื่องน่าผิดหวัง ที่การเข้าร่วมชุมนุมกับกปปส. ขององค์กรแรงงานสององค์กรมุ่งเอาชนะพรรคเพื่อไทยมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ใช้แรงงาน    ทั้งไม่คัดค้านการนิรโทษกรรมคนสั่งฆ่าประชาชนปี 53 ที่ระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งตามที่องค์กรแรงงานดังกล่าวออกแถลงการณ์ไว้  แต่เลือกแสดงออกคัดค้านการนิรโทษกรรมทักษิณ ชินวัตร ปกป้องรัฐธรรมนูญปี 50  และสนับสนุนสภาประชาชนที่มีลักษณะเผด็จการ  ไม่ได้เสนอสิ่งที่เป็นทางออกที่ก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ผู้ใช้แรงงานจึงไม่ได้ประโยชน์จากการทำงานทางการเมืองขององค์กรแรงงานสององค์กรนี้  แต่กลับสูญเสียสิทธิเสรีภาพ และอำนาจไปให้แก่คนเพียงหยิบมือเดียว  

ดังนั้น โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจึงขอเรียกร้องรัฐเคารพกติกาประชาธิปไตยและสร้างความเป็นธรรม 5 ประการ  คือ

1. ยุติความขัดแย้งโดยสันติ ให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
2. ไม่เอาอำนาจพิเศษ การแทรกแซงของทหาร มาตัดสินปัญหาแทนประชาชน
3. ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข
4. ยกเลิกก.ม. อาญา มาตรา 112 ปฏิรูประบบยุติธรรม ให้เคารพสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์
5. เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 53  คณะบุคคลเหล่านี้ต้องถูกนำมาขึ้นศาลและรับผิด

เพราะระบอบประชาธิปไตย คือระบอบที่ประชาชนมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจกำหนด แก้ไข เปลี่ยนแปลงและปกครองตัวเองได้

แถลงการณ์ออก ณ วันที่ 20 ธ.ค. 56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles