กกต.เสนอฝ่ายการเมืองหาข้อตกลงเลื่อนวันเลือกตั้ง ย้ำหากให้มีการเลือกตั้งต่อไปก็ยังคงมีความวุ่นวาย ด้านยิ่งลักษณ์ขอหารือกฤษฎีกาก่อน ส่วนอภิสิทธิ์หนุน กกต. คุยหาทางออกก่อนเลือกตั้ง
19 ธ.ค.2556สำนักข่าวไทยรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กตต. นายสมชัย ศรีสิทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม แถลงหลังการประชุม พร้อมออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและ กปปส. พูดคุยร่วมกัน โดยไม่ต้องยึดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นข้อจำกัด แต่หากตกลงกันไม่ได้ กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กกต.เป็นห่วงบ้านเมืองในขณะนี้ จึงได้หารือว่าการเมืองในปัจจุบันหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดให้มีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งกลายเป็นประเด็นนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างรุนแรง ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการรักษาการและจัดการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรรักษาการ ควรมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ เลื่อนการเลือกตั้ง 6-8 เดือน ตั้งสภาประชาชนแก้กฎหมาย และค่อยมีการเลือกตั้ง หากปล่อยให้ขัดแย้งจนเกิดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 อาจเกิดความไม่สงบ จนถึงการไม่รับผลการเลือกตั้ง
นายธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า กกต.เห็นว่าหนทางที่ดีในการคลี่คลายในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องประนีประนอมทางความคิด ลดความต้องการของแต่ละฝ่ายให้อยู่ในจุดที่ยอมรับได้เพราะไม่มีฝ่ายใดแพ้ หรือชนะ แต่จะเป็นทางออกให้ประเทศไทย กกต.พร้อมทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 อย่างเต็มความสามารถ แต่ก็มีความเห็นว่า แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นไร เราไม่ควรให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นตัวจำกัดโอกาสให้คนไทยเข้าใจ ทำความปรองดองกันไม่ได้ กกต.หวังว่าปรองดองจะเกิดขึ้น
จากนั้นนายสมชัยกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเลือกตั้งที่มีความเรียบร้อยเป็นไปได้ยาก จากาการประเมินทุกฝ่ายที่แสดงออกอาจทำให้เกิดความวุ่นวายมากพอสมควร เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา เราคิดว่าฝ่ายต่างๆ มีโอกาสได้คุยกันเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีปัญหา
รัฐบาลและ กปปส. ถ้ามีโอกาสพูดคุยกันเพื่อให้การเลือกตั้งสงบ เป็นไปได้ อย่าเอาเงื่อนไขว่าจะจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นข้อจำกัดในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่อาจมีกลไกที่ทำให้เกิดคนกลางมาพูดคุยว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเลือกตั้งหรือไม่ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่คุยกันต้องไปหาช่องทางทางกฎหมาย แต่หากที่สุดไม่สามารถคุยกันได้ หรือจะยืนยันให้จัดการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อ กกต.พร้อมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่เราคาดการณ์ไว้ว่าการเลือกตั้งจะมีปัญหาพอสมควร
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้มีการศึกษาข้อกฎหมายเราเห็นว่ามีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการได้ ถ้าฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันที่ไม่เหมาะสม
"ข้อเสนอของ กกต.วันนี้ เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราสะท้อนต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อเราสะท้อนแล้วท่านที่อยู่ในฐานะผู้มีหน้าที่ มีกลไกทางกฎหมายที่ทำได้ ก็ต้องไปพิจราณา ซึ่งเรายืนยันว่า มีช่องทางกฎหมายที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ ส่วนช่องทางจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีหน้าที่จะพิจารณา ซึ่งผมขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเกิดภัยพิบัติ เราสามารถเลื่อนการเลือกตั้งในบางหน่วยบางแห่งได้ แต่ขณะนี้มีปรากฏการณ์ทางสังคม แล้วมันจะเลือกตั้งไม่ได้เลย มันก็เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหมดได้ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ กกต.ต้องเดินจัดการเลือกตั้ง"นายสมชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จแล้วประธาน กกต.พยายามตัดบทไม่ให้มีการซักถาม แต่เมื่อถามว่า การเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าฝ่ายการเมืองไม่มีการเลือกตั้งจะทำอย่างไร นายศุภชัยกล่าวว่า กกต.ไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ กกต.มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม เราเพียงสะท้อนสถานกาณ์ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และ กกต.ไม่มีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะถูกมองว่าวางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 229 ได้กำหนดลักษณะพิเศษต้องวางตัวให้เป็นกลาง เราไม่ได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้ง แต่เราเสนอให้กลับไปคิด
นายธีรวัฒน์กล่าวว่า ที่ กกต.มาแถลงเพราะเรามีจุดยืนที่ห่วงใยบ้านเมือง ถ้าเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ ของ กกต.โดยตรงเราชี้ขาดไปแล้ว แต่กฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.ทำเองได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่เหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ นายธีรวัฒน์กล่าวว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม คิดว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจ ประเด็นนี้อย่าถาม กกต.เพราะเราไม่อยากถูกดึงไปยังวังวนทางการเมือง และเมื่อถามว่า กกต.อึดอัดใจใช่หรือไม่ นายธีรวัฒน์ระบุว่าเราห่วงใยประเทศ และอยากให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
เมื่อถามว่า มีการเสนอหาทางออกหลายครั้งจากหลายเวที แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ นายประวิชกล่าวว่า ทุกเวทีที่จัดขึ้น เวทีที่ฝ่ายหนึ่งไปอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ไป ซึ่งเราอยากให้ก่อนการเลือกตั้งมีการคุยกันของ 2 ฝ่าย เรามั่นใจว่าเสียงสะท้อนของ กกต.ในวันนี้ทำให้คนต้องฟังบ้าง
ยิ่งลักษณ์ขอหารือกฤษฎีกาก่อน
ขณะเดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า วันเดียวกัน ที่ศาลากลางเมืองร้อยเอ็ด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของ กกต. ว่า จากที่ได้รับทราบข่าว ก็ไม่แน่ใจ ว่า ในส่วนของรัฐบาลจะเอาอำนาจหน้าที่ ที่ไหนเพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปแล้ว ขณะนี้มีหน้าที่ฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งพระราชกฤษฎีกา กำหนดการเลือกตั้ง ก็ได้มีการประกาศออกมาเรียบร้อยแล้ว หน้าที่หลักวันนี้ในเรื่องของการเลือกตั้งเป็นเรื่องของ กกต. รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกร่วมกับ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามพระราชกฤษฏีกา ตามเวลาที่กฏหมายกำหนด เราจึงไม่ทราบ ว่า จะเอาอำนาจหน้าที่จากไหนมาทำตามข้อเสนอของ กกต. คงต้องศึกษาและปรึกษากับฝ่ายกฏหมาย คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา
"รัฐบาลไม่แน่ใจว่า ตัวเองมีอำนาจตรงไหน ก็ต้องหารือกับทางกฤษฎีกา เพราะเมื่อพระราชกฤษฏีกาประกาศใช้ออกมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการเลือกตั้ง ดังนั้นการที่จะส่งคืนมาให้รัฐบาลอีก เราก็ไม่รู้ว่า เรามีอำนาจหน้าที่ตรงไหน ปัญหาอยู่ที่ตรงจุดนี้มากกว่า วันนี้เรามีหน้าที่ทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ให้นำเรื่องกราบบังคมทูลฯ เป็นที่เรียบร้อยไปหมดแล้ว ก็ต้องถือว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. วันนี้ดิฉันคงต้องถามนักกฏหมาย โดยทางคณะกรรมการกฤฏีษกาให้คำตอบที่ดีกว่า โดยรัฐบาลเองยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องหารือกับฝ่ายกฏหมายก่อนเพราะเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย "น.ส.ยิ่งลักษณ์ และว่า ถ้าหากไม่มีกติกาประเทศชาติจะเดินต่อไปได้อย่างไร วันนี้ประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญ เพื่อออกกติกาให้คนทั้งประเทศได้ปฏิบัติ ดังนั้นถ้าเราไม่ยึดกติกาอะไรเลย ยกเลิกทั้งหมดแล้วเราจะตอบคำถามต่างประเทศได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เป็นคำถาม วันนี้ไม่ใช่จะมาตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งที่ควรถามคือเราจะนำกฏหมายอะไรมายึดเป็นหลักและใช้สำหรับประเทศ วันนี้เราต้องหารือกันเพื่อหาทางออก เราเข้าใจข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ต้องขอกรุณา ว่า ต้องอยู่บนหลักที่เราสามารถปฏิบัติได้ ก็คือข้อกฏหมายเวทีขอฝ่ายวิชาการเองก็หารือ ก็อยากให้เวลากับเวทีดังกล่าวด้วย
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอว่า ให้ทุกพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. เพื่อจะได้มีเวลาให้ กกต.มีอำนาจในการขยายวันเลือกตั้งออกไปนั้น ก็คงต้องไปถามทางพรรคการเมือง เพราะตามหลักเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีพระราชกฤษฏีกาการเลือกตั้งทุกคนก็ต้องไปเลือกตั้ง ถ้าทุกคนไม่ไปเลือกตั้ง แสดงว่าทุกคนไม่ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นนั้น ก็คงต้องถามหาความชอบธรรมว่ามีการยึดตามหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่
อภิสิทธิ์หนุน กกต. คุยหาทางออกก่อนเลือกตั้ง
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กกต. เสนอให้พรรคการเมืองร่วมหาทางออก ก่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่แสดงเจตจำนงสอดคล้องกับความเห็นของ กกต.และหลายฝ่าย รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ที่เห็นว่า หากปล่อยให้มีการเลืองตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ทำอะไรเลย จะทำให้เกิดปัญหากับประเทศอย่างแน่นอน บ้านเมืองจะอยู่ในภาวะขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นหากนักการเมืองทุกคนไม่ปฏิเสธความจริง ก็น่าจะหันมาสนับสนุนแถลงการณ์ของ กกต. โดยขอให้ถอดหมวกของการเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน และไม่กล้ายืนยันว่า การเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 แล้วทุกอย่างจะเดินหน้า ก็ควรมาคุยกัน มาช่วยป้องกัน เพราะ กกต.ชี้ให้เห็นถึงปัญหาแล้วว่าถ้าพวกเราในฐานะนักการเมืองถ้าเห็นตรงกันก็เปรียบเหมือนเป็นฉันทามติ จะทำให้รัฐบาลและกกต.รับฟังเหตุผลและพิจารณาต่อไปว่าสมควรจะทำอย่างไร ถ้าเห็นพ้องแล้วก็ต้องช่วยกันในวิธีการและรายละเอียด อย่าเอาอะไรมาเป็นตัวตั้งว่าทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น จะทำให้ชาติไปสู่ความเสียหาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ส่ง แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะไม่ราบรื่น จึงควรคุยกันว่าจะเดินอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปสู่จุดไม่พึงประสงค์ ซึ่งการทำให้เกิดฉันทามติทำได้หลายรูปแบบ แต่อย่างน้อยพรรคการเมืองที่มีอดีต ส.ส.จะต้องแสดงเจตจำนงก่อน ซึ่งขอพูดแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเห็นคล้ายกับพรรคภูมิใจไทยว่าควรจะแสดงจุดยืนในการแก้ปัญหาก่อน โดยได้คุยกับพรรคภูมิใจไทยแล้วเมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นพรรคอื่นก็ควรออกมาแสดงเจตนารมณ์เร็วที่สุด ควรจะทำก่อนวันที่ 23 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนที่พรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าส่งผู้สมัครนั้น ก็ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย เพราะล่าสุดได้มีอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยบางคน ยอมรับว่าจะเกิดปัญหาจนอาจจะไม่ลงเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลง