สมานฉันท์แรงงานไทยจัดเวทีแสดงความเห็น “การปฏิรูปประเทศไทย” ตัวแทน กปปส.แจงการเมืองภาคประชาชนตื่นตัวต้านนักการเมืองฉ้อฉลจนยกระดับเป็นการปฏิรูปประเทศไทย เห็นว่าพลังกรรมกรเป็นหลักในการต่อสู้เพื่อสังคมมาในอดีต วันนี้แม้รัฐบาลขึ้นค่าแรงแต่ชีวิตแรงงานก็ยังไม่ดีขึ้น จึงต้องเข้าร่วมปฏิรูปประเทศไทย ขณะแรงงานเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบเอาใจนายทุนทำให้นายทุนเข้ามาครอบงำการเมืองเพื่อหาประโยชน์ พรรคการเมืองต่างๆ ไม่เคยสนใจปัญหาแรงงาน รัฐบาลนี้ก็ไม่รับกฎหมายของแรงงาน ทำผิดข้อตกลงกับแรงงานจึงต้องเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศ แต่มีบางส่วนที่ยังต้องการความชัดเจนเรื่อง ม.3 กับการตั้งสภาประชาชน โดยเห็นว่าแรงงานก็แตกแยกกันมากเรื่องปัญหาการเมืองจึงควรรับฟังความเห็นต่างในจุดยืนของแรงงาน และครั้งนี้ถ้าถูกหลอกอีกต่อไปก็ไม่ต้องมาชวนเข้าร่วม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดเวทีแสดงความเห็นเรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556 ที่ห้องประชุมศุภชัยศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน โดยเชิญตัวแทนจาก “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท มาร่วมชี้แจงแนวทางของ กปปส.ต่อสมาชิก คสรท.พื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 40 คน พร้อมขอการสนับสนุนจากแรงงาน
โดยตัวแทน กปปส.กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นการเมืองภาคประชาชนที่เริ่มจากคนหลายกลุ่มออกมาร่วมกันต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แล้วยกระดับเป็นการโค่นล้มระบอบทักษิณที่เข้าไปรวบอำนาจการเมือง ครอบงำระบบราชการและธุรกิจแล้วทุจริตคอร์รัปชันโกงกินประเทศ จึงต้องมีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ อีก และเห็นว่าพลังของแรงงานเคยเป็นกำลังหลัก 3 ประสานในการต่อสู้เพื่อสังคม แต่วันนี้ถูกแบ่งแยกทำลายจนอ่อนแอ กฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมก็ยังไม่ถูกแก้ จึงอยากให้แรงงานเข้าร่วมการปฏิรูปประเทศมากๆ ต่อไปก็ต้องทำงานกับพรรคการเมือง แต่อย่าเป็นบันไดให้พรรคการเมือง
ขณะที่เสียงสะท้อนจากแรงงานเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบเอาใจนายทุนทำให้นายทุนเข้าไปควบคุมครอบครองพรรคการเมืองต่างๆ แล้วออกกฎหมายออกนโยบายที่เอื้อต่อนายทุน ขณะที่กดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ปัญหาแรงงานจึงไม่เคยได้รับความสนใจจากทุกพรรคการเมือง จึงเห็นด้วยว่าต้องแก้ปัญหาการเมืองด้วยการปฏิรูปประเทศ
โดยข้อเสนอของแรงงานเพื่อการปฏิรูปประเทศก็เช่น อยากใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่ทำงาน มีระบบค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีตามมาตรฐานสากล รับรองสิทธิการรวมตัวและเสนอกฎหมายของแรงงาน ปฏิรูประบบยุติธรรมด้านแรงงาน รวมทั้งยังมีผู้เสนอเรื่องการเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการสังคมลดความเหลื่อมล้ำ และเสนอยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจและยึดคืนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน
แต่การเข้าร่วมกับ กปปส.ก็มีปัญหามากในองค์กรแรงงาน เพราะแรงงานก็แบ่งฝ่ายในเรื่องการเมือง มีความคิดเรื่องประชาธิปไตยกันคนละแบบ การชวนให้สมาชิกสหภาพเข้าร่วมก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป หลายแห่งต้องเข้าร่วมกับ กปปส.แบบส่วนตัว แต่ก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพื่อตน และครั้งนี้หากถูกหลอกอีก คราวหลังก็อย่ามาขอให้เข้าร่วม
ขณะที่เสียงเรียกร้องที่ให้แรงงานเข้าร่วมกับ กปปส.บอกว่าถ้าใครไม่มั่นใจก็ไม่ต้องเข้ามา ใครอยากได้ก็ต้องออกมาร่วมอย่านั่งเป็นนักวิชาการ แต่ก็มีผู้เห็นว่าไม่ควรตัดสิทธิข้อเสนอของคนที่ไม่เข้าร่วมชุมนุมเพราะอาจยังต้องการทำความเข้าใจกับแนวทางประชาธิปไตยของ กปปส.ว่าใครได้ประโยชน์
ซึ่งตัวแทนของ กปปส.ก็กล่าวว่าการต่อสู้ต้องสร้างแนวร่วม ไม่สร้างศัตรู อย่างคนเสื้อแดงที่ไม่ใช่แกนนำก็มาร่วมได้ และตอบคำถามเรื่องมาตรา 3 กับสภาประชาชนว่า ยังไม่ชัดและไม่ควรชัด ยังไม่มีพิมพ์เขียวเพราะมีหลายฝ่ายอาจมีการตกหล่น บอกได้เพียงว่า ประชาชนต้องการอำนาจคืนและเป็นประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ เฉพาะหน้าจึงต้องสู้กับรัฐบาลก่อน
นายชาลีกล่าวสรุปว่า ให้ยึดระบบประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความเห็นต่าง แต่เสียงส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และต้องเสนอประเด็นของแรงงานเข้าไปด้วย